วันนี้ (4 พ.ค.59) เวลา 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เปิดโต๊ะรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เพื่อคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย กรณีเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี คำขอประทานบัตรที่ 1-4/2547 ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัดซึ่งจัดขึ้นที่โรงเรียนโนนสูงพิทยาคาร ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี ในวันที่ 23 เม.ย. 2559
เนื่องจากพบว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ได้ส่งหนังสือเชิญและส่งเอกสารให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าร่วมศึกษาข้อมูลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตามมาตรา 88/7 แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่ 5) ซึ่งการรวมรวบรายชื่อประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมีต่อเนื่องไปถึงวันที่ 5 พ.ค.นี้ ก่อนจะส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ แม้การประชุมดังกล่าวจะถูกคัดค้านจากชาวบ้านจำนวนมากแต่ก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ จนมีการปิดเวทีในเวลา 12.00 น. (คลิกอ่านข่าว: ค้านมา 15 ปี ไม่มีความหมาย กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ ‘เป่านกหวีด-เผาอีไอเอ’ ชี้เวทีรับฟังความเห็นเหมืองโปแตชไม่จริงใจ) และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ผลของเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย กรณีเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา จะต้องประกาศให้ประชาชนทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็น
การจัดเวทีดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ประชาชนในพื้นที่และผู้มีส่วนได้เสียจะได้มีส่วนร่วมตามขั้นตอนของกฎหมายแร่ โดยหลังจากนั้นก็จะมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นของคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.แร่ และรัฐมนตรีอุตสาหกรรมลงนามในประทานบัตร
สำหรับโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เป็นโครงการเหมืองแร่ใต้ดินที่จะขุดเป็นอุโมงค์ผ่านชุมชนและเป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีขอบเขตประทานบัตรเหมืองมีพื้นที่ 26,400 ไร่ ในเขต 5 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ ต.หนองไผ่, ต.โนนสูง, ต.หนองขอนกว้าง อ.เมือง ต.นาม่วง และต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม โดยรังวัดปักหมุดแนวเขตตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อโต้แย้งของชาวบ้านเรื่องเจ้าของพื้นที่ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ซึ่งรัฐควรมีการตรวจสอบและแก้ไขให้ตรงตามความจริงในปัจจุบันเสียก่อน
นอกจากนั้น ยังมีข้อกังวลเรื่องผลกระทบเชิงลบที่รุนแรง อาทิ การทำเหมืองใต้ดินจะทำให้เกิดการปนเปื้อนสายน้ำใต้ดิน การทรุดตัวของดิน การแย่งชิงน้ำใช้เพื่อการเกษตร และปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ที่สนับสนุนและคัดค้านโครงการ