“ปลาบึก” สัตว์ศักดิ์สิทธิ์หลากสภาวะ ความทรงจำ และความหมายต่อแม่น้ำโขง

“ปลาบึก” สัตว์ศักดิ์สิทธิ์หลากสภาวะ ความทรงจำ และความหมายต่อแม่น้ำโขง

เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า

บ้านเวินบึก (อุบลราชธานี) องค์ความรู้ในวงจรชีวิตของปลาบึกยังคงเป็นความลับที่ต้องค้นหาคำตอบ ทั้งในทางวิชาการประมง มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การศึกษาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญในการค้นหาความลับของวงจรชีวิตปลาบึก เกี่ยวกับแหล่งวางไข่และพื้นที่อนุบาลปลาบึกในถิ่นฐานดั้งเดิม (แม่น้ำโขง) ในมิติของภูมิปัญญาของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงผ่านนิทาน ตำนาน เรื่องเล่า และเอกสารตัวเขียน เพื่อนำมาถอดรหัสความหมายของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม มีความสำคัญต่อการกำหนดพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ปลาบึก และการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่ประมาณค่าไม่ได้ (พลวัฒ ประพันธ์ทอง และปรีชา อุปโยคิน, 2558) ตลอดประวัติศาสตร์การพัฒนาของรัฐไทยสมัยใหม่ กล่าวได้ว่า ความรู้ท้องถิ่นได้ถูกกีดกันและเบียดขับออกไปจากกระบวนการตัดสินใจ เพราะรัฐไทยให้ความสำคัญกับความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ (ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, 2559)

ภาพ รูปปั้นปลาบึกที่หมู่บ้านเวินบึก

ปลาบึก” สัตว์ศักดิ์สิทธิ์หลากสภาวะ โลกทัศน์ และสัญลักษณ์ของการประมงพื้นบ้านกับการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติด้วยความเคารพ ความทรงจำ และความหมายต่อแม่น้ำโขง ท่ามกลางปมความขัดแย้งด้านทรัพยากรกับความท้าทายต่อวาทกรรมการพัฒนา “เขื่อน” และความเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่าง “ชาวบ้าน” กับ “ธรรมชาติ”

ผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่ภาคสนามจึงหยิบยกประเด็นน่าสนใจหนึ่งนำเสนอเกี่ยวกับประมงพื้นบ้านของ “ชาติพันธุ์บรู” ซึ่งเป็นคนสามัญที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ประเทศไทย พบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ปลาบึก” ซึ่งสะท้อนผ่านโลกทัศน์ของชาวประมงพื้นบ้าน (ชาติพันธุ์บรูและชาติพันธุ์ลาว) บ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า “ปลาบึก” เป็นปลาที่ชาวบรูและชาวประมงยกย่องให้อยู่ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์หลากสภาวะที่ให้ทั้งคุณและโทษต่อชาวประมงพื้นบ้านที่ละเมิดกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ปลาบึกถูกหยิบยกขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพและการตอบโต้วาทกรรมการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง

เวินบึก หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งบริเวณชายแดนลุ่มแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว ผู้คนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บรูที่ผสมผสานทางวัฒนธรรมกับชาติพันธุ์ลาว มีวิถีชีวิตผูกโยงกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น ทั้งที่ดิน ป่าไม้ ภูเขา และแม่น้ำโขง…

ภาพ บ้านเวินบึกตั้งอยู่ท่าทกลางป่าไม้และแม่น้ำโขง

พบว่า บ้านเวินบึก เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ชายแดนแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บรูผสมผสานทางวัฒนธรรมกับชาติพันธุ์ลาวอย่างเป็นพลวัต คำว่า “เวินบึก” เป็นคำในภาษาลาวหมายถึง “เวิน” พื้นที่ภูมินิเวศแม่น้ำโขงที่เป็นเกาะ แก่งหิน ที่น้ำในแม่น้ำโขงไหลผ่านแล้วหมุนวน ส่วน “บึก” หมายถึงปลาบึกที่พบจำนวนมากบริเวณเวินแห่งนี้ (อดีต) ปัจจุบัน ปลาบึกที่ชาวบ้านเคยพบเห็นลดน้อยลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการพัฒนา “เขื่อน” ในลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มแม่น้ำมูล และลุ่มแม่น้ำสาขา ปัจจุบัน เรื่องราวเกี่ยวกับปลาบึกยังคงถูกเล่าส่งต่อในชุมชนถือเป็นปฏิบัติการทางภาษาและชีวิตประจำวันของชาวบรูและชาวประมงพื้นบ้านเวินบึกที่พึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำโขง และได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลง โดยสะท้อนปลาบึกหลากมิติ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ปลาบึกเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์หลากสภาวะของเวินบึก

ชาวบรูและชาวประมงพื้นบ้านยกย่องปลาบึกเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์หลากสภาวะที่สามารถให้ทั้งคุณและโทษกับผู้ละเมิดต่อธรรมชาติและแม่น้ำโขง “ปลาบึกในถ้ำเวินบึกไผ๋สิกล้าเอามีแต่ปลาผี ไผ๋กล้าเอาตายหมดทั้งครอบครัวแท้” ปลาบึกเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องให้ความเคารพนับถือ อดีตหากชาวบรูจับปลาบึกได้จะปล่อยกลับคืนสู่เวินบึก เพราะเชื่อว่าเป็น ปลาศักดิ์สิทธิ์ ปลาซวย ปลาผี ปลาอาถรรพ์ หรือ ปลาเจ้าที่ การเล่าเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของปลาบึกไม่ใช่เพียงแต่นำเสนอเพื่อสร้างความน่ากลัวหรือน่าตื่นเต้น หากแต่เป็นการเล่าเรื่องปลาบึกในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์หลากสภาวะที่มีความแตกต่างจากปลาชนิดอื่นในแม่น้ำโขง เรื่องราวของปลาบึกมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงวิถีชีวิตของชาวบรูในการประมงพื้นบ้านและการอาศัยทรัพยากรปลาในแม่น้ำโขงเพื่อยังชีพ ด้วยความเคารพธรรมชาติและแม่น้ำโขงอย่างเป็นพลวัต และให้ความหมายปลาบึกเป็นสัตว์หลากสภาวะมีทั้ง “ให้คุณ” คือเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำโขง ปลาเจ้าที่ที่ปกป้องทรัพยากรและแม่น้ำโขง และ “ให้โทษ” คือ เป็นความซวย เป็นผี อาถรรพ์ มีพลังอำนาจลงโทษมนุษย์ที่ไม่เคารพต่อกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและแม่น้ำโขง เรื่องเล่าเกี่ยวกับปลาบึกยังคงบอกเล่าส่งต่อสู่คนรุ่นหลังในรูปวรรณกรรมมุขปาฐะเรื่อยมา

ปลาทุกตัวถ้าเป็นปลาบึกในแม่น้ำโขงของแท้จะมีลายจุดมี “ยันต์ขอม” ตัวสีดำสักอยู่ที่หลังยาวไปหาหาง โบราณว่า ปลาบึกไม่ใช่ปลาธรรมชาติ เป็นปลาที่มีเจ้ามีจอมมีของรักษา ปลาบึกของแท้ไม่กินปลาจะกิน “ไคเงินไคคำ” ไม่กินสุ่มสี่สุ่มห้า กินสะอาด ปลาบึกของแท้ไม่กินปลาเล็กปลาน้อย ของแท้ไม่มีฟัน เอานิ้วลูบจะเรียบ ถ้าแบบนี้เป็น “ปลาบึกโบราณ” หรือ “ปลาบึกแม่น้ำโขง” ชาวประมงชี้ว่า การจับปลาบึกขึ้นมาไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องเสีย บางคนจับปลาบึกไปขายได้เงินแต่หลังจากนั้นก็ต้องนำเงินที่ได้มาใช้รักษาตัวเอง หรือหลังจากจับปลาบึกได้จะต้องมีการไหว้ผีและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ปลาบึก “บ่เชื่อกะต้องเชื่อได้มา 10 คนไม่มีว่าครอบครัวไหนจะบ่เป็น” ชาวประมงคนหนึ่งกล่าว

ประเด็นที่ 2 อัตลักษณ์และพิธีกรรมของเวินบึก

ชาวบรูและชาวประมงพื้นบ้าน (เวินบึก) มองว่าการให้ความเคารพนับถือปลาบึกเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น อดีตหากพบว่าปลาบึกติดตาข่าย/มอง หรือเครื่องมือประมงจะต้องปลดพันธนาการออกให้ปลาบึกเป็นอิสระ หลังจากนั้นคนที่จับได้จะต้องประกอบพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ เนื่องจากการจับปลาบึกได้ถือเป็น “ลางร้าย” จะแก้เคราะห์นั้นเรียกว่า “ไหว้ผี” เป็นพิธีกรรมของชาวประมงบ้านเวินบึกที่อาศัยทรัพยากรประมงและความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง หลังจากทำพิธีกรรมจะมีแต่โชคลาภเรียกว่า “หมาน”

“สมัยก่อนจับปลาบึกได้ต้องปล่อยไม่มีใครกล้าเอาขึ้นมากิน”

ประเด็นที่ 3 สัญลักษณ์ของอิสรภาพ

โลกทัศน์ของชาวบรูและชาวประมงมองว่า ปลาบึกมีฐานะเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์/มหัศจรรย์ที่มีอิสรภาพปราศจากพันธนาการและการกดขี่ ปลาบึกเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ที่ธรรมชาติสร้างให้อยู่คู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง “ปลาบึกธรรมชาติมีขนาดตัวใหญ่ ไม่เคยมีคนเห็นปลาบึกตัวเล็ก พบตั้งแต่น้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัมขึ้นไป ปลาบึกที่พบบริเวณเวินบึกมีลำตัวสีดำ บนหน้าผากมีรูปเหมือนยันต์นพเก้าสลักไว้ ในปากของปลาบึกไม่มีฟัน ถ้าจับปลาบึกได้ลองโยนใส่ทรายจะไม่มีเม็ดทรายติด ปลาบึกกินพืชและสาหร่ายในแม่น้ำโขงเป็นอาหาร ไม่รุกรานปลาอื่น และเป็นปลาจำศีล อาศัยอยู่ในถ้ำลึกเกาะแก่งหินใต้แม่น้ำโขง” (ชาวประมงคนหนึ่งกล่าว) สอดคล้องกับโลกทัศน์ของชาวประมงพื้นบ้านปากมูน  มองว่าใต้แม่น้ำโขงและแม่น้ำมูล (ปากมูล) มีบริเวณที่เรียกว่า “เมืองหลวงของปลา” คือ อาณาบริเวณที่เป็นเกาะแก่งหินและถ้ำลึกสลับซับซ้อนใต้น้ำ ชาวประมงเชื่อว่าถ้ำบางแห่งเชื่อมโยงจากแม่น้ำมูลถึงแม่น้ำโขง ปลาน้อยใหญ่จะอาศัยอยู่ในเมืองหลวงของปลา (พงษ์เทพ บุญกล้า, 2562) พบอีกว่า ชาวบรูไม่ได้เพียงแต่หาปลาบริเวณเวินบึก แต่ได้ออกเรือไปหาปลาไกลถึงปากแม่น้ำมูล (พายเรือไป 10 กิโลเมตร) เนื่องจากพื้นที่แม่น้ำมูนไหลสบกับแม่น้ำโขงที่ “แม่น้ำสองสี” มีเกาะแก่งหินใต้น้ำจำนวนมากและมีปลาชนิดต่างๆ อาศัยอยู่ชุกชุม

ตอนนี้ปลาบึกไม่อาถรรพ์แล้ว เพราะความรู้ประมงแบบวิทยาศาสตร์เอาเชื้อปลาอื่นมาผสมปลาบึก…

ภาพ เรือประมงพื้นบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขง บ้านเวินบึก

ประเด็นที่ 4 ตอบโต้ “เขื่อน” และความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง

ยุคหลังประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีการพัฒนา “เขื่อน” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำและภูมินิเวศแม่น้ำโขง โดยเฉพาะ “เวินบึก” ได้รับผลกระทบจากการขึ้น-ลงของระดับน้ำที่ไม่เป็นปกติ การไหลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติเหมือนเวินบึกในอดีต ทั้งน้ำจากแม่น้ำโขงตอนบนที่ถูกระบายตามการบริหารจัดการเขื่อน และการสร้างเขื่อนปากมูลกั้นบริเวณที่แม่น้ำมูลไหลสบกับแม่น้ำโขงอยู่ห่างจากเวินบึกราว 10 กิโลเมตร ชาวประมงคนหนึ่ง กล่าวว่า “ตอนนี้ปลาบึกไม่อาถรรพ์แล้วเพราะความรู้ประมงผ่าเหล่าผสมพันธุ์เอามาปล่อย เอาเชื้อปลาอื่นมาผสมปลาบึก ฤดูฝนน้ำขึ้นๆ ลงๆ ส่วนใหญ่บ่ค่อยได้ปลา น้ำขุ่นปลามันกะเริ่มถอยกลับไปเมืองลาว (เมษายน) เอิ้นว่า “น้ำซุ๊” ปลามันฮู้คักฮ้ายกว่ากรมอุตุนิยมฯ เด้นั่น ฤดูแล้งน้ำลด แต่ตอนนี้น้ำขึ้นๆ ลงๆ เป็นผลกระทบมาจากเขื่อนปากมูล หรือมีเขื่อนอื่นด้วยก็ไม่รู้…? เวลาเขาเปิดเขื่อนน้ำมันถั่งหาปลาบ่ได้ ความจริง คือ เขื่อนส่งผลกระทบต่อเวินบึกและอาชีพของคนอยู่ลุ่มต่ำ ใต้เขื่อนได้รับผลกระทบ การเปิดน้ำรุนแรงสร้างผลกระทบต่อฝั่ง การปล่อยน้ำเฮ็ดให้ระบบไหลและเวินน้ำเปลี่ยน ตอนนี้น้ำมูล น้ำชี น้ำโขงมันพิลึก รวมทั้งประชากรกะเพิ่มหลายขึ้น” ประมาณ 15 ปีมานี้คนเริ่มไม่เชื่อเรื่องปลาบึกและไม่เคยพบปลาบึกธรรมชาติมีแต่ปลาผสมและปลาเลี้ยง”

ประเด็นที่ 5 ความทรงจำและความหมาย

การศึกษาของ พิพัธน์ ธนากิจ (2556) ได้กล่าวถึง พรานปลาแห่งลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนกับการเขียนความรู้และสร้างความทรงจำปลาบึก ว่าเกิดขึ้นในบริบทการพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนลุ่มน้ำโขง (ตอนบน) ที่ได้พรากปลาบึกออกจากชุมชน การสร้างความทรงจำจึงเกิดขึ้นในฐานะที่เป็นปฏิบัติการของพรานปลาบึกจำนวนหนึ่งที่ยุติการจับปลาบึก หลังจากถูกตีตราจากฝ่ายอนุรักษ์ว่าใจบาป เป็นเหตุผลให้เกิดการใกล้สูญพันธุ์ของปลาบึก การสร้างความทรงจำชุดใหม่จึงเป็นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รวมทั้งภาพลักษณ์พรานปลาบึกให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ของการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ ขณะที่ ชาวบรูและชาวประมงพื้นบ้าน (เวินบึก) สะท้อนให้เห็นว่า “ปัจจุบันปลาบึกเป็นปลาเลี้ยงของกรมประมง ส่วนปลาบึกที่พบในแม่น้ำโขงที่เป็นของธรรมชาติมีน้อย การจับปลาบึกที่เชียงของเป็นพิธีกรรมของพรานปลาทางแม่น้ำโขงตอนเหนือ (ไม่แน่ใจว่าทำกันยังไง) แต่ชาวบรูและชาวประมงบ้านเวินบึกไม่จับปลาบึกขึ้นมาทำอาหาร แม้ภายหลังในลุ่มแม่น้ำโขงแถบนี้จะพบปลาบึกหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ปลาที่พบเหล่านั้นเป็นปลาลูกผสมด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านประมง

ภาพ บรรยากาศที่หมู่บ้านเวินบึก

หมายเหตุ:

การลงภาคสนามได้รับทุนสนุบสนุนจาก “โครงการธรรมาภิบาลน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” โดย ศูนย์ภูมิภาคเพื่อสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อ้างอิง

[1] ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ.( 2559). อันดามัน: ความรู้ท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อมเชิงวัฒนธรรม การเมืองเรื่องความรู้และความเป็นธรรมทางสังคมด้านสุขภาวะ. วารสารวิจัยสังคม. 39(2): 109-138.

[2] พิพัธน์ ธนากิจ. (2556). เขียนความรู้สร้างความทรงจำ: การดำรงอยู่ของปลาบึกที่เขียงของ. วิทยานิพนธ์. ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[3] พงษ์เทพ บุญกล้า. (2562). เรื่องเล่าประมงพื้นบ้านปากมูนกับปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน. วิทยานิพนธ์. ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

[4] พลวัฒ ประพันธ์ทอง และปรีชา อุปโยคิน. (2558). การศึกษาแหล่งวางไข่และอนุบาลลูกปลาบึก จากฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาติพันธุ์ ในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำโขง. วารสารการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต. 3(1): 41-48.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ