10 พ.ค. 2559 เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. กลุ่มอนุรักษ์สิงแวดล้อมอุดรธานี กว่า 200 เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายสมหวัง พ่วงบางโพ รอง ผวจ.อุดรธานี ประธานคณะกรรมการจัดการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด และนายธนวรรธน์ เลิศสุคนธ์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี เลขานุการคณะกรรมการฯ เพื่อคัดค้านผลเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนโนนสูงพิทยาคาร ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยหวั่นเกรงว่าจะมีการใช้เพื่อนำไปสู่การอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการจัดการรับฟังความคิดเห็น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ได้จัดทำรายงานสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ จำนวน 24 หน้า ระบุว่าได้มีการประชุม มีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรบ้าง และรายงานเนื้อหาที่มีการพูดถึงในที่ประชุม ประกาศเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา
การจัดเวทีดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ประชาชนในพื้นที่และผู้มีส่วนได้เสียจะได้มีส่วนร่วมตามขั้นตอนของกฎหมายแร่ โดยหลังจากนั้นก็จะมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นของคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.แร่ และรัฐมนตรีอุตสาหกรรมลงนามในประทานบัตร
หนังสือของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ระบุว่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่โครงการฯ ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบกระบวนการขออนุญาตประทานบัตร คำขอประทานบัตรที่ 1-4/2547 ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด มาอย่างต่อเนื่อง คัดค้านประกาศคณะกรรมการจัดการรับฟังความคิดเห็น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี โดยมีเหตุผลดังนี้
1.การประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูลประกอบการจัดเวทีประชุมในวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าคณะกรรมการจัดการรับฟังความคิดเห็นฯ ได้ดำเนินการในหลายช่องทางแต่เป็นการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ซึ่งไม่ได้เข้าถึงผู้มีส่วนได้เสียที่แท้จริง ก็คือการจัดส่งเอกสารไปยังผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง
โดยปรากฏว่ามีผู้มีส่วนได้เสียเป็นจำนวนมาก ทั้งกรณีผู้มีสิทธิในที่ดิน และผู้อยู่อาศัย ที่ไม่ได้รับหนังสือเชิญและเอกสารประกอบ ได้แก่ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานเพิ่มเติมของบริษัทฯ ที่ปรึกษา เพื่อศึกษาข้อมูลก่อนเข้าร่วมการประชุม จึงส่งผลให้ผู้มีส่วนได้เสียที่แท้จริงดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมและเสียสิทธิที่จะได้รับฟังและแสดงความคิดเห็นผลการศึกษา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานเพิ่มเติมของบริษัทฯ ที่ปรึกษา ตามบทบัญญัติของมาตรา 88/7 แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่ 5) ในครั้งนี้ตามไปด้วย
ที่สำคัญคือข้อมูลผู้มีส่วนได้เสียในขอบเขตเหมืองเนื้อที่จำนวนกว่า 26,400 ไร่ ยังคลุมเครือ ไม่มีความชัดเจน และไม่มีการแก้ไขข้อมูลให้เป็นไปอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ กล่าวคือ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ทำการปักหมุด รังวัด ขึ้นรูปแผนที่และไต่สวนพื้นที่ เพื่อแสดงขอบเขตเหมืองและได้มาซึ่งผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้มีการแก้ไขให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน เช่น มีการซื้อ-ขาย โอนสิทธิที่ดิน เปลี่ยนเจ้าของ ผู้อยู่อาศัยย้าย เข้า-ออก เกิดและตาย เป็นต้น จึงส่งผลให้ผู้มีสิทธิในที่ดินและผู้อยู่อาศัยในขอบเขตเหมือง ตามความหมายของผู้มีส่วนได้เสียมีความคลาดเคลื่อน และเปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี มีหนังสือชี้แจงว่าได้ดำเนินการตรวจสอบในรายละเอียดของผู้มีส่วนได้เสีย แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ดังนั้น การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียฯ ในวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียจึงไม่ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน และส่งผลให้การดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่ถูกต้องและผิดพลาดในสาระสำคัญ ตามบทบัญญัติของมาตรา 88/7 แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่ 5) ตามไปด้วย
2.การจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ไม่มีบรรยากาศของการมีส่วนร่วมในการรับฟังและแสดงความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง ขาดความโปร่งใส เป็นธรรม และไม่ได้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามที่กล่าวอ้าง
กล่าวคือ สถานการณ์มีความขัดแย้ง ตึงเครียด และวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่วันก่อนจัดเวทีได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้ามาในพื้นที่เพื่อหาข่าวและติดตามสอบถามข้อมูล, เข้าพบแกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีและโทรศัพท์เพื่อสอบถามความเคลื่อนไหวการคัดค้านเวทีเป็นระยะ ส่วนในวันที่ 23 เม.ย. การประชุมก็เป็นไปโดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และอส. ที่สนธิกำลังกันมาทั่วทั้งจังหวัด มากกว่า 1,000 คน พร้อมอาวุธครบมือเพื่อคอยคุ้มกันเวที และมีรถห้องขังมาจอดเตรียมการ
ขณะที่บนเวทีมีฝ่ายข้าราชการกับบริษัทเจ้าของโครงการ และบริษัทที่ปรึกษา นำเสนอให้ข้อมูลสนับสุนนโครงการด้านเดียว ส่งผลให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีไม่เห็นด้วยและมีการเป่านกหวีด และโห่ร้องขับไล่ ส่งเสียงดังอื้ออึงอยู่ตลอดเวลา ภายหลังเสร็จเวทีก็ได้มีการเผาเอกสารประกอบการประชุมและรายงานอีไอเอ ซึ่งแสดงออกถึงการไม่ยอมรับเวทีและคัดค้านโครงการฯ
นอกจากนี้เหตุการณ์ในเวทีที่มีทั้งกลุ่มสนับสนุนและคัดค้านโครงการฯ ต่างเผชิญหน้ากันก็ทำให้บรรยากาศของการประชุมดังกล่าวมีความขัดแย้งและตึงเครียดอยู่ทุกชั่วขณะ แต่สุดท้ายแล้วเวทีนี้ก็ถูกลากไปจนจบลงอย่างทุลักทุเล ทั้งนี้ได้ปรากฏตามที่เป็นข่าว (คลิกดูข่าว)
3.ในเวทีวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนการประชุมเริ่มดำเนินการ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียฯ พร้อมทั้งมีเหตุผลประกอบด้วย จึงขอให้คณะกรรมการจัดการรับฟังความคิดเห็นฯ ได้รวบรวมข้อมูลและประเด็นการคัดค้านตามหนังสือของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ส่งไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจด้วย
เตรียมชง รมต.ผลเวทีโปแตชอุดรฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2559 เพจเฟซบุ๊ก ข่าวอุดรวันนี้ รายงานว่า นายสมหวัง พ่วงบางโพ รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการจัดการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เพื่อพิจารณาให้ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับผลการจัดเวทีฯ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายธนวรรธน์ เลิศสุคนธ์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี นำคณะกรรมการร่วมประชุม ที่ห้องประชุมคำชะโนด ศาลากลาง จ.อุดรธานี
ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา เอกสารสรุปการรับฟังความคิดเห็น เป็นกระดาษความหนา 21 หน้า อ้างถึง รมว.อุตสาหกรรม ขอให้ จ.อุดรธานี จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมืองแร่โปแตชของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประกอบการยื่นคำขอประทานบัตร 26,000 ไร่ มูลค่า 4 แสนล้านบาท ตาม ม.88/7 พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545 ซึ่งผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ โดยใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็น พ.ศ.2548 ก่อนจัดเวที 7 ข้อ และหลังจัดเวที 12 ข้อ
รายงานระบุ การจัดเวทีฯ ได้ติดประกาศที่ สนง.อุตสาหกรรมจังหวัด ที่ว่าการอำเภอเมือง อำเภอประจักษ์ฯ ที่ทำการกำนัน-ผญบ. 5 ตำบล 24 หมู่บ้าน องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ ส่งจดหมายแจ้งไปยังเจ้าของที่ดินในโครงการ 1,952 ราย ติดป้าย รถแห่ สื่อออนไลน์ สปอตสถานีวิทยุ 7 สถานี
มีผู้ลงทะเบียนเข้ารับฟัง 2,221 คน เป็นผู้มีส่วนได้เสีย 906 คน ประชาชนทั่วไปในพ้นที่ 24 หมู่บ้าน 401 คน นอกเขต 24 หมู่บ้าน แต่ใน 5 ตำบล 877 คน และประชาชนทั่วไป 17 คน
ประชาชนร่วมเวทีมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน จึงจัดพื้นที่แยกเป็นสัดส่วน เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่ง ทั้งนี้ ผู้คัดค้านได้เป่านกหวีด แต่เวทีฯ ได้ดำเนินการต่อ ไม่มีเหตุการณ์การเชิญ หรือควบคุมบุคคลที่ก่อกวนออกภายนอก
การชี้แจงโครงการของหน่วยงานรัฐ และผู้ขอรับประทานบัตรเสร็จสิ้น ได้รับฟังความคิดเห็นผู้มาร่วมเวที 21 คน เป็นผู้มีส่วนได้เสีย 11 คน ทั่วไป 10 คน ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งได้ถอดเทปคำพูดบันทึกในรายงาน และยังมีแบบสอบถาม 1,289 คน เป็นผู้มีส่วนได้เสีย 476 คน ทั่วไป 810 คน
ตัวแทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงว่า การยื่นหนังสือของกลุ่มอนุรักษ์ฯ คัดค้านโครงการและการจัดทำเวทีมี 3 ประเด็น ประเด็น 1 ผู้มีส่วนได้เสียเปลี่ยนแปลง ยังไม่มีการสำรวจใหม่ จะไม่มีผลกระทบกับเวทีฯ เพราะได้ประกาศและประชาสัมพันธ์ ครอบคลุมพื้นที่แล้ว ประเด็นที่ 2 อยู่ในระหว่างการฟ้องศาลปกครอง ซึ่งก่อนจัดเวทีฯ ผู้คัดค้านได้ร้องต่อศาลปกครอง ขอให้คุ้มครองแต่ศาลไม่มีคำสั่ง และประเด็นที่ 3 การทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์เหมืองแร่โปแตชอีสาน มีการจัดทำไปแล้วเมื่อปี 54
นายสมหวัง พ่วงบางโพ รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวสรุปว่า รายงานการจัดทำเวทีฯ ครั้งนี้ ให้เสนอในลักษณะรายงาน ไม่ต้องสรุปประเด็น เพื่อออกประกาศก่อนวันที่ 8 พ.ค.นี้ จากนั้นผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี จะส่งรายงานให้ รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งขั้นตอนที่ได้รับแจ้ง กพร.จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องนี้เฉพาะ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการแร่ ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานฯ พิจารณาส่งขึ้นไปตามขั้นตอน
ทั้งนี้การจัดทำเวทีฯ ของอุดรธานีถือว่าเสร็จสิ้น เป็นหน้าที่ของ กพร.ต้องชี้แจงตอบคำถาม สำหรับทรัพย์สินในแผ่นดิน มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท จะต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ให้ผู้คนมาต่อว่าภายหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การแสดงความคิดเห็นของกลุ่มเห็นด้วยกับเหมือนโปแตช เพราะเชื่อมั่นหน่วยงานรัฐ การจัดทำอีไอเอที่สามารถดูแลผลกระทบได้ ซึ่งจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย ท้องถิ่นจะได้ค่าภาคหลวง ลูกหลานจะมีงานทำ
ขณะที่ผู้คัดค้านระบุว่า หน่วยงานรัฐเข้าข้างนายทุน มีการลัดขั้นตอนจนชาวบ้านฟ้องศาลปกครอง อีกทั้งไม่เชื่อถืออีเอไอฉบับนี้ ยังมีความคลางแคลงใจเรื่องกองเกลือยักษ์สูง 40 เมตร ใช้พื้นที่มากกว่าสนามฟุตบอลหลายสนาม การแพร่กระจายดินเค็ม การแย่งน้ำจากภาคประชาชน และไม่เชื่อมั่นอำนาจการบังคับของรัฐ เพราะอุดรธานีที่ผ่านมาแก้โรงงานแปรรูปยางพาราเหม็นยังไม่ได้