“กระจูดแก้จน” ยกระดับคุณภาพชีวิตคนจน ด้วยงานจักสานฝีมือชาวบ้าน

“กระจูดแก้จน” ยกระดับคุณภาพชีวิตคนจน ด้วยงานจักสานฝีมือชาวบ้าน

“กระเป๋ากระจูดสานแบบธรรมดาราคาก็ประมาณนึง แต่ถ้าผสมใบลานราคาจะสูงขึ้นมาอีก ยิ่งถ้านำมาปักลวดลายเข้าไปอีก ราคาก็จะสูงมากขึ้นไปอีก ราคาตกใบละหลายพันบาท ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือรายได้เพิ่มมากขึ้น”

กัลยกร ศรีนุ่น ชาวบ้าน ต.ทะเลน้อย จ.พัทลุง
กัลยกร ศรีนุ่น ชาวบ้าน ต.ทะเลน้อย จ.พัทลุง

เมื่อโควิด-19  ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน จ.พัทลุงมีงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ พบว่าคนจนจำนวนหนึ่งหล่นหายจากฐานข้อมูลกว่าเท่าตัว ทำให้ไม่สามารถไปถึงการแก้ปัญหาได้ตรงจุด กับคำถามสำคัญ

จะแก้ปัญหาความยากจน แก้โจทย์ปัญหาปากท้องและยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างไรได้บ้าง?

“เราจะขับเคลื่อคนจนให้เกิดความยั่งยืน เราต้องเพิ่มเติมความรู้ แต่ภายใต้ฐานทุนที่เขามี ทรัพยากรที่เขามี เราจะผลักไปให้ทำอาชีพใหม่ ๆ สำหรับเขาไม่ได้ ควรให้เกิดจากทักษะที่เขามีมาก่อน แล้วจะง่ายต่อการขับเคลื่อน”

รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง

รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และนวัตกรรม เล่าถึงแนวคิดเบื้องต้น “โมเดลแก้จน” ในโครงการวิจัย และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ และแม่นยำของจังหวัดพัทลุง มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

จากข้อมูลในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPmap เห็นถึงตัวเลขคนจนในภาคใต้สูง ในจังหวัดพัทลุง ตัวเลขคนจนในฐาน TPmap อยู่ที่ประมาณ 14,342 คน ทำให้หน่วยวิจัยบริการ และการจัดการเชิงพื้นที่ หรือ บพท. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จนเกิดเป็นโครงการวิจัย และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

เรามองว่าคนจนในจังหวัดพัทลุงจริงแล้วยังมีมากกว่านี้อีกไหม

“ทางมหาวิทยาลัยจึงเก็บข้อมูลใหม่หมดทั้งจังหวัดพัทลุงแบบปูพรหมทั้ง 11 อำเภอ 65 ตำบล 8 เทศบาล โดยใช้แบบสอบถามจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จากเดิมจำนวนคนจน 14,342 คน เพิ่มขึ้นเป็น 59,000 กว่าคน เพิ่มขึ้นมาประมาณเกือบ 4 เท่า หลังจากนั้นเราเอาข้อมูลตรงนี้มาวิเคราะห์ต่อ เพื่อเก็บเข้าสู่ระบบสารสนเทศ เราเรียกว่า PPP Connext Step ต่อไป เสร็จแล้วเราก็ส่งต่อให้หน่วยงานต่าง ๆ เช่น ถ้าบ้านจะพังแล้ว เราก็ส่งต่อไปให้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เขาก็จะมีโครงการบ้านพอเพียงเข้ามาช่วย ซึ่งเราส่งไปกว่า 200 ครัวเรือน หรือเราส่งไปที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ หรือผู้สูงอายุ เราจะส่งต่อเลยแบบไม่ต้องรอ ส่วนหลังจากนี้ เราก็นำมาสู่การสร้างโมเดลแก้จน”

โมเดลแก้จนตัวอย่าง

“เราเลือกพื้นที่ตำบลทะเลน้อย เพราะตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน เป็นอำเภออันอับ 2 ที่ตัวเลขคนจนมากที่สุดในจังหวัดพัทลุง รองจากอำเภอเมือง ถ้าเราจะทำโมเดลแก้จน เรามองว่าตำบลทะเลน้อย เป็นตำบลที่มีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างสูง เช่น มีกระจูด มีฐานอาชีพที่มีกลุ่มจักสานกระจูดขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ และมีความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณีอยู่ เราเลือกกลุ่มตัวอย่างมา 40 ครัวเรือนจากข้อมูลคนจนใหม่ที่เราเก็บมา ถ้ามหาวิทยาลัยทำโมเดลแก้จนโดยการใส่นวัตกรรมเข้าไปจะเป็นอย่างไรบ้าง”

ด้านมนัทพงศ์ เซ่งฮวด จากศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ที่เข้าร่วมพัฒนางานจักสานของชุมชนโดยใช้ประสบการณ์และความรู้ของตัวเองมาแบ่งปันให้กับชาวบ้านทะเลน้อย เล่าให้ฟังว่า

ก่อนที่ชาวบ้านจะเข้าร่วมโครงการ ชาวบ้านก็สานกระจูดเป็นอาชีพอยู่แล้ว เกือบทุกครัวเรือน แต่ผลิตภัณฑ์กระจูดที่ชาวบ้านสานไม่ค่อยมีราคา ขายได้ในราคาถูก เพราะว่าสานแบบทั่วไป แล้วเอาไปขายให้พ่อค้าคนกลาง กระเป๋าแบบทั่วไปที่ขายให้นักท่องเที่ยวบริเวณทะเลน้อยขายได้แค่ใบละ 100 บาท ค่าสานตกใบละ 40 บาท ช่างสาน 1 คน สานได้ 1 – 3 ใบ ต่อ 1 วัน หักค่าวัตถุดิบกระจูด 8 – 10 บาทต่อ 1 ใบ หักค่ารีด หักค่าประกอบกระเป๋า ค่าหูกระเป๋า ค่ากระดุม ค่าย้อมสี กำไรตกใบละไม่ถึง 10 บาท วันหนึ่งมีรายคนละได้ไม่กี่บาท ถ้าคิดตามค่าแรงขั้นต่ำด้วยจะถือว่าขาดทุน ซึ่งไม่สมดุลกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

มนัทพงศ์ เซ่งฮวด ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี
มนัทพงศ์ เซ่งฮวด ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี

รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง เล่าต่อถึงวิธีการจัดการโมเดลแก้จนทางนักวิจัย OM หรือ Operating Model เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลดูว่า ทำไมเขาถึงได้รายได้น้อย ลวดลายอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค หรือขาดทักษะการสานใหม่ ๆ บางคนสานเป็น แต่ปักลวดลายไม่เป็น จะมีกลุ่มหลาย ๆ กลุ่มที่มีทักษะต่างกัน เราจึงมากางโซ่การผลิตกระจูดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เราสามารถเอาคนจนไปอยู่ตรงไหนของโซ่การผลิตได้ที่จะพอเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นกว่าเดิม และนักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณมองว่า ต้องเข้ามาเติมทักษะใหม่ ๆ เช่น การเลือกวัตถุดิบที่ถูกต้อง การย้อมสีทำอย่างไร การขึ้นลายจะมีคณะวิจัยจากคณธศิลปกรรมศาสตร์เข้ามาช่วยในการออกแบบลายใหม่ ๆ ให้สร้างความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง เช่น การดึงเอาลายมโนราห์เข้ามา”

“ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการกระจูดแก้จนก็ได้อะไรหลายอย่าง ได้ความรู้เพิ่ม สานกระจูดเป็นลายแปลก ๆ ได้ มีคนเข้ามาสานเยอะขึ้น”

คุณแม่สัมพันธ์ ทองอ่อน ผู้เข้าร่วมโครงการกระจูดแก้จน ซึงทำงานอยู่ในขั้นตอนการสานกระจูดเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่เข้าร่วมกับโครงการ

“ถ้าเป็นเด็กรุ่นหลังที่เข้ามาสานกระจูดเขาจะเก่งมาก ลายอะไรใหม่ ๆ ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามา เขาจะแกะลายสานได้ ขายได้ราคาที่สูงขึ้น กระเป๋าดิบ คือกระเป๋าที่ยังไม่ได้นำไปทำอะไรเลย ยังไม่ย้อมสี ยังไม่ลงกาว ยังไม่ใส่หู ขายให้แม่ค้าทั่วไปได้ใบละ 40 – 50 บาท ถ้าเป็นของโครงการกระจูดแก้จนจะสานกระจูดแบบลายสองธรรมดา แต่ใช้กระจูดตอกเล็ก ซึ่งมีความละเอียดมากกว่า ยากกว่า จะสวยกว่า โครงการกระจูดแก้จนให้ราคาใบละ 70 บาท ต่างกันตั้งใบละ 20 บาท มันดีกว่า รายได้เพิ่มขึ้น คนที่สานเก่งจะสานได้ถึงวันละ 6 – 7 ใบ”

สัมพันธ์ ทองอ่อน ชาวบ้าน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

คุณมนัทพงศ์ เซ่งฮวด เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่เกิดจากงานวิจัย และนวัตกรรมจากเมื่อก่อนชาวบ้านย้อมสีเคมีอย่างเดียว น้ำเสียจากสีเคมีก็ถูกทิ้งลงทะเลน้อย ซึ่งมีสารตะกั่วที่เป็นอันตราย เมื่ออาจารย์เข้ามาเห็นปัญหาตรงนี้ จึงผลักดันการย้อมสีธรรมชาติ จึงทำงานวิเคราะห์วิจัยขึ้นมา โดยการมองหาวัตถุดิบในท้องถิ่นว่ามีอะไรบ้างเช่น พืชท้องถิ่น อย่างดอกบัว ใบคุระ ใบหูกวาง ใบมังคุด สีจากขมิ้น หรือแกนต้นหลุมพอ”

“สีธรรมชาติจะไม่ลอก แต่ถ้าเป็นสีเคมี นาน ๆ ไปสีจะลอก แต่การย้อมสีธรรมชาติมันจะยุ่งยาก มีรายละเอียด หลายขั้นตอน และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 – 5 วัน สำหรับขั้นตอนการย้อมสี” คุณกรรณิกา นวลแก้ว ผู้เข้าร่วมโครงการกระจูดแก้จน เล่าถึงหนึ่งในหลายข้อดีของการย้อมกระจูดด้วสีธรรมชาติ

การย้อมกระจูดด้วยวัตถุดิบธรรมชาติ ทดแทนการใช้สีเคมี

 “ดอกบัวที่เรานำมาทำเป็นสีย้อมกระจูด ไม่ได้เก็บมาจากในทะเล เราไปขอมาจากร้านอาหารที่เขาทำเมนูสายบัว ซึ่งทางร้านเขาจะทิ้งดอกบัวอยู่แล้ว เราจึงไปขอดอกบัวมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการต้มสกัดออกมาเป็นสี จะได้เป็นสีน้ำตาลแกมเทา แล้วนำมาย้อมปลักควาย ก็จะได้สีเทาชัดขึ้นมาอีกที เราได้กระเป๋ากระจูดสีที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ และกระเป๋ากระจูดนั้นยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมได้รับความนิยมแล้ว คนเริ่มหันมาชอบอะไรที่เป็นธรรมชาติ กระจูเราผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติอยู่แล้ว และยังย้อมสีจากธรรมชาติที่ได้จากชุมชนอีก ทำให้งานคราฟท์มีอัตลักษณ์ของชุมชน”

ด้านกัลยกร ศรีนุ่น ผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งมีหน้าที่ปักลายบนผลิตภัณฑ์กระจูดบอกว่า “ตอนแรกเคยทำงานในกลุ่มทอผ้า และปักผ้าแบบใส่สะดึงมาก่อน ทำให้เรามีทักษะการปัก รู้แนวทางการปัก มีความรู้เรื่องการผสมสี ถ้าเป็นลายที่ปักยาก มีลายละเอียดมากราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก ลวดลาย ทางกลุ่มก็ช่วยกันออกแบบ หรือบางครั้งก็ปักลวดลายตามความต้องการของลูกค้า กระเป๋ากระจูดสานแบบธรรมดาราคาก็ประมาณนึง แต่ถ้าผสมใบลานราคาจะสูงขึ้นมาอีก ยิ่งถ้านำมาปักลวดลายเข้าไปอีก ราคาก็จะสูงมากขึ้นไปอีก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือรายได้เพิ่มมากขึ้นจากเมื่อก่อนที่เคยทำกลุ่มทอผ้า ปักผ้า”

ตอนนี้พี่หันมาปักลายบนผลิตภัณฑ์กระจูดอย่างเดียวแล้ว กลายเป็นอาชีพหลักของพี่ไปแล้ว เพราะพี่ปักเป็นอย่างเดียว สานไม่เป็น ย้อมไม่เป็น บุผ้าไม่เป็น ปักเสร็จก็จะส่งให้แผนกอื่นทำต่อ

กัลยกร ศรีนุ่น ชาวบ้าน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

 “เราเติมความรู้ทางด้านการตลาดเข้าไป การทำ Branding เพื่อให้เกิดโซ่การผลิตที่สมบูรณ์ทั้งเส้น ทั้งแต่ต้นน้ำ จนไปถึงปลายน้ำ แต่อยู่ภายใต้การ Coaching ของพี่เลี้ยงก็คือกระจูดวรรณี ซึ่งเขาก็อยู่ในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนอยู่แล้ว และมีความเข้มแข็งในเรื่องการตลาดมาก ๆ”

รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง

ด้านมนัทพงศ์ เซ่งฮวด จากศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี เล่าให้ฟังในฐานะพี่เลี้ยงของโครงการ

“วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณีเป็นพี่เลี้ยงให้กับโครงการ ช่วยพัฒนาทักษะฝีมือในการสาน ให้ผลิตภัณฑ์กระจูดมีความเนียบ ความละเอียด และปราณีตขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และสอนให้เขาควบคุมคุณภาพ (QC) เองให้เขามีความชำนาญเรื่อง QC เขาก็จะพัฒนาทักษะการสานได้ด้วยตัวเอง”

“ส่วนที่สองช่วยผลักดันเรื่องการทำคอนเทนท์ออนไลน์ เช่น การเปิดเฟสบุ๊กเพจ การขายออนไลน์ เราแบ่งคนมาอีกหนึ่งฝ่าย เป็นฝ่ายการตลาด จัดการอบรมให้เขา ให้หัดทำคอนเทนท์ หัดโพสต์เฟสบุ๊ค หัดไลฟ์ขายของ เมื่ออบรมออนไลน์แล้ว เราสอนเขาเรื่องการขายบน Modern Trade จะเอาสินค้าขึ้นห้างต้องทำอย่างไร การจัดวาง Display ขายอย่างไรให้มีราคา มีมูลค่าเพิ่ม ก็พาเขาไปฝึกงานจริงที่หน้างานที่กรุงเทพฯ ให้ทดลองขายเองเอง พอมีนักท่องเที่ยวมาให้เขาเข้าไปคุย ให้เขาหัดสังเกตุว่านักท่องเที่ยวชอบอะไรในตัวเรา เพื่อต่อไปเขาจะได้กลับมาปรับปรุงสินค้าของตัวเองให้ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น และให้ชาวบ้านเข้ามาเป็นเครือข่ายกับเราสามารถทำสินค้าเข้ากับเราได้ รายได้ระหว่างที่เขาเข้าร่วมโครงการอยู่ที่ประมาณ 440,000 บาท ในระยะเวลาแค่ 2 เดือนเท่านั้น”

“เรามองว่าถ้าจะสร้างความยั่งยืนจริง ๆ ทุกภาคส่วนของจังหวัดพัทลุงจะต้องร่วมมือกัน เพราะอย่าลืมว่าคนจนห่างไกลกับหน่วยงานภาครัฐมาก ๆ Gab ตรงนี้จะไกลจะกว้าง เขามาไม่ถึง” รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง เล่าต่อถึงปัญหาในมิติต้นทุนทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคมของกลุ่มคนจน

“ตอนนี้เราขับเคลื่อนโครงการมาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว ทำให้เราได้รับเงินสนับสนุนในการทำโครงการวิจัยเพิ่มอีก 1 ปี แต่เราจะขยับโมเดลแก้จนเพิ่ม จากปีแรกเรามีแค่ตำบลทะเลน้อย แต่ปีที่ 2 เราจะขยายเป็นระดับอำเภอ เพราะอย่าลืมว่าตำบลอื่น ๆ ก็ยังมีกลุ่มคนจนที่มีทักษะการสานกระจูดอยู่ด้วย เราจะขยายเป็นอำเภอแก้จน เป็น Scale ที่ใหญ่ขึ้น โดยใช้การรวมกลุ่มคนจนในปีที่ 1 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลน้อยคราฟท์ ที่ได้รับทักษะ องค์ความรู้ต่าง ๆ เข้าใจกระบวนการ เข้าใจโซ่อุปทานการผลิตที่สมบูรณ์ทั้งเส้น ทั้งแต่ต้นน้ำ จนไปถึงปลายน้ำแล้ว มาเป็นพี่เลี้ยงให้คนจนกลุ่มใหม่ที่สนใจเข้ามาร่วม และในปีที่ 2 เรายังขับเคลื่อนโครงการสวัสดิการชุมชน ให้เกิดการออม ให้เกิดสวัสดิการ ซึ่งปกติในแต่ละตำบลจะมีกองทุนสวัสดิการอยู่แล้ว”

ฉะนั้นเราเอาคนจนเหล่านี้เข้าไปอยู่ในกองทุนสวัสดิการ เกิดการออม เกิดการมีหลักประกันต่าง ๆ เวลาเกิดแก่เจ็บตาย ก็จะได้เงิน เพราะเขาไม่มีสิทธิประกันสังคม ประกันสุขภาพรูปแบบปกติ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ