HIA กับการลงทุนข้ามพรมแดน: กรณีศึกษาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า

HIA กับการลงทุนข้ามพรมแดน: กรณีศึกษาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า

HIA กับการลงทุนข้ามพรมแดน: กรณีศึกษาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า

                                                                                            เดชรัต สุขกำเนิด   คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บทนำ

ในขณะที่ประเทศทั้ง 10 ประเทศในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ ASEAN กำลังนับถอยหลังเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีพ.ศ. 2558 การเชื่อมโยงกันของระบบเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในประเทศเหล่านี้ก็กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเรา และเริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างแจ่มชัดขึ้นทุกทีเช่นกัน การลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวสู่การลงทุนแบบข้ามพรมแดน ซึ่งนำไปสู่การขยายโอกาสใหม่ๆ ทางการค้าและทางเศรษฐกิจ แต่ผลกระทบทางสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่จะเกิดขึ้นจากการขยายพรมแดนการค้าและการลงทุนในกลุ่มอาเซียน ทั้งทางบวกและทางลบ กลับยังไม่ได้มีการหารือและศึกษากันอย่างจริงจังแต่อย่างใด
                 
โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า เป็นหนึ่งในรูปธรรมของการขยายการลงทุนข้ามพรมแดนจากประเทศไทยสู่ประเทศพม่า เพื่อที่จะนำทรัพยากรพลังงานและผลผลิตต่างๆ กลับมาหล่อเลี้ยงการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ทั้งยังมีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมจากประเทศพม่า ผ่านประเทศไทย ไปสู่ประเทศกัมพูชาและเวียดนามอีกด้วย โครงการนี้จึงเป็นเสมือนรูปธรรมที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โครงการนี้จึงได้รับความสนใจจากผู้ร่วมลงทุนหลายประเทศ และได้รับการสนับสนุนทางนโยบายจากรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ผ่านมา (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) หรือรัฐบาลปัจจุบัน (รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ก็ตาม
                 
บทความนี้จะเริ่มต้นด้วยการประมวลข่าวความคืบหน้าในการลงทุนในโครงการนี้ ทั้งในเชิงภาพรวมของโครงการ และในโครงการย่อยที่สำคัญต่างๆ รวมไปถึงการขยายแนวคิดเรื่องเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาค และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในมุมมองของเจ้าของโครงการ จากนั้น บทความนี้จะเริ่มต้นฉายภาพให้เห็นถึงผลกระทบทางลบที่อาจจะเกิดขึ้น และจำเป็นที่จะต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงและการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในภาพรวมหรือในระดับยุทธศาสตร์ ก่อนที่จะดำเนินการโครงการตามแผนที่วางไว้ สุดท้ายบทความนี้จะเสนอข้อเสนอแนะที่น่าจะเป็นประโยชน์การคุ้มครองและการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนทั้งสองประเทศ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่เรียกว่า การประเมินผลกระทบทางสุขภาพหรือ HIA นั่นเอง

รูปแบบการลงทุนในภาพรวมของโครงการ

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย พื้นที่ 250 ตร.กม.ในประเทศพม่ากับสื่อมวลชนว่า บริษัท ทวาย ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด หรือ ดีดีซี ซึ่งปัจจุบันอิตาเลียนไทยฯ ถือหุ้น 100% จะเป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนา และจัดหาผู้ร่วมลงทุนในแต่ละโครงการ โดยขณะนี้นักลงทุนพม่าแสดงความจำนงถือหุ้นดีดีซีแล้ว 25% และในระยะต่อไป บ.อิตาเลียนไทยฯ จะลดสัดส่วนหุ้นในดีดีซีเหลือ 51% 

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) อ้างว่าได้ใช้เวลา 16 ปี ในการศึกษาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในประเทศพม่า เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เหมาะต่อการลงทุน รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคต กระทั่งเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553 รัฐบาลพม่าได้ลงนามสัญญากับอิตาเลียนไทยฯ เพื่อให้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่เป็นเวลา 75 ปี ซึ่งบ. อิตาเลียนไทยฯ ได้จัดตั้งบริษัท ทวาย ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงการนี้
 
นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ ทางกรุงเทพธุรกิจว่า บริษัทได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่าให้พัฒนาโครงการดังกล่าวบนพื้นที่ 250 ตร.กม. หรือประมาณ 2 แสนไร่ ใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 10 เท่า  ปัจจุบันรัฐบาลพม่าได้ประกาศให้พื้นที่โครงการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Dawei Special Economic Zone) หรือ DSEZ แล้ว ส่งผลให้เป็นพื้นที่ส่วนราชการแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงานให้เกิดความคล่องตัวมากที่สุด รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งมาตรการด้านภาษี เพื่อจูงใจนักลงทุน 

การลงทุนโครงการระยะแรก ดีดีซีจะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ 6,100 ไร่ ก่อสร้างถนนจากทวายมายังชายแดนไทย-พม่า บริเวณ จ.กาญจนบุรี ระยะทาง 132 กม. ขนาด 4 ช่องจราจร รวมทั้งก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ 2,300 ไร่ และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ 

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการระยะแรกจะใช้เงินลงทุน 2.4 แสนล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 4 ปี 6 เดือน ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดในโลก รองรับสินค้าคอนเทนเนอร์ปีละ 20 ล้านตัน หรือ 2 เท่าของท่าเรือแหลมฉบัง ระยะต่อไปจะพัฒนาให้รองรับได้ถึงปีละ 100 ล้านตัน 

ที่ผ่านมานาย สมเจตน์ เล่าว่า บริษัทได้สำรวจพื้นที่โครงการทั้งบนบกและในทะเลแล้ว ทั้งพื้นที่แนวราบและแนวตั้ง ได้ก่อสร้างถนนชั่วคราว เพื่อใช้ขนส่งวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการก่อสร้างจากกาญจนบุรีไปยังทวาย ในอนาคตจะพัฒนาเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร รวมทั้งการสำรวจพื้นที่เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ขนาด 500 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ห่างจากนิคมฯ 18 กม. ทั้งนี้ SCB เป็นผู้ให้กู้เบื้องต้น 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับสนับสนุนการดำเนินงานปัจจุบันทั้งศึกษาและจ้างที่ปรึกษา การลงทุนข้ามพรมแดนในโครงการย่อยต่างๆ

การลงทุนโครงการท่าเรือและนิคมฯทวาย ถือเป็นการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย หรือ Offshore Investment ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่รัฐบาลไทยส่งเสริมและสนับสนุนมาตลอด และยิ่งให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการนำรายได้เข้าประเทศ จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เช่นเดียวกับประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน ก็สนับสนุนให้มีโครงการลงทุนในต่างประเทศเช่นกัน ดังนั้น การลงทุนในโครงการย่อยต่างๆ ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวาย จึงเป็นการร่วมลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่จากหลากหลายประเทศ ดังที่จะนำเสนอรายละเอียดของโครงการย่อยที่สำคัญ ดังนี้

โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและถนน มูลค่าเงินลงทุน 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่ง ญี่ปุ่น (เจบิก) 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ระยะ 20 ปี อัตราดอกเบี้ย 12.3% ผ่านธนาคารขนาดใหญ่ของไทย คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย  โครงการท่าเรือดังกล่าว DDC ถือหุ้นทั้งหมด มีพื้นที่ 6,000 ไร่ ขณะนี้ตั้งบริษัทลูกแล้ว โดยการแปลงที่ดินเป็นทุนและอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมทุน คาดว่าจะเป็นญี่ปุ่น โดยมีต่างชาติ 3 รายแสดงความสนใจเข้ามาแล้ว ส่วนโครงการสร้างรถไฟ มูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ DDC กำลังตัดสินใจว่าจะกู้เงินจากจีนหรือญี่ปุ่น 

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4 พันเมกะวัตต์ พื้นที่ 2,300 ไร่ มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จะส่งเข้ามาจำหน่ายในไทยประมาณ 3,600 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือใช้ในพม่า  ล่าสุดบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย ยืนยันจะร่วมถือหุ้น 30% เพื่อลงทุนโรงไฟฟ้า DDC ถือหุ้น 40% ที่เหลือเป็นผู้ร่วมทุนเชิงกลยุทธ์ที่คาดว่าจะเป็นญี่ปุ่น  ส่วนแหล่งถ่านหิน จะนำมาจากเกาะสุมาตราในอินโดนีเซีย   

นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) กล่าวว่า ในระยะแรกบริษัทจะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ขนาดโรงละ 130 เมกะวัตต์ รวม 3 โรง หรือราว 400 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายภายในนิคมฯ โดยคาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ปี 57 ใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน ดังนั้น บริษัทคาดว่าธุรกิจการจัดหาถ่านหินและท่าเทียบเรือในอนาคตน่าจะมีความร่วมมือกันเพิ่มเติม   ส่วนโครงการก่อสร้างโรงเหล็กขนาดใหญ่ 1.3 หมื่นไร่ มีการจดทะเบียนจัดตั้งแล้วเช่นกัน  โดยการแปลงที่ดินเป็นทุน และมีบริษัทผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลกสนใจเข้าร่วมทุนหลายราย อาทิ กลุ่ม Posco จากเกาหลี กลุ่ม Mittal จากอินเดีย และกลุ่ม Nippon Steel จากญี่ปุ่น ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการเจรจารายละเอียด 

ขณะที่โครงการก่อสร้างปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ กำลังเจรจากับนักลงทุนหลายราย เช่น กลุ่มมิตซูบิชิ กลุ่มโตโย กลุ่มโตคิว รวมทั้งบริษัทในคูเวต และกาตาร์ การก่อสร้างโรงงานต่างๆ จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการภายใน 3 ปี นับจากเดือนม.ค. 2555  เช่นเดียวกับบริษัทร่วมทุนโรงกลั่นน้ำมันและก๊าซ ประมาณ 4,000-5,000 ไร่ ก็เริ่มมีบริษัทสนใจแล้วเช่นกัน

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “ปตท.สนใจการลงทุนในพม่า เพราะมีศักยภาพด้านพลังงานน้ำและถ่านหิน รวมถึงพม่ากำลังมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่จะมีการลงทุนในท่าเรือน้ำลึก ขนส่งทางถนน ขนส่งทางท่อ และโรงไฟฟ้า โดยจะมีรูปแบบการลงทุนเช่นเดียวกับโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดของไทย ซึ่ง ปตท.สนใจลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานในนิคมเหล่านี้”

นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด เจ้าของโครงการย้ำว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยควรเร่งจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้นักลงทุนไทย ที่ต้องการลงทุนโครงการในนิคมฯทวาย และการให้สิทธิประโยชน์หรือการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ต้องเร่งออกกฎหมาย เพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น
ยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ของภูมิภาค

นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานกรรมการบริหารบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายและนิคมอุตสาหกรรมว่า โครงการดังกล่าวคิดและพัฒนาโดยประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า GMS southern corridor เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทั้งประเทศจีน เวียดนาม สปป.สาว และ กัมพูชา นายเปรมชัยเชื่อว่า โครงการที่เรือนำลึกทวายจะเป็นฮับคอนเทนเนอร์ ที่สามารถกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆได้ เช่น ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ จนถึงแอฟริกาใต้ได้ ซึ่งสามารถประหยัดเวลา 4-5 วัน จากเดิมที่ต้องผ่านประเทศสิงคโปร์

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกเขตพื้นที่ทวายเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม คือ ระบบคมนาคมทางถนนจากกรุงเทพมหานครมายังเขตทวายมีระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาระบบทางของรัฐบาล และมีพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนอ่างเก็บน้ำ บริเวณแม่น้ำทวาย รองรับน้ำได้ถึง 400 ล้านลิตร สามารถใช้ได้ทั้งปี 
ประเทศไทยจะมีเส้นทางขนส่งออกสู่ทะเลอันดามันเพิ่มขึ้น โดยระยะเวลาการขนส่งจะลดลง เพราะพม่าจะก่อสร้างถนนจากท่าเรือผ่านนิคมฯทวายมายังบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี สอดรับกับแผนงานของกรมทางหลวง ซึ่งมีแผนก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์จากบาง ใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี เชื่อมต่อกับเส้นทางดังกล่าว และเส้นทางนี้สามารถเชื่อมต่อไปยังกัมพูชา ผ่านเมืองศรีโสภณ เสียมเรียบ พนมเปญ และเชื่อมต่อไปยังเวียดนาม โดยผ่านโฮจิมินห์ เพื่อออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก 

นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด ย้ำว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยควรเร่งดำเนินการคือ ผลักดันโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี เพื่อเชื่อมต่อไปยังท่าเรือและนิคมฯทวาย สร้างระบบโลจิสติกส์รองรับการค้าการลงทุนและการขนส่งในอนาคต 

ล่าสุด นายวันชัย ภาคลักษณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า กรมทางหลวงได้สำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการ โดยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2552 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวด ล้อมในช่วงบางใหญ่-บ้านโป่ง ตั้งแต่ปี 2541 ส่วนช่วงบ้านโป่ง-กาญจนบุรี ได้รับความเห็นชอบตั้งแต่ปี 2546 ปัจจุบันกรมทางหลวง อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางและรูปแบบการลงทุนโครงการในรูปแบบ Public Private Partnership หรือ PPPs โดยให้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการในการศึกษาจากธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปี 2555

ทั้งนี้ เพื่อให้การเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี สามารถเชื่อมต่อไปถึงชายแดนพม่าได้ นายวันชัย ภาคลักษณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า กรมทางหลวงได้จ้างบริษัทศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการมอเตอร์เวย์สายกาญจนบุรี-ชายแดนไทย-พม่า ที่บ้านพุน้ำร้อน ระยะทางประมาณ 70 กม. ตามที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2555 คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี
ผลกระทบในมุมมองของผู้ลงทุน

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลกระทบในด้านบวกจากโครงการดังกล่าวว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายมีแผนการสร้างที่อยู่อาศัยภายในโครงการกว่า 2 แสนยูนิต สำหรับประชากร 2 ล้านคน ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จท่าเรือน้ำลึกทวายและนิคมอุตสาหกรรม จะสามารถรองรับแรงงานได้ถึง 6 แสนคน

อย่างไรก็ตาม นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด ได้ชี้ให้เห็นข้อควรระวังของการลงทุนในพม่าว่า การลงทุนจะต้องไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลและประชาชนพม่าให้ความสำคัญมาก นักลงทุนจึงต้องดำเนินการตามกฎระเบียบและกติกาต่างๆ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการลงทุนอุตสาหกรรมหนัก แม้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นก็ตาม จะเห็นว่าที่ผ่านมาพม่าสั่งระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนมูลค่า 1.2 แสนล้านบาทในแม่น้ำอิระวดี เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน เพราะการสร้างเขื่อนจะมีผลต่อกระแสน้ำในแม่น้ำอิระวดี จึงได้รับการต่อต้านจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้น นายสมเจตน์จึงย้ำว่า นักลงทุนและบริษัทจะต้องทำตามกติกาโลก เช่น กลุ่ม Posco ของเกาหลีใช้เวลากว่า 7 ปี กว่าจะได้ก่อสร้างโรงงานเหล็กในนิคมฯโอริสสาของประเทศอินเดีย

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับทวาย

  • ทวายหรือ Dawei (เดิมเรียกว่า Tavoy) ในภาษาอังกฤษเป็นเมืองหลวงของแคว้นตะนาวศรี (หรือ Tanintharyi region) ในประเทศพม่า มีจำนวนประชากรราว 5 แสนคน มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มได้แก่ ทวาย มอญ กระเหรี่ยง และอื่นๆ ภาษาหลักที่ใช้คือ ภาษาทวาย
  • พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมเรียกว่า Nabule แขวง Yebyu เขตเมืองทวาย ในพื้นที่ 250 ตร.กม. ที่มาทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม จะต้องเวนคืนที่ดินและอพยพประชาชนกว่า 20 หมู่บ้าน ประมาณ 4,000 หลังคาเรือน และมีจำนวนประชากรที่จะต้องอพยพประมาณ 32,000 คน ประชาชนเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมง เช่น สวนผลไม้ สวนยาง คล้ายกับภาคใต้ของประเทศไทย
  • ประชาชนในพื้นที่อพยพส่วนใหญ่ทราบเรื่องที่จะต้องอพยพออกจากพื้นที่ แต่จากการบอกเล่าของผู้แทนประชาชนจากประเทศพม่าที่มาประชุมในประเทศไทย เมื่อเดือนธ.ค. 2554 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเรื่องการจ่ายค่าชดเชย และความพร้อมของสถานที่รองรับการอพยพ
  • ขณะเดียวกัน ประชาชนและภาคประชาสังคมในพม่าก็เริ่มแสดงความห่วงกังวลกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ และเรียกร้องให้มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมตามาตรฐานสากล และผ่านกระบวนการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่

(อ่านต่อ – ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น)
 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ