กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ โวยมัดมือชกชาวบ้าน นัดจัดเวทีประชาคมเหมืองโปแตชในค่ายทหาร

กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ โวยมัดมือชกชาวบ้าน นัดจัดเวทีประชาคมเหมืองโปแตชในค่ายทหาร

จังหวัดอุดรธานีกำหนดจัดเวทีประชาคมเหมืองแร่โปแตช 15 ก.ย.นี้ ในค่ายทหาร แกนนำชาวบ้านจวกประชาคมหมู่บ้านต้องทำในหมู่บ้าน ไม่ใช่ทำกันในค่ายทหารอีกทั้งห่างจากพื้นที่ไปอีกกว่า 10 กม. ชี้กีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน เผยเคยเรียกร้องผู้ว่าฯ -ทหาร ให้ตรวจสอบความถูกต้องประชาคมหมู่บ้านที่ทำไปแล้วก่อน แต่เรื่องเงียบ

20151209192147.jpg

ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)

12 ก.ย. 2558 เวลา 09.00 น. นางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้เวลาประมาณ 5 โมงเย็นได้รับหนังสือ ด่วนที่สุดจากทางอำเภอประจักษ์ศิลปาคม เลขหนังสือที่ อด 2018/2737 ลงวันที่ 11 ก.ย. 2558 เพื่อเชิญเข้าร่วมเวทีการจัดประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจง (การประชาคมหมู่บ้าน) การดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี

เนื้อหาในหนังสือมีใจความว่า จังหวัดอุดรธานีเห็นควรให้มีการจัดประชุมรับฟังการชี้แจง การดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ตามคู่มือวิธีปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี เรื่องการให้ความเห็นในการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ พ.ศ.2545 ในวันอังคารที่ 15 ก.ย. 2558 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ สโมสรค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี

เนื้อหาในหนังสือยังระบุด้วยว่า จังหวัดอุดรธานีได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อติดตามการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี โดยได้มีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ที่ประชุมได้มีการหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาในวงกว้าง และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้เสนอให้มีการจัดเวทีประชุมวิชาการ ซึ่งนอกเหนือจากการดำเนินการคำขอประทานบัตรโครงการตามระเบียบที่กำหนดไว้ ต่อมาจังหวัดอุดรธานีได้มีหนังสือถึงกลุ่มอนุรักษ์ฯ เพื่อสอบถามความพร้อมในการประสานงานนักวิชาการ เพื่อเข้าร่วมเวทีประชุมวิชาการ แต่ยังไม่มีการตอบรับจากกลุ่มอนุรักษ์ฯ แต่อย่างใด ซึ่งเวลาล่วงเลยมานานแล้ว จังหวัดอุดรธานี จึงดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาคำขอประทานบัตร

นางมณี กล่าวว่า การประชาคมหมู่บ้านจะต้องทำในหมู่บ้าน ไม่ใช่ทำกันในค่ายทหารและไม่สนใจกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งมันเป็นการมัดมือชกชาวบ้าน ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐก็เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทโปแตช โดยการนำกำลังทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ อส. มาคอยคุ้มกันเวที มันจึงไม่ถูกต้อง ไม่มีความโปร่งใส ดังนั้นเราจึงไม่ยอมรับอำนาจในครั้งนี้ และยืนยันว่าจะต่อสู้ต่อไป

“ถ้าจะทำกันจริงๆ ตามระเบียบบอกไว้ว่าการประชาคมต้องทำในหมู่บ้าน ในชุมชน ต.ห้วยสามพาด และต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม แต่การประชาคมครั้งนี้ไปทำกันในค่ายทหาร ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี ซึ่งอยู่นอกเขต และห่างจากพื้นที่ไปอีกกว่า 10 กม. จึงเป็นการกีดกันการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน” นางมณีกล่าว

นางมณี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เรียกร้องกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และทหารมาโดยตลอดว่า ให้มีการตรวจสอบการทำประชาคมหมู่บ้าน และการประชุมให้ความเห็นของ อปท.ในพื้นที่อื่นที่มีการดำเนินการไปแล้วก่อน ได้แก่ ต.หนองขอนกว้าง ต.โนนสูง และต.หนองไผ่ ในเขต อ.เมืองอุดรธานี ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการ

“ในส่วนของเวทีประชุมวิชาการ ตามที่จังหวัดอุดรธานีทำหนังสือสอบถามมา กลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ได้ส่งหนังสือตอบกลับไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา และมีสำเนาหนังสือยืนยันชัดเจน โดยมีข้อเสนอให้จังหวัดอุดรธานี จัดประชุมคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อวางกรอบเนื้อหา และกำหนดรูปแบบเวทีร่วมกันเสียก่อน แต่จังหวัดก็ไม่ได้ดำเนินการ” นางมณีกล่าว

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.) อีสาน กล่าวว่า ช่วงเวลานี้เป็นจังหวะที่กลุ่มนายทุนเหมืองแร่และชนชั้นนำจะเร่งรีบให้เหมืองแร่โปแตชอุดรฯ ผ่านกระบวนการโดยเร็วเพื่อจะได้ให้ใบประทานบัตรออกมาในช่วงนี้ โดยไม่สนใจว่ากระบวนรับฟังความเห็นจะถูกต้องหรือไม่ ทั้งๆ ที่ โครงขนาดใหญ่และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาลไม่ควรที่จะใช้ช่วงเวลานี้อนุมัติ ควรจะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้ เพราะการที่ผู้มีส่วนได้เสียรับรู้ผลกระทบและความรับผิดชอบต่อโครงการฯ จะทำให้เขาเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

“เป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่ฟังเหตุผลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ แม้ว่าการจัดประชาคมหมู่บ้านในครั้งนี้จะผ่านไป ต้องยอมรับว่าความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐทุกๆ ภาคส่วนได้ทิ้งปัญหาเอาไว้ให้กับชาวบ้านและคือภาระของชุมชน” นายสุวิทย์กล่าว

ส่วนนายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า การจัดเวทีประชาคมในครั้งนี้ไม่ได้มีสาระสำคัญในการมีมติของผู้มีส่วนร่วม เนื่องจากว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ทำการแก้ไขระเบียบว่าด้วยการประชาคมใหม่ เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่าการประชาคมหมู่บ้าน หรือการประชุมให้ความเห็นชอบของอปท.ไม่จำเป็นต้องมีการลงประชามติ ซึ่งมันก็คือการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อให้เหมืองอย่างที่สุด โดยละเลยหลักการส่วนร่วมของประชาชน และการไปทำกันในค่ายทหารด้วย ในทางวิชาการและทางกฎหมายมันยอมรับไม่ได้ แล้วมันจะเรียกว่าการประชาคมได้อย่างไร

“ควรย้อนกลับไปดูสัญญาระหว่างรัฐบาลกับบริษัทเอกชนที่ทำกันไว้ตั้งแต่ปี 2527 น่าอัปยศมากที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนมากมาย โดยเฉพาะบางข้อที่เขียนไว้ว่า โครงการจะไม่ถูกระงับโดยนโยบาย แผนงาน ระเบียบหรือข้อบังคับ กฎหมายของรัฐ นั่นก็หมายความว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นโครงการจะต้องดำเนินการให้ได้อยู่ดี สัญญาก็จะอยู่กับเหมืองอย่างน้อยก็ 25 ปี ซึ่งประชาชนก็แทบจะไม่มีสิทธิอะไรเลยตามสัญญาที่ว่าไว้ อันนี้สิ่งที่ประชาชน นักวิชาการ และส่วนราชการควรจะศึกษาเรื่องนี้ให้มาก ไม่ใช่ว่าอยากให้เหมืองเกิดโดยที่ไม่สนใจอะไรเลย” สันติภาพกล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ