‘โคมยี่เป็งล้านนา’ ในสมัยก่อนนับเป็นสิ่งประดิษฐ์สำหรับกำบังไฟไม่ให้ดับเมื่อถูกลมพัด เป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของบรรพชนชาวล้านนา ได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นและการประดิษฐ์โคมยี่เป็งนั้นมีหลากหลายรูปแบบ เมื่อชาวล้านนาได้นับถือพระพุทธศาสนา วิถีชีวิตก็ผูกพันกับศาสนา การสร้างผลงานทางศิลปะโดยเฉพาะโคม จึงมีแรงบันดาลใจจากความศรัทธาในหลักคำสอนทางศาสนา ชาวล้านนาสมัยโบราณจะไม่ใช้โคมโดยทั่วไป คงจะมีแต่ในราชสำนัก ในวัด และในบ้านของผู้มีอันจะกิน แต่ในปัจจุบันชาวล้านนานำมาใช้เป็นเครื่องบูชา เครื่องประดับตกแต่งสถานที่ทั้งทางศาสนาโดยเฉพาะงานประเพณียี่เป็ง นิยมจุดโคมค้าง หรือโคมที่ติดแขวนไว้ที่บนสูง ทำด้วยไม้ไผ่และกระดาษ สร้างเป็นโคมทรงกลมหักมุมเรียกว่า โคมแปดเหลี่ยม เพื่อให้แสงสว่างยามค่ำคืน และเพื่อใช้สำหรับบูชาพระพุทธเจ้าซึ่งเชื่อว่าเป็นการบวงสรวงพระเกษแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์
ในช่วงก่อนจะถึงวันเพ็ญเดือนยี่ ชาวล้านนาที่มีฝีมือเชิงช่างจะประดิษฐ์โคมรูปลักษณะต่าง ๆ เพื่อเตรียมใช้ในการจุดผางปะตี๊ดบูชาที่วัดในวันเพ็ญเดือนยี่ โดยการแขวนใส่ค้างโคมบูชาตามพระธาตุเจดีย์ แขวนไว้หน้าวิหาร กลางวิหาร หรือในปัจจุบันนิยมแขวนประดับตกแต่งตามอาคารบ้านเรือน โคมล้านนามีลักษณะหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่การสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น โคมรูปแบบโบราณที่พบทั่วไปในล้านนา เช่น โคมรังมดส้ม (โคมธรรมจักร), โคมดาว, โคมไห, โคมเงี้ยว (โคมเพชร), โคมกระบอก, โคมหูกระต่าย, โคมดอกบัวโคมญี่ปุ่น, โคมผัด ฯลฯ ในปัจจุบันมีการประดิษฐ์โคมรูปแบบใหม่ เช่น โคมรูปจรวด รูปเครื่องบิน โคมร่ม โคมปราสาท ฯลฯ โคมต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่เฮียะ นำมาหักขึ้นเป็นโครงติดกระดาษสาหรือกระดาษแก้ว ผ้าดิบ ตัดลายกระดาษสีเงิน สีทอง ประดับตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม ปัจจุบันหมู่บ้านที่เป็นแหล่งผลิตโคมและจำหน่ายโคมที่ใหญ่ที่สุด คือ บ้านเมืองสาตร ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
การบูชาโคมยี่เป็ง ชาวล้านนาจะใช้ผางปะตี๊ดและข้าวตอกดอกไม้เป็นเครื่องประกอบพิธีบูชาโคมยี่เป็ง เวลาที่นิยมจุดบูชาคือช่วงหัวค่ำ หลังจากได้สดับพระธรรมเทศนาเรื่อง อานิสงส์ผางปะตี๊ดที่วัดเป็นที่เรียบร้อย การบูชาโคม อาจจะมีการชักโคมขึ้นแขวนที่ค้างโคม (ค้างโคม คือเสาไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ส่วนปลายเสามีค้างไม้และรอกสำหรับชักโคมขึ้นแขวน) อธิษฐานบูชาพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัปนี้ได้แก่ พระกกุสันธพุทธเจ้า, พระโกนาคมพุทธเจ้า, พระกัสสปพุทธเจ้า, พระศากยมุนีโคตมพุทธเจ้า และพระอริยเมตตรัยพุทธเจ้า และอธิษฐานให้ความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง เช่น ‘ขอหื้อแจ้งดั่งไฟ ขอหื้อใสดั่งน้ำ สัพพะเคราะห์ สัพพะภัย สัพพะเสนียดจัญไร วินาสสันตุ’
1. ‘โคมถือ’
ชาวล้านนาจะถือโคมเพื่อเข้าร่วมในงานแห่ประเพณียี่เป็ง เพื่อให้เกิดบรรยากาศของความสว่างไสว สวยงาม อีกทั้งยังนำโคมไปประดับประดาที่วัด เพื่อความเป็นสิริมงคลและทำให้เกิดความสวยงาม
ภาพถ่าย และเนื้อหาจากหนังสือ ‘Lanna Lanterns’ ของคุณชุติมณฑน์ ตั่งธนาพร (Chutimon Tangtanaporn) (ใช้เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำภาพไปใช้เพื่อการโฆษณา หรือในเชิงพาณิชย์ทุกกรณี)
ภาพถ่าย และเนื้อหาจากหนังสือ ‘Lanna Lanterns’ ของคุณชุติมณฑน์ ตั่งธนาพร (Chutimon Tangtanaporn) (ใช้เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำภาพไปใช้เพื่อการโฆษณา หรือในเชิงพาณิชย์ทุกกรณี)
2. ‘โคมเงี้ยว – โคมไต’
โคมเงี้ยว เป็นโคมที่มีรูปทรงที่ได้มาจากชาวไทใหญ่ จึงเรียกว่า โคมเงี้ยว ทำค่อนข้างยากกว่าโคมชนิดอื่น ๆ เนื่องจากตัวโครงโคมมีลักษณะหักมุมละเอียดซับซ้อน เป็นเหลี่ยมคล้ายเพชรที่เจียรนัย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โคมเพชร หรือ โคมเจียรนัย
โคมชนิดนี้แม้ไม่ได้ใส่หางประดับก็มีความงดงาม และเมื่อจุดผางปะตี๊ดไว้ข้างใน แสงสว่างที่ออกตามเหลี่ยมมุมมีความงดงามมาก
3. ‘โคมเงี้ยว – โคมไต’
ในขณะที่โคมจากสิบสองปันนาได้รับอิทธิพลจากจีนพร้อมส่งต่อมาตามเส้นทางการค้าขายแบบที่เรียกว่า ‘วัวต่างม้าต่าง’ โดยชาวจีนฮ่อ เส้นทางดังกล่าวมีจุดแลกเปลี่ยน หรือ ซื้อขายที่อ่าวเมาะตะมะ (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศพม่า) และได้ค้าขายผ่านเมือง ๆ หนึ่ง คือ เมืองเชียงตุงซึ่งเป็นเมือง ๆ หนึ่งในหุบเขาที่มีวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนาคล้ายคลึงกันเป็นบ้านพี่เมืองน้อง จึงมีการถ่ายทอดรับและส่งต่อรูปแบบวัฒนธรรมการใช้โคม
โคมเงี้ยว หรือ โคมไต นั้นมีลักษณะเหมือนโคมธรรมจักรแต่มีการขึ้นโครงและหักไม้ที่ซับซ้อนกว่าและไม่มีหูโคม
4. ‘โคมรังมดส้ม – โคมเสมาธรรมจักร’
โคมรังมดส้ม บ้างเรียกว่า โคมเสมาธรรมจักร มีรูปทรงที่เหมือนรังมดส้ม (มดแดง) และรูปทรงเป็นแปดเหลี่ยมจึงเรียกว่า ธรรมจักร โคมรังมดส้มนี้ใช้ไม้ไผ่เฮียะเหลาให้เป็นเส้น กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร หนาประมาณ ๒ – ๓ มิลลิเมตร นำมาหักเป็น ๑๖, ๒๔ เหลี่ยมหรือตามต้องการ นำมาผูกด้วยด้ายให้แน่น เมื่อมัดโครงเสร็จแล้ว นำไม้เฮียะที่เตรียมไว้มาหักมุม เพื่อทำหูโคมเป็นรูปสามเหลี่ยม เมื่อทำเป็นโครงสำเร็จแล้ว ติดกระดาษรอบโครง ปล่อยส่วนบนไว้ เพื่อเป็นช่องใส่ผางปะตี๊ด และให้อากาศเข้ามาในโคมได้ ตัดลวดลาย อาจจะเป็นลายดอกก๋ากอก (ลายประจำยาม) ลายตะวัน สำหรับประดับตกแต่ง หลังจากนั้นติดหางโคม
สำหรับกระดาษที่ใช้ทำโคม อาจใช้กระดาษแก้วหลากสีเป็นอุปกรณ์ทำโคม ถ้าใช้กระดาษสี ไม่นิยมประดับด้วยลวดลาย โคมรังมดส้มใช้จุดเป็นพุทธบูชา
5. ‘โคมค้าง’
การจุดโคมให้เกิดความสวยงามสว่างไสวเพื่อเป็นพุทธบูชานำไปถวายที่วัด หรือแขวนตามชายคาบ้านเพื่อบูชาเทพารักษ์เป็นสิริมงคลแก่เจ้าของเรือน
6. ‘โคมร่ม – โคมจ้อง’
เป็นรูปแบบของโคมธรรมจักรที่มีการประดับประดาให้เหมือนรูปแบบของร่ม ในส่วนบนของโคมให้มีความวิจิรงดงาม โคมล้านนาในสมัยโบราณหากผ่านการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงงดงาม หรือมีขนาดใหญ่นั้นมักนิยมใช้ประดับประดาในบ้านเรือนของเจ้านาย หรือผู้มีอันจะกิน เนื่องจากมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่ละเอียดซับซ้อน และต้องอาศัยความประณีตบรรจงในการตกแต่งลวดลายให้สวยงาม
7. ‘โคมดอกบัว’
ดอกบัวกับพุทธศาสนาเป็นสองสิ่งที่มีเรื่องราวผูกพันกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ตามที่ปรากฏในพุทธประวัติจะเห็นได้ว่าดอกบัวมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน
การที่พุทธศาสนิกชนชาวล้านนาประดิษฐ์โคมไฟเป็นรูปดอกบัวเพื่อบูชานั้น ก็เปรียบได้กับจิตใจของผู้ถวายที่ไม่เปียกน้ำหรือแปดเปื้อนเมื่อโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงสว่างถึงแม้จะเกิดในโคลนตม เปรียบได้กับคนที่เกิดมาแล้วหากเข้าถึงหลักธรรมก็สามารถเป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลศ และความทุกข์ทั้งปวงได้
8. ‘โคมดาว’
โคมดาว เป็นโคมรูปดาวมีห้าแฉก ตัวโคมทำจากไม้ไผ่เฮียะ หักมุมเป็นห้ามุม ใช้กระดาษสาหรือผ้าติดหุ้มตัวโครง ตัดกระดาษสีเงินสีทองประดับตกแต่งลวดลาย ส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยลายดวงตะวัน (พระอาทิตย์) เป็นลายลักษณะรูปกลม เจาะช่องตรงกลางเป็นปล่องสำหรับใส่ผางปะตี๊ด เพื่อจุดเป็นพุทธบูชา
9. ‘โคมจีบ’
โคมจีบ หรือ โคมด้วง, โคมฟัก นั้นมีขั้นตอนสำคัญที่สุดคือ การอัดกระดาษว่าว หรือ จีบกระดาษว่าวให้เป็นคลื่นเล็ก ๆ โดยเริ่มจากการพับกระดาษไปมาคล้ายกับพัด และนำมาใส่ในเครื่องมือจีบกระดาษที่ทำจากไม้ และใช้เหล็กแหลมในการกดกระดาษเพื่ออัดให้เป็นรอยพับจนสุด และนำมาติดกับกระดาษแข็งที่ตัดเป็นโครงสร้างสำหรับโคมรูปแบบต่าง ๆ เช่น กระดาษแข็งที่เป็นรูปครึ่งวงกลมได้โคมฟัก ส่วนกระดาษแข็งที่เป็นวงกลมฉลุตรงกลางจะได้โคมด้วง โคมจีบรูปแบบต่าง ๆ นั้นมักใช้ประดับประดาบ้านเรือนให้มีความสว่างไสว และเป็นโคมที่ช่วยสร้างสีสันต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลสำคัญของชาวล้านนา
10. ‘โคมญี่ปุ่น’
โคมญี่ปุ่น เป็นโคมที่ทำเลียนแบบโคมญี่ปุ่น จึงเรียกว่า โคมญี่ปุ่น พับเก็บได้ตามรอยพับ บ้างเรียกโคมชนิดนี้ว่า โคมหย้อ (คำว่า หย้อ แปลว่า ทำให้เล็กลง) ตัวโคมทำจากกระดาษว่าวมัน ทำให้มีความเหนียวและมัน สีสันสดใส วิธีการทำ มีแม่พิมพ์เป็นแบบ หลากหลายรูปทรง เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม รูปไข่ เป็นต้น และราคาค่อนข้างจะถูกกว่าโคมทั่ว ๆไป ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก
11. ‘โคมหูกระต่าย
เป็นโคมยี่เป็งอีกชนิดหนึ่งที่ทำได้ง่าย ไม่ละเอียดซับซ้อน ฐานโคมเป็นไม้หนาประมาณ ๕ มิลลิเมตร ทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ ๑๐ เซนติเมตร เจาะรูตรงมุมทั้งสี่มุม ใช้ไม้ไผ่ ยาวประมาณ ๒๕ – ๓๐ เซนติเมตร เหลาให้มีขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร ปักลงไปในรูที่เจาะไว้ทั้งสี่มุม ดัดไม้ไผ่เหลาเป็นรูปโค้งคล้ายหูกระต่าย หรือกลีบดอกบัว ให้ส่วนบนผายออกกว้างประมาณ ๑๕ เชนติเมตร จะได้ตัวโคมที่มีปากบาน คล้ายหูกระต่าย ประดับตกแต่งด้วยกระดาษแก้วทั้งสี่ด้าน หรือใช้กระดาษสาก็ได้ โคมหูกระต่ายนี้ อาจจะทำฐานจากกาบกล้วย หรือลำต้นมะละกอก็ได้ และถ้าใช้ถือ ให้ใส่ด้ามถือยาวตามต้องการหรือปรับรูปทรงเป็นดอกบัว มีกลีบซ้อนได้ตามต้องการ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โคมดอกบัว
12. ‘โคมผัด’
โคมผัด เป็นโคมลักษณะพิเศษ เพราะหมุนได้ คล้ายโคมเวียนของภาคกลาง คำว่า ผัด ในภาษาล้านนา แปลว่า หมุน โคมชนิดนี้เป็นรูปทรงกระบอกขนาดกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๕๐ – ๗๐ เซนติเมตร หุ้มด้วยกระดาษสาหรือกระดาษว่าวสีขาว ด้านในจะเป็นโครงโคมที่มีเส้นด้ายเวียนไปตามเสาโครงด้านในเป็นวงกลม ติดรูปภาพที่ตัดจากกระดาษสีดำ เป็นรูปพุทธประวัติ รูปพระเวสสันดรชาดก รูปนักษัตรปีเกิด รูปวิถีชีวิต ฯลฯ ส่วนด้านบน ติดกระดาษสา เจาะเป็นใบพัดช่องระบายอากาศ ใส่เข็มติดไว้กับไม้แกนกลางโครงตัวใน นำมาวางอยู่บนถ้วยเล็กตรงแกนเสาโคม เมือจุดเทียนหรือผางประทีสข้างในตัวโคม ความร้อนจะดันใบพัดทำให้โคม ผัด หรือ หมุนฉายภาพ เรื่องราว ที่ประดับตกแต่งภายใน โคมผัดนี้ มักจะเป็นที่ชื่นชอบของเด็ก ๆ เพราะมีลักษณะที่แปลกกว่าโคมชนิดอื่น ๆ
13. ‘โคมต้อง’
คำว่า ‘ต้อง’ นั้นหมายถึงการตอกลาย หรือ การฉลุกระดาษให้เกิดเป็นลวดลายโดยใช้สิ่วและค้อน โดยมีลักษณะเป็นรูปทรง 8 เหลี่ยม
14. ‘โคมไห – โคมเพชร’
มีการนำโคมไห หรือ โคมเพชรไปประยุกต์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้เกิดความสวยงามมากขึ้น เช่น การนำโคมดอกบัวมาประกอบเป็นส่วนฐานของโคมไห หรือ การประยุกต์เข้ากับโคมจ้อง (โคมร่ม) ซึ่งเรียกว่าโคมร่มเพชร
15. ‘โคมแอว’
โคมแอว เป็นโคมที่ทำต่อกันจำนวนตั้งแต่สองลูกขึ้นไป รูปแบบของโคมคือโคมรังมดส้ม (โคมธรรมจักร) ต่อกันเป็นสายประมาณ ๒ – ๕ ลูก ต่อกัน ยาวตั้งแต่ ๑ – ๕ เมตร เป็นการสร้างสรรค์ออกแบบของช่างพื้นบ้านเพื่อขยายรูปทรงให้ยาวเชื่อมต่อกัน บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างโคมแต่ละลูก ใช้ไม้ไผ่เชื่อต่อ 4 จุด ส่วนนี้เรียกว่า แอว หรือ เอว นั่นเอง นิยมใช้แขวนกับค้างไม้ไผ่ (เสาสำหรับแขวนโคม) ที่ยาว ๆ หรือตั้งกับพื้นเพื่อประดับตกแต่งอาคารสถานที่ต่าง ๆ บ้างนำหลอดไฟติดไว้ข้างใน เพื่อให้เกิดแสงสว่าง เนื่องจากตัวโคมยาว ปะตี๊ดที่ใช้จุดอาจสว่างไม่เพียงพอ
16. ‘โคมกระจัง’
โคมกระจัง หรือโคมกระจังมงกุฎ มีรูปทรงคล้ายกระจังสวมมงกุฏ เป็นโคมรูปแบบสมัยใหม่ บ้างเรียกโคมไห เพราะขึ้นรูปแบบโคมไห แต่เอาส่วนปลายเป็นส่วนหัว ส่วนหัวเป็นส่วนปลายโคม ส่วนคำว่า กระจัง คือลายไทยรูปแบบหนึ่ง ลักษณะคล้ายกลีบของดอกบัว หรือตาอ้อย ด้านข้างแยกปลายแหลมเหมือนถูกบาก ลายไทยนี้ใช้ประดับตามขอบ เช่น ขอบของธรรมสาสน์ หรือขอบบนของลายหน้ากระดาน ลายกระจังมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น กระจังรวน กระจังปฏิญาณ กระจังใบเทศ กระจังหลังสิงห์ กระจังหู
17. ‘โคมกระบอก’
โคมกระบอก เป็นโคมที่ทำง่ายกว่าโคมชนิดอื่นๆ เนื่องจากใช้ไม้ไผ่เหลาแบนกว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร หนา ๒- ๓ มิลลิเมตร ขดเป็นวงกลมเท่าๆกัน ๒ วง ไว้เป็นโครงส่วนหัวและส่วนท้าย เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕ เซนติเมตร แล้วนำกระดาษสาด้านกว้างยาวกว่าเส้นรอบวงของไม้ไผ่ขดวงกลมประมาณ ๑- ๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕ -๒๐ เซนติเมตร เมื่อติดกระดาษติดกาวแล้ว ตัดลวดลายประดับตกแต่ง โดยใช้กระดาษสีเงิน สีทอง หรือสีอื่นๆ ลวดลายประดับส่วนใหญ่นิยมใช้ลายสร้อยดอกหมาก ส่วนท้ายหรือก้นกระบอกปิดด้วยกระดาษแข็งสำหรับวางผางประทีส เพื่อจุดเป็นพุทธบูชา โคมกระบอกมีทั้งทรงกลมและทรงสี่เหลี่ยม สำหรับทรงเหลี่ยมบ้างเรียก โคมล้อ เนื่องจากคล้ายโคม ที่ใช้แขวนติดกับขบวนเกวียนที่พ่อค้าวัวต่าง ใช้เดินทางในยามค่ำคืน
รูปแบบโคมกระดาษที่ปรากฏในวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษารวบรวมตั้งแต่ในปี 2548
ข้อมูลจากหนังสือ รูปแบบโคมกระดาษในวัฒนธรรมล้านนา เขียนโดย ฐาปกรณ์ เครือระยา
ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่-City Heritage Centre Chiang Mai Municipal
ภาพถ่าย และเนื้อหาจาก หนังสือ ‘Lanna Lanterns’ ของคุณชุติมณฑน์ ตั่งธนาพร (Chutimon Tangtanaporn) (ใช้เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำภาพไปใช้เพื่อการโฆษณา หรือในเชิงพาณิชย์ทุกกรณี)
หนังสือ รูปแบบโคมกระดาษในวัฒนธรรมล้านนา เขียนโดย ฐาปกรณ์ เครือระยา