“เพิ่มแต้มต่อให้คนจน” แก้ไขปัญหาความยากจนบนฐานข้อมูล ความรู้ และความจริงเชิงวิพากษ์

“เพิ่มแต้มต่อให้คนจน” แก้ไขปัญหาความยากจนบนฐานข้อมูล ความรู้ และความจริงเชิงวิพากษ์

เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า

Facebook : Amnat Focus-อำนาจโฟกัส (facebook.com/AmnatFocus)

อำนาจเจริญ โครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดอำนาจเจริญ ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ บพท. (วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566) จัดเวทีเสวนา “เบิ่ง จน ซอด The Series” เรียนรู้ Best Practice เรื่องเล่าเร้าพลัง ว่าด้วยการทำงานแก้ไขปัญหาความยากจนบนฐานความรู้ ณ โรงแรมแลโขง ริเวอร์รีสอร์ท อำเภอเขมราฐ

“ประเทศไทยทำงานเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยาวนานแต่ยังแก้ไม่ได้ สาเหตุหนึ่งมาจากการทำงานของแต่ละหน่วยงานแยกส่วน คือ “ต่างคนต่างทำ” ดังนั้น การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนต้องร่วมกันทบทวนแนวทาง การนิยามความหมาย และการทำงานที่ตรงเป้ามากขึ้น หน่วยรัฐต้องประสานความร่วมมือและทำงานร่วมกันผ่าน “ฐานข้อมูลที่แม่นยำ” เอาไปใช้ประโยชน์ได้ “รู้ลึก รู้จริง รู้ปัญหา” รู้ว่าความต้องการของคนจนคืออะไร แล้วร่วมกันปฏิบัติการและส่งต่อให้ท้องถิ่นและพื้นที่…”

คุณนนทวัฒน์ โพธิ์ขาว ผอ.กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน จังหวัดอำนาจเจริญ

I. แก้ไขปัญหาผ่านฐานข้อมูลที่ตรงเป้าและแม่นยำ

พบว่า ประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยาวนานกว่า 60 ปี (แต่ยังแก้ไม่ได้) สาเหตุหนึ่งเกิดขึ้นจากข้อจำกัดของหน่วยงานภาครัฐทำงานกันคนละด้าน แยกส่วน คือ “ต่างคนต่างทำ” ขาดการบูรณาการความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ต้องกลับมาทบทวนวิธีการทำงานและ “การนิยามความหมาย” เกี่ยวกับ“คนจน” และ “ความจน” เนื่องจากคนจนและความยากจนมีความหลากหลายและเป็นพลวัต พบอีกว่า ที่ผ่านมาจังหวัดอำนาจเจริญ มีความพยายามทำงานด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างต่อเนื่อง โดยพลังของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่มีความเข้มแข็ง “ความยากจนแก้ไขได้แต่ต้องเข้าใจ การทำงานกับคนจนบางครั้งมีทั้งคนที่ทัศนคติลบและบวกจึงต้องค่อยๆ เรียนรู้พฤติกรรม”

II. จน! จ๊น! จน! บางครั้งเกิดจากการถ่ายทอดพันธุกรรม…จริงหรือ?

ความยากจนและความยากจนข้ามรุ่น/จนจากรุ่นสู่รุ่น สาเหตุหนึ่งเกิดจากการขาดที่ดินทำกิน มีรายได้น้อย มีปัญหาด้านสุขภาพ มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย เป็นครอบครัวใหญ่ รวมทั้งกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการของภาครัฐ ฯลฯ การทำงานภาคสนามจะทำให้เห็น “ลักษณะของความยากจน” การที่จะดูวิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนได้ เป้าจะต้องชัดเจน เช่น การลงไปถามว่าต้องการอะไร ต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ บางคนมีรายได้จากลูกหลานส่งมาให้เพียงแต่ไม่มีคนดูแล แต่ต้องยอมรับความจริงหนึ่งว่าบางคนขี้เกียจและรอรับอย่างเดียว  สำหรับคนกลุ่มนี้จะแก้ไขได้จะต้องดูท่าทีก่อนว่า “แท้ที่จริงแล้วต้นตอของข้อจำกัดเขาคืออะไร” ดังนั้น การทำงานก็ต้องช่วยคนจนแตกต่างกันออกไป

Facebook : Amnat Focus-อำนาจโฟกัส (facebook.com/AmnatFocus)

III. แก้ปัญหาและการทำงานแบบ “จับคู่บัดดี้”

พบว่า พื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาความยากจนยังไม่เบ็ดเสร็จมากนัก แต่ทุกภาคส่วนได้พยายามทำงานมาตลอด “ครอบครัวหนึ่งบางครั้งเจอ 108 สารพัดปัญหา” เช่น ทั้งป่วยติดเตียงออกไปทำงานไม่ได้ ช่วยเหลือไม่ได้ ลูกออกจากงานขาดรายได้เพราะต้องมาดูพ่อแม่ อยู่ในบ้านเรือนพอได้หลบแดดหลบฝน ทั้งมีเด็ก มีผู้สูงอายุ เป็นต้น “ความยากจนมันจะต้องไปดูแลกันไปตลอดชีวิต” ปัญหาเหล่านี้ต้องช่วยกันสกรีนออกมา แต่บางครั้งแก้ไม่ไหวจนมีคำพูดติดตลก “ตายจึงจะหายจน” หรือ “ย้ายออกไปจากจังหวัดคนจนจึงจะลด” และ “หนึ่งหมู่บ้านมันจะมีอยู่คนหนึ่งที่หนักหนาสาหัส” ก็ต้องใช้เวลาช่วยกันแก้ไขปัญหาต่อไป พบอีกว่า หน่วยงานภาครัฐได้ประสานการทำงานมากขึ้นด้วยความร่วมมือกันกับทุกภาคส่วนและภาควิชาการในการทำงานผ่านฐานข้อมูลและใช้ความรู้ความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ “รู้ลึก รู้จริง รู้ปัญหา รู้ว่าความต้องการของเขาคืออะไร” แล้วร่วมกันปฏิบัติการอย่างบูรณาการ ทั้งเฝ้าระวังปัญหาเก่าและช่วยกันแก้ปัญหาใหม่และทำงานแก้ไขปัญหาผ่าน “แผนที่ภูมิสังคม” คือ ระบุให้เห็นว่าคนจนอยู่ที่ไหนบ้าง การช่วยกันแก้ ร่วมกันทำงาน และประเมินผลเปลี่ยนแปลง และต้องเปิดพื้นที่ของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาด้วยความเข้าใจกันจึงจะนำไปสู่การทำงานที่แม่นยำ

“การลงพื้นที่ทำงานที่จังหวัดอำนาจเจริญทำให้เห็น “ความจน” และ “คนจน” โดยการทำงานที่เริ่มต้นจากฐานข้อมูล TPMAP พบว่า ครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุด 10 จังหวัดแรกของประเทศไทย ความยากจนมีความหลากหลายเป็นพลวัต…”

ผศ.ดร. ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

IV. ข้อจำกัดของครัวเรือนยากจนซับซ้อน “ตันไปหมด”…

คนจนบางคนไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไร เป็นความยากจนที่ “ตันไปหมด” พบว่า คนจนจริงๆ ไม่มีที่ทำกินและต้องซื้อข้าวกิน พบคนในชนบทยากจนแม้ว่าบ้านจะอยู่ติดนาก็ตาม และมีหลายระดับ บางคนจนโอกาสในการเข้าถึงบริการ บางคนจนหนี้สิน การแก้ปัญหาความยากจนแบบแม่นยำจะต้องเริ่มต้นจากการ “ชี้เป้า” การทำงานในจังหวัดอำนาจเจริญที่ผ่านมามีการทดลองหลายรูปแบบ เช่น ให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพตามความพร้อมเพราะความสามารถในการพัฒนาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องมีการประเมินความรู้ความสามารถในการทำงานของตนเองและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ “ทำงานกับความยากจนและคนจนต้องเดินเข้าไปหาเขา เข้าใจ และแก้ไขปัญหาแบบไม่เหมารวม”

V. ความยากจนเป็นพลวัต

ชีวิตคนจนมีความพลิกผันได้ตลอดเวลา คนจนมีเงื่อนไขและข้อจำกัดบางอย่างที่ไม่สามารถทะลุทะลวงได้ แต่พบว่า คนจนส่วนหนึ่งพร้อมจะทะลุทะลวงเพียงแต่ขาดโอกาส การเข้าพื้นที่ทำงานกับคนจนบางครั้งพบว่าเขารู้สึกดีใจ เพราะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาได้รับโอกาสจากโครงการลักษณะนี้ โอกาสได้รับ โอกาสได้พูด โอกาสปรึกษา และการ “ฟังเสียง” ของครัวเรือนยากจนว่าต้องการอะไรทำให้เข้าใจเขามากขึ้น เพราะบางครั้ง “คนจนถูกซ่อนอยู่” จึงต้องพูดถึงความยากจนและความรู้ที่ไม่ใช่มองความยากจนเพียงระดับครัวเรือน แต่ครัวเรือนที่ยากจนมีความเชื่อมโยงไปถึงโครงสร้าง และไม่ควรตัดตอนการแก้ไขปัญหาเพียงระดับปัจเจก การแก้ไขต้องมองภาพรวมและเห็นการผลักดันระดับนโยบาย โดยเฉพาะหน่วยงานต้องเห็นพลังร่วมกันไม่ใช่แค่มองคนจนเป็น “เหยื่อ” ของนักการเมืองในการหาเสียง

Facebook : Amnat Focus-อำนาจโฟกัส (facebook.com/AmnatFocus)

“แนวทางการแก้ปัญหาแบบที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีดำเนินการเป็นกระบวนการที่ดี ทำให้เห็นว่าคนจนคือใคร คนจนเป็นอย่างไร  ระยะถัดไปจะต้องทำงานร่วมมือกันมากขึ้นหลากหลายภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ไปพร้อมกัน ปฏิบัติการอย่างเต็มที่ และจริงใจ”

คุณวิรัชน์ สุขกุล ประธานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ

VI. แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านโครงสร้างความสัมพันธ์หลากระดับ

พบว่า จังหวัดอำนาจเจริญมีเป้าหมายของภาคประชาชนที่ต้องการให้ขับเคลื่อนการพัฒนาไปในทิศทางต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ข้อมูลที่ ม.อุบลราชธานี ลงปฏิบัติการในพื้นที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะต้องขยับต่อภายใต้การทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งขบวนองค์กรชุมชน ผ่านแนวทางการแก้ปัญหา คือ ระดับนโยบายรัฐ ต้องเอื้อการแก้ปัญหาความยากจนอย่างจริงจังผ่านการตั้งงบประมาณและทรัพยากร ระดับหน่วยงานภูมิภาค ปฏิบัติการอย่างเต็มที่และจริงใจ และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นของตนเอง ระดับภาคประชาชน ต้องตระหนักและเอาใจใส่เรื่องนี้ และระดับภาควิชาการ ทำงานความรู้ ข้อมูล และใช้เทคโนโลยี

“อยากให้รัฐ “สร้างแต้มต่อ” ให้คนจนสามารถพัฒนาตนเองและทักษะสามารถต่อสู้ด้านรายได้และอาชีพให้อยู่ในสังคมได้ การสร้างแต้มต่อจะทำให้คนจนได้ไปประกอบอาชีพและลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย…”

คุณเอกวัฒน์ ป้องกัน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)

VII. ใช้ฐานข้อมูลเป็นเข็มทิศในการทำงานที่ “ตรงเป้า แม่นยำ”

พบว่า การทำงานด้านความยากจนและความเปราะบางของบางหน่วยงานมีการกำหนดนิยาม และแบ่งระดับความยากจนเพื่อหาแนวทางในการทำงาน เช่น กลุ่มที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ กลุ่มที่สามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้ ที่ผ่านมาการทำงานช่วยเหลือคนจนและการแก้ไขความยากจนใช้ฐานข้อมูลระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform ) แต่พบว่า ตัวเลขและข้อเท็จจริงบางครัวเรือนไม่จน การใช้ตัวเลขครัวเรือนยากจนจาก ม.อุบลราชธานี ทำให้เห็นภาพของการทำงานที่ตรงเป้าและแม่นยำ

คุณณัฐสุดา เเสงจันทร์ “การทำงานในพื้นที่พบความยากจนหลากหลายและจำเป็นต้องทำ เช่น ชุมชนในพื้นที่ชายแดนและชายขอบ ปัญหาการเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา ผู้สูงอายุ/คนพิการที่เข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการ กรณีครอบครัวที่บ้านทรุดโทรมสามารถขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ และปัญหายาเสพติดเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระทบระดับครัวเรือนซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและความยากจน เป็นต้น

คุณณัฐสุดา แสงจันทร์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)
Facebook : Amnat Focus-อำนาจโฟกัส (facebook.com/AmnatFocus)

“ประชาชนมีส่วนสำคัญในการทำงานแก้ไขปัญหาความยากจนเพราะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ สังคมอีสานในชุมชนชนบทยังมีการใช้วัฒนธรรมชุมชนช่วยเหลือกัน อย่างน้อยที่สุดถ้าคนจนมีอาหาร มีข้าว มีปลากินไม่ตาย แต่สังคมชุมชนเมืองคนจนลำบากหนัก “บ่มีญาติขาดอีโต้” (ตัดขาดความสัมพันธ์ทางสังคม) ในชนบทคนจนอาจเข้าถึงอาหารในวัดได้ แต่ในเมือง “มีแม่ออกเส้นใหญ่” ไม่ใช่ว่าจะได้ขาวจากวัดทุกคน”

คุณวานิชย์ บุตรี ประธานสภาองค์กรชุมชน ตำบลเสนางคนิคม

“ถ้ามีการทำงานที่ลง MOU ร่วมกันระหว่างหน่วยงานจะเป็นการทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น “อย่าให้การทำงานคนคุยกันมีแต่ผู้น้อย” และทำงานพร้อมกับการสื่อสารทางสังคมให้เข้าใจ”

คุณเกษมสันต์ แสงสิงแก้ว สื่อมวลชนท้องถิ่น/ภาคประชาสังคม จังหวัดอำนาจเจริญ

กล่าวโดยสรุป

การเพิ่มแต้มต่อให้คนจนจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน แต่ต้องดำเนินงานบนฐานข้อมูลและความรู้ที่แม่นยำ แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการทำงานเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาอย่างยาวนาน แต่การทำงานของหน่วยงานต่างๆ ยังมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (power Relation) บางอย่างอยู่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมยังทำงานแบบแยกส่วนตาม function และไม่บูรณาการกัน โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล Big Data ยังพบคนจนตกหล่นและคนที่ไม่จนจริงอยู่ในฐานระบบข้อมูล (Inclusion Error/Exclusion Error) การทำงานเชิงพื้นที่จึงเกิดคำถามบางอย่างต่อฐานข้อมูลที่ไม่ตรงเป้าและแม่นยำนั้น “คนจนไม่เข้าคนเข้าไม่จน” ความยากจนไม่ได้เกิดขึ้นจากพันธุกรรม แต่ด้วยเงื่อนไข ข้อจำกัด และความซับซ้อนของปัญหาที่ต้องเผชิญหน้า ทำให้คนจนไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้เพียงลำพัง หน่วยงานภาคีต่างๆ ที่ทำงานประเด็นความยากจนและความเหลื่อมล้ำจึงต้องร่วมมือกันมากขึ้นด้วยความเข้าใจ จริงใจ ยอมรับความจริง หันหน้าเข้าหากัน และพูดคุยเชิงวิพากษ์ร่วมกัน

Facebook : Amnat Focus-อำนาจโฟกัส (facebook.com/AmnatFocus)

อ้างอิงข้อมูลจาก

ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ และคณะ. (2566). โครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดอำนาจเจริญ, ดำเนินการ โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.).

หมายเหตุ : เข้าชมออนไลน์ย้อนหลังที่ Facebook : Amnat Focus-อำนาจโฟกัส (facebook.com/AmnatFocus)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ