“พวกเขาไม่มีที่นอน ถ้าหากเป็นคนมีเงินก็ไม่มาอยู่กันแบบนี้หรอก แม้แต่ตัวผมเอง ถ้าวันนี้ผมมีเงิน ผมก็ไม่อยู่แบบนี้หรอก”
เสียงสะท้อนจากคนรุ่นแรกที่อาศัยอยู่ริมคลองสำโรง อ.เมืองสงขลา เล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนสองฝั่งคลองสำโรงในปัจจุบันที่กลายเป็นชุมชนแออัด แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาเหล่านี้จะมีทางเลือกที่มากนัก
คลองสำโรงมีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตรเศษ เชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทย ในอดีตเป็นร่องน้ำใหญ่ มีความกว้างประมาณ 50 เมตร เรือสินค้าหรือเรือสำเภาต่างชาติสามารถแล่นผ่านทะเลอ่าวไทยเข้าสู่คลองสำโรงเพื่อไปค้าขายกับเมืองท่าต่าง ๆ ในทะเลสาบสงขลาได้
“วิถีชุมชนริมคลอง เป็นคนที่มาจากนอกพื้นที่เยอะ พอเริ่มล้น คนก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหนก็จำเป็นต้องล้ำไปในเขตคลองนิดหน่อย จะให้พวกเขาทำอย่างไร ก็เขาไม่มีที่นอน อย่างพึ่งไปโทษพวกเขา เพราะถ้าพูดกันตรง ๆ แล้ว หน่วยงานรัฐก็เพิกเฉยเช่นกัน แต่ถ้าเราไปถามสมาชิกชุมชน จะให้ไล่พวกเขาออกก็เกินไป เราก็เห็นใจเพื่อนบ้าน“
“เมื่อก่อนคลองเส้นนี้น้ำใสสะอาดตลอดสาย เป็นป่าเสม็ด พวกผมก็ไปหาปลากัด ไปช่วยกันซ่อนเพื่อเอามากัดกัน เล่นสนุกกันตามประสาเด็ก โตมาหน่อยก็ออกทะเล เริ่มจากช่วยพายเรือ ฝึกดำน้ำฟังเสียงปลา(ดูหลำ) และปัจจุบันคนที่นี่ส่วนใหญ่ก็ยังคงยึดอาชีพประมงพื้นบ้าน“
ในอดีตคลองสำโรงยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด รวมถึงเป็นแหล่งอาหารของคนริมคลอง และเป็นที่หลบลมมรสุมของเรือขนส่ง และเรือประมง ทั้งยังแล่นเรือจากทะเลอ่าวไทยผ่านคลองสำโรงเข้าสู่ทะเลสาบสงขลาได้สะดวก ไม่ต้องอ้อมไปทางปากทะเลสาบที่อยู่ห่างจากปากคลองสำโรงประมาณ 20 กิโลเมตร
“3 ชุมชนแรก ๆ ของจังหวัดสงขลาคือชุมชนวชิรา ซึ่งคนที่เข้ามาอาศัยในยุคแรกส่วนใหญ่มาจาก อ.ระโนด จ.สงขลา และชุมชนเตาอิฐ จะเป็นคนที่มาจาก จ.เพชรบุรี ส่วนชุมชนเก้าเส้งส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม”
ข้อมูลสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับชาวชุมชนและภาคีเครือข่าย พบว่า ปัจจุบันมีชุมชนตั้งอยู่ริมคลองสำโรงจำนวน 15 ชุมชน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเขารูปช้าง 6 ชุมชน และในเขตเทศบาลนครสงขลา 9 ชุมชน รวมประมาณ 584 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 2,400 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป หาเช้ากินค่ำ และทำประมงพื้นบ้าน สภาพบ้านเรือนแออัด ทรุดโทรม บางหลังอยู่อาศัยกันถึง 15 คน คุณภาพชีวิตไม่ดี น้ำประปา ไฟฟ้าไม่มี ต้องพ่วงจากข้างนอกเข้ามาใช้ ไม่มีทะเบียนบ้านถาวร ที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ และกรมเจ้าท่า
“ทุกวันนี้มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นกี่แห่ง และประชาการในพื้นที่ตรงนี้อีกกี่พันครอบครัว ผมเลยอยากถามว่าคูระบายน้ำเสีย ที่คนเมืองปล่อยลงไปในแต่ละวันนั้น ก็ใช้คลองเส้นนี้เป็นที่รับน้ำเหล่านั้นทั้งหมด ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียในคลอง เมื่อก่อนเราเคยกินปลาในคลองนี้ แต่ตอนนี้ไม่มีใครกล้ากินอีกแล้ว“
เมื่อเมืองสงขลาขยายตัว ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ และความพยายามในการสร้างเป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองกีฬา รวมถึงการมีสถานบันการศึกษาใหญ่ ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นที่ดึงดูดผู้คนจำนวนมากเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนี้
1 พฤศจิกายน 2565 กระทรวง พม. และ พอช. ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2565 ที่จังหวัดสงขลา “Kick off การออกแบบอนาคตคนริมคลองสำโรง คลองสวย น้ำใส ไร้ขยะ ชุมชนมีสุข” มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลาและส่วนกลาง รวมทั้งหมด 25 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนริมคลองสำโรง จ.สงขลา
“ไม่ใช่ว่าคนริมคลองสำโรงไม่อยากย้ายออกจากพื้นที่“
พวกเขาอยากย้าย แต่ก็มีคำถามว่า ถ้าให้พวกเขาย้ายออกไป มีการเตรียมพื้นที่ไว้รองรับพวกเขาหรือยัง?
เราะหีม หัสดี หรือบังหีม ประธานชุมชนเก้าเส้ง อ.เมืองสงขลา เป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนเก้าเส้ง (ประมาณ พ.ศ. 2502) และเห็นการเปลี่ยนแปลงของคลองสำโรงมาตั้งแต่ต้น เขาอธิบายสิ่งที่เคยเกิดขึ้นและกำลังดำเนินต่อไป ซึ่งตอนนี้เขายังคงรอดูการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ และความชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยวอีกครั้ง