องศาเหนือ – ลบไม่ได้ทำให้ลืม ภาพจำโคมลอยยี่เป็งเชียงใหม่

องศาเหนือ – ลบไม่ได้ทำให้ลืม ภาพจำโคมลอยยี่เป็งเชียงใหม่

ย้อนเวลากลับไปประมาณสัก 10 ปีกว่าปีที่แล้ว ฉันเคยสวมบทบาทนักท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่ ตื่นตาตื่นใจกับการปล่อยโคมลอยเป็นพัน ๆ ดวงในงานยี่เป็งโดยคิดว่านั่นคือวัฒนธรรม “ที่แท้” ของล้านนา พร้อมกดชัตเตอร์รัว ๆ ประทับภาพความทรงจำที่เคยเห็นผ่านตาในนิตยสารการท่องเที่ยวลงในเมมโมรี่การ์ดของตัวเอง พลางคิดในใจว่านี่มัน “สำเนาถูกต้อง” ฉันมาถึงเชียงใหม่และสัมผัสประเพณียี่เป็งเชียงใหม่แล้วอย่างจริงแท้แน่นอน

การประดับประดาโคมแขวนและไฟที่ขัวเหล็ก เชียงใหม่

10 กว่าปีมานี้ เกือบทุกปีหลังงานประเพณียี่เป็ง ฉันมักได้ยินข่าวต่าง ๆ เกี่ยวกับโคมลอย ที่เรียกได้ว่า “แทบจะไม่มีข่าวดี” ไม่ว่าจะเป็น 

“ ระทึก! ควันหลง “โคมลอย” ตกเกลื่อน-ไฟไหม้หลายจุด”

“โคมลอยตกเกลื่อนเชียงใหม่-สนามบินเก็บวุ่น”

ค่ำลอยโคมยี่เป็ง…เช้ากลายเป็นขยะ”

นำไปสู่การสืบค้นขบคิดทบทวนทำความเข้าใจใหม่ในเรื่อง “โคม” ของคนล้านนา

“ตี้หันเขาปล่อยลอยขึ้นไปบนฟ้า มันบ่าใจ่โคมเลาะ เปิ้นฮ้องว่าว่าวไฟ”

อ.สนั่น ธรรมธิ

อ.สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะวัฒนธรรมล้านนา กล่าวอธิบายเรื่องโคมลอยใน Live streaming หัวข้อ “ยี่เป็งประเพณี วิถีล้านนา” โดยพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564

หากกล่าวถึง “โคม” คนล้านนาดั้งเดิมจะเข้าใจว่าคือ “โคมแขวน” แต่หากเป็น “โคมลอย” ที่เราเคยเห็น คนล้านนาจะเรียกว่า “ว่าวไฟ” การปล่อยโคมลอยนี้ไม่ได้มีมากับประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของงานยี่เป็ง แต่เพิ่งมีการหยิบจับมาใช้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของทั้งกับงานยี่เป็งและงานเฉลิมฉลองอื่น ๆ เพราะเห็นพ้องต้องกันว่าโคมลอยนั้นสวยดี โดยเป็นที่นิยมทั้งในหมู่ประชาชนทั่วไป ภาคเอกชน วัด หรือแม้กระทั่งการพิธีการสำคัญอย่างพิธีเปิดซีเกมส์ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ในปี 2538 ก็มีการปล่อยโคมลอย   ทั้งหมดนี้ประกอบสร้างภาพจำให้กับผู้คน   ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีตประเพณีทางล้านนาตามคำบอกเล่าของคนท้องถิ่นจะพบว่า  ชุมชนมีการปล่อยแค่ “ว่าวฮม” หรือ “โคมควัน” ในตอนกลางวัน หรือ “ว่าวไฟ” ในตอนกลางคืน เพียงวัดละไม่กี่ลูกเท่านั้น เพื่อเคารพสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์อันเป็นที่นับถือบูชาของคนในท้องถิ่น

คณะศรัทธาและพระสงฆ์วัดบ้านท่อ ต.ป่าตัน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ช่วยกันประดับประดาภายในบริเวณวัด ในขณะที่ชาวชุมชนละแวกใกล้เคียงมาทำบุญ

โคมแขวนเป็นงานหัตถกรรมท้องถิ่นของชาวล้านนา เดิมมักใช้ไม้ไผ่เฮียะขึ้นเป็นโครง ติดกระดาษสา กระดาษแก้ว หรือผ้าดิบ แล้วประดับตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม 

มีความเชื่อว่าการจุดโคมไฟ จะนำความสุขความเจริญมาให้แก่ตนและคนในครอบครัว เกิด ชาติหน้าจะเป็นคนฉลาด เปรียบดั่งแสงของเปลวไฟที่ลุกโชติช่วง   ในสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าจึงต้องจุดไฟในโคมจริง ๆ แต่เมื่อการเวลาผ่านก็ใช้เป็นเพียงนำโคมไปแขวนไว้ในที่ซึ่งจัดให้ก็พอ ซึ่งตามวัดต่าง ๆ ในช่วงก่อนเทศกาลยี่เป็งประมาณหนึ่งเดือนจะเตรียมโคมไว้ให้ญาติโยมได้ไปทำบุญแขวนโคม

แหล่งที่ทำงานฝีมือโคมแขวนและจำหน่ายใหญ่ที่สุด คือ ชุมชนเมืองสาตร ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 

ชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมมีความพยายามผลักดันแนวคิดลดการปล่อยโคมลอย ผ่านการจัดกิจกรรม “ต๋ามผางปะตี๊ดส่องฟ้า ฮักษาเมือง” โดย เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ จัดกิจกรรมมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว เสนอทางเลือกให้เกิดกิจกรรมจุดผางประทีปและตกแต่งสถานที่ในบริเวณต่าง ๆ รอบเมืองเชียงใหม่ด้วยโคมแขวน   เป็นความพยายามหาทางออกให้กับปัญหาโคมลอยที่เกิดขึ้นซ้ำในทุกปี โดยพัฒนาวัฒนธรรมดั้งเดิมมาแก้ไขปัญหาระดับเมืองที่เกิดขึ้น

กิจกรรม “ต๋ามผางปะตี๊ดส่องฟ้า ฮักษาเมือง” ครั้งที่ 10 ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้การควบคุมดูแลและบริการจุดคัดกรองโควิด-19

ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา โคมลอยถูกสั่งห้ามปล่อยบนฟ้ามาตั้งแต่ ค.ศ. 1892   ส่วนที่ประเทศไต้หวัน แม้สามารถปล่อยโคมลอยได้จริงแต่ก็ปล่อยได้เฉพาะพื้นที่ที่รัฐกำหนดไว้เท่านั้น 

ส่วนที่ประเทศไทยแม้จะมีกฎหมายควบคุม มีเขตห้ามปล่อยในเขตเมือง ในเขตการบิน และประกาศจากหน่วยงานรัฐเรื่องการห้ามปล่อยโคมลอย หรืออนุญาติให้ปล่อยได้ในช่วงเวลาที่กำหนดได้เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถจัดการควบคุมได้

จะเพียงเพื่อเฉลิมฉลองในเทศกาล หรือความเชื่อในเรื่องการลอยปลดปล่อยทุกข์โศก โคมที่ลอยขึ้นไปบนฟ้าและตกลงมาอาจไปเพิ่มทุกข์ให้ผู้อื่นแทน หนึ่งในนั้นคือนักบินที่ต้องแบกชีวิตของผู้โดยสารอีกเต็มลำ

มีข้อมูลสถิติที่น่าสนใจ คือ ตลอดปี 2558 มีรายงานว่านักบินพบเห็นโคมลอยขณะทำการบิน จำนวน 514 โคม และในปี 2561 พบจำนวนลดลงแล้วเหลืออยู่ที่ 120 โคม   พบมากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และสมุย (อ้างอิงจากเว็บไซต์ Gistda ซึ่งอ้างอิงจากสํานักแผนความปลอดภัย, สํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) 

แม้สถิติโคมที่พบจะน้อยลง แต่ก็ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงได้มาก หากเราสามารถทำความเสี่ยงและโคมลอยนี้ให้เป็นศูนย์  ร่วมสืบสานวัฒนธรรมตามแก่นแท้ของยี่เป็งโดยการมีส่วนร่วม การแขวนโคมหรือจุดผางประทีปซึ่งง่ายต่อการจัดการและก่อให้เกิดผลกระทบตามมาน้อยกว่า

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล:

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ