‘คนเกาะแรต’ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ใช้ทุนธรรมชาติและรากเหง้าท้องถิ่นพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน

‘คนเกาะแรต’ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ใช้ทุนธรรมชาติและรากเหง้าท้องถิ่นพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน

    เกาะแรต  เป็นเกาะเล็กๆ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอดอนสัก  ห่างจากตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 60 กิโลเมตร  ในอดีตเป็นหมู่บ้านชาวประมงที่เงียบสงบ  อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่เพียง 1 กิโลเมตร  แต่ขาดแคลนน้ำจืด  ชาวบ้านต้องขนน้ำใส่ไหบรรทุกเรือจากฝั่งมาใช้ดื่มกินบนเกาะ 

เมื่อมีสะพานเชื่อมมาถึงเกาะในปี 2552 วิถีชีวิตคนเกาะแรตเริ่มเปลี่ยนไป  หนุ่มสาวเข้าไปเรียนและทำงานในเมืองมากขึ้น  โรงเรียนชั้นประถมแห่งเดียวบนเกาะแรตปิดตัวลงในปี 2558 เพราะมีเด็กเกิดใหม่น้อย

ขณะเดียวกัน  เกาะแรตเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา  มีโฮมสเตย์  ที่พัก  ร้านอาหารผุดขึ้นมา  โดยมีเรื่องเล่าขานตำนานชาวจีนไหหลำผู้บุกเบิกเกาะแรตช่วยแต่งแต้มให้เกาะเล็กๆ แห่งนี้มีสีสัน  มีศาลเจ้า มีบ่อน้ำเก่าแก่ ช่วยเสริมให้เรื่องราวดูขรึมขลัง…และมีอาหารโบราณที่สืบทอดกันมาจากไหหลำอย่าง ‘หมูเน่า’ เป็นเมนูรับแขก…

จากหมู่บ้านประมงสู่การท่องเที่ยว

            ชื่อของ ‘เกาะแรต’ ไม่มีความเป็นมาชัดเจนนัก บ้างสันนิษฐานว่าจากชื่อของ ‘ต้นขี้แรด’ ที่มีอยู่บนเกาะ  ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบอกว่า  เดิมเกาะแรตมีชาวประมงมุสลิมจากปัตตานีและนราธิวาสเข้ามาอาศัยอยู่ก่อน  แต่ไม่ได้อยู่ประจำเพราะอาจจะขาดแคลนน้ำจืด

ราวปี 2413  สมัยต้นรัชกาลที่ 5 มีชาวจีนอพยพเข้ามาทำมาหากินในเมืองไทยมากมายหลายกลุ่ม  ในจำนวนนี้มีชาวจีนไหหลำกลุ่มหนึ่งล่องเรือสำเภามาขึ้นฝั่งแถบสุราษฎร์ธานี  เช่น  ที่ปากกะแดะ  อ.กาญจนดิษฐ์  และที่เกาะแรต  อ.ดอนสัก  ส่วนใหญ่ทำมาหากินด้วยอาชีพประมงพื้นบ้าน

2
เกาะแรตอยู่ห่างจากชายฝั่ง อ.ดอนสัก  ประมาณ 1 กิโลเมตร

กาญจนา อรุณเลิศวิทยา  อายุ 60 ปี  เจ้าของโฮมสเตย์ ‘เรือนปลาไก่’ ลูกหลานชาวจีนไหหลำ  เล่าว่า  เดิมครอบครัวตั้งแต่สมัย ‘ก๋ง’ หรือคุณปู่ทำอาชีพประมงชายฝั่ง  หากินอยู่ในน้ำน่านเกาะแรต  ไม่ต้องออกไปหากินไกล  เพราะสมัยก่อน  กุ้ง  หอย  ปู  ปลา  ยังอุดมสมบูรณ์  ต่อมาจึงทำเรืออวนรุน  เอาปลาเล็ก  ปลาน้อย  มาตากแห้ง  ส่งขายให้โรงงานผลิตอาหารไก่ที่สุราษฎร์ธานี  จึงเรียกว่า “ปลาไก่”  และทำต่อมาจนถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่  เพิ่งจะเลิกราเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา  เพราะไม่มีคนสืบทอด   ญาติพี่น้องหันไปทำมาหากินด้านอื่น  เพราะงานไม่หนักเหมือนงานประมง

“ส่วนจุดเริ่มต้นเรื่องท่องเที่ยวชุมชนเกาะแรตนั้น  ตอนโรงเรียนบ้านเกาะแรตปิดช่วงปี 2558 เพราะไม่มีเด็กนักเรียนนั้น  ต่อมาในปี 2559 มีคณะครูจากสุราษฎร์มาเที่ยวที่เกาะแรต  แล้วใช้โรงเรียนเป็นที่พัก  เป็นที่สัมมนา  เพราะเห็นว่าบรรยากาศดี  ส่วนอาหารการกินก็ให้ชาวบ้านช่วยทำ  ชาวบ้านจึงเริ่มเห็นช่องทางเรื่องการทำที่พัก  ทำร้านอาหาร  จึงเริ่มเอาบ้านว่าง  เอาห้องว่างมาปรับปรุงเป็นที่พัก”  เจ้าของเรือนปลาไก่บอก

เธอบอกว่า ช่วงแรกมี ‘ผู้ใหญ่เพ้ง’ เริ่มทำเรื่องที่พักและอาหารก่อน  ส่วนเธอตอนนั้น  เพิ่งลาออกจากงานบริษัทในกรุงเทพฯ แล้วกลับมาอยู่บ้านได้ไม่นาน  เมื่อเห็นช่องทางรองรับอาชีพวัยเกษียณ  เธอจึงเริ่มทำบ้าง  รื้อเรือนริมทะเลที่อยู่ติดกับโรงเรียนบ้านเกาะแรต  ซึ่งแต่เดิมใช้เป็นที่ทำ ‘ปลาไก่’ นำมาทำที่พัก  จำนวน 6 ห้อง  สร้างเสร็จและเปิดบริการตั้งแต่ปี 2560  ใช้ชื่อว่า “เรือนปลาไก่”  ตามอาชีพเดิมของครอบครัว

ปัจจุบันบนเกาะแรตมีชาวบ้านทำที่พักโฮมสเตย์ทั้งหมดประมาณ 11 ราย  มีทั้งใช้บ้านเก่า  ห้องว่างมาปรับปรุงเป็นที่พัก  และมีบางรายที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่  มีที่พักสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทั้งหมดประมาณ 200 คน/คืน  ราคาที่พักประมาณห้องละ 800 บาท  พักได้ 2 คน  หากรวมอาหารเช้าหรือค่ำราคาจะปรับขึ้นอีก  หรือตามแต่ตกลง (ดูรายละเอียดที่เฟซบุ๊ก ‘ที่พักเกาะแรต  อ.ดอนสัก  จ.สุราษฎร์ธานี’)

3
ปลาเสียดตากแห้ง  ราคาตัวละ 100-120 บาท  นำมาแกงคั่วใส่กะทิ ทำอาหารได้หลายอย่าง

ใช้ทุนธรรมชาติ-รากเหง้าพัฒนาท่องเที่ยววิถีชุมชน

ภูวนาท  แก้วออด  อายุ 58 ปี  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านเกาะแรต  บอกว่า  เกาะแรตมีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่เศษ  ปัจจุบันมี 106 ครอบครัว  ประมาณ 310 คน  ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำที่อยู่มานาน  รุ่นแรกๆ น่าจะเข้ามาอยู่เมื่อราว 150-160 ปีก่อน  และภายหลังจึงมีคนไทยจากจังหวัดต่างๆ ที่เข้ามาทำมาหากินหรือมีครอบครัวอยู่ที่นี่  ส่วนใหญ่ยังทำอาชีพประมง  แต่เป็นเรือเล็ก  ทำประมงชายฝั่ง  มีปูม้า  กั้ง  กุ้ง ปลาต่างๆ  บ้างทำงานรับจ้างแกะกุ้ง ปู กั้ง มัดอวน และค้าขายเล็กๆ น้อยๆ

ผู้ใหญ่ภูวนาทบอกว่า  เมื่อชาวจีนไหหลำเข้ามาตั้งหลักปักฐานที่เกาะแรตแล้ว  ต่อมาจึงได้สร้างศาลเจ้าประจำเกาะขึ้นมาเพื่อประกอบพิธีเซ่นไหว้บูชา  และขุดบ่อน้ำขึ้นมาใช้  ตั้งอยู่ติดกับศาลเจ้า  แต่น้ำในบ่อมีรสกร่อย  จึงใช้เป็นน้ำซักล้างหรือน้ำอาบ  ส่วนน้ำกินและน้ำดื่ม  ต้องซื้อโอ่งใบใหญ่มารองน้ำฝนเพื่อให้มีกินนานๆ และใช้เรือบรรทุกน้ำใส่ไหหรือปี๊ปจากฝั่งมาที่เกาะ  ต่อมาอีกหลายสิบปีจึงมีการต่อท่อประปาจากฝั่งมาที่เกาะ  ส่วนไฟฟ้าเมื่อก่อนใช้ตะเกียงและเครื่องปั่นไฟ  ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาช่วงปี 2530

4
ศาลเจ้าปรับปรุงเพิ่มเติมในภายหลัง
5
บ่อน้ำร้อยปี  ก่ออิฐครอบเป็นตำนานให้ลูกหลานได้เรียนรู้วิถีคนรุ่นก่อน

“สะพานข้ามฝั่งเมื่อก่อนยังไม่มี  ต้องใช้เรือข้ามฝั่งกันตลอด  เด็กโตที่เรียนบนฝั่งต้องนั่งเรือไป-กลับทุกวัน ถ้าช่วงมรสุมจะอันตราย  บางครั้งต้องนอนบ้านญาติ  พอตอนหลังชาวบ้านจึงร่วมกันถวายฎีกาถึงในหลวง  ปี 2549 จึงได้สร้างสะพาน  จนเสร็จและเริ่มเปิดใช้ในปี 2552  ชาวบ้านจึงเดินทางสะดวกสบายขึ้น” ผู้ใหญ่ภูวนาทบอก  และว่า  พอมีสะพานจึงเริ่มมีคนมาเที่ยว  แต่ก็ยังไม่มากมายนัก  จนมาช่วง 5-6 ปีหลังมานี้  มีคนมาเที่ยวและเอารูปเอาเรื่องราวไปเผยแพร่ต่อในสื่อออนไลน์  นักท่องเที่ยวจึงรู้จักเกาะแรตมากขึ้น

“ตอนนี้อาชีพที่กำลังมาแรงก็เป็นเรื่องท่องเที่ยวนี่แหละครับ  ฝรั่งก็มีมาเที่ยวบ้าง  แต่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่ชอบบรรยากาศธรรมชาติ  มาสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน  ชาวประมง  มาตกปลา  มาพักผ่อนแบบครอบครัว  มีโฮมสเตย์ติดทะเล    มาดูพระอาทิตย์ตกดิน  ดูโลมา  กินอาหารทะเลอร่อยๆ  ราคาไม่แพง  โดยเฉพาะปูม้าที่เกาะแรตถือว่าอร่อยสุด  เพราะเนื้อแน่น  หวานมัน  เนื้อเยอะ  เปลือกบาง”  ผู้ใหญ่ภูวนาทบอกของดีเกาะแรต

เขาบอกด้วยว่า  เพื่อรองรับการท่องเที่ยวชุมชน  จึงสนับสนุนให้มีการจัดอบรม ‘มัคคุเทศก์น้อย’ โดยให้เด็กนักเรียนและเยาวชนที่มีเวลาว่างประมาณ 10 คน  มาศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  เช่น  ประวัติความเป็นมาของบรรพบุรุษ  เรื่องราวของศาลเจ้า  บ่อน้ำเก่าแก่ประจำเกาะหรือ ‘บ่อน้ำร้อยปี’ แหล่งท่องเที่ยว  เส้นทางเดินรอบเกาะ  อาหารท้องถิ่น  ฯลฯ  เพื่อให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน

นอกจากนี้ยังจัดประชุมร่วมกับชาวบ้านที่ทำโฮมสเตย์และร้านอาหารเพื่อกำหนดกฎระเบียบร่วมกัน  เพื่อไม่ให้การท่องเที่ยวเข้ามาทำลายความสงบสุขของชุมชน  เช่น  ห้ามผู้เข้าพักส่งเสียงดังหลังเวลา 4 ทุ่ม  การดูแลรักษาความปลอดภัย  ความสะอาด  ไม่ทิ้งขยะ  ไม่ปล่อยน้ำเสียลงทะเล  โดยในปี 2567  ชุมชนจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาจัดการขยะ  การบำบัดหรือใช้ถังดักไขมันในครัวเรือนก่อนปล่อยน้ำทิ้งลงสู่ทะเล

6
เรือนไม้  ประตูบานเฟี้ยมที่ชุมชนยังรักษาเอาไว้

สืบสานอาหารโบราณ ‘หมูเน่าไหหลำ’

กาญจนา อรุณเลิศวิทยา  ลูกหลานชาวจีนไหหลำ เล่าว่า  เมื่อก่อนคนจีนบนเกาะแรตนอกจากจะทำประมงพื้นบ้านแล้ว  ยังเลี้ยงหมูบนเกาะด้วย  เป็นหมูดำ  นำพันธุ์มาจากไหหลำ  โดยเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินอยู่ตามใต้ถุนเรือน  นอกจากนี้ยังมีเป็ด  ไก่  เวลามีงานเลี้ยงตามประเพณี  ตรุษหรือสารทจีน  งานแต่ง  ฯลฯ ก็จะเอาหมู  เป็ด ไก่ที่เลี้ยงมาทำอาหาร  เป็นอาหารแบบไหหลำ

“ก๋งหย่ง  แซ่ลิ้ม  มีฝีมือเรื่องทำอาหารตั้งแต่สมัยอยู่เมืองจีน  บนเกาะแรตเวลามีงานต่างๆ  ก๋งจะเป็นพ่อครัวใหญช่วยทำอาหารต่างๆ  ทั้งอาหารทะเล  และหมู ไก่ที่เลี้ยงเอาไว้  อาหารโบราณที่ทุกวันนี้ยังทำกันอยู่คือ ‘หมูเน่า’  ตอนนี้โฮมสเตย์และร้านอาหารบนเกาะแรตต้องมีเมนูนี้เป็นหลัก” กาญจนาบอกถึงตำรับอาหารไหหลำที่ยังสืบทอดกันมา

“หมูเน่า” อันที่จริงออกเสียงตามสำเนียงไหหลำว่า “เน้าบา” แปลว่า “หมูเปื่อย” หรือ “หมูนุ่ม” เพราะเอาหมูสามชั้นไปตุ๋นจนเนื้อเปื่อยนุ่ม  แต่คนรุ่นหลังๆ เรียกว่า “หมูเน้า”  และเพี้ยนมาเป็น “หมูเน่า”  เป็นอาหารที่คนเกาะแรตภาคภูมิใจ

7
“หมูเน่า” อาหารโบราณของชาวไหหลำ

ส่วนวิธีการทำ  จะนำหมูสามชั้น  หั่นเป็นชิ้นขนาดครึ่งฝ่ามือ  หมักกับกระเทียม  ซีอิ้วดำ ซอสแดง เหล้าจีน เครื่องพะโล้ เต้าเจี้ยว เกลือป่น  และน้ำตาลปี๊บ  ใช้เวลาหมักนานประมาณ 4-5 ชั่วโมง  เพื่อให้ส่วนผสมซึมแทรกเข้าไปในเนื้อหมู

จากนั้นจึงตั้งกระทะ  ถ้าใช้เตาฟืนจะเพิ่มความหอม  ใส่กระเทียม พริกไทยลงไปผัดจนหอม  ใส่หมูที่หมักลงไปผัดให้เข้าเนื้อจนเกือบสุก ชิมและปรุงรสด้วยซีอิ้วดำ ซีอิ้วขาว น้ำตาล  เติมน้ำลงไปเพื่อไม่ให้หมูติดกระทะ  ตุ๋นด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ 2 ชั่วโมงจนหมูเปื่อยนุ่ม มีน้ำขลุกขลิก  หมูเน่าที่ได้จะมีรสชาติกลมกล่อม  หวานนำ  เค็มนิดๆ  รสชาติคล้าย ‘เคาหยก’ ของจีนแคะ  แต่หมูเน่าจะไม่ใส่ผักกาดแห้งลงไปตุ๋น

นอกจากหมูเน่าแล้ว  ร้านอาหารและโฮมสเตย์บนเกาะแรตยังมีอาหารหลากหลายเมนู  มีทั้งสูตรไหหลำ  ประเภทผัด  นึ่ง ต้ม  ทอด  ไปจนถึงอาหารพื้นบ้านแบบสุราษฎร์ธานีรสจัดจ้าน  เช่น  ต้มยำทะเล  แกงเหลือง  ผัดเผ็ด  ผัดฉ่า  ขนมจีน  ฯลฯ  มากมายหลายเมนู  รวมทั้งยังมีอาหารทะเลแห้ง  ปลาเค็ม  ปลาแห้ง  กุ้งแห้ง มันกุ้ง  จำหน่ายเป็นของฝาก  ทำให้คนเกาะแรตมีช่องทางทำมาหากินเพิ่มขึ้น…!! 

8
โรงเรียนริมทะเลบ้านเกาะแรตปิดในปี 2558  ชาวบ้านมีแผนจะขอนำมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อนุมัติ

โลมา 3 สายพันธุ์ ‘UNSEEN เกาะแรต’

ประกอบ  พงษ์ประดิษฐ์ผล  อายุ 55 ปี  ชาวประมงเกาะแรต  มีอาชีพเสริมคือขับเรือพานักท่องเที่ยวชมปลาโลมา  เขาบอกว่า  สมัยวัยรุ่นเขาเข้าไปเรียนหนังสือระดับมัธยมที่กรุงเทพฯ  แต่เรียนจบแล้วกลับมาทำประมงตั้งแต่อายุ 20 ปี  เพราะหากินในทะเลง่าย  สบายใจกว่าทำงานในเมือง  อีกทั้งครอบครัวทำประมงมาก่อน

ทุกวันนี้เขามีเรือหางยาว  เป็นเรือเล็ก  เอาไว้ลากอวนกุ้ง  ส่วนใหญ่เป็นกุ้งแชบ๊วยและกั้งขาว  เมื่อก่อนจะส่งขายที่แพปลา  พอมีนักท่องเที่ยวเข้ามาก็ส่งขายให้ร้านอาหารบนเกาะ  ราคาตามขนาด  กุ้งราคากิโลฯ ละ 240-300 บาท  และกั้งขาวกิโลฯ ละ 200 บาท  เนื้อกั้งต้มสุกแกะใส่กล่องขายนักท่องเที่ยวกล่องละ 100 บาท  พอมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้สบาย

“พอมีนักท่องเที่ยวเข้ามาก็ทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น  คนแก่อยู่บ้านก็เอาปลาแห้ง  เอาปลาเค็มมาวางขายหน้าบ้าน  ถ้ามีคนจะดูโลมา  ผมก็จะเอาเรือมารับ  วิ่งออกไปในทะเล  ประมาณครึ่งชั่วโมง  มีโลมาฝูงนึงประมาณ  20 ตัว   แต่ตัวที่เชื่องมีอยู่ 3 ตัว  เพราะผมให้ปลาเกือบทุกวัน  ตัวที่เชื่องที่สุดชื่อ ‘โอเล่’ ถ้าเรียกชื่อก็จะว่ายเข้ามาหา   นักท่องเที่ยวจะชอบดู”  ประกอบบอกถึงเสน่ห์อีกอย่างของเกาะแรต

9
ส่วนหนึ่งของโลมาที่เกาะแรต

               ผู้ใหญ่ภูวนาท  เสริมว่า  เรื่องท่องเที่ยวชมโลมาที่เกาะแรตยังมีปัญหาเรื่องท่าเรือรับ-ส่งนักท่องเที่ยว  เพราะที่เกาะแรตยังไม่มีท่าเทียบเรือ  เวลานักท่องเที่ยวลงเรือจะลำบาก  โดยเฉพาะผู้สูงอายุ  หรือผู้ที่มาเป็นครอบครัว

“กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเคยสำรวจพบว่าบริเวณรอบเกาะแรตเป็นแหล่งโลมาที่ค่อนข้างสมบูรณ์      มีโลมา 3 สายพันธุ์  คือ  โลมาหัวโหนก  ประมาณ 265 ตัว  โลมาอิรวดี  และโลมาหัวบาตรอีกจำนวนหนึ่ง  ดังนั้นหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนสร้างท่าเทียบเรือก็จะทำให้การเที่ยวชมโลมามีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น” ผู้ใหญ่ภูวนาทบอกถึงแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะแรตให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น  โดยมีทริปการชมโลมาเป็นจุดขายหรือ ‘UNSEEN เกาะแรต’

นี่คือตัวอย่างของคนเกาะแรต  อ.ดอนสัก  จ.สุราษฎร์ธานี  ที่ใช้ทุนธรรมชาติและรากเหง้าวัฒนธรรมท้องถิ่นนำมาพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน  ช่วยหนุนเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้น…!!

10
11
‘คนเกาะแรตไม่ทิ้งกัน’  สภาองค์กรชุมชนเทศบาลเมืองดอนสัก  นำโดย อ.ชัยวัฒน์  แก้วบัวทอง  ประธานสภาฯ นำนักเรียนกว่า 20 คนมาช่วยซ่อมสร้างบ้านผู้ด้อยโอกาสที่เกาะแรต  จำนวน 3 หลัง  เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อเร็วๆ นี้  โดยได้รับงบสนับสนุนจาก พอช. ตามโครงการบ้านพอเพียงชนบท  ซื้อวัสดุซ่อมบ้านหลังละ 2 หมื่นบาท  และปีหน้ามีแผนจะทำในเขตเทศบาลอีก 20 หลัง

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ