“ผู้ไร้เสียง” กับอำนาจและการพัฒนาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

“ผู้ไร้เสียง” กับอำนาจและการพัฒนาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังปาฐกถาพิเศษในงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 17 “รัฐประศาสนาศาสตร์กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (17 พฤศจิกายน 2566) จึงหยิบยก “เสียง” ของ แม่สมปอง เวียงจันทร์ ชาวบ้านปากมูลที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลสู่การเคลื่อนไหว “เรียกร้องและส่งเสียง” สะท้อนความจริงของชาวบ้านและคนชายขอบที่กำลังเผชิญกับปัญหาหลังการพัฒนาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านมุมมองเกี่ยวกับ “ผู้ไร้เสียง” ของ คายตรี จักรวรตี สปีวาก (2561) ดังนี้

I. ว่าด้วย “ผู้ไร้เสียง

“ผู้ไร้เสียง” คือ ผู้ที่อยู่ในสภาวะของการถูกกระทำให้ไร้ “เสียง” ซึ่งเสียงดังกล่าวหมายถึงความเห็นประสบการณ์ ความรู้สึก และความคับข้องใจของตนเองในฐานะปัจเจกหรือในความเป็นมนุษย์ของตนเอง ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดทั้งทางกายภาพหรือทางสังคม “ผู้ไร้เสียง” ไม่สามารถเปล่ง “เสียง” ที่แท้จริงของตนเองออกมาได้ เหตุเพราะเสียงนั้นไม่ได้ถูกรวมให้อยู่ในความเข้าใจขององค์ความรู้หลัก ที่มีส่วนกำหนดความเข้าใจของมนุษย์โดยทั่วไป อันเป็นผลมาจากการถูกกีดกันไม่ให้มีตำแหน่งที่อยู่ในประวัติศาสตร์ และด้วยข้อสันนิษฐานหลักที่เห็นว่ากรอบความรู้ของมนุษย์ (โดยเฉพาะมนุษย์ในโลกปัจจุบัน) เป็นโลกแห่งความรู้วิทยาศาสตร์ที่ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบความเป็นเหตุผล ซึ่งเบียดขับให้ความรู้อื่นที่อยู่นอกเหนือวิธีคิดดังกล่าวเลือนหายไปจากความเข้าใจของความรู้มนุษย์ [1]

สะท้อนการเปล่งเสียงของผู้ไร้เสียงกับการกดทับเบียดขับความรู้และตำแหน่งแห่งที่ หรือ “กรงขังทางความรู้” ครอบงำวิธีคิดที่ไม่เข้าใจธรรมชาติ จึงนำไปสู่ความพยายามในการควบคุมมากกว่าการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

II. กรงขังทางความรู้และอำนาจเหนือ…

วาทกรรมการพัฒนาของรัฐในประเทศไทยและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้ส่งผลกระทบต่อภูมินิเวศ ทรัพยากร โดยเฉพาะพื้นที่ประมงพื้นบ้านของชาวบ้านและคนชายขอบอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ ชาวบ้านและคนชายขอบที่ได้รับผลกระทบพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะ “ส่งเสียง” และ “พูด” ต่อสาธารณะหรือผู้กำหนดนโยบายการพัฒนา แต่บางครั้งการส่งเสียงของชาวบ้านยังไม่เป็นผลมากนัก ส่วนหนึ่งเกิดจาก “กรงขังทางความรู้” ที่มีอำนาจเหนือ หรืออำนาจของความรู้ที่เป็นเรื่องเล่าขนาดใหญ่ได้เบียดขับความรู้เรื่องเล่าขนาดเล็กของชาวบ้านและคนชายขอบซึ่ง “ไร้เสียง” ที่มีข้อจำกัดต่อการเผยความหมายที่แท้จริงต่อสาธารณะและผู้กำหนดนโยบายในการรับรู้เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดและผลกระทบต่างๆ ที่ชาวบ้านและคนชายขอบกำลังเผชิญ

ภาพ การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน (facebook สมัชชาคนจน Assembly of the Poor)

เสียงของแม่สมปอง (เป็นเสียงหนึ่งของชาวบ้าน) สะท้อน การแสดงออกของชาวบ้านและคนชายขอบที่ต้องเผชิญกับปัญหาหลังการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงคือความปรารถนาและเจตจำนงเสรีต่อการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความเคารพ พวกเขาไม่ต้องการให้ “ความจริงของการพัฒนา” เงียบหายจึงต้องลุกขึ้นรวมตัวเพื่อส่งเสียงของพวกเขาให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างผ่านกลยุทธ์ต่างๆ เท่าที่จะทำได้ เพราะการสร้างเขื่อนต่างๆ ในแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล และแม่น้ำสาขา ได้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ทรัพยากร ระบบนิเวศ แม่น้ำ และมนุษย์

III. “ลุกขึ้นส่งเสียงของตัวเอง” ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์ที่ได้รับผลกระทบ

แม่สมปอง เวียงจันทร์ อายุ 73 ปี จากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก “เขื่อนปากมูล” สู่ผู้หญิงแนวหน้าของขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องด้าน“สิทธิชุมชน” และอื่นๆ กล่าวส่งเสียงต่อหน้าหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และผู้มีอำนาจ ไม่มีเอกสาร หนังสือ หรือสมุดจดบันทึกใดๆ ในมือ เป็นเสียงที่ถูกเปล่งออกมาจากประสบการณ์และความรู้สึก สะท้อนให้เห็นว่าการออกมาเคลื่อนไหวของตนเองและชาวบ้านปากมูลในนาม “สมัชชาคนจน” ร่วมกับเครือข่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาต่างๆ ด้วยเหตุผลสำคัญอย่างน้อย 2 ข้อ คือ 1) ชาวบ้านไม่อยากให้สร้างเขื่อน 2) ชาวบ้านต้องอาศัยและพึ่งพาทรัพยากรและความมั่นคงทางอาหารจากแม่น้ำและธรรมชาติ แม่สมปอง กล่าวว่า “เรารวมตัวเพราะเราไม่มีอำนาจ เราจึงพยายามเพื่อให้เกิดความสนใจ ทำทุกวิถีทางเพื่อกดดัน เพราะเราพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ หาปลา และอยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ภาพ แม่สมปอง เวียงจันทร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ

คือ การส่งเสียงต่อผลกระทบหลังการพัฒนาเขื่อนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่สะท้อน “ความจริง” (ชุดหนึ่ง) ของชาวบ้านและชาวประมงพื้นบ้านที่ไม่ต้องการให้ความจริงของผลกระทบเงียบหาย

IV. เสียงที่เข้าใจธรรมชาติและแม่น้ำ

แม่สมปอง เล่าสะท้อนอีกว่า “แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงไหลต่อกัน เราต้องอาศัยเขาในการมีชีวิต” ที่ผ่านมาทุนนิยมครอบงำรัฐไม่มีพื้นที่ให้ชาวบ้านได้พูด “ความจริง” จึงต้องต่อสู้เพื่อ “คน” ที่อยู่กินกับธรรมชาติ การรวมตัวของชาวบ้าน คือ การกดดันอำนาจ “เราไม่ใช่คนหัวแข็งแต่เราต่อสู้โดยการพูดความจริง เราอยู่กับธรรมชาติ เราอยู่กับทรัพยากร” ที่ผ่านมาการเปิดประตูเขื่อนปากมูลเห็นได้ชัดว่าปลาอพยพขึ้นมา พร้อมทั้งชี้ต่อการพัฒนาของรัฐว่า “รัฐพัฒนาได้แต่ต้องเห็นทรัพยากรและมนุษย์ที่อยู่กับน้ำตรงนี้ ไม่ใช่สร้างเขื่อนเพื่อปิดทางอพยพของปลาที่เดินทางจากแม่น้ำโขงสู่แม่น้ำมูล”

ภาพ แม่สมปอง เวียงจันทร์ (theactive.net)

การพัฒนาควรจะมองเห็นคน เขามองทรัพยากรเป็นหุ้น หารายได้ของตัวเอง เราก็พยายามเอาปัญหาที่เราเจออยู่ ถ่ายทอดปัญหาที่เราประสบให้เขาฟัง… [2]

แม่สมปอง เวียงจันทร์

V. เสียงคับข้องใจ เน้นย้ำ และคำเตือน ต่ออำนาจกับการพัฒนาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การเคลื่อนไหวของชาวบ้านและคนชายขอบในนาม “สมัชชาคนจน” ดำเนินการอย่างต่อเนื่องยาวนาน และล่าสุดได้มีการเดินทางไปรวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อ “ส่งเสียง” ต่อสาธารณะหรือผู้กำหนดนโยบาย/รัฐ กว่า 1 เดือนที่ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพด้วยข้อจำกัดต่างๆ ชาวบ้านพยายามส่งเสียงและมีข้อเสนอต่อการจัดการที่ดินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการประมงพื้นบ้านที่ล่มสลาย จำนวนกว่า 1,800 ราย แม่สมปอง กล่าวย้ำอีกว่า “อนาคตถ้าแม่น้ำมูลยังปิดๆ เปิดๆ ชีวิตของเราลำบากแน่ แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงต้องเป็นอิสระ” พร้อมกับเตือนว่า “อนาคตหากรัฐบาลไม่ฟังจะกลายเป็นสงคราม” หมายถึง รัฐจะต้องเผชิญกับสภาวะความยากจนที่หนักขึ้น หรือ “ต้องทำสงครามกับความยากจน” เนื่องจากธรรมชาติมีผลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านและคนชายขอบ

อย่างไรก็ตาม วาทกรรมการพัฒนา ”เขื่อน” ในประเทศไทยและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงด้านภูมินิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ปากท้องและความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้าน แต่เสียงของชาวบ้านและคนชายขอบในพื้นที่การพัฒนาและพื้นที่รับผลกระทบยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้กำหนดนโยบายและรัฐมากนัก แม้พวกเข้าจะพยายามส่งเสียงมามากกว่า 2-3 ทศวรรษก็ตาม ดังนั้น คำเตือนต่อการทำสงครามกับปัญหาความยากจนที่อาจจะต้องเผชิญในอนาคตดูเหมือนจะเป็นความจริงชุดหนึ่งที่ต้องเตรียมพร้อมและรับมืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาพ การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน (facebook สมัชชาคนจน Assembly of the Poor)

ภาพ แถลงการณ์สมัชชาคนจน “เราจะกลับมาหากปัญหาไม่ยุติ” (facebook สมัชชาคนจน Assembly of the Poor )

อ้างอิงข้อมูล

[1] สันติ เล็กสกุล,ผู้ไร้เสียง: คำยืนยันของ คายตรี จักรวรตี สปีวาก (กรุงเทพฯ: illumination editions, 2561), 115-116.

[2] โปรดดูเพิ่ม คนจนมีสิทธิได้หรือยัง. เว็บไซต์ https://theactive.net. เข้าใช้ข้อมูลเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566.

[3] งานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 17 “รัฐประศาสนาศาสตร์กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (17 พฤศจิกายน 2566)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ