DSJ: เปิดตัว ‘Mara Patani’ ยืนยันเดินหน้าพูดคุยพร้อมรับข้อเสนอฝ่ายไทย

DSJ: เปิดตัว ‘Mara Patani’ ยืนยันเดินหน้าพูดคุยพร้อมรับข้อเสนอฝ่ายไทย

20152708160338.jpg

ที่มา: โรงเรียนนักข่าวจังหวัดชายแดนใต้ (DSJ)

Mara Patani เปิดตัวกับสื่อมวลชนไทยทั้งจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และส่วนกลางที่โรงแรม Premiera Hotel กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 เวลา 9.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้าง ที่มาที่ไปและบทบาทขององค์กร

สำหรับการพบปะพูดคุยโต๊ะกลมระหว่างกลุ่ม มารา ปาตานี กับสื่อมวลชนไทย ในครั้งนี้ ทางคณะผู้จัดไม่อนุญาตให้บันทึกภาพ และบันทึกเสียงแต่อย่างใด โดยให้จดบันทึกลงในกระดาษเท่านั้น ก่อนที่จะเสร็จสิ้นการพบปะพูดคุยกันในเวลา 12.20 น. ตามเวลาในประเทศมาเลเซียโดยในช่วงบ่าย Mara Patani จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งเวลาประมาณ 14.00 ตามเวลาท้องถิ่น

20152708160409.jpg

คณะสื่อมวลชนจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจากส่วนกลางจำนวน 18 คน ได้เดินทางเข้าพบตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่ใช้ชื่อว่ากลุ่ม มารา ปาตานี (Majlis Syura Patani หรือ Mara Patani) จำนวน 7 คน ซึ่งประกอบด้วย นายอาวัง ยะบะ ผู้แทนจากกลุ่ม BRN ประธานกลุ่ม Mara Patani นายสุกรี ฮารี ผู้แทนจากกลุ่ม BRN หัวหน้าคณะ Mara Patani นายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม ผู้แทนจากกลุ่ม บีไอพีพี (BIPP) ดร.ฮาเร็ม มุกตาร์ ผู้แทนจากกลุ่มพูโล (PULO-MKP) นายอาบู ยาซีม ผู้แทนจากกลุ่ม บีไอเอ็มพี (BIMP) นายหะยีอะหมัด ชูโว ผู้แทนจากกลุ่ม BRN และนายอาบูอัครัน บินฮาซัน ผู้แทนจากกลุ่มพูโล (PULO-DSPP) ซึ่งในการพบปะในครั้งนี้ เป็นการเปิดตัวของกลุ่ม มารา ปาตานี ต่อสื่อสารมวลชนเป็นครั้งแรก เพื่อให้ข้อมูลและตอบข้อสงสัยต่างๆในการเดินหน้าพูดคุยเพื่อสันติสุขในพื้นที่ หลังจากทางกลุ่มมารา ปาตานี ได้มีการพูดคุยสันติสุขกับคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา

นายอาวัง ยะบะ ผู้แทนจากกลุ่ม BRN ในฐานะประธานกลุ่ม Mara Patani กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทย รวมถึงประชาชนชาวไทย รวมถึงนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยในครั้งนี้ ส่วนวัตถุประสงค์ที่พบปะสื่อมวลชนในครั้งนี้เพื่อที่จะทำความเข้าใจในแนวทางของกลุ่ม มารา ปาตานี ที่แท้จริง ที่ถูกต้อง สามารถเปิดเผยได้ และหวังให้สื่อมวลชนนำข้อมูลเหล่านี้ไปนำเสนอเพื่อสนับสนุนให้มีการพูดคุยต่อไป

นายอาวัง ยะบะ กล่าวว่ากลุ่ม มารา ปาตานี ที่รวมตัวกันจาก 6 กลุ่มในครั้งนี้ มีข้อแตกต่างจากกลุ่มที่พูดคุยที่ผ่านมาคือ จะเปิดกว้างให้ทุกกลุ่มสามารถเข้ามาร่วมอยู่ในกลุ่มนี้ได้ ไม่เฉพาะเพียง 6 กลุ่มนี้ กลุ่ม NGO หรือภาคประชาสังคมต่างๆ ก็สามารถเข้ามาอยู่ร่วมกันได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังเชื่อว่ามีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุย ซึ่งก็คงจะต้องเดินหน้าพูดคุยต่อไป

“การก่อตั้งกลุ่ม มารา ปาตานี ขึ้นมา เพื่อให้การต่อสู้เป็นไปตามหลักสันติวิธี ส่วนการใช้กำลัง หรือการใช้อาวุธ ก็ต้องไปสู่ขั้นตอนของการหยุดความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย อยู่ที่การสร้างความเข้าใจ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน” นายอาวัง ยะบะ กล่าว

ด้านนายสุกรี ฮารี ผู้แทนจากกลุ่ม BRN ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข กล่าวว่า การพูดคุยสันติสุขกับคณะฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้เสนอข้อเรียกร้องไปจำนวน 3 ข้อ คือ ให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นวาระแห่งชาติ ยอมรับทีมงานพูดคุยจาก 6 กลุ่มจำนวน 15 คน และยอมรับกลุ่ม มารา ปาตานี ซึ่งได้มีการเสนอไปในที่ประชุมไว้เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา และยังไม่ได้รับคำตอบ สำหรับเรื่องให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาตินั้น เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากไม่เป็นวาระแห่งชาติ ก็จะไม่มีความต่อเนื่องของการพูดคุย

นายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม ผู้แทนจากกลุ่ม บีไอพีพี (BIPP) กล่าวด้วยว่า วาระแห่งชาติ ได้ถูกเสนอขึ้นมาหลายครั้ง ตั้งแต่สมัย นายฮาซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไทย ซึ่งเปลี่ยนแปลงบ่อย เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็เริ่มพูดคุยนับหนึ่งใหม่ โดยรัฐบาลล่าสุดของพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ก็ถือว่าวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาเป็นการเริ่มต้นพูดคุยอีกครั้ง ซึ่งทางกลุ่มก็มองเห็นว่า หากไม่เป็นวาระแห่งชาติ ก็จะไม่มีความต่อเนื่องในการพูดคุย จึงขอความชัดเจนจากรัฐบาลในเรื่องนี้ด้วย 

“อย่างไรก็ตามหากข้อเสนอทั้ง 3 ไม่มีการยอมรับ ก็คงจะเดินหน้าพูดคุยต่อไป แต่จะพูดคุยลึกลงไปในสาระสำคัญไม่ได้ เพราะยังไม่มีการยอมรับ ส่วนข้อเสนอของฝ่ายไทย จำนวน 3 ข้อ นั้น ก็จะนำกลับมาพิจารณาภายในกลุ่มต่อไป” อาบูฮาฟิสกล่าว

นายสุกรี ฮารี ผู้แทนจากกลุ่ม BRN ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยกล่าวอีกว่า การต่อสู่ของกลุ่ม บีอาร์เอ็น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น มีมาตั้งแต่ปี 1960 โดยมีรูปแบบการต่อสู้แบบใต้ดิน ไม่สามารถเปิดเผยได้ ไม่ต้องการให้ใครรู้ ไม่มีการประกาศ และต้องยอมรับว่ากลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พูโล จีเอ็มไอพี บีไอพีพี ก็จะมีสองส่วนเหมือนกัน คือฝ่ายการเมือง และฝ่ายกองกำลังติดอาวุธ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น ไม่มีนโยบายที่จะโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ (Soft Target) แต่อย่างใด จะเน้นไปยังเป้าหมายแข็ง ส่วนเป้าหมายอ่อนแอที่ได้รับผลกระทบ ก็เกิดจากการถูกลูกหลง

ดร.ฮาเร็ม มุกตาร์ ผู้แทนจากกลุ่มพูโล (PULO-MKP) กล่าวว่า ทางกลุ่ม มารา ปาตานี ขอให้สื่อช่วยนำเสนอข้อมูลในวันนี้ให้ถูกต้อง เพราะจะทำให้กลุ่ม มารา ปาตานี สามารถเดินหน้าต่อไปได้สู่การเจรจาเพื่อความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

20152708160532.jpg

20152708160548.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ