LEMPAR ชวนปกป้อง ‘สิทธิพลเมือง-สิทธิทางการเมือง’ ของ ปชช. ขอรัฐเคารพหลักสิทธิมนุษยชน

LEMPAR ชวนปกป้อง ‘สิทธิพลเมือง-สิทธิทางการเมือง’ ของ ปชช. ขอรัฐเคารพหลักสิทธิมนุษยชน

28 มิ.ย. 2559 สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) และภาคีร่วมเผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Lembaga Patani Raya untuk kedamaian dan pembangunan – Lempar เรื่อง เหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศไทย

แถลงการณ์ ระบุข้อเรียกร้อง 1.ให้เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ช่วยกันรณรงค์ปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และ 2.ให้ทางภาครัฐให้ความเป็นธรรมและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนภายในรัฐ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (10 ธันวาคม พ.ศ. 2491/ค.ศ.1948)

เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศไทยตึงเครียดไปมากกว่าที่เป็นอยู่ จนอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยต่อสายตานานาอารยประเทศ และอาจทำให้เกิดภาวะบรรยากาศที่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงของภาคประชาชนที่ถูกกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก 

แถลงการณ์ระบุรายละเอียด ดังนี้

20162806183338.jpg

ที่มาภาพ: Lembaga Patani Raya untuk kedamaian dan pembangunan – Lempar

แถลงการณ์พิเศษ2/2559
สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR) และภาคีร่วม
วันที่ 27 มิถุนายน 2559

เรื่อง เหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศไทย

สืบเนื่องจากการเกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากในราชอาณาจักรไทย ณ ปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อาทิ 

1.เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) นิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ รวม 13 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัว เนื่องจากการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ ต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยในจำนวนนั้นมีผู้ขอประกันตัว 6 ราย ที่เหลืออีก 7 รายยืนยันว่าไม่ได้ทำสิ่งใดผิดจึงไม่ขอประกันตัว ทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาศาลทหารเพื่อขออนุญาตฝากขัง โดยที่ 6 ราย ขอประกันตัวและได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและ ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา ขณะที่ 7 รายที่ไม่ยี่นประกันตัวนั้นถูกฝากขังที่เรือนจำดังกล่าว

2.เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2559 ทหารนอกเครื่องแบบนอนเฝ้าและย้ำห้ามขบวนการอีสานใหม่พูดเรื่องการเมือง ในระหว่างการเดินรณรงค์ Walk for Rights เดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน ที่จังหวัดมหาสารคาม พร้อมทั้งสอบถามรายละเอียดส่วนตัวของผู้ร่วมเดินรณรงค์อย่างยิบย่อย

3.เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 กอ.รมน.ภาค 4ส่วนหน้า ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นายสมชาย หอมลออ และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 หลังจากที่ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายนุษยชนปาตานี เก็บข้อมูลและเรียบเรียงโดยทำ‘รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558’ (http://www.deepsouthwatch.org/node/8106) และเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

4. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท รูปธรรมที่ส่งผลชัดเจน คือ การลิดรอนการเรียกร้องต่อสู้ของประชาชนตามสิทธิชุมชน กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระ จังหวัดปัตตานี โรงไฟฟ้าถ่านหินบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ฯลฯ

5. แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน 2557 ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช). ฉบับที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช). ฉบับที่ 66/2557 เรื่องเพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นทั่วประเทศทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ที่มีข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับภาครัฐถูกดำเนินคดี คุกคาม ไล่รื้อทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้าง 

ในขณะที่ราชอาณาจักรไทย ลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี ซึ่งสหประชาชาติ (United Natiaon) ถือเป็นสนธิสัญญาหลัก จานวน 7 ฉบับ ได้แก่ 

(1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) 

(2) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination: ICERD) 

(3) อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือ ย่ายีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) 

(4) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR)

(5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women – CEDAW)

(6) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC)

(7) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities – CRPD)

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (10 ธันวาคม พ.ศ. 2491/ค.ศ.1948) กล่าวถึง สิทธิมนุษยชนซึ่งมีสาระสำคัญ คือ หลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน (ข้อ 1-2) สิทธิทางการเมืองและสิทธิความเป็นพลเมือง(ข้อ 3-21) สิทธิด้านสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม (ข้อ22-27) และหน้าที่ของบุคคล สังคม และรัฐ (ข้อ 28-30)

หลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน ว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิความเป็นพลเมือง ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (10 ธันวาคม พ.ศ. 2491/ค.ศ.1948) ระบุว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศของตน ทั้งโดยทางตรงหรือทางผู้แทนซึ่งมาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค ทุกคนมีสิทธิในการชุมนุมและการสมาคมโดยสันติ ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น แสวงหาข้อมูลข่าวสาร และสามารถรับส่งข้อคิดเห็นต่างๆ ผ่านสื่อใดๆก็ได้โดยปราศจากการแทรกแซง บุคคลจะถูกจับกุม กักขัง ตามอำเภอใจไม่ได้ ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะ ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ บุคคลจะถูกกระทำการทรมาน หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้ เป็นต้น

ทางสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) จึงมีข้อเรียกร้องเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศไทยตึงเครียดไปมากกว่าที่เป็นอยู่ จนอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยต่อสายตานานาอารยประเทศและอาจทำให้เกิดภาวะบรรยากาศที่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงของภาคประชาชนที่ถูกกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก จะหันหลังให้กับกระบวนการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานในทางการเมืองด้วยสันติวิธีก็เป็นได้นั้น 

ซึ่งประกอบด้วย

1.ขอให้เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ช่วยกันรณรงค์ปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

2.ขอให้ทางภาครัฐให้ความเป็นธรรมและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนภายในรัฐ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (10 ธันวาคม พ.ศ. 2491/ค.ศ.1948)

ด้วยรักษ์สันติภาพ สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) และภาคีร่วม

หมายเหตุ:  หากบุคคคลหรือองค์กรใดมีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาแถลงการณ์ สามารถลงชื่อพ่วงลงท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ได้ Lembaga Patani Raya untuk kedamaian dan pembangunan – Lempar

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ