Facebook : กับการเคลื่อนไหวของพีมูฟ
“การสื่อสารจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ดิฉันเชื่อว่าสื่อมีอิทธิพลทำให้คนเชื่อถือ และสร้างความเข้าใจเห็นใจได้” ฮาริ บัณฑิตา อายุ 33 ปี ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวถึงความสำคัญของการสื่อสาร ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการเคลื่อนไหวในขบวนการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่มาชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรี เร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกินและโฉนดชุมชน
“ฮาริ” เป็นชาวจังหวัดตรังแต่กำเนิด เธอเรียนจบจากคณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาภาษาและวรรณคดีไทย มหาวิทยาลัยอิสลามปัตตานี หลังจากนั้นไปลองเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอยู่สักพัก แต่รู้สึกไม่ใช่ตัวตน และได้ทราบปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้านในเทือกเขาบรรทัด จึงผันตัวมาเป็นนักวิจัยท้องถิ่น ขับเคลื่อนประเด็นการแก้ไขปัญหาที่ดินกับชาวบ้านอย่างจริงจัง
“ความจริงชาวบ้านที่นี่มีการขับเคลื่อนรวมตัวกันอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ยุคของฉันโชคดีที่มีเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ซึ่งใช้งานได้ดีมีนักข่าว นักสังคมสงเคราะห์ และเพื่อนคนอื่นๆจำนวนหลักพันติดตามเรื่องของชาวบ้านเทือกเขาบรรทัด เพราะฉันคอยอัพเดทความเคลื่อนไหวของเครือข่ายเทือกเขาบรรทัดอยู่เรื่อยๆ ตัวอย่างคลิปที่ชาวบ้านถ่ายเจ้าหน้าอุทยานตัดสะพานในหมู่บ้าน แล้วมีการกราบเท้าวิงวอนก็ไม่ยอมหยุด ถูกแชร์ต่อๆกันเป็นจำนวนมาก ทำให้โทรทัศน์หลายช่องมาทำข่าว เรื่องก็เลยแดงขึ้น ผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงรับปากแก้ไขปัญหา” ฮาริกล่าว
ฮาริบอกว่า ทุกวันนี้เรื่องยังไม่จบ ยังคลุมเคลืออยู่หลายอย่าง ตนจึงต้องการพื้นที่ทางสังคมที่สามารถป่าวประกาศได้ว่าเรื่องนี้ยังไม่จบ นักข่าวจากส่วนกลางก็ไม่ได้ใส่ใจลงข่าวมากนัก หากตนไม่ได้ออกมาประท้วงหรือชุมนุม ที่ผ่านมาตนจึงให้ความสำคัญกับสื่อทางเลือกอย่าง Facebook ในการขับเคลื่อนประเด็นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพื่อให้สังคมได้เข้าใจ เห็นใจ และนำไปสู่การเปลี่ยนในทิศทางที่ดีขึ้น
ขณะที่ อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์ อายุ 23 ปีแกนนำเยาวชนไทยพลัดถิ่น จังหวัดระนอง ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับสัญชาติไทย เธอเป็นเจ้าของประเด็นที่ลงมาสื่อสารด้วยตนเอง ปัจจุบันเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ (กศน.) ในระดับม.ปลายและกำลังจะจบการศึกษาในปลายปีนี้ ที่เธอเรียนช้าเพราะมีปัญหาเรื่องสัญชาติ
“อาอีฉ๊ะ” บอกว่ารุ่นพ่อแม่ที่เป็นไทยพัดถิ่นต้องออกไปเดินขบวนเก็บขยะ พร้อมๆกับอธิบายเรื่องไทยพลัดถิ่นให้เพื่อนบ้านเข้าใจ แต่ในรุ่นของตนมีโอกาสเข้าถึงอินเตอร์เน็ต มีเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์มากมายในการแพร่เผยเนื้อหา และคลิปภาพ ตนจึงเลือกที่จะสื่อสารผ่าน ภาพยนตร์สั้น สำหรับเรื่องที่ทำออกมาแล้วได้กระแสตอบรับดีคือเรื่อง “ปากกาที่เขียนไม่ติด” ได้ออกอากาศทาง Thai PBS ในรายการ HOT SHOT FLIM หลังจากนั้นผู้คนภายนอกก็รู้จักและเข้าใจไทยพลัดถิ่นมากขึ้น
“ที่เลือกสื่อสารผ่านหนังสั้นเพราะให้อารมณ์ และความรู้สึกได้ดี สมัยฉันเรียนอยู่ป.6 ครูถามฉันทุกวันว่าทะเบียนบ้านอยู่ที่ไหน ฉันตอบครูว่าลืมค่ะ แต่นานๆเข้าก็ต้องบอกความจริงว่า หนูไม่มีทะเบียนบ้าน ครูก็ถามว่าเป็นพม่าหรอ เพื่อนก็ขำและล้อเลียน จึงเอาเรื่องจริงที่ตัวเองเจอนี่แหละมาทำเป็นหนังสั้น” อาอีฉ๊ะกล่าว
อาอีฉ๊ะ บอกอีกว่าอนาคตคงเดินตามรอยพี่ฮาริ จากเครือข่ายเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง คือเป็นผู้ประสานงานให้กับเครือข่ายประชาชน ตนจะเคลื่อนไหวในประเด็นไทยพลัดถิ่น ให้มีสัญชาติไทยต่อไป
ด้าน “คำปิ่น อักษร” อายุ 37 ปี ผู้ประสานงานเครือข่ายกลุ่มคนฮักน้ำโขง เป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิด เธอเรียนจบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะศึกษาศาสตร์ เอกพละศึกษา แต่มาเป็นผู้ช่วยทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้มีโอกาสลงพื้นที่ลุ่มแม่นำโขง แล้วเห็นว่างานวิจัยเมื่อทำจบแล้ว แต่ปัญหาของชาวบ้านยังไม่จบ จึงผันตัวเองมาเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายกลุ่มคนฮักน้ำโขงอย่างเต็มตัว
“คำปิ่น” บอกว่า เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้ง่าย เป้าหมายคือคนชนชั้นกลาง ตนใช้ Facebook ในการสื่อสารเรื่องราวของเครือข่ายกลุ่มคนฮักน้ำโขง โดยหยิบเอาตัวอย่างของชาวบ้านคนใดคนหนึ่ง (เคส) ขึ้นมาเพื่อสะท้อนปัญหาในภาพรวม อีกอย่างตนเป็นคนชอบถ่ายรูป ชอบนำเสนอก็เลยถูกจริต
“เราไม่ได้นั่งอยู่หน้าสรยุทธทุกวัน สื่อกระแสหลักไม่นำเสนอเรื่องของเราหรอก คนในพื้นที่เอง ที่ต้องหัดที่จะสื่อสารออกมา ยุคนี้มีสื่ออนไลน์หลายอย่าง แต่ต้องยอมรับว่าชาวบ้านอีกจำนวนมากเขายังไม่เข้าถึง ที่โพสลงเฟซก็เพื่อให้เรื่อง เป็นที่รับรู้ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และชนชั้นกลางให้เข้าใจปัญหา และเห็นใจพวกเรา บางทีมันอาจเป็นกระแสกระเทือนถึงรัฐบาลก็ได้ ” คำปิ่นกล่าว
คำปิ่นกล่าวอีกว่า ยังนึกภาพไม่ออกว่าถ้าไม่มี Facebook จะสื่อสารให้คนนอกเข้าใจย่างไร แต่ก่อนเคยเขียนข่าวส่งไปที่หนังสือพิมพ์บางฉบับเขาลงบ้างไม่ลงบ้าง ตอนนี้เราก็เป็นนักข่าวพลเมืองด้วยตนเอง และสื่อสารออกไปผ่านสื่อทางเลือกที่เรามี ถามว่ามันส่งผลเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายมากหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่าไม่มาก แต่กระบวนการยอมรับในสังคมมีมากขึ้น
หมายเหตุ :- เฟซบุ๊คของ ฮาริ บันตา www.facebook.com/Haribandita , เฟซบุ๊คของ อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์ www.facebook.com/chaarecha.khaewnobparath , เฟซบุ๊คของ คำปิ่น อักษร www.facebook.com/kumpinaksorn
/////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai : TheNation