9 จังหวัดเกษตรกรเหนือยื่นไปรษณียบัตรถึงหัวหน้า คสช.เร่งรัดแก้ปัญหาที่ดิน

9 จังหวัดเกษตรกรเหนือยื่นไปรษณียบัตรถึงหัวหน้า คสช.เร่งรัดแก้ปัญหาที่ดิน

นักข่าวพลเมือง จ.เชียงใหม่ รายงานว่าวันนี้ ( 28 กรกฎาคม 2557 ) เวลา 10.00น. เครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือนัดดีเดย์พร้อมกันทั่งทุกจังหวัด (9 จังหวัด)  ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน ตาก จำนวน 479 หมู่บ้าน จะมีกิจกรรมการเคลื่อนขบวนเพื่อส่งไปรษณียบัตรถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวนทั้งสิ้น  80,000   ใบ  โดยมีจุดนัดหมายแต่ละจังหวัดดังนี้

  • จังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำการไปรษณีย์ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
  • จังหวัดลำพูน     ศาลากลางจังหวัดลำพูน และเคลื่อนขบวนไปยังที่ทำการไปรษณีย์อำเภอเมืองลำพูน
  • จังหวัดลำปาง    ที่ทำการไปรษณีย์ ศาลากลางจังหวัดลำปาง
  • จังหวัดน่าน        ข่วงเมือง อ.เมือง จ.น่าน และเคลื่อนขบวนไปยังที่ทำการไปรษณีย์อำเภอเมืองน่าน
  • จังหวัดแม่ฮ่องสอน – ตาก ที่ทำการไปรษณีย์อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
  • จังหวัดเชียงราย  ที่ทำการไปรษณีย์  ศาลากลางจังหวัดเชียงราย
  • จังหวัดแพร่        ที่ทำการไปรษณีย์อำเภอเมือง
  • จังหวัดพะเยา     ที่ทำการไปรษณีย์อำเภอภูซาง

สมาชิกของกลุ่มครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน และเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าของรัฐซ้อนทับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น เขตอุทยานแห่งชาติฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ป่าสงวน  การรวมตัวกันครั้งนี้เพื่อให้มีการผลักดันแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกรรายย่อย ให้เป็นวาระเร่งด่วนโดยมีรายละเอียดเนื้อหา คือ

  1. เร่งรัดสั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553
  2. เร่งรัดการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันบริหารจัดการที่ดินให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันฯ พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันฯ และอนุมัติโครงการนำร่องธนาคารที่ดินจำนวน 167 ล้านบาทตามนัยยะมติคณะรัฐมนตรี 21 พฤษภาคม 2557
  3. ผลักดันให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินโดยมาตรการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าและนำภาษีที่ได้มาจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อยได้มีโอกาสเข้าถึงที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างเป็นธรรม
  4. ผลักดันกฎหมายรองรับสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน ป่าไม้ น้ำ และทะเล เพื่อเป็นการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรไปสู่ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
  5. บรรจุเนื้อหาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมมีสิทธิในการดูแลรักษา จัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน

โดยแกนนำเครือข่าย ฯ ได้เน้นย้ำว่าจะมีการติดตามผลการส่งไปรษณียบัตรถึงหัวหน้า คสช.อย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกร ต่อไป

                                                                 

                                                                  บรรยากาศที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ 

 

                                                                   

                                                                   บรรยากาศที่ลำปางบรรยากาศที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ