กว่า 3 เดือนผ่านไป “นักสู้แห่งโคกยาว” หายไปไหน?

กว่า 3 เดือนผ่านไป “นักสู้แห่งโคกยาว” หายไปไหน?

20162907201606.jpg

ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน

ที่นี่! ชุมชนโคกยาว นักต่อสู้สิทธิที่ดิน “เด่น คำแหล้” หายไปกว่า 3 เดือน แล้ว

เกือบสี่ทุ่ม แม่สุภาพ รวมทั้งชาวบ้านในชุมชนโคกยาว ได้ยินเสียงปืนกังวานขึ้นหนึ่งนัด และเงียบหายไปในราวป่า เงียบไปพร้อมกับการหายตัวไปของนายเด่น นับจากนั้นเป็นต้นมา ไม่มีผู้ใดได้พบเห็น แม้แต่ร่องรอยก็ไม่ปรากฏ “พ่อเด่น หายไปไหน”

“เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ และทุกข์ยากเหลือเกิน แม่นอนร้องไห้อยู่คนเดียว ที่บ้านลูกก็ไม่มี ก่อนนอนในค่ำบางคืน น้ำตาไหลพรากออกมาโดยไม่รู้ตัว ตาเด่นหายไปไม่มีแม้แต่คำลา ถ้าตาเด่นตายไปแล้วขอให้ได้รับผลบุญที่แม่อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไป ให้มาเข้าฝัน มาบอกจุดบ้างอยู่ตรงไหน จุดไหน จะได้หาถูก”

นางสุภาพ คำแหล้ อายุ 62 ปี ชาวบ้านชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เอ่ยถึงความรู้สึก ที่มีต่อ “นายเด่น คำแหล้” ผู้เป็นสามี ที่หายตัวไปภายหลังเข้าไปหาหน่อไม้และไม้หวาย บริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา 

เสียงของนายเด่นเช้าวันนั้นยังแว่วอยู่ในหูของนางสุภาพว่า ให้เตรียมพื้นที่ ออกจากป่ามาเราจะได้ปลูกไม้รวกกัน จากนั้น นายเด่นก็เข้าไปหาของป่าตามปกติ 

แต่นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีผู้ใดได้พบเห็นชายผู้เป็นสามีของเธออีกเลย แม้แต่ร่องรอยก็ไม่ปรากฏ

“สิ่งที่พ่อเด่นเอาเข้าไปนำติดตัวไปด้วยในวันนั้น มีเพียงย่ามที่ทำด้วยกระสอบปุ๋ย 1 ใบ โดยในย่ามมีขวดน้ำ 1 ขวด มีข้าวเหนียว 1 ปั้น และมีมีดไปด้วย 1 ด้าม ดูจากสิ่งของที่พกติดตัวไป บอกได้อย่างชัดเจนว่าไม่ได้เดินออกไปไกล และการออกไปหาของป่าทุกครั้ง จะต้องกลับมาก่อนบ่ายสามโมงครึ่งเสมอ เพื่อเตรียมเอาของป่าที่หาได้ ไปวางขายที่ตลาดทุ่งลุยลาย เป็นปกติทุกครั้ง”

ผ่านมากว่า 3 เดือนแล้ว นางสุภาพยังรอคอยการกลับมาของสามี เธอบอกว่า ไม่ว่าจะกลับมาในสภาพไหน ก็รับได้ทั้งหมด เพราะการรอคอย โดยที่ไม่พบเบาะแสอะไรเลยมันทรมานมากกว่า

20162907201938.jpg

เส้นทางการต่อสู้เพื่อที่ทำกิน ของ “พ่อเด่น คำแหล้”

เดิม “นายเด่น คำแหล้” ก็เป็นเพียงเกษตรกรธรรมดา เขาแต่งงานกับนางสุภาพ เมื่อปี 2525 และใช้ชีวิตคู่ทำสวนไร่นาหาเลี้ยงปากท้องไปตามปกติ ก่อนที่ชะตากรรมพัดพาให้นายเด่น หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “พ่อเด่น” มาเป็นนักต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบ้าน เมื่ออำนาจรัฐเข้ามากลืนกินให้ชาวบ้านในชุมชนโคกยาวทั้งหมดต้องสูญเสียที่ดินทำกิน

โดยในปี 2528 รัฐได้เข้ามาดำเนินโครงการ “หมู่บ้านรักษ์ ประชารักษ์สัตว์” โดยมีการอพยพชาวบ้านทั้งหมดในชุมชนโคกยาวให้ออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าจะมีการจัดสรรที่ดินทำกินรองรับ แล้วก็นำพื้นที่ชุมชนโคกยาวเดิมไปปลูกเป็นสวนป่ายูคาลิปตัส แต่เมื่อชาวบ้านเดินทางไปถึงพื้นที่ใหม่ ปรากฏว่ามีคนทำกินอยู่แล้ว ผู้สูญเสียที่ดินทำกิน จึงตกอยู่ในสภาพ ถูกลอยแพ 

นายเด่น เป็นหนึ่งในแกนนำ ที่ได้นำผู้เดือดร้อน ไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมเพื่อกลับเข้าทำกินในพื้นที่เดิม ระหว่างปี 2539-2542 โดยมีการชุมนุมที่หน้าที่ว่าการอำเภอ อ.คอนสารหลายครั้ง กระทั่งมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินป่าไม้ระดับอำเภอ” เพื่อตรวจสอบการถือครองที่ดิน

แต่ปรากฏว่า ปัญหาของชาวชุมชนโคกยาวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ชาวบ้านยังไม่สามารถกลับเข้าไปทำกินในที่ดินเดิมได้ นายเด่นและชาวบ้านผู้เดือดร้อนคนอื่นๆ จึงเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านในชุมชนอื่น ในพื้นที่ อ.คอนสาร ที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินเหมือนกัน ในนาม“เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน (คอซ.)” และ “เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)” ตามลำดับ โดยมีข้อเสนอให้ “ยกเลิกสวนป่า แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน”

กระทั่งปี 2552 นายเด่น และชาวบ้านในสมาชิกเครือข่าย คปอ. ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับผู้เดือนร้อนจากปัญหาที่ดินทำกินทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)” โดยผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบของ “โฉนดชุมชน” จนรัฐบาลขณะนั้นได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 และในปี พ.ศ.2554 เครือข่ายประชาชนได้รวมตัวกัน ในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ชุมนุมติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้าน ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กระทั่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านตามข้อเสนอของพีมูฟ

และเป็นจุดเริ่มต้น ของการกลับมาทำกินในที่ดินผืนเดิมของชาวชุมชนโคกยาว

20162907201912.jpg

ความขัดแย้งกับรัฐ ว่าด้วยข้อหา “บุกรุกป่าสงวน”

นับแต่ปี 2554 นายเด่นมีปัญหาขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายครั้ง จนเป็นคดีขึ้นโรงขั้นศาล

นายบุญมี วิทยาโรจน์ รองประธานโฉนดชุมชนโคกยาว และเป็นหนึ่งในจำนวนสิบรายที่ถูกดำเนินคดี เล่าว่า  เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 นายเด่น นางสุภาพ และชาวบ้านรวม 10 คน ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันบุกเข้าควบคุมตัว และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม มีการแยกสำนวนฟ้อง ออกเป็น 4 คดี 10 ราย ดังนี้ คดีที่ 1 นายคำบาง กองทุย และนางสำเนียง กองทุย คดีที่ 2 นายทอง กุลหงส์ และนายสมปอง กุลหงส์ คดีที่ 3 นายสนาม จุลละนันท์ และคดีที่ 4 นายเด่น คำแหล้ นางสุภาพ คำแหล้ นายบุญมี วิยาโรจน์ นางหนูพิศ วิยาโรจน์ และนางเตี้ย ย่ำสันเทียะ

นายบุญมี ยกกรณีในส่วนของคดีที่ 4 เพิ่มเติมอีกว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2556 ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 คือนายเด่น และนางสุภาพ จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัว เพราะเกรงว่าจะหลบหนี ส่วน อีก 3 ราย ศาลยกฟ้อง ต่อมาเมื่อในวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 ทางสมาชิก คปอ. และพีมูฟ ได้ร่วมกันเดินรณรงค์ไปยังศาลฎีกา พร้อมกับยื่นหนังสือขอให้ศาลฎีกาปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว

“หลังจากที่นายเด่น หายไป ได้ยินข่าวมาโดยตลอดว่า นายเด่นจะหนีคดี ซึ่งโดยส่วนตัวและชาวบ้านต่างไม่มีใครเชื่อ เพราะถ้าจะหนีก็คงจะหนีกันไปนานแล้ว และที่ผ่านมาชาวบ้านในชุมชนโคกยาวก็ถูกกดดันให้ออกจากพื้นที่มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ประกาศนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” และมีการส่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และทหารเข้ามาปิดประกาศขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่หลายครั้ง แต่นายเด่นกับชาวบ้านก็เดินทางไปยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และเจรจากับผู้เกี่ยวข้องอยู่หลายรอบ กระทั่งมีมติให้ชะลอการไล่ชาวบ้านชุมชนโคกยาวออกนอกพื้นที่ไปก่อน จนกว่าจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ถูกต้อง ตามที่ได้มีการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ณ ห้องประชุมอรรถไกลวัลย์วที อาคารสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี โดยมี หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม

นายบุญมี แสดงเจตนาเดิมด้วยด้วยความหนักแน่นอีกครั้ง ว่า

“ในวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษา อีกครั้ง โดยชาวบ้านที่เป็นจำเลยทั้งหมดต่างไม่มีใครหลบหนี และทั้งหมดก็พร้อมที่จะไปตามที่ศาลนัดหมาย เพราะหากศาลพิจารณาว่าผิด โทษสูงสุดก็แค่จำคุก 6 เดือนเท่านั้น ส่วนนายเด่นที่หายตัวไปกว่า 3 เดือนแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะหนีคดีตามที่เป็นข่าว แต่เพราะเขาหายตัวไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งทางทีมงานพยายามค้นหากันอยู่ว่า การหายตัวไปเกิดจากการกระทำจากสิ่งใด” 

ด้านนายถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทนายความของจำเลยทั้ง 10 ราย เพิ่มเติมว่า กรณีนายเด่นและนางสุภาพ ได้ทำเรื่องการยื่นประกันตัวโดยประสานไปยังกองทุนยุติธรรมของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อขอความช่วยเหลือในการใช้หลักทรัพย์ของกองทุนยุติธรรมประกันตัวออกมาเพื่อสู้คดีในชั้นฎีกา แต่ในขณะที่ได้ทำการยื่นคำร้องขอประกันตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 ผลการยื่นประกันขอให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ปรากฏว่าศาลไม่อนุญาต เพราะเกรงจะหลบหนี

“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ แต่คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 208 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 4 ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาและยังไม่ยื่นฎีกา มีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 4 อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง”
ในคดีนายเด่น คำแหล้ และพวกรวม 5 คน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 4 (นายเด่น นางสุภาพ) ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 6 เดือน และศาลไม่อนุญาตฎีกา จำเลยทั้งสองต้องถูกคุมขังจำนวนทั้งสิ้น 12 วัน นับจากวันที่ 29 เมษายน 2556 

ต่อมา ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 ทางสมาชิก คปอ. และพีมูฟ ได้ชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานภาครัฐ และได้ร่วมกันเดินรณรงค์ไปยังศาลฎีกา พร้อมกับยื่นหนังสือขอให้ศาลฎีกาปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว ประกอบกับช่วงดังกล่าวทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล ซึ่งศาลอนุญาตในเวลาต่อมา และสามารถประกันตัวผู้ต้องหาได้ในที่สุด 

ผลการยื่นประกันขอให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ปรากฏว่าศาลอนุมัติให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 2 โดยได้เพิ่มหลักทรัพย์จากรายละ 200,0000 บาท เป็นรายละ 300,000 บาท

“ศาลพิเคราะห์ว่า เนื่องจากคำตัดสินของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ระบุเพียงให้จำคุกจำเลยทั้ง 2 คนเป็นเวลา 6 เดือน นับว่าโทษไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับทั้ง 2 คนให้การปฏิเสธ ได้มีการปล่อยตัวชั่วคราวมาโดยตลอด และไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์หลบหนี เชื่อว่าหากได้รับการปล่อยตัวอีกก็ยังไม่มีเหตุสงสัยว่าจะหลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้ง 2 ในระหว่างฎีกา” 

20162907201926.jpg

3 เดือนผ่านไป “นักสู้แห่งโคกยาว” หายไปไหน

หลังจากนายเด่นไม่กลับบ้านในค่ำวันที่ 16 เมษายน 2559 นางสุภาพ พร้อมด้วยคนที่เคยร่วมเคลื่อนไหวพร้อมกับนายเด่น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิก คปอ. และเครือข่ายอื่นๆ ก็ร่วมกันติดตามหา แต่ถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม ไม่พบแม้แต่ร่องรอย นอกจากรอยลากของหนักบนผืนดินในป่าที่นายเด่นเข้าไปหาหน่อไม้ และรอยคล้ายนิ้วมือเป็นทางลงมาจากเชิงเขามาจนถึงบริเวณจุดวังมนริมฝั่งลำน้ำพรม นอกจากนี้ ยังพบปลอกกระสุนปืนลูกซองจำนวนหนึ่ง ซึ่งตกอยู่ไม่ไกลจากรอบลากมากนัก 

ต่อมา ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2559 ก็พบ วัตถุคล้ายกระดูก จำนวน 3 ชิ้น ตกอยู่ใกล้ๆ กับกอไผ่ที่มีไฟไหม้ ซึ่งอยู่ด้านหลังของหน่วยพิทักษ์ป่าหนองไรไก่เพียง 50 เมตรเท่านั้น จึงมีการส่งมอบวัตถุชิ้นนี้ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ตรวจสอบต่อไป ว่าเป็นกระดูกของสัตว์หรือของมนุษย์

นอกจากนี้ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 นางสุภาพ เดินทาไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยื่นหนังสือถึงนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีการสูญหายของนายเด่น ซึ่งคุณอังคณา เป็นภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่หายตัวไปเช่นกัน รวมถึงเข้าพบกับนายปกป้อง เลาวัณย์ศิริ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ โดยบุคคลทั้ง 2 ได้เดินทางลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว เพื่อติดตามถึงความคืบหน้า และให้กำลังใจในการตามหาตัวนายเด่น เนื่องจากที่ผ่านมามีนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมหลายคนหายตัวไป ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการป้องกันปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ว่าสาเหตุการหายตัวไปของนายเด่น หรือพ่อเด่น เกิดจากสิ่งใดกันแน่

ขณะที่มือทั้งสองข้างยังคงจับด้ามจอบก้มตัวลงขุดดิน คราบน้ำตายังเกาะปนกับเหงื่อไคลที่อาบไปทั่วใบหน้า แม่สุภาพ ใช้ปลายคมจอบสับดินไปพลางพร้อมกับเล่าถึงความย้อนหลัง ก่อนเอ่ยความในที่อัดอั้นตันใจ ด้วยความอาวรณ์ถึงสามี

“เกือบสี่ทุ่มในดึกคืนนั้น แม่ภาพ รวมทั้งชาวบ้านในชุมชนโคกยาว ก็ได้ยินเสียงปืกังวานขึ้นหนึ่งนัด และเงียบหายไปในราวป่า เงียบไปพร้อมกับการหายตัวไปของนายเด่น นับจากนั้นเป็นต้นมา ไม่มีผู้ใดได้พบเห็น แม้แต่ร่องรอยก็ไม่ปรากฏ “พ่อเด่น หายไปไหน มีเพียงสุนัขตัวเมียแม่ลูกอ่อนที่กลับมาก่อน ต่อมาประมาณ 20.00 – 21.00 น. สุนัขตัวผู้ชื่อบักเติ่ง ก็วิ่งกลับมาที่บ้านและมีร่องรอยถูกทำร้ายบริเวณหน้าอกและขาหลัง รวมถึงหูแหว่งไปคล้ายถูกยิงด้วยกระสุนปืน ส่วนตัวจึงเชื่อว่ากรณีนี้ อาจเป็นการบังคับให้สูญหาย เพราะพ่อเด่นเป็นคนแข็งแรง ไม่มีปัญหาสุขภาพ ไม่มีความขัดแย้งส่วนตัวกับใคร ที่คนสงสัยว่านายเด่นอาจจะหลงป่า ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะพ่อเด่นเชี่ยวชาญพื้นที่เนื่องจากอยู่ในป่าแห่งนี้มาหลายสิบปี “

นับแต่วันที่ 17 เมษายน เป็นต้นมา แม่ภาพ กับชาวบ้าน และสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้มีการติดตามค้นหา และในวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมาแล้ว ได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรห้วยยาง ต.ห้วยยาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เจ้าพนักงานสอบสวนทำได้เพียงลงบันทึกประจำวันไว้ และบอกว่ายังไม่เป็นคดีความ เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานหรือร่องรอยใดๆ ที่จะบ่งบอกว่าสามีของตนเสียชีวิต ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังบอกอีกว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ หลังจากนั้นตำรวจก็ไม่ได้มีการดำเนินการเท่าที่ควรจะทำ นอกจากพวกแม่ภาพเดินทางเข้าไปพบเพื่อขอความร่วมมือให้ลงมาตรวจสอบ ตำรวจถึงลงมาพื้นที่เพียงไม่กี่ครั้ง เท่านั้น

ความหวังของแม่สุภาพ กับภารกิจการตามหาคู่ชีวิตที่หายไป เริ่มผุดขึ้นมาอีกครั้ง ภายหลังจากเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รวมทั้งนายสมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน และนางสุภาพ คำแหล้ ได้เดินทางเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ พล.ต.ท. ทวิชชาติ พละศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 3 ซึ่งรับผิดชอบดูแลเรื่องคดีความต่างๆ ในภาคอีสานตอนใต้ 8 จังหวัด รวมถึง จ.ชัยภูมิ ขอให้เร่งรัดการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีการหายตัวไปของนายเด่น 

โดย พล.ต.ท. ทวิชชาติ บอกกับนางสุภาพว่า จะมีการตรวจสอบพนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่ได้รับแจ้งความจากผู้ร้องว่า เจ้าหนักงานมีการดำเนินการตรวจสอบครบถ้วน ครบประเด็น ชัดเจนหรือไม่ นอกจากนี้จะตั้งคณะทำงานใหม่เพื่อคลี่คลายคดีนี้ขึ้นมาใหม่

ต่อมา พล.ต.ท.ทวิชชาติ พละศักดิ์ ผบช.ภ.3 มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ที่ 1150/2549 คลี่คลายการหายตัวไปของนายเด่น โดย พล.ต.ต.พงศ์ฤทธิ์ บุญเลี้ยง ผบก.ภ.ชัยภูมิ เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน มีนายตำรวจในกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ร่วมทำงานคลี่คลายการหายตัวไปของนายเด่นประมาณ 30 นาย โดยมอบหมายให้ พล.ต.ต.ธเนษฐ สุนทรสุข รอง ผบช.ภาค 3 เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน

แม้จะผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่นางสุภาพและชาวบ้านชุมชนโคกยาว ยังไม่ละความพยายามที่จะค้นหานายเด่น นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบ้าน ที่หายตัวไปอย่างปริศนา เพื่อที่จะนำตัวพ่อเด่นกลับคืนสู่ผืนดินที่เรียกว่าบ้าน ไม่ว่าจะในสภาพใดก็ตาม

20162907201715.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ