89 ปี จอบแรก ครูบากองทัพธรรมผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ

89 ปี จอบแรก ครูบากองทัพธรรมผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ

โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

ภาพ : วันสมโภชเปิดทางขึ้นดอยสุเทพ

วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2477 เวลา 10 นาฬิกา ชาวล้านนาไม่มีวันลืมเลือน เพราะเป็นวันที่ครูบาศรีวิชัยได้เริ่มปักจอบลงดินเป็นปฐมฤกษ์ในการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ

 
“จอบแรกครูบา” สำคัญอย่างไร 
หรือมันคือจุดเริ่มต้นขบวนการขับเคลื่อนของภาคประชาชน ?

           วันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 เมื่อ 89 ปีก่อน (นับถึงปี 2566) เป็นวันที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เริ่ม “ลงจอบแรก” ในการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ โครงการนี้เป็น “งานหน้าหมู่” จึงมีบุคคลอาสามาช่วยงานกันอย่างคับคั่ง ต่างคนต่างทยอยกันเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ แย่งกันมาขอเป็นเจ้าภาพหรือมีส่วนร่วมในการทำทาง ขอแบ่งบุญคนละครึ่งวาบ้าง วาหนึ่งบ้าง มากกว่านั้นบ้าง ตลอดทั่วทั้งภูเขามีเจ้าของผู้จับจองไปจนถึงบันไดนาค

          ผ่านไปไม่กี่เดือน เริ่มมีคนมาช่วยงานไม่ต่ำกว่า 5,000 คนต่อวัน เกิดการแย่งยื้อในการขุดขนถมทางให้เรียบ จึงต้องสร้างข้อตกลงกันว่า ให้ขุดได้เพียงคนละ 1 วา เท่านั้น เพื่อจะได้กระจายงานให้ทั่วถึงทุกคน ผู้รับทำทางโดยมากนอนค้างในที่ที่ตนรับทำทางนั้น เวลาเย็นข้าราชการเลิกจากงาน นักเรียน ครู เลิกจากเรียนหนังสือ ต่างเดินเท้าขึ้นไปเที่ยวดูการทำงาน ผู้ที่ไปเที่ยวเห็นเขาทำงานกันก็บังเกิดศรัทธา ได้ช่วยขุดดินและลากดินลงข้างห้วย เป็นบรรยากาศที่สนุกสนาน

          บุคคลที่อาสามาช่วยงานประกอบด้วยคนทุกชาติพันธุ์ ทุกเพศทุกวัย ทุกกลุ่มทุกชั้นชน สามารถจำแนกได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้ กลุ่มพระภิกษุสามเณร กลุ่มชาวเขาและชาวบ้าน กลุ่มคหบดีพ่อค้าประชาชน กลุ่มเจ้านายและข้าราชการ

ภาพ : เจ้าแก้วนวรัฐ ลงจอบแรกพร้อมคณะขุนนาง ข้าราชการและคหบดี

กลุ่มพระภิกษุสามเณร

          การทำงานสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ได้ “ครูบาเถิ้ม” (โสภา โสภโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดแสนฝาง ผู้มีความสันทัดด้านดูฤกษ์ยาม-ประกอบพิธีกรรม ทั้งยังเป็นที่รับรู้กันว่ามีความสามารถในด้านช่างก่อสร้าง มาทำหน้าที่กำกับดูแลควบคุมเส้นทางหลักจากวัดพระธาตุดอยสุเทพลงมา ในขณะที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย ควบคุมการทำงานจากด้านล่างขึ้นไปยังพระธาตุดอยสุเทพ ทำหน้าที่นั่งหนักเป็นประธานระดมทุนทรัพย์และรับไทยทานที่บริเวณหน้าวัดศรีโสดา ซึ่งขณะนั้นยังเป็นวัดร้าง

          คำว่า “นั่งหนัก” ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ ปราชญ์ล้านนา กล่าวไว้ว่า ในอดีตก่อนหน้ายุคครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น ชาวล้านนาไม่เคยรู้จักคำนี้มาก่อน เป็นการบัญญัติขึ้นมาใหม่เพื่อใช้เรียกพฤติกรรมการนั่งสมาธิบำเพ็ญภาวนาและให้ศีลให้พร (ปันพร) ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน แก่ผู้มาร่วมบริจาคเงินสำหรับก่อสร้างเป็นการเฉพาะ

          เกี่ยวกับครูบาเถิ้มนี้ ถือเป็นผู้มีคุณูปการหรือผู้ปิดทองหลังพระในโครงการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพอย่างแท้จริง เนื่องจากท่านผู้นี้เองเป็นคนจุดประกายให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยดำริโครงการสำคัญดังกล่าว

           ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2476 คณะสงฆ์เชียงใหม่ และพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย นิมนต์ให้ครูบาเถิ้มไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ พร้อมถวายเงินให้ 1,000 รูเปีย (ประมาณ  800 บาท) เพื่อนำไปบูรณะวัดพระธาตุดอยสุเทพที่ทรุดโทรมอย่างหนัก ทั้งยังมอบช้างให้ครูบาเถิ้มไปสองเชือก สำหรับใช้เป็นพาหนะในการขึ้นลงเขาและช่วยงานลากไม้ซุงสำหรับการก่อสร้าง ในช่วงเวลาดังกล่าว การขึ้นดอยสุเทพนั้น เต็มไปด้วยความลำบาก น้ำดื่มน้ำใช้ก็ไม่สะดวก ความเป็นอยู่ของพระที่วัดยากเข็ญ เพราะไม่มีชุมชนศรัทธาคอยอุปัฏฐาก กล่าวกันว่าเมื่อช้างล้ม (เสียชีวิต) ครูบาเถิ้มและลูกศิษย์จำเป็นต้องฉันเนื้อช้างเพื่อประทังชีวิตด้วย

          ครูบาเถิ้มเคยได้ไปเห็นถนนที่สร้างขึ้นสู่วัดบนเขาสูงในประเทศพม่ากับ หลวงโยนการพิจิตร (คหบดีเชื้อสายพม่า โยมอุปัฏฐากของครูบาเถิ้มที่วัดแสนฝาง) จึงนำแนวความคิดเรื่องการจัดสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ มาหารือกับ พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ และหลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ความคิดนี้ไม่มีใครสนใจเท่าใดนักเพราะเห็นเป็นของยาก ใช้เวลานาน จนกระทั่งข่าวนี้ทราบถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย ด้วยหัวใจที่กว้างใหญ่ และวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล จึงเป็นคนเดียวที่ตอบรับโครงการว่ามีความเป็นไปได้

          ส.สุภาภา กล่าวว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างยุ้งฉางไว้ 2 หลังสำหรับใส่ของบริจาค หลังหนึ่งบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง อีกหลังหนึ่งเป็นอาหารสด มีผู้มาทำบุญแบบไม่ขาดสาย แต่ละวันไม่เกินเที่ยง วัตถุปัจจัยข้าวสารอาหารสดอาหารแห้งคาวหวาน มักเต็มยุ้งทั้งสองเสมอ จากนั้นจึงให้นำแจกจ่ายแก่ผู้ช่วยงานโดยถ้วนหน้า เป็นเช่นนี้ทุกวัน

          นอกจากนี้ ยังมีโรงอีกหลังหนึ่ง ใช้เป็นที่เก็บอุปกรณ์ในการก่อสร้างด้วย

ภาพ : ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา

ครูบาอภิชัยขาวปี ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา

          ทำหน้าที่ระเบิดหินเปิดทางทำถนน ในหนังสืออนุสรณ์งานบำเพ็ญกุศลครบรอบสตมวารของพระครูพัฒนกิจจานุรักษ์ (ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา) กล่าวถึงการที่ท่านได้นำยาง (ชาวกะเหรี่ยง) มาช่วยครูบาอภิชัยขาวปี ระเบิดหิน ว่า

          “…ครั้นแล้วก็ลงมาช่วยครูบาอภิชัยขาวปีตัดหัวหิน เอากระเทียมกรีดชักแนวแล้วเอาน้ำมันไขวัวเจียดทาตามรอยกระเทียม แล้วหาฟืนมาถมมากๆ แล้วก็เอาไฟเผาจนไฟจะวอดแล้วให้หมู่กะเหรี่ยงหาน้ำมารดไฟและหินร้อนนั้นพร้อมกัน หินผานั้นก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ส่วนหินแตกนั้นให้กะเหรี่ยงขนออกก่อสร้างสะพานหินต่อ….”

          ตอนระเบิดหินนั้น ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา อายุ 22 ปี จำพรรษาอยู่วัดจอมหมอก เมืองตื๋น ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ วิธีการระเบิดหินนี้ พ่ออุ๊ยสี แสนอุ่น เล่าให้ฟังว่า เจาะหินลงไปเป็นรูลึกไปสัก 3 กำมือต่อกัน ใส่ดินปืนที่ทำกันเอง แล้วจุดไฟ หินจะแตกละเอียด

ครูบาคำตั๋น ติกฺขปญฺโญ

          อดีตเจ้าอาวาสวัดสันทรายหลวง ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 – 2527 (สมณศักดิ์สุดท้ายคือ พระครูพฤฒาจารย์) ท่านเล่าถึงสมัยเมื่อยังเป็นสามเณรว่า

           “…ในเช้าวันรุ่งขึ้นจะลงมาสร้างทางดอยสุเทพแล้ว แต่เครื่องไม้เครื่องมือหรือจอบเสียมไม่มีอะไรสักอย่าง ท่าน (ครูบาเจ้าศรีวิชัย) ปรารภถึงเรื่องนี้ในตอนกลางคืน เช้ารุ่งขึ้นก็มีผู้นำเครื่องมือมาให้เต็มรถ คนงานก็ไม่ต้องจ้าง ไม่ต้องไปขอแรงอะไรกัน มาเอง รุมๆ เต็มไปหมด ชาวเขาเกือบทุกเผ่าไม่รู้จักครูบาเจ้าศรีวิชัยเลย ก็พากันมาช่วย ขอทำเป็นตอนๆ ข้าวปลาอาหารก็มีมาเลี้ยงดูกันไม่อดอยาก…”

ครูบาหล้า จนฺโท (พระครูจันทสมานคุณ)

          ในหนังสือประวัติครูบาหล้า จนฺโท วัดป่าตึง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ คณะลูกศิษย์ของท่านได้เล่าว่า

          “…หลวงปู่หล้า เดินทางไปร่วมสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มสร้าง มีคณะศรัทธาจำนวนหนึ่งติดตามไปจากวัดป่าตึง การสร้างถนนมีการแบ่งงานกันตามกำลังของผู้ไปร่วม ชาวบ้านที่ติดตามไปจากวัดป่าตึงทำได้ 5 วา ใช้เวลา 14 วัน พวกที่ไปจากเมืองพานทำได้ 60 วา…”

          ครูบาหล้าเกิด พ.ศ. 2441 ที่บ้านปง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่เล่าลือกันว่าท่านมีญาณวิเศษ สามารถมองเห็นอนาคตได้ จึงเรียกกันว่า หลวงปู่หล้าตาทิพย์

พระโพธิรังษี (ครูบาโพธิ์)

          พระโพธิรังษี (บุญศรี พุทฺธิญาโณ พ.ศ. 2462-2545) หรือ “ครูบาโพธิ์” อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ แลเจ้าอาวาสวัดพันตอง เล่าว่า

          “ตอนนั้นครูบาเถิ้ม วัดแสนฝางมาช่วยด้วย ท่านมาช่วยสำรวจทาง จะเอาไปทางนั้นทางนี้ ครูบาเถิ้มทั้งนั้น…

          ตอนนั้นอาตมาเป็นเณร ไปเรียนที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ได้ไปช่วยสร้างทางตลอดเลย ไปวันเสาร์ นอนค้างคืนหนึ่ง วันอาทิตย์ (บางที) วันจันทร์ก็กลับ มีคนไปช่วยมากมายทั้งนักเรียนทั้งประชาชน ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงก็มี แม้วก็มี พากันมาช่วยจากที่ต่างๆ จากเชียงแสน เชียงราย เชียงตุง มีเจ็กหงอ เตียวเมี่ยนข่าย (หมายถึงเถ้าแก่โหงว) เป็นพ่อค้าเหล็กปูนที่สันป่าข่อย เป็นศรัทธาใหญ่ส่งเหล็กส่งปูนให้ครูบาเจ้าศรีวิชัย นอกจากนี้มีคนแห่เสียม แห่จอบ แห่อี่ปิก (เครื่องมือขุดคล้ายจอบแต่เล็กและหนากว่า) ไปถวายครูบาเจ้าศรีวิชัย…”

ครูบาอิน อินฺโท (พระครูวรวุฒิคุณ)

          ครูบาอิน อินฺโท หรือพระครูวรวุฒิคุณ คนทั่วไปเรียกท่านว่า “ครูบาฟ้าหลั่ง” ตามชื่อสำนักปฏิบัติธรรม วัดฟ้าหลั่ง หรือวัดคันธาวาส บ้านทุ่งปุย ตำบลสันติสุข อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เล่าเหตุการณ์ว่า

          “ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้รับความเคารพนับถือมากในสมัยนั้น เนื่องจากการปฏิบัติของท่านเป็นที่ศรัทธาของพระเณร ที่สำคัญคือการฉันเจและการนั่งหนัก …ช่วงนั้นมีคนมาจากที่ต่างๆ ทั้งพวกคนเมืองและพวกยาง พระเณรก็ไปด้วย แต่ละคนเอาขอบก (จอบ) ไปด้วยกัน บางคนก็เอามาถวายโดยไปซื้อมาจากตลาด…

          ชาวบ้านทุ่งปุยก็ได้ไปร่วมงานในครั้งนี้ด้วย คราวนั้นครูบาอินและโยมแม่ก็ไปช่วยด้วย การสร้างทางจะแบ่งกันทำเป็นตอนๆ สนุกมาก กินนอนอยู่กันที่นั่น นอนตามป่าโดยทำซุ้ม ทำตูบ (กระท่อม) นอนกัน กลางวันก็แผ้วถางเส้นทางตามสัดส่วนที่ได้รับมอบหมาย เหล่าพระสงฆ์ที่มีความรู้ก็ทำชนวนจุดระเบิดหินตามแนวที่ถนนตัดผ่าน”

พระพรหมมงคล วิ.

          พระพรหมมงคล วิ. (ทอง สิริมงฺคโล) หรือที่รู้จักกันในนาม “หลวงปู่ทอง” เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อครั้งยังเป็นสามเณรได้ไปช่วยครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพด้วย ทำหน้าที่แบกกระสอบข้าวสารขึ้นดอย เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างทางเสร็จแล้ว ก็ลงมาจำพรรษาต่อที่วัดพระสิงห์ วันหนึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ถวายเงินแถบ (รูเปีย) แก่ภิกษุสามเณรในวัดทุกรูป เพราะเห็นว่าได้รับความยากลำบากจากการช่วยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ สามเณรทอง ก็ได้รับเงินแถบด้วยจำนวน 1 รูเปีย
           เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 วันวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารมูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย ตรงข้ามกับวัดศรีโสดา พระพรหมมงคล วิ. ประธานในการวางศิลาฤกษ์ ได้เล่าว่า ช่วงที่จำพรรษา ณ วัดพระสิงห์นั้น ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ประกาศว่า “พระภิกษุสามเณรรูปใดมีจีวรเก่าหรือฉีกขาดและไม่มีอาหารให้มารับใหม่ได้” สามเณรทอง จึงเข้าไปกราบครูบาเจ้าศรีวิชัยบอกว่าไม่ได้ประสงค์สิ่งใดทั้งสิ้น นอกจากขอเพียงลิ้มรสมะปรางผลหนึ่งเท่านั้น

          ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางตัวอย่างเท่านั้น เฉพาะกลุ่มพระสงฆ์  อันที่จริง บรรดาสหธรรมิกและศิษยานุศิษย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่มีส่วนเป็นกำลังสำคัญมาช่วยครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างทางขึ้่นสู่ดอยสุเทพนั้นยังประกอบด้วยพี่น้องชาวเขา ชาวบ้านจากอำเภอต่างๆ รวมทั้งกลุ่มคหบดี ข้าราชการ ฯลฯ ดังนั้นวันนี้ 9 พฤศจิกายน ของทุกปีขอน้อมรำลึกถึงผู้มีคุณูปการที่ช่วยสร้างทางขึ้นสู่ดอยสุเทพทุกผู้ทุกนาม

การเสนอยูเนสโก ดัน ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ ครูบาเจ้าศรีวิชัย (อินท์เฟือน สีวิเชยฺย) ให้ได้รับการยกย่องเป็น บุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ ในวาระครบรอบ 150 ปี ชาตกาล ครูบาเจ้าศรีวิชัย ในปี พ.ศ. 2571 ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก

ประวัติ “ครูบาศรีวิชัย” หรือ “พระสีวิไชย” เป็นพระเถระชาวจังหวัดลำพูน ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างและบูรณะพุทธศาสนสถานหลายแห่งทั่วภาคเหนือของประเทศไทย จนได้รับการขนานนามว่า “ตนบุญแห่งล้านนา”

ครูบาศรีวิชัยเกิดเมื่อวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2421 ปีขาล เวลาพลบค่ำ ขณะนั้นมีพายุฟ้าร้องรุนแรง จึงตั้งชื่อว่า อินตาเฟือน หรือ อ้ายฟ้าร้อง บิดาชื่อควาย ส่วนมารดาชื่ออุสา นายควายบิดาเป็นบุตรของนายอ้าย กับนางน้อยธิดาของหมื่นผาบ (มาต่า) หมอคล้องช้างชาวกะเหรี่ยงแดงจากเมืองกันตรวดีที่เจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ชวนมาอยู่ลำพูนด้วยกัน ส่วนนางอุสามารดาของท่าน บางแห่งว่าเป็นชาวเมืองเชียงใหม่ บ้างว่าเป็นธิดาหนานไจยา ชาวเมืองลี้ เพ็ญสุภา สุขคตะสรุปว่าครูบาศรีวิชัยมีเชื้อสายกะเหรี่ยงแดงจากฝั่งบิดา และอาจมีเชื้อสายกะเหรี่ยงขาวและยองจากฝั่งมารดา

เมื่ออายุได้ 18 ปี ท่านคิดว่าชาตินี้เกิดมายากจนเพราะในอดีตไม่ได้ทำบุญไว้เพียงพอ จึงควรออกบวชรักษาศีลปฏิบัติธรรมไว้เพื่อประโยชน์สุขในภายหน้า และจะได้ตอบแทนพระคุณมารดาบิดาทางหนึ่งด้วย ท่านจึงลาบิดามารดาไปอยู่วัดบ้านปาง ศึกษาเล่าเรียนและบวชเป็นสามเณรกับพระอาจารย์ขัติยะ (หรือครูบาแข้งแขะ เพราะท่านเดินขากะเผลก) จนอายุได้ 21 ปีจึงได้อุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาในการอุปสมบทว่า “สีวิเชยฺย” มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย

หลังจากอุปสมบท ท่านได้ศึกษาไสยศาสตร์กับครูบาขัตติยะและครูบาอุปปละ แล้วมาศึกษากรรมฐานกับพระอุปัชฌาย์ที่วัดบ้านโฮ่งหลวง เมื่อกลับมาอยู่วัดบ้านปาง ท่านมักเจริญภาวนาในป่า ฉันภัตตาหารมื้อเดียว ฉันมังสวิรัติ ไม่ฉันของเสพติด เช่น หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง ทำให้ประชาชนเลื่อมใสท่านมาก เมื่อท่านทราบว่าที่ใดยังขาดเสนาสนะที่จำเป็นหรือกำลังชำรุดทรุดโทรม ท่านจะเป็นผู้นำชาวบ้านไปก่อสร้างจนสำเร็จ ผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือการถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่มีระยะทางทั้งหมด 11.530 กิโลเมตร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 แล้วเสร็จในวันที่ 30 เมษายน 2478

ชื่อเสียงของครูบาเจ้าศรีวิชัย ทำให้พระสังฆาธิการในจังหวัดลำพูนบางรูปนำโดยเจ้าคณะจังหวัดลำพูนตั้งอธิกรณ์กล่าวหาว่าท่าน 8 ข้อ เช่น ทำตัวเป็น “ผีบุญ” อวดอิทธิฤทธิ์ ซ่องสุมกำลังผู้คน คิดขบถต่อบ้านเมือง และนำท่านไปจำไว้ที่ลำพูนและวัดศรีดอนไชย เชียงใหม่ จากนั้นจึงได้ส่งตัวท่านไปไต่สวนที่กรุงเทพฯ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรงตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องพระศรีวิชัย ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ พระญาณวราภรณ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต) และพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ได้ถวายรายงานมีความเห็นว่า ข้อ 1-5 ซึ่งเกี่ยวกับการไม่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายปกครอง พระศรีวิชัยรับสารภาพและได้รับโทษแล้ว ข้อที่เหลือซึ่งเกี่ยวกับการอ้างคุณวิเศษ พระศรีวิชัยไม่มีความผิด เพราะประชาชนเล่าลือไปเอง และเจ้าคณะลงโทษเกินไป ควรปล่อยพระศรีวิชัยกลับภูมิลำเนา สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณโรรสทรงเห็นชอบ

ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2481 (เมื่อก่อนนับศักราชใหม่ในวันสงกรานต์ ถ้าเทียบปัจจุบันจะเป็นต้นปี พ.ศ.2482) ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สิริอายุได้ 60 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง เป็นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้นได้เข้าแย่งชิงอัฏฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการบูชา อัฏฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินล้านนาดังนี้

ส่วนที่ 1 บรรจุที่ วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน

ส่วนที่ 2 บรรจุที่ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่

ส่วนที่ 3 บรรจุที่ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง

ส่วนที่ 4 บรรจุที่ วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา

ส่วนที่ 5 บรรจุที่ วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

ส่วนที่ 6 บรรจุที่ วัดน้ำฮู จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ส่วนที่ 7 บรรจุที่ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ภาพประกอบ

ภาพ : ครูบาเถิ้มโสภา ผู้จุดประกายการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ
ภาพ : ปะรำพิธีงานลงจอบแรกวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477
ภาพ : ครูบาอภิชัยขาวปี กับหลวงศรีประกาศ
ภาพ : วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างทาง พวกอีเตอร์ อี่ปิก จอบ เสียม จัดแสดงที่วัดบ้านปาง 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ