ฟังเสียงประเทศไทย ตอน โคราชเมืองใหญ่กับทิศทางไปต่อ

ฟังเสียงประเทศไทย ตอน โคราชเมืองใหญ่กับทิศทางไปต่อ

ประตูสู่แดนอีสาน “นครราชสีมา” นับเป็นอีกเมืองใหญ่ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพด้านทรัพยากรธรรมชาติ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ปัจจัยการผลิต ทั้งที่ดิน แหล่งน้ำ จำนวนประชากร และความงดงามของศิลปะวัฒนธรรมในชุมชน

แต่ด้านหนึ่ง เมืองใหญ่แห่งนี้ ยังมีโจทย์และความท้าทายในการพัฒนาและออกแบบเมืองให้สอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลาย วันนี้ฟังเสียงประเทศไทย กลับไปเยือนเมืองย่าโมอีกครั้ง เพื่อฟังเสียงชาวโคราชกับมุมมองการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเสียงคนในท้องถิ่น

นครราชสีมาอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน ห่างจากกรุงเทพฯทางรถยนต์ 259 กิโลเมตร มี 32 อําเภอ

มีจำนวนประชากร 2,630,058 คน จำนวนประชากรแฝง 94,300 คน

การเกิด 17,773 คน การตาย 2,291 คน

ประชากรผู้อายุ (ตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป) 511,968 คน (19.47%)

อำเภอที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด อ.เมือง/ อ.ปากช่อง/ อ.สีคิ้ว /อ.พิมาย

มีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่หลากหลายและมีความพร้อม ซึ่งมีข้อมูลนักศึกษาในปีการศึกษา 2564 ของสถาบันอุดมศึกษา 10 แห่ง รวมกว่า 54,000 คน

ข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ปี 2566 -2570 ระบุถึงโอกาส ดังนี้

  • 1. ยุทธศาสตร์โครงข่ายเส้นทางคมนาคม  East-West Corridor
  • 2. นโยบายส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน สินค้าท้องถิ่น
  • 3. การพัฒนาเทคโนโลยีและการเข้าถึงโอกาส
  • 4. นโยบายด้านเกษตรมูลค่าสูง
  • 5. นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระจายรายได้

โดยมีเป้าหมายการพัฒนา คือ  “ศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและ ศิลปวัฒนธรรมของภูมิภาค นวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรม และเป็นสังคมคุณภาพสูง”

นอกจากนี้ นครราชสีมามหานครแห่งโอกาสและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีแผนนำร่องระยะ 5 ปี ใน 8 โครงการ ได้แก่

  • 1 เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษฯ นครราชสีมา เมืองนวัตกรรมชีวภาพ (Bio polis)
  • 2 เขตนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ
  • 3 เมืองแห่งการประชุมและนิทรรศการ (MICE City)
  • 4 เมืองใหม่สุรนารี เมืองนวัตกรรมและนิคมวิจัย
  • 5 Startup City Korat ส่งเสริมการจัดตั้งวิสาหกิจ
  • 6 โคราชเมืองอัจฉริยะนำร่อง (City Link)
  • 7 สนามบินนานาชาติ
  • 8 พัฒนาระบบขนส่งมวลชนรองและการเชื่อมต่อเส้นทาง (Feeder)

ความท้าทายด้านประชากรที่อาจจะเผชิญ ตามข้อมูลแผนพัฒนาจังหวัด Korat 2585 โดย สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ระบุ

  • (1) เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบในปี 2566
  • (2) จำนวนเด็กอายุน้อยกว่า 20 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 22.80
  • (3) วัยแรงงานต้องรับภาระดูแล เด็กและผู้สูงอายุ
  • (4) การกระจุกตัวของชุมชนในบางอำเภอ

โดยมีปัจจัยและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง

1.ด้านโครงสร้างประชากร ที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการย้ายถิ่น• สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบในปี 2566

  • ปี 2585 มีประชากร 3.0 ล้านคน
  • การย้ายถิ่นจากเขตชนบทมาสู่เขตเมือง (Urbanization)

2.ด้านระบบสาธารณสุข การดูแลผู้สูงอายุกลุ่มโรคเรื้อรังและสถานพยาบาลไม่เพียงพอ

  • การดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเรื้อรัง (NCDs)
  • สถานพยาบาล/เตียง ไม่มีเพียงพอ

3.ด้านการศึกษาที่เป็นผลจากอัตราการเกิดลดลง และการเรียนรู้ที่หลากหลาย

  • อัตราการเกิดลดลง โรงเรียนขนาดเล็กปิดตัวมากขึ้น
  • ความนิยมการศึกษาในระบบลดลง

4.ด้านเศรษฐกิจ ค่าแรงขั้นต่ำที่ส่งผลต่อการลงทุน

  • ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มสูง อุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิต
  • การคมนาคมสะดวก การท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
  • เศรษฐกิจมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

5.ด้านคมนาคมขนส่ง การเปลี่ยนผ่านเรื่องเชื้อเพลิงและระบบราง

  • พลังงานเชื้อเพลิงราคาสูง
  • เปลี่ยนผ่านไปใช้ระบบไฟฟ้า
  • การขนส่งทางรางเพิ่มมากขึ้น

6.ด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากสภาวะอากาศโลกผันผวน ภัยพิบัติที่รุนแรงและมีความถี่เพิ่มขึ้น

  • อุณหภูมิโลกสูงขึ้น สภาวะอากาศผันผวน
  • เสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติ
  • มุ่งเน้นลดการปล่อยคาร์บอน
  • การบริโภค อุปโภคเพิ่มมากขึ้น

ฉากทัศน์  มองอนาคตโคราชกับการพัฒนา ในอีก 5 ปี ข้างหน้า ปี 2571

โคราช Mega city

นครราชสีมาเมืองใหญ่ในอีสาน มีความพร้อมเรื่องฐานทรัพยากรสำหรับรองรับผู้คน การเติบโตและการขยายเมืองจากกรุงเทพฯและปริมณฑล โคราชจะต้องพัฒนาโครงสร้างการคมนาคมเชื่อมต่อเมืองในภูมิภาคทางรถยนต์ รถไฟ หรืออากาศยาน รองรับการขยายตัวของที่อยู่อาศัยเป็นชุมชนเมืองใหม่ โดยต้องมีการสนับสนุนลงทุนจากภาครัฐ และเอกชน ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณสูงกว่าแสนล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและการลงทุน ซึ่งจำเป็นที่รัฐท้องถิ่นและภาคเอกชนต้องลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ พร้อมสร้างระบบนิเวศการท่องเที่ยวเชื่อมไปยังจังหวัดโดยรอบ รองรับความต้องการบริโภคของผู้อพยพเคลื่อนย้ายและนักท่องเที่ยว

โคราช เมืองกรีนเทคโนโลยี

นครราชสีมาเมืองแห่งอุตสาหกรรมท้องถิ่น ยกระดับศักยภาพชุมชน จากต้นทุนฐานการผลิตเกษตรกรรม และสินค้าชุมชน โดยต้องนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามเทรนด์ของโลกมาเป็นเครื่องมือ ซึ่งโคราชต้องขยายจุดแข็งในการเป็นแหล่งผลิตและกระจายสินค้าทางการเกษตรกร ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง และอื่น ๆ ที่จะเป็นโอกาสเติบโตของกลุ่มการลงทุน แต่อาจทำให้เกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่นที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนสูญเสียโอกาส เพราะต้องใช้งบประมาณสูง ดังนั้นเกษตรกรจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง หาช่องทางการตลาด เชื่อมต่อกับผู้บริโภค การเสริมองค์ความรู้ ด้วยข้อมูลวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถปรับตัวภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ เอกชน และผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง

โคราชเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นครราชสีมาเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts & Folk Arts) โดยภาคชุมชนเป็นกำลังหลักเห็นถึงความสำคัญและขีดความสามารถในท้องถิ่น ทั้ง ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี ที่มีเอกลักษณ์ผ่านงานหัตถกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลาย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชุมชน และการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมนำวัฒนธรรมที่สั่งสมมานานใช้เป็นทุนเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ ข้อมูลที่มีการศึกษารวบรวมเป็น Data base และเผยแพร่อย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาต่อยอดวัฒนธรรมที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงการตลาดที่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้น

ภายใต้โจทย์การพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นเมืองของทุกคนอย่างมีส่วนร่วม การฟังเสียงเพื่อรับรู้ข้อมูลที่หลากหลายรอบด้าน จะเป็นส่วนสำคัญให้ชาวโคราชมีส่วนร่วมออกแบบเมืองที่พวกเขาอย่างแท้จริงค่ะ

 คุณผู้ชมสามารถร่วมเป็นส่วนสำคัญในการมองภาพอนาคตและหาทางแก้โจทย์นี้ โดยอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ www.thecitizen.plus พร้อมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ