ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคต “คน เมือง ลิง” ลพบุรี

ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคต “คน เมือง ลิง” ลพบุรี

หากพูดถึง ‘จังหวัดลพบุรี’ สิ่งที่หลายคนนึงถึง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเลยก็คือ ‘ลิง’ โดยเฉพาะภาพของลิงที่อยู่ในเมืองตามโบราณสถานและบ้านเรือนของคน กลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติหลั่งไหลเข้ามากันเป็นจำนวนมาก 

แต่ด้านหนึ่งสิ่งที่เมืองลพบุรีต้องเผชิญจากการที่มีลิงกระจายตัวอยู่ทั่วเมืองตอนนี้ คือ จำนวนประชากรลิงล้น จนพื้นที่เมือง และอาหารไม่เพียงพอต่อการรองรับ ปัญหานี้กลายเป็นข้อท้าทายที่คนลพบุรีกำลังร่วมกันหาคำตอบ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะทำให้คน เมือง ลิง สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นี่คือโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทย เดินทางไปที่จังหวัดลพบุรี เพื่อเชิญตัวแทนคนลพบุรีกว่า 30 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านลิงแสม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอย่างทางจังหวัด และกรมอุทยานฯ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อหาทางออกให้กับเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กัน  

000

– อนาคตเมืองลิงที่อยากให้เป็น –

“ในลพบุรีไม่ได้มีแค่ลิง หรือมนุษย์ เรามีสัตว์อื่นที่อยู่ร่วมด้วย สิ่งที่ผมอยากเห็นลพบุรีในอนาคต คือ อยากเห็นสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตอยู่อย่างเป็นธรรม ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่เอาเปรียบกัน โดยไม่เอาสัตว์มาเป็นเครื่องมาทำมาหากิน หรือหาประโยชน์ของตังเอง”

“อยากเห็นภาพลักษณ์ใหม่ เพราะภาพลักษณ์ที่มีอยู่ตอนนี้มันไม่น่าดู ความสะอาด หรือความวุ่นวายที่ประชาชนได้รับอยู่ตอนนี้ ไม่ว่าลิงหรือว่าคนก็ได้รับความเดือนร้อนเช่นกัน ภาพลักษณ์ใหม่ ถ้ามีคนเข้ามาช่วย หรือปรับปรุงให้เป็นภาพลักษณ์ใหม่ ลพบุรีอาจจะดึงดูดคนที่อยู่ลพบุรี หรือนักท่องเที่ยวเข้ามาได้”

“อยากให้ทำให้สุด เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เราดำเนินการมาแล้ว และก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด วันที่ 12 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นการตั้งต้นในการเสวนา ตั้งต้นโดยจังหวัด ผมถือว่าเป็นการนับหนึ่ง ตอนนี้ผ่านมา 6 เดือน เป็นระยะเวลาทำงานระยะสั้น  คำว่า สุด ถ้าเราแช่ไม่ดำเนินการอะไรต่อ ไม่มีการขับเคลื่อนอะไรต่อ การดำเนินงานต่าง ๆ ก็จะกลับไปเหมือนที่ผ่านมา  

สุดมีหลายมิติ    1. มิติคน 2. มิติเมือง และ 3.มิติลิง จะดูมิติใดมิติหนึ่งไม่ได้ คุณต้องแก้ไขปัญหาอะไรกับเมือง จะแก้ปัญหาแค่กับลิง ไม่แก้เมือง มันก็คือไม่สุด คนที่อยู่ในตลาดในเมืองก็ยังเดือดร้อน ขณะเดียวกันการดำเนินการแก้ไขปัญหาลิง อยู่แค่ในช่วงของการทำหมัน ได้แค่ในระดับหนึ่ง แล้วหลังจากการทำหมัน อายุของมันยังอยู่ได้อีก 20-25 ปี 

ถ้าเราไม่มีการดำเนินการแก้ไข ขับเคลื่อนตามกระบวนการกฎหมาย พ.ร.บ. ที่ออกมาใหม่ ที่ตอนนี้ค่อนข้างจะเอื้อในการดำเนินการ ถ้าไม่ทำจุดนั้นก็เหมือนเดิม”

000

– สถานการณ์คน เมือง ลิงในวันนี้-

ลพบุรีเมืองศูนย์กลาง

ลพบุรี จังหวัดหนึ่งในภาคกลาง ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ ตามเส้นทางถนนพหลโยธินราว 153 กิโลเมตร  หรือตามเส้นทางรถไฟสายเหนือ ประมาณ 133 กิโลเมตร

ในด้านประวัติศาสตร์ ลพบุรี เป็นเมืองที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมยาวนานกว่า 3,000 ปี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเคยเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของอาณาจักรละโว้  ซึ่งตรงกับสมัยทวาราวดี 

ในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลพบุรีดำรงฐานะเป็นเมืองลูกหลวง

มาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงครั้งใหญ่ มีการสร้างเมืองลพบุรีขึ้นใหม่เพื่อเป็นราชธานีที่สอง แต่หลังสิ้นรัชกาลก็มีการย้ายหน่วยราชการทั้งหมดกลับกรุงศรีอยุธยา

และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้บูรณะเมืองลพบุรี พร้อมทั้งสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฏขึ้น 

ลพบุรี ถูกขนานนามว่า เป็นเมืองเศรษฐกิจ เมืองท่องเที่ยว และเมืองทหาร เนื่องจาก หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบลูสงคราม ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงสร้างเมืองใหม่เป็นเมืองทหาร โดยเป็นที่ตั้งของหน่วยงาน 11 หน่วย อยู่ทางทิศตะวันออก ของทางรถไฟ ส่วนเมืองเก่า อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของรถไฟ

ลพบุรีเมืองลิง

ปัจจุบัน เมื่อพูดถึง “ลพบุรี” ทุกคนต้องนึกถึงลิงที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้คน ฝูงลิงในพื้นที่โบราณสถานทำให้ลพบุรีกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว หน่วยงานท้องถิ่นจัดงานเทศกาลเลี้ยงโต๊ะจีนลิง มาตั้งแต่ ปี 2532 ถึงปัจจุบัน สร้างชื่อโด่งดังไปทั่วโลก เว็บไซต์วันเดอร์สลิสต์ (Wonderslist)  จัดให้เป็น 1 ใน 10 เทศกาลแปลกที่สุดในโลก เมื่อปี  2561

ลิงเหล่านี้มาจากไหน และตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่บันทึกของนิโกลาส แชรแวส (Nicolas Gervaise) นักเดินทางชาวฝรั่งเศษ ที่ติดตามคณะเผยแพร่ศาสนาเข้ามาในอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2224-2229 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงลิงที่พบในอยุธยา และลพบุรี ว่า 

“ตามชายน้ำมีลิงทั้งตัวใหญ่ตัวน้อยไต่อยู่ยั้วเยี้ย แลดูราวกับว่ามันจงใจมากระโดดโลดเต้น และห้อยโหนโจนทะยานให้เราชมเล่นฉะนั้น แต่ก็ไม่เหมาะที่จะหยุดยั้งอยู่นานเกินไป เพราะอาจจะพบเข้ากับเสือ”

นอกจากนี้ ยังมีตำนาน เรื่อง “หนุมานครองเมืองลพบุรี” และมีชื่อว่าเป็น “เมืองลูกหลานหนุมาน”เป็นความเชื่อที่ผูกโยงกับวรรณกรรมรามเกียรติ์

ส่วนอีกตำนาน เล่าผ่านวรรณกรรม ทางพระพุทธศาสนา ระบุว่า ลิงเหล่านี้ มาจากการลิงองครักษ์ผู้อารักขา พระนางจามเทวี ธิดาของคหบดีชาวมอญ จากลำพูน ที่ต้องเดินทางไปยังเมืองละโว้ในอดีต 

แต่ไม่ว่าตำนานจะเล่าขานกันไปอย่างไร ความจริงของวันนี้ คือ ลพบุรี เต็มไปด้วยฝูงลิงโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองเก่า

ลิงลพบุรี ส่วนใหญ่เป็นลิงแสม ข้อมูลจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ปี 2557 ระบุว่า จำนวนประชากรลิง ทั้งจังหวัด อาจมากถึง 10,800 ตัว โดยพบใน 7 จุด

และจุดที่มีลิงมากที่สุด คือ  เขตเมืองเก่าลพบุรี มีลิงราว 3,000 ตัว  แบ่งย่อยออกเป็น 7 กลุ่ม คือ กลุ่มพระปรางค์สามยอด กลุ่มโรงหนังมาลัยรามา กลุ่มท่ารถ หน้าศาลพระกาฬ กลุ่มร้านชโยวานิช กลุ่มโรงแรมเมืองทอง กลุ่มตลาดมโนราห และกลุ่มร้านเซ่งเฮง

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จำนวนลิงในย่านเมืองเก่าลพบุรี มีเพียง 1,000 ถึง 2,000 ตัว เท่านั้น   

ลิงเป็นสัตว์สังคม จ่าฝูงหนึ่งตัวจะคุมตัวเมีย 20 ตัว จากจำนวนลิงตัวเมียที่มีมากกว่าตัวผู้ ลิงตัวผู้ 1 ตัว ผสมพันธุ์ได้วันละ 10-20 ครั้ง และตัวเมียแต่ละตัวตั้งท้องได้ปีละ 2 ครั้ง ๆ ละ 1 ตัว ทำให้ประชากรลิงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่เมื่อดูข้อมูลการควบคุมประชากรลิงโดยการทำหมัน ตั้งแต่ ปี 2557 ถึง 2566 พบว่า ขณะนี้ลพบุรีมีการทำหมันลิงไปเพียง 4,655 ตัว แบ่งเป็นเพศผู้ 2,779 ตัว และเพศเมีย 1,876 ตัว 

‘ลิงล้น’ กระทบหลายด้าน

ลิงล้นเมือง กลายเป็นปัญหาระดับจังหวัดของลพบุรีที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากผลกระทบ 4 ด้าน คือ

1. การเพิ่มจำนวนประชากรของลิง สร้างความเดือดร้อนให้กับคนในพื้นที่ 

2. ที่อยู่อาศัยของลิงไม่เหมาะสม ลิงมีการแตกฝูง และขยายอาณาเขตมากขึ้น

3. เมืองเจอปัญหาเรื่องความสกปรก ไม่ปลอดภัย โบราณสถานและทรัพสินราชการได้รับความเสียหาย 4. กระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ จนบางพื้นที่อาจกลายเป็นเมืองร้าง

คนลพบุรี มีความเชื่อว่า ลิงเป็นลูกหลานหนุมาน และเจ้าพ่อพระกาฬ แต่ขาดความรู้ ความเข้าใจถึงพฤติกรรมของลิง และไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาลิง อีกทั้งไม่ได้รับการเยียวยาจากความเดือดร้อน 

ลิงล้นเมือง กลายเป็นปัญหาระดับจังหวัดของลพบุรีที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากผลกระทบ 4 ด้าน คือ

1. การเพิ่มจำนวนประชากรของลิง สร้างความเดือดร้อนให้กับคนในพื้นที่ 

2. ที่อยู่อาศัยของลิงไม่เหมาะสม ลิงมีการแตกฝูง และขยายอาณาเขตมากขึ้น

3. เมืองเจอปัญหาเรื่องความสกปรก ไม่ปลอดภัย โบราณสถานและทรัพสินราชการได้รับความเสียหาย 4. กระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ จนบางพื้นที่อาจกลายเป็นเมืองร้าง

คนลพบุรี มีความเชื่อว่า ลิงเป็นลูกหลานหนุมาน และเจ้าพ่อพระกาฬ แต่ขาดความรู้ ความเข้าใจถึงพฤติกรรมของลิง และไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาลิง อีกทั้งไม่ได้รับการเยียวยาจากความเดือดร้อน 

ความท้าทายของคนเมืองลิง

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2566 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาลิง และคณะทำงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาลิงจังหวัดลพบุรี 

“ลพบุรีเมืองน่าอยู่ ด้วยสิ่งแวดล้อมดี มีอาหารปลอดภัย และท่องเที่ยววิถีใหม่”  นี่คือ เป้าหมายการพัฒนาจังหวัดลพบุรี จากข้อมูลจากแผนการพัฒนาจังหวัดลพบุรี ปี 2566-2570

อย่างไรก็ตาม ลพบุรียังต้องเผชิญความท้าทาย ทั้งเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ การเติบโตของเมือง และการท่องเที่ยว ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เม็ดเงินรายได้จากท่องเที่ยวของจังหวัดหายไปจำนวนมาก ตัวเลขเมื่อ ปี 2564 ลพบุรี มีรายได้จากการท่องเที่ยว จำนวน 530.74 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่าน ๆ มา  ถึงร้อยละ 39.20 

วันนี้ การจัดการความสัมพันธ์ ระหว่าง คน เมือง และลิง  คืออีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของคนลพบุรี

– 3 ฉากทัศน์ อนาคต “คน เมือง ลิง” ลพบุรี –

หลังจากทำความเข้าใจถึงบริบทของเมืองลพบุรี และความท้าทายที่คนเมืองลิงต้องเผชิญแล้ว ทางรายการมีภาพอนาคตของคน เมือง ลิง ด้วยกัน 3 ทาง ที่เป็นตุ๊กตาตั้งต้นให้ทุกคนได้ลองแลกเปลี่ยนด้วยการโหวตเลือกกันว่าอนาคตของคน เมือง และก็ลิงแบบไหน ที่ทุกคนอยากให้ไปต่อ 

ฉากทัศน์ที่ 1 ลิงอยู่เมือง

ลพบุรีขึ้นชื่อในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่มีประชากรลิงจำนวนมากติดอันดับ และมีหน่วยงานราชการ ท้องถิ่นท้องที่มาร่วมบูรณาการการทำงาน โดยดูแลทั้งคุณภาพชีวิตของลิงและสุขภาวะของเมือง ขณะเดียวกันต้องหนุนเสริมองค์ความรู้ให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยว ในการป้องกันและดูแลตัวเองจากการอยู่ร่วมกับลิง

หน่วยงานราชการและสถาบันวิชาการในท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวัง และจัดทำข้อมูลประชากรลิงให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งจัดทำมาตรการสนับสนุนเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดการรับมือผลกระทบ กำหนดกรอบในการชดเชย เยียวยาให้กับประชาชน และซ่อมแซมทรัพย์สินที่จะได้รับความเสียหายจากพฤติกรรมของลิง

ทั้งนี้ เม็ดเงินที่ได้จากการท่องเที่ยว ต้องมากพอที่จะนำมาใช้เพื่อการชดเชยเยียวยากับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น และอาจต้องมีการจัดสรรงบประมาณเฉพาะมาใช้เพื่อศึกษาแนวทางแก้ปัญหา แต่สำหรับประชาชนที่ไม่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่า อาจทนผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ไหว และต้องย้ายออกจากพื้นที่ไป

ฉากทัศน์ที่ 2 คุมลิง คุมคน

หน่วยงานรัฐพยายามทุกวิถีทาง จนทำให้การจำกัดจำนวนลิงในพื้นที่เมืองเก่าประสบความสำเร็จ โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่มีความรู้ความเข้าใจ ร่วมจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับประชากรลิงที่เป็นระบบและชัดเจน เพื่อใช้ในการดูแล ติดตาม และควบคุมพฤติกรรมของลิง

อย่างไรก็ตามรัฐยังคงต้องจริงจังในการควบคุมกฎระเบียบและจัดการเรื่องความสะอาดของเมือง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับลิง ในการช่วยสอดส่องเป็นหูเป็นตา รวมทั้งร่วมให้ข้อเสนอในฐานะเจ้าของพื้นที่ เช่น การกำหนดจุดให้อาหาร เวลา ชนิดและจำนวนของอาหารที่เหมาะสม เป็นต้น

ส่วนในด้านเศรษฐกิจของเมืองท่องเที่ยว ลพบุรียังคงชูอัตลักษณ์ของเมืองโบราณสถานที่มีคนและลิงอยู่ร่วมกันได้ โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบเมืองที่คนเดินได้ สะอาด ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

แต่ทั้งนี้กระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจของคนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลิง ต้องอาศัยทั้งกำลังคน องค์ความรู้ ชุดข้อมูล ระยะเวลา และงบประมาณสนับสนุน

ฉากทัศน์ที่ 3 คนแยกลิง

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมให้ลิงได้อยู่อาศัย มีสวัสดิภาพที่ดีและได้รับการอนุรักษ์คุ้มครอง โดยไม่ต้องเสี่ยงกับอันตรายจากรถบนท้องถนน การแก่งแยงอาหารในพื้นที่เมืองเก่า และการเผชิญหน้าระหว่างคนกับลิง

การย้ายลิงได้รับความยินยอมโดยประชาชนส่วนใหญ่ที่เล็งเห็นปัญหาในการอยู่ร่วมกันของคนกและลิงที่นับวันจะยิ่งขยายวงกว้าง ส่วนการจัดการมาจากฐานข้อมูลความรู้ มีกระบวนการขั้นตอนที่ได้รับการรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญ สามารถติดตามตรวจสอบชีวิตของลิงที่ถูกโยกย้ายได้ อีกทั้ง มีการสื่อสารอย่างชัดเจนให้ประชาชนได้รับรู้

ลพบุรียังคงขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองลิง โดยมีการจัดการที่แยกพื้นที่การอยู่อาศัยของคนและลิงออกจากกันอย่างชัดเจน แต่นั่นก็ทำให้เอกลักษณ์ของลพบุรีที่เคยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติขาดหายไป ทำให้ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวสูญเสียรายได้

เมืองท่องเที่ยวลพบุรี อาจต้องปรับเปลี่ยนสู่การท่องเที่ยวในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยววิถีเกษตร ท่องเที่ยวชุมชนชาติพันธุ์ หรือการผลักดันพื้นที่เมืองโบราณสู่การเป็นเมืองมรดกโลก

000

ชวนโหวตเลือกฉากทัศน์อนาคต “คน เมือง ลิง”

– 5 มุมมอง จัดการลิง จัดการเมือง –

หลังจากโหวตเลือกฉากทัศน์ที่ทุกคนอยากให้เป็นแล้ว ชวนมาเติมข้อมูลถึงสถานการณ์ปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหา จากตัวแทนภาคประชาชน ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมกันกับวิทยาทั้ง 5 คน 

  • ปรัชญา เปปะตัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี
  • เผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ
  • รศ. ดร.ดวงใจ บุญกุศล นักวิจัยโครงการวิจัยการจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ทรัพยากรลิงภายใต้อัตลักษณ์วิถีท้องถิ่นเมืองลพบุรี ม.ราชภัฏเทพสตรี
  • สัตวแพทย์หญิงจุฑามาศ สุพะนาม ผู้เชี่ยวชาญด้าน Primate (สัตว์ตระกูลวานร)
  • วิศรุต สมงาม เครือข่ายเยาวชน กลุ่มพลเมืองลิง

ปรัชญา เปปะตัง กล่าวถึงสถานการณ์ลิงลพบุรีว่า ข้อมูลจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สำรวจพบว่า ลิงในเมืองเก่าลพบุรีมีทั้งหมด 4 ฝูง คือ พระปรางค์พระสามยอด ตลาดมโนราห์ ร้านชโยวานิช และบริเวณศาลพระกาฬ รวมแล้วมีทั้งหมด 2,206 ตัว แต่ในส่วนของจังหวัดมีประมาณ 9,000 กว่าตัว กระจายอยู่ 6 อำเภอ 

ส่วนจำนวนความเหมาะสมที่ควรจะเป็น ตนมองว่า ควรอยู่ที่ประมาณ 700-800 ตัว ซึ่งตอนนี่้ลิงที่เกิดปัญหา คือ ลิงที่อยู่บริเวณตึกชโยวานิช และตลาดมโนราห์ยาวไปถึงปรางค์แขกหรือบริเวณหน้าวัง เมื่อก่อนเราสามารถเดินทะลุซอยได้ แต่ปัจจุบันลิงไปอาศัยอยู่เต็มไปหมด ทำให้เกิดความเดือนร้อน 

ดังนั้นในคณะกรรมการแต่ละชุด โชคดีเราได้กรมอุทยานฯ ที่ลงมาติดตามให้คำแนะนำจังหวัดและพี่น้องประชาชน โดยมีเป้าหมายคือการทำให้ลิงที่อยู่กับชุมชนเกิดความสมดุลในปริมาณที่เหมาะสม 

ลิงต้องอยู่คู่กับเมืองลพบุรี ลิงที่เจ็บป่วย ชะรา หรือแตกฝูง จะต้องเอาไปอนุบาลยังที่ที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องแก้ในวันนี้

ด้าน เผด็จ ลายทอง กล่าวประเด็นนี้ว่า ลิงเป็นปัญหาระดับช้างก่อนช้าง มีการก่อตั้งคณะกรรมการระดับประเทศขึ้นก่อน มีการศึกษาจำนวนประชากรที่เหมาะสมของลิง ซึ่งเขายอมรับตัวเลขที่ 70% ทุกคนเข้ามามีบทบาทร่วมกันได้หมด เพียงแต่เข้ามาในบทบาทไหน 

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ เราเห็นถึงความร่วมไม้ร่วมมือ การออกเทศบัญญัติคือความกล้าหาญของทางจังหวัดกับเทศบาล มีการเข้าไปทำความสะอาดพื้นที่ 

ส่วนเรื่องของการทำหมัน เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติที่เราจะจับลิงทุกตัวมาทำหมันได้ การทำหมันคือการควบคุมจำนวนประชากรเราไม่ได้ฆ่าเขา แต่มันคือหนึ่งในวิธีที่เราคิดว่าจะควบคุมจำนวนประชากร  ซึ่งต้องดูถึงความเหมาะสมว่าเขาพึงมีจำนวนประชากรอยู่เท่าไหร่   

ถ้าลิงเมือง เป็นลิงอยู่ที่บนตึก ไม่มีถิ่นอาศัยที่ชัดเจน อยู่ร่วมกับคนเลย ลักษณะนี้จำนวนมีความสำคัญว่าเราจะยอมรับในบริบทได้ขนาดไหน ที่เหลือต้องมาแก้ปัญหาร่วมกันว่าจะเอาไปไว้ที่ไหนเมื่อทำหมันแล้ว การตั้งงบประมาณเพื่อเอาไปใช้อย่างน้อย ๆ ก็ใช้เวลา 2 ปี 

วิศรุต สมงาม ในฐานะตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน มองว่า เราไม่อยากให้ใครเข้าใจลิงผิด เพราะลิงพูดไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้ลิงเข้าใจคนผิดว่า คนใช้มันเป็นเครื่องมือ

การออกแบบให้เมืองลพบุรีเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวได้ และก็มีสกายวอล์คให้ลิงเดินอยู่ข้างบนและเราก็สามารถอยู่ร่วมกับลิงได้อย่างปลอดภัย แต่ภายใต้คำว่าปลอดภัยสำคัญมากเราควบคุมพฤติกรรมเขาไม่ได้ เราฝึกเขาให้เชื่องไม่ได้ และจำนวนเป็นสิ่งสำคัญ เท่าไหร่จึงจะโอเค สำหรับผมคิดว่าเมืองลิงที่กำลังพอเหมาะพอดี น่าจะไม่เกิน 1 ฝูง ให้ตัวเลขไว้ไม่เกิน 500 ตัว 

ผมทำเรื่องการสื่อสาร มีทีมลงไปเก็บข้อมูลอยู่พักนึง เราสนใจว่าตอนนี้เมืองมันเริ่มร้าง เราอยากรู้ว่าเมืองมันเริ่มร้าง ร้างขนาดไหน ตอนแรกเราเห็นว่าตึกแค่ปิดไป แต่พอหลังจากโควิด-19 ผ่านไป เริ่มแปะป้ายขาย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ยังให้เช่า เริ่มเห็นบรรยากาศการป้องกันตัวของคน เอารวดหนามมาไว้บนหลังคารถก็มี คนต้องทำทุกอย่าง เปรียบภาพเหมือนซอมบี้ เราต้องอยู่กับสิ่งที่พร้อมจะทำร้ายเราและไม่ปลอดภัย 

พอได้รับฟังข้อมูลแล้วได้แลกเปลี่ยน ได้เห็นข้อมูลของเขาพระยาเดินธงแล้ว น่าเสียดายที่ประชาพิจารณ์ไม่ผ่าน แต่ก็น่าเสียใจถ้าเราจะหยิบมันมาคุยกันใหม่ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะโมเดลของเขาพระยาเดินธงจะเหมือนกับญี่ปุ่น ยกเขาให้ลิงเลย 1 ลูก และสร้างระบบปิด คนที่จะเข้าไปดูลิงต้องมีระบบปิด คนที่เข้าไปอยู่ในอาคารและยื่นให้อาหารจากในอาคารเท่านั้น ในเมื่อจะอยู่กับมัน เราอาจจะต้องมีกติกาการอยู่ร่วมกันด้วย ซึ่งเป็นกติกาที่เราต้องฝึกคนก่อน อยากจะให้ภาครัฐทำงานเรื่องการสื่อสารมากยิ่งขึ้น เพราะประชาชนไม่เข้าใจทิศทาง ไม่รู้ว่าอยู่ที่ตรงไหน แต่ในแวดวงที่คุยเรื่องลิง ทุกคนเข้าใจตรงกัน ทุกครั้งที่เราไปคุยกับพ่อค้า แม่ค้าที่อยู่ตามชุมชนเมือง เขาไม่รู้ว่าไปถึงจุดไหนแล้ว

สัตวแพทย์หญิงจุฑามาศ สุพะนาม อธิบายในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านลิงแสมว่า จากการที่ตัวเองเห็นปัญหา ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลลิงตั้งแต่ 2543 เพราะฉะนั้นข้อมูลลิงอยู่ในหัวหมด หมอเห็นด้วยกับการย้ายลิงฝูงที่อยู่นอกเหนือศาลพระกาฬและพระปรางค์สามยอดออกนอกพื้นที่

ให้เหลืออยู่ในสัดส่วนที่พอดีกับนักท่องเที่ยวต้องการเห็น ต้องการเล่นด้วย ส่วนที่จะย้ายออกไปต้องเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม มีป่า มีผลไม้ที่เขาสามารถดำรงวิถีชีวิตอยู่ในนั้นให้ได้ มีแหล่งน้ำ มีความปลอดภัย ต้องคำนึงถึงความลงตัวในหลาย ๆ ปัจจัย 

โครงการลิง หรือสวนลิงลพบุรี หมอไม่มีความขัดแย้งใด ๆ กับใคร แต่หมอจะเรียนว่าสถานที่มันไม่เหมาะสม เนื่องจากตรงนั้นเคยเป็นทุ่งนามาก่อน น้ำท่วมสูงตรงนั้นประมาณ 4 เมตร ตอนที่เขาทำประชาพิจารณ์ หมอแย้งไปแล้วว่าน้ำท่วมสูงมาก ถ้าท่านจะทำกรงแบบปิด ถ้าใช้หลังคาเป็นรวด แล้ววันนึงเขื่อนบางโฉมศรีแตกอีก น้ำตรงนั้นท่วมสูง 4 เมตร แล้วกรงจะสูงกี่เมตร ลิงจะอยู่อย่างไร อันนี้คือส่วนที่ไม่เห็นด้วย 

ถ้าโปรเจกต์นี้เกิดที่อื่นที่ไม่ใช่โพธิ์เก้าต้นตรงนี้ และเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ทำอย่างนิคมลิงที่หมอกับสำนัก 1 พยายามร่าง TOR ขึ้นมา หมอเห็นด้วย อันนี้คือพื้นที่ที่เหมาะสม 

ปิดท้ายด้วย รศ. ดร.ดวงใจ บุญกุศล มองประเด็นเรื่องการจัดระเบียบการให้อาหารว่า เราต้องสร้างการรับรู้ก่อนว่าเราไม่ควรให้อาหารลิงด้วยการยื่นให้กับมือ  เพราะว่าแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการทำอาหารสำเร็จรูป คือ เราอยากจะช่วยเรื่องโภชนาการที่ครบถ้วน ลิงควรจะได้อาหารที่ไม่ปรุงแต่งก็จริง แต่ในพื้นที่ที่ลิงอยู่ในเมืองแบบนี้ ไม่มีอาหารตามธรรมชาติให้เขาแล้ว 

เขาไม่มีพฤติกรรมที่หาอาหารได้เองแล้ว เราควรจะจัดอาหารให้เขาโดยมีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน เราจะช่วยในเรื่องของการป้องกันโรคที่จะติดต่อจากสัตว์สู่คน ช่วยในเรื่องของความง่ายของการบริหารจัดการ     

ถ้าเป็นอาหารสด ความง่ายของการบริหารจัดการพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับคน หรือบริหารจัดการเรื่องขยะก็จะง่ายขึ้น สูตรหลัก ๆ จะเป็นโปรตีนจากพืช และมีสารอาหารอื่น ๆ ที่ครบถ้วน เป็นวัตถุดิบหนึ่งที่อยู่ในลพบุรี พฤติกรรมคนกำหนดพฤติกรรมลิง ถ้าเราอยากเปลี่ยนพฤติกรรมลิง หรืออยากเปลี่ยนให้เขามีพฤติกรรมที่ประสงค์เราก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเรา 

ดังนั้นการให้อาหารที่ผ่านการแปรรูป ที่เราเรียนรู้ว่าอร่อย ลิงก็เรียนรู้ว่าอร่อย อย่างเช่น กล้วยแขกอร่อยกว่ากล้วย  สิ่งที่ส่งผลต่อรุ่นต่อรุ่นของเขา คือพฤติกรรม เมื่อเขาจำได้ว่าอันนี่อร่อยเขาจะเลือก เลือกที่มันถูกปากมากกว่า  


ติดตามชมเนื้อหาการพูดคุยย้อนหลังแบบเต็ม ๆ ได้ที่นี่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ