“SEA ต้องฟังเสียงไทบ้าน” นักศึกษาขึ้นเวทีโพแทชอุดรฯ จี้ฟังเสียงประชาชน

“SEA ต้องฟังเสียงไทบ้าน” นักศึกษาขึ้นเวทีโพแทชอุดรฯ จี้ฟังเสียงประชาชน

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ร้องเวที SEA โพแทชอุดรฯ ไม่เชิญผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม ด้านนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยไทบ้านบุกเวทีวันที่ 2 ชูป้าย “SEA ต้องฟังเสียงไทบ้าน”

รายงานโดย: นายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์

ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)

วันที่ 1 ก.ค. 2563 เวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 70 คน เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการจัดเวทีประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง “แผนบริหารจัดการทรัพยากรแร่โพแทชเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในโครงการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เพื่อบริหารจัดการแร่โพแทช ที่โรงแรมมณฑาทิพย์ฮอลล์ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งจัดโดยบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจีเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลุ่มชาวบ้านมาถึง ก็ถูกเจ้าหน้าที่ อส.และตำรวจ ประมาณ 30 นาย กันให้อยู่ทางด้านหน้าประตูโรงแรม และอ้างว่าต้องปฏิบัติการตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ถ้าชาวบ้านจะเข้าร่วมเวทีจะต้องลงทะเบียนและปฏิบัติตามมาตรฐานที่ทางหน่วยงานผู้จัดวางไว้อย่างเคร่งครัด

กลุ่มชาวบ้านจึงไม่พอใจ ได้แสดงออกโดยการถือป้ายผ้า ชูป้ายกระดาษขนาด เอ4 มีข้อความคัดค้านโครงการเหมืองแร่โพแทช และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ และเอสอีเอ พร้อมทั้งใช้เครื่องขยายเสียงขนาดเล็ก (โทรโขง) สลับกันพูดโจมตีการจัดเวทีที่ปิดกั้นไม่ใช้ชาวบ้านเข้าร่วม จนกระทั่งเวลาประมาณ 10.30 น. นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้าน

นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต ได้กล่าวกับชาวบ้านว่า ถ้าชาวบ้านมีหนังสือที่จะยื่นก็ยื่นมาได้ ทางเราจะดำเนินการให้ ส่วนในเรื่องขอประทานบัตร ที่ชาวบ้านคัดค้านมีปัญหาอยู่ มันก้าวข้ามผ่านมาแล้ว คือเวลาชาวบ้านมีปัญหา กฎหมายฉบับใหม่นั้นจะคุ้มครองทุกคน ถ้ามีปัญหาผลกระทบ ภาครัฐจะเข้าไปแก้ไข ไกล่เกลี่ยระหว่างชาวบ้านและเอกชน นายมนตรีกล่าว

ด้านนางพิกุลทอง โทธุโย ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า เวทีในวันนี้จัดขึ้นเพื่ออะไร ถ้าไม่ต้องการให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งเราค้านเหมืองโพแทชมาเป็นเวลา 20 ปี จะเห็นได้ว่าข้าราชการกับบริษัทร่วมกันผลักดันโครงการมาโดยตลอด โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน มันจึงมีความขัดแย้งมาจนถึงทุกวันนี้

“เป็นที่สังเกตว่าการจัดเวที SEA ครั้งนี้ ดำเนินการอย่างเร่งรัด กล่าวคือ ออกหนังสือเชิญลงวันที่ 24 มิ.ย. และให้ส่งแบบตอบรับภายในวันที่ 25 มิ.ย. และไม่ได้เชิญชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียให้เข้าร่วมด้วย”

นางพิกุลทอง กล่าว

พร้อมกันนี้กลุ่มชาวบ้านก็ได้อ่านหนังสือก่อนจะยื่นต่อมือรองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี โดยในหนังสือได้ระบุข้อเรียกร้องว่า

“เนื่องจากโครงการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เพื่อบริหารจดัการแรโพแทช จะต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนแรก ก่อนการดำเนินการ จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Assessment Report (EIA) ของโครงการย่อยในระดับพื้นที่ แต่ในกรณีโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ได้มีการจัดทำ EIA แล้วเสร็จไปแล้ว และปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการผลักดันให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่โพแทช ดังนั้นด้วยขั้นตอนที่รวบรัดและข้ามกระบวนการเช่นนี้ จึงมิชอบ และกลุ่มฯ ขอเรียกร้อง ให้ยกเลิก EIA ของโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานีก่อน ทำกระบวนการ SEA”

เมื่อกลุ่มชาวบ้าน ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องเสร็จ จึงเดินทางกลับโดยไม่ได้เข้าร่วมเวทีดังกล่าวแต่อย่างใด

ต่อมาในวันนี้ (2 ก.ค.) เวลา 09.00 น. การประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง “แผนบริหารจัดการทรัพยากรแร่โพแทชเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในโครงการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เพื่อบริหารจัดการแร่โพแทช ซึ่งเป็นเวที ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่โรงแรมกรีนโฮเทล อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน

เวทีดำเนินไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ได้มีกลุ่มประชาธิปไตยไทบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษา ประมาณ 10 คน บุกขึ้นไปบนเวทีพร้อมถือป้ายผ้ามีข้อความว่า “SEA ต้องฟังเสียงไทบ้าน” และได้แสดงเชิงสัญลักษณ์บนเวทีเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง จนเวทีไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ผู้เข้าร่วมเดินออกจากห้องประชุม และทำให้เวทีปิดลงโดยปริยาย

นายปวริศ แย้มยิ่ง ผู้ประสานงานกลุ่มประชาธิปไตยไทบ้าน กล่าวว่า เวทีนี้เป็นเวทีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการจัดการแร่โพแทช ซึ่งไม่มีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เราไม่เห็นด้วย และเราแสดงจุดยืนและแสดงเชิงสัญลักษ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดเวที

“SEA ไม่เชิญไทบ้าน SEA ไม่มีส่วนร่วม SEA ต้องฟังเสียงไทบ้าน”

ปวริศ กล่าว

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ภาครัฐใช้ประเด็นจากสถานการณ์โควิด กีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วม ซึ่งแท้จริงการเข้าร่วมเวทีต้องเป็นสิทธิของชาวบ้าน และทางกรมทรัพยากรธรณีต้องเตรียมการ

“จากการที่มีเจ้าหน้าที่ อส. และตำรวจมา คุ้มกันประตูไม่ให้ชาวบ้านเข้า ทำให้เห็นชัดถึงการที่ฝ่ายรัฐ มองประชาชนเป็นฝ่ายข้าม ทั้งที่ชาวบ้านไม่ได้มีอาวุธ และรวมตัวกันโดยปราศจากความรุนแรง”

นายสุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ