“ความยากจน” กับโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมและความมั่นคงด้านอาหาร

“ความยากจน” กับโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมและความมั่นคงด้านอาหาร

เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า

อำนาจเจริญ ผู้เขียนกล่าวถึง โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมกับความมั่นคงด้านอาหารและ “ความยากจน” โดยใช้ข้อมูลจาก โครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดอำนาจเจริญ ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)[1] ใช้ข้อมูลจากการสืบค้นออนไลน์ และลงพื้นที่ภาคสนาม สัมภาษณ์ สังเกตการณ์ พูดคุย ประชุมกลุ่มย่อย และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาความยากจน เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระดับพื้นที่ด้วยหลายสาเหตุ พบว่า ครัวเรือนยากจนส่วนหนึ่งประสบปัญหาด้านการเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน คือ ไม่มีที่ดิน มีที่ดินน้อยไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ อาศัยคนอื่นอยู่ เช่น ญาติ วัด โรงเรียน ป่าช้า ที่ดินสาธารณะ เป็นต้น การเปิดพื้นที่ (space) ให้ครัวเรือนยากจนเข้าถึงที่ดิน (land) ถือเป็นโอกาสสำคัญของครัวเรือนยากจนต่อการมีพื้นที่อาหาร

เนื่องจาก “ความยากจน” และ “ความมั่นคงทางอาหาร” มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญในหลายด้าน ความมั่นคงทางอาหารเป็นปรากฏการณ์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างกว้างขวางในฐานะปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่หลายประเทศกำลังเผชิญและสร้างมาตรการรับมือ ปัญหานี้ในประเทศกำลังพัฒนาทวีความรุนแรงมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก สภาพภูมิอากาศ วิกฤติด้านพลังงาน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญกับการผลิตพืชอาหารลดลง คือ เน้นการผลิตพืชพลังงานมากกว่าส่งผลให้พืชอาหารมีราคาสูงขึ้น และประชากรที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงอาหาร [2] ซึ่ง หมู่บ้านหนองทับม้า ม.11 ตำบลเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ดำเนินงาน “โมเดลแก้จน” ด้วยวิธีการ “ปลูกผักแปลงรวมปลอดสารพิษ” สร้างความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ให้คนในชุมชนและครัวเรือนยากจนรวมทั้งมิติอื่นๆ ได้แก่ ลดข้อจำกัดด้านทรัพยากรเศรษฐกิจ การเปิดพื้นที่ (space) และการเข้าถึงที่ดิน ลงแรงผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม (participation) “ปลูกผักที่กินกินผักที่ปลูก” เน้นการปลูกที่หลากหลายมากกว่าเชิงเดี่ยว และผักจากแปลงรวมปลอดสารพิษสามารถออกสู่ตลาด ดังนี้

  1. คนจนมีข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจ : ช่วยลดข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจให้กับครัวเรือนยากจน

ครัวเรือนยากจนมีข้อจำกัดต่างๆ มากมายหลายด้าน การมีรายได้ของครัวเรือนยากจนบางครั้งไม่เพียงพอต่อความต้องการ การบริโภค อุปโภค หรือใช้จ่ายในครอบครัว เช่น การว่างงานและไม่มีงานทำประจำ การเป็นแรงงานชั้นล่างเนื่องจากไม่มีวุฒิการศึกษา หรือมีข้อจำกัดที่จำเป็นจะต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวที่เป็นภาระพึ่งพิงออกไปทำงานไม่ได้ (เด็กเล็ก/สูงอายุ/ป่วยติดเตียง/พิการ/อื่นๆ) หรือบางคนหาเงินมาได้ก็ต้องใช้จ่ายไปกับการส่งเสียลูกเรียนหนังสือ กรณี ยายบัน (นามสมมติ) เป็นผู้สูงอายุและพิการขา ไม่มีงานทำประจำส่งผลกระทบต่อรายรับและการใช้จ่าย ยายบันได้รับเงินจากเงินคนพิการและเงินผู้สูงอายุ แต่รายรับของยายบันไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับรายจ่ายในแต่ละวัน ยายบันจึงเข้าร่วมปลูกผักแปลงรวมปลอดสารพิษกับสมาชิกคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน การเข้าร่วมปลูกผักทำให้ยายบันมีผักปลอดสารพิษรับประทานในชีวิตประจำวันและไม่ต้องใช้จ่ายจากการซื้อผัก/อาหารจากตลาด

“การสำรวจข้อมูลวิจัยฯ (เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ) โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สะท้อนให้เห็นว่า บ้านหนองทับม้า ม.11 มีจำนวนประชากรครัวเรือนยากจนค่อนข้างหนาแน่น จึงนำไปสู่การหาแนวทาง “โมเดลแก้จน” ในการยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนยากจนโดยใช้พลังภายในชุมชนและโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม…”

2. คนจนไม่มีที่ดิน/ที่ดินน้อย : เปิดพื้นที่ (space) ให้คนจนเข้าถึงที่ดิน

ครัวเรือนยากจนมีข้อจำกัดโดยเฉพาะการไม่มีที่ดินทำกินหรือที่ดินทำกินมีพื้นที่น้อย อีกทั้ง บางครอบครัวมีข้อจำกัดด้านการเดินทางไปซื้อหาอาหารในตลาดไกลๆ ลำบาก การเปิด “พื้นที่” (space) ให้ครัวเรือนยากจนเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากที่ดินเป้นแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนในชุมชน พบว่า การดำเนินกิจกรรมปลูกผักแปลงรวมปลอดสารพิษ (บ้านหนองทับม้า) ใช้พื้นที่ “สาธารณะ” ในชุมชน คือ ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ครัวเรือนยากจน และขบวนองค์กรชุมชน ปรึกษาหารือเกี่ยวกับการขอใช้พื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นที่ดินในการดูแลของโรงเรียนอนุบาลเสนางคนิคม มีการสร้างข้อตกลง/รับรู้รับทราบผ่านการประชุมร่วมกันระหว่าง ชาวบ้าน/คนจน กับ โรงเรียน ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินว่า การดำเนินกิจกรรมปลูกผักแปลงรวมปลอดสารพิษ มีเป้าหมายพื้นสร้างพื้นที่ “ความมั่นคงทางอาหาร” ให้กับครัวเรือนยากจนและคนในชุมชนเป็นสำคัญ มีเงื่อนไขร่วมกันว่าพืชที่ปลูกในที่ดินซึ่งเป็นของส่วนรวมจะต้องเป็นพืชอายุสั้นและไม่ใช่ไม้ยืนต้น รวมทั้งการไม่สร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรในที่ดินของส่วนรวมภายใต้แนวคิด “Social Safety Net” หรือ โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม” ให้ชุมชนเป็นพลังในการ “โอบอุ้ม” ครัวเรือนยากจน ผู้ปลูกผักรวมกว่า 50 ครัวเรือนเป็นครัวเรือนยากจนจำนวน 10 ครัวเรือน

3. คนจนเป็นส่วนหนึ่ง : ลงแรงผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม (participation)

การปลูกผักแปลงรวมปลอดสารพิษ บ้านหนองทับม้า เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทั้งร่วมกันคิด ออกแบบ วางแผน และลงแรงกันตั้งแต่การทำความสะอาดแปลง การเตรียมดินปลูก/แปลงปลูก การตัดไม้ไผ่สร้างรั้ว (ได้รับจากการระดม/บริจาคจากป่าหัวไร่ปลายนาและสวนท้ายบ้าน) การลงมือปลูก การแบ่งเมล็ดและต้นกล้า รวมถึงการร่วมกันดูแลและแลกเปลี่ยนความรู้กันและกัน รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในแปลงผัก (วันที่ 26 ตุลาคม 2566) ชุมชนนัดหมายกันเตรียมความพร้อมดำเนินการปลูกผักแปลงรวมและลงแรงกันเตรียมพื้นที่ บรรยากาศการช่วยเหลือกันเกิดขึ้นที่แปลงผัก แต่ละคนถืออุปกรณ์ของตัวเองมาร่วมลงแรง คือ เสียม จอบ มีด เกี่ยว คราด เครื่องตัดหญ้า ฯลฯ รวมผู้เข้าร่วมทั้งผู้ชายและผู้หญิง กว่า 30 คน และหลังจากทำความสะอาดแปลงชุมชนหารือกันเพื่อหาไม้ไผ่มาล้อมรั้วและได้รับการสนับสนุนไม้ไผ่สด ช่วยกันตัดคนละไม้ละมือรวมไม้ไผ่ประมาณ 60 ลำ

“มาแบบนี้มันม่วนมันได้ส่อยกัน บ่มาเพิ่งกะให้ปลูกนำอยู่ แต่ว่ามาแบบนี้มันกะม่วนกว่า”

“เสียง” ของครัวเรือนยากจน

4. “ปลูกผักที่กินกินผักที่ปลูก” เน้นการปลูกที่หลากหลายมากกว่าปลูกเชิงเดี่ยวระบบพันธะสัญญา

ผักที่ถูกปลูกและหว่านเมล็ดลงใน “แปลงรวมปลอดสารพิษ” ส่วนใหญ่เป็นพืชผักที่ใช้ทำเป็นอาหารในครอบครัวและเป็นพืชอายุสั้น ได้แก่ หอมแดง ผักชี ผักกาด ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง พริก มะเขือ ผักกาดหิ่น กล้วยหอม ชะอม และ มะละกอ เป็นต้นแม่จัน (นามสมมติ) กล่าวว่า “แม่ปลูกผักหลายอย่าง ตื่นมารดน้ำผักแต่เช้าทุกวัน ได้ออกกำลังกาย ได้พบปะเพื่อนๆ ด้วย ผักบางอย่างที่เราไม่ได้ปลูกก็ขอแบ่งขอแลกเปลี่ยนกับแปลงอื่นได้ บางคนก็ไม่ได้หวงแค่จะเก็บไปกินก็เก็บได้เลย เช่น ต้นหอม ผักชี ผักที่เหลือกินก็เก็บไปขายที่ “ตลาดฮักเสนางค์/ตลาดสีเขียว”

5. คนจนต้องการตลาด : จากแปลงรวมปลอดสารพิษออกสู่ตลาด

บรรยากาศการนำสินค้ามาวางจำหน่ายที่ตลาดเขียว (วันอังคาร) (วันที่ 24 ตุลาคม 2566) พบว่า ครัวเรือนยากจนที่ร่วมนำสินค้ามาวางจำหน่ายมีรายได้มากถึง 200-500 บาท (1 เดือนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 800-2,000 บาท) ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายในพื้นที่ โดยสินค้าที่ครัวเรือนยากจนนำมาวางจำหน่าย ได้แก่ ผักขะแยง ข้าวสาร มะขาม ปลาดุกนา น้ำพริก และผักพื้นบ้าน เป็นต้น การเปิดพื้นที่จำหน่าย/ตลาด ส่งผลเชิงบวกต่อครัวเรือนยากจนที่มีความต้องการสร้างรายได้ผ่านการจำหน่าย เช่น แม่จัน (นามสมมติ) มีรายได้จากการนำผักและสินค้าอาหารปลอดภัยที่หาได้ในชุมชนมาวางขาย 3 สัปดาห์เกิดรายได้สัปดาห์ละ 500 บาท หรือ แม่ลา (นามสมมติ) มีรายได้สัปดาห์ละ 200-300 บาท เป็นต้น

จะเห็นว่า การปลูกผักแปลงรวมปลอดสารพิษ ถือเป็นโมเดลแก้จนหนึ่งที่ช่วยให้ครัวเรือนยากจนเข้าถึงพื้นที่/ที่ดินปลูกผัก และเป็นการเปิดโอกาสและลดข้อจำกัดด้านที่ดินทำกินให้กับครัวเรือนยากจน อีกทั้ง การเข้าถึงที่ดินที่เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมได้นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งในชุมชน หรือ โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม ที่โอบอุ้มครัวเรือนยากจนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ปล่อยให้ครัวเรือนยากจนต่อสู้ ดิ้นรถ โดดเดี่ยว ลำพัง นอกจากนั้น บ้านหนองทับม้า ยังมีการขับเคลื่อนโมเดลแก้จน “กองบุญข้าวปันสุข” เพิ่มข้าวให้กับครัวเรือนยากจนได้ใช้เป็นอาหารอีกด้วย

พบอีกว่า การทำงานของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ดำเนินการในจังหวัดอำนาจเจริญ ด้วยการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องอย่างน้อย 4 อำเภอ คือ เสนางคนิคม ชานุมาน ปทุมราชวงศา และพนา โดยการทำงานในพื้นที่ดังกล่าวพยายามให้เกิดโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม เช่น การผลักดันให้เกิดการปลูกผัก/สมุนไพรแปลงรวมในพื้นที่อำเภอชานุมาน พนา และปทุมราชวงศา รวมถึง การประสานการทำงานอย่างมีส่วนร่วมระดับภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และการทำงานร่วมกับ “วิสาหกิจชุมชน” ด้วย

ดังนั้น การเข้าถึงที่ดิน (land) ช่วยให้ครัวเรือนยากจนเข้าถึงอาหาร จากโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมสู่ความมั่นคงทางอาหารและลด “ปัญหาความยากจน” โมเดลแก้ปัญหาความยากจนด้วยการปลูกผักปลอดสารพิษ สะท้อนกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและเครือข่ายทางสังคมกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในการโอบอุ้มครัวเรือนยากจนที่มีข้อจำกัดต่างๆ มากมายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เปิดพื้นที่ (space) และที่ดินทำกินชั่วคราวให้กับครัวเรือนยากจนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม (social safety net) สู่ความมั่นคงทางอาหาร (food security) และการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นเพื่อลด/แก้ไขปัญหา “ความยากจน”

ภาพ : บรรยากาศการดำเนินกิจกรรมฯ

อ้างอิงข้อมูล

[1] ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ และคณะ. (2565-2566). โครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดอำนาจเจริญ, ดำเนินการ โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.).

[2] อภิชาติ ใจอารีย์, ประสงค์ ตันพิชัย และนิรันด์ ยิ่งยวด. (2560). การพัฒนาหลักสูตร การปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อส่งเสริมความมั่นคง ด้านอาหารปลอดภัยสำหรับชุมชนภายใต้ความร่วมมือของภาคีการพัฒนา. วารสารการเมืองการปกครอง. 7(3): 119-136.

[3] ข้อมูลออนไลน์และภาพถ่ายจาก Facebook : Amnat Focus-อำนาจโฟกัส (facebook.com/AmnatFocus)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ