ประเพณียี่เป็งในวิถีชาวล้านนา

ประเพณียี่เป็งในวิถีชาวล้านนา

สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประเพณียี่เป็งของชาวล้านนา จัดขึ้นในวันเพ็ญ เดือนยี่หรือเดือนสอง ตรงกับเดือนสิบสองของไทย วิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีต ไม่มีการลอยกระทงเหมือนภาคกลาง แต่พอใกล้ถึงวันเพ็ญ เดือนยี่ ชาวบ้านจะช่วยกันทำซุ้มประตูป่าไว้ที่หน้าบ้าน หน้าวัด ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องราวของพระเวสสันดรที่เสด็จออกจาป่าเข้าสู่เมืองตามเรื่องราวในเวสสันดรชาดก ซุ้มประตูป่าทำมาจากต้นกล้วย ใบมะพร้าว ต้นอ้อย ประดับตกแต่งด้วยโคมไฟ ดอกไม้ เพื่อที่จะได้จุดบูชาในคืนยี่เป็ง

การทำซุ้มประตูป่า : https://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition/yeepeng-chumpratupa.php

ในช่วงสายของวันเพ็ญ เดือนยี่ หลังจากเสร็จสิ้นศาสนกิจที่ทำในวัดในช่วงเช้าแล้ว พระเณรและศรัทธาชาวบ้านจะร่วมกันปล่อยโคมลม ซึ่งทำมาจากกระดาษว่าวปะต่อกันจนเป็นโคมลูกใหญ่ อัดความร้อนเข้าไปจนโคมไฟพองตัวและมีแรงพยุงที่จะลอยขึ้นบนอากาศ ในแต่ละวัด แต่ละหมู่บ้านจะปล่อยเพียง 1-2 ลูกเท่านั้น โดยมีคติความเชื่อที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดของล้านนา กล่าวคือ ชาวล้านนาเชื่อว่า ก่อนที่แต่ละคนจะเกิดมาเป็นมนุษย์ วิญญาณจะไปพักยั้งอยู่ที่พระธาตุประจำปีเกิดของตน เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ในชั่วชีวิตหนึ่งจึงควรต้องไปสักการะบูชาพระธาตุประจำปีเกิดของตน

ในบรรดาพระธาตุ 12 องค์นั้น มีเพียงองค์เดียวที่ไม่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ใดๆ บนโลก นั่นคือพระเกศแก้วจุฬามณีที่ประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดในปีเส็ด หรือปีจอนั่นเอง ชาวล้านนาจึงมีกุศโลบายหลายประการที่จะทำให้คนที่เกิดปีเส็ดสามารถไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนได้ อาทิ บูชาภาพเขียนสีกระจกประจำปีเกิดของตน ไหว้พระกลางวิหารหลวงในคืนเพ็ญเดือนยี่ หรือ ปล่อยโคมลมเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีในวันยี่เป็ง เป็นต้น

เมื่อถึงเวลาพลบค่ำ ชาวบ้านจะไปฟังฟังเทศน์ฟังธรรมอานิสงส์ผางประทีป หรืออานิสงส์แม่กาเผือกที่วัด เมื่อพระเทศน์ถึงอานิสงส์ผางประทีป ก็จะลุกไปจุดผางประทีป จุดเทียนนอกวิหารเพื่อรำลึกถึงคุณของแม่กาเผือก มารดาของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ซึ่งเป็นที่มาของการทำผางประทีป

ภาพ : ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่-City Heritage Centre Chiang Mai Municipal 

‘ผางปะติ้ด’ เป็นเครื่องสักการะบูชาในพระพุทธศาสนาของชาวล้านนา คำว่า ‘ผาง’ คือ ภาชนะดินเผาคล้ายถ้วยเล็กๆ ใช้เป็นถ้วยสำหรับใส่ขี้ผึ้งหรือน้ำมันและไส้ของปะตี๊ดที่ทำมาจากเส้นฝ้าย ส่วนคำว่า ‘ปะติ้ด’ หรือ ประทีส คือแสงสว่าง

ในช่วงประเพณียี่เป็งชาวล้านนานิยมจุดผางปะติ้ดเป็นพุทธบูชา สืบเนื่องมาจากตำนานพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) พระศรีอริยะเมตไตร พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ได้ถือกำเนิดจากแม่กาเผือกและวันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหารได้เกิดพายุทำให้ไข่ทั้งห้าฟองของแม่กาเผือกถูกพัดตกจากรังไหลไปตามแม่น้ำ มีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง เมื่อไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์เพศชายและได้บวชเป็นฤๅษีทั้งห้าองค์ เมื่อฤๅษีทั้งห้าได้พบกันจึงไต่ถามถึงมารดาของแต่ละองค์ แต่ละองค์ก็ตอบว่า แม่ไก่เก็บมาเลี้ยง แม่นาคเก็บมาเลี้ยง แม่เต่าเก็บมาเลี้ยง แม่โคเก็บมาเลี้ยง และแม่ราชสีห์เก็บมาเลี้ยง ฤๅษีทั้งห้าองค์จึงสงสัยว่าแม่ที่แท้จริงของตนเป็นใครจึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ ด้วยคำอธิษฐานจึงทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่ได้แปลงกายเป็นกาเผือกบินลงมาเล่าเรื่องในอดีตให้ฤๅษีทั้งห้าฟัง และได้บอกว่าหากคิดถึงแม่ให้นำด้ายดิบมาฟั่นเป็นตีนกาจุดเป็นปะตี๊ดบูชาในวันยี่เป็ง ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายปะติ้ดตีนกา จึงทำให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ (คัมภีร์อานิสงส์ผางประทีส, ม.ป.ป.)

ชาวล้านนาจึงจุดผางปะติ้ด เพื่อเป็นพุทธบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ตามตำนานแม่กาเผือก และจุดบูชาเพื่อตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ จึงนิยมจุดผางปะติ้บูชาเพื่อสักการะต่อสิ่งต่างๆที่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น ประตูบ้าน บ่อน้ำ ยุ้งข้าว เตาไฟ บันได หน้าต่าง ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นการบูชาแสงสว่างเชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาลดั่งแสงจากผางปะติ้ด ด้วยเหตุนี้ช่วงประเพณียี่เป็งจึงสว่างไสวเต็มไปด้วยแสงผางปะติ้ด

https://accl.cmu.ac.th/Knowledge/details/2412

เรื่องราวของแม่กาเผือกนั้นมีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่ง มีแม่กาเผือกฟักไข่กา 5 ฟองอยู่ในรังบนคบไม้ริมแม่น้ำ วันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหารกิน ได้เกิดลมพายุใหญ่พัดมา แม่กาไม่สามารถกลับรังได้ ฝ่ายไข่กาทั้ง 5 ฟองนั้นได้ถูกลมพัดตกลงไปในแม่น้ำ ไหลล่องไปตามลำน้ำที่เชี่ยวกราก ไข่ละฟองมีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์มาเก็บเอาไปเลี้ยง เมื่อไข่แตกออกมากลายเป็นมนุษย์น้อยและถูกเลี้ยงดูโดยแม่สัตว์ทั้ง 5

ฝ่ายแม่กาเผือกนั้น เมื่อลมพายุสงบลง ได้กลับมาหาลูกก็ไม่พบไข่กาและรังแล้ว จึงเสียใจจนตรอมใจตาย วิญญาณของแม่กาจึงได้ไปจุติเป็นพรหมอยู่ชั้นพรหมโลก

เมื่อมนุษย์น้อยที่ถูกแม่สัตว์เก็บไปเลี้ยงได้เติบโตขึ้น จึงอยากจะออกบ้านไปแสวงหาความรู้ ได้บังเอิญไปพบกันทั้ง 5 คน เมื่อไถ่ถามกันแล้วจึงทราบว่าน่าจะเป็นพี่น้องกันเป็นแน่ แต่ไม่รู้ว่าพ่อแม่ของตนเป็นใคร ร้อนถึงพรหมที่อดีตชาติเคยเป็นแม่กาเผือกจึงลงมาเพื่อเล่าความเป็นมาในอดีตชาติให้ลูกทั้ง 5 ฟัง และเมื่อจะต้องจากกัน ลูกๆ ทั้ง 5 ต่างอาลัยหาแม่ พรหมผู้เป็นแม่จึงบอกให้ลูกทั้ง 5 นำเส้นฝ้ายมาฟั่นเป็นเกลียวแล้วทำให้เป็นแฉกเหมือนตีนกา ใส่ไว้ในผางน้ำมัน จุดบูชาในคืนวันเพ็ญ เดือนยี่ อานิสงส์การจุดผางประทีปจะส่งไปถึงแม่ แม่ที่อยู่ในพรหมโลกก็จะรับรู้

ด้วยเหตุนี้ ชาวล้านนาจึงจุดผางประทีปบูชารำลึกถึงแม่กาเผือก มารดาของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ อันได้แก่ พระกกุสันธะ พระกัสสัปปะ พระโกนาคมนะ พระโคตมะ และพระศรีอาริยเมตตรัย พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัปป์ ซึ่งเป็นกัปป์สุดท้ายของพระพุทธศาสนานั่นเอง เมื่อจุดผางประทีปในวัดเสร็จแล้ว ก็จะกลับไปจุดผางประทีปรอบบ้านด้วยเช่นกัน

วิถีชีวิตชาวล้านนาในแต่ละท้องถิ่น ยังมีการปฏิบัติแผกกันไปตามแต่ความเชื่อของกลุ่มวัฒนธรรม เช่น ในกลุ่มชาวยองในอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จะมีการก่อเจดีย์ทราย การจุดสีสาย การเผาหลัวพระเจ้าในคืนวันเพ็ญ เดือนยี่ด้วย

หรือการลอยโขมดที่ชาวบ้านต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นำกาบกล้วยมาทำกระทงแล้วบรรจุสิ่งของต่างๆ ลอยไปในแม่น้ำ โดยมีความเชื่อที่สัมพันธ์กับเรื่องราวตำนานของเมืองหริภุญชัยที่ชาวหริภุญชัยได้ลอยสะเปาที่บรรจุข้าวของส่งไปให้ญาติที่ตกค้างอยู่ที่เมืองหงสา และเมืองสะเทิม หลังจากที่เกิดโรคระบาดใหญ่ในเมืองหริภุญชัยจนต้องอพยพไปอยู่หงสาวดีเป็นเวลานาน หรือการลอยสะเปาของชาวไทเขินที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในหลายพื้นที่ของล้านนาในยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง เป็นต้น

ติดตามผลงานวิจัยและบทความเรื่องเล่าอีกหลากหลาย จาก สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เขียน

คุณธิตินัดดา จินาจันทร์ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาพประกอบ

ล่องสะเปา อ.สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่-City Heritage Centre Chiang Mai Municipal 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ