7 องค์กรสิทธิฯ ระบุ 5 ข้อเรียกร้อง‘ไทย-จีน’ ยึดหลักมนุษยธรรมกรณีส่งกลับชาวอุยกูร์

7 องค์กรสิทธิฯ ระบุ 5 ข้อเรียกร้อง‘ไทย-จีน’ ยึดหลักมนุษยธรรมกรณีส่งกลับชาวอุยกูร์

10 ก.ค. 2558 7 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายประชากรข้ามชาติ ประกอบด้วย 1.เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (Migrants Working Group) 2.สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 3.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 4.โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (stateless watch) 5.มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Prorights Foundation) 6.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 7.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่วมออกแถลงการณ์ “การส่งกลับชาวมุสลิม อุยกูร์ จำนวนกว่า 90 คน ไปโดยไม่สมัครใจ เป็นการขัดกฎหมายระหว่างประเทศ”

ระบุรายละเอียด ดังนี้

20151107002943.jpg

ที่มาภาพ:Migrant Working Group 

การส่งกลับชาวมุสลิม อุยกูร์ จำนวนกว่า 90 คน ไปโดยไม่สมัครใจ 
เป็นการขัดกฎหมายระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสักนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าว อย่างเป็นทางการภายหลังเกิดเหตุประชาชนในประเทศตุรกีทำการประท้วงและทำลายทรัพย์สินของสถานกงสุลไทยในกรุงอิสตัลบูล ประเทศตุรกี สืบเนื่องมาจากความไม่พอใจที่ทางการไทยส่งผู้อพยพชาวอุยกูร์ จำนวนกว่า 90 คน ไปยังประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่สถานฑูตต่างประเทศจำนวนหลายแห่ง รวมทั้งสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ติดตามและสอบถามเจ้าหน้าที่ของไทยถึงกระบวนการส่งกลับชาวอุยกูร์ดังกล่าว

แม้ทางตัวแทนรัฐบาลไทยจะยืนยันการตัดใจและการกระทำดังกล่าวเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม และหลักสากล แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและ UNHCR เห็นว่ากระบวนการส่งกลับชาวอุยกูร์นั้น ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในหลักการไม่ผลักดันกลับไปสู่ความไม่ปลอดภัย (Non-Refoulement) อันเป็นหลักการสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดย UNHCR ยังได้แถลงว่า “ตกใจ” กับการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลไทยและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำการสอบสวนเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายข่าวระบุอย่างชัดเจนว่าชาวมุสลิมอุยกูร์มีความประสงค์จะเดินทางไปประเทศตุรกีซึ่งทางประเทศตุรกีเองยินดีรับชาวอุยกูร์ทั้งหมด

เครือข่ายประชากรข้ามชาติและองค์กรท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ มีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะยืนยันว่าได้ดำเนินการให้มีการพิสูจน์สัญชาติโดยตัวแทนจากทั้งประเทศตุรกีและประเทศจีน แต่ดังที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์ภายในพื้นที่บางส่วนของประเทศจีนยังคงมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชาติอุยกูร์และรัฐบาลจีน ทำให้ชาวมุสลิมจำนวนหลายรายต้องหนีภัยประหัตประหารออกจากพื้นที่ความขัดแย้ง การตัดสินใจผลักดันกลับชาวมุสลิมไปยังประเทศจีนโดยไม่สมัครใจและไม่ตระหนักถึงการต้องเผชิญกับภัยประหัตประหาร หรือมีความเสี่ยงต่อชีวิตหรือเสรีภาพของผู้ถูกผลักดันกลับ จึงเป็นการละเมิดหลักการห้ามผลักดันไปเผชิญอันตราย (Non-Refoulement) ซึ่งเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (Customary international law) ที่ผูกพันรัฐไทย แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้รับอนุสัญญาผู้ลี้ภัยก็ตาม นอกจากนี้ การส่งตัวชาวอุยกูร์จำนวนกว่า 90 รายแก่ประเทศจีน มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มคนดังกล่าวอาจได้รับการตั้งข้อหาที่ร้ายแรงโดยไม่เป็นธรรม โดยปราศจากกระบวนการเฝ้าระวังต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศจีน โดยองค์กรอิสระภายนอก

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทางเครือข่ายฯ และองค์กรท้ายแถลงการณ์นี้ ขอประนามกระบวนส่งกลับดังกล่าวของรัฐบาลไทยและมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยและองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ดังต่อไปนี้

1.ขอให้รัฐบาลไทยทบทวนการปฏิบัติตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีและในฐานะสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ เพื่อป้องกันและคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตของผู้หนีภัยประหัตประหาร ซึ่งนอกจากจะเป็นการยึดหลักมนุษยธรรมและหลักสากลตามที่ไทยได้ยืนยันมาตลอดแล้ว ยังเป็นการช่วยให้รัฐไทยรอดพ้นจากความโกรธแค้นหรือเกลียดชัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มผู้ที่มีความเห็นใจต่อกลุ่มชายมุสลิมอุยกูรย์ในตุรกี ที่อาจจะต้องเผชิญกับภัยประหัตประหาร การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยยธรรม การทรมาน เป็นต้น

2.ขอให้รัฐบาลไทยมีมาตรการในการตรวจสอบการดำเนินการในครั้งนี้ และขอให้ผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อการดำเนินการดังกล่าวแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินการที่เกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดมาตรการในการจัดการต่อกรณีการดำเนินต่อผู้อพยพแสวงหาที่พักพิงตามกฎหมายระหว่างประเทศ

3.ยินยอมให้ เจ้าหน้าที่จากสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีความเป็นมืออาชีพ และได้รับการยอมรับโดยสมาชิกขององค์การสหประชาชาติด้วยกัน ในการเข้าไปดูแลและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะของผู้ลี้ภัยของกลุ่มชาวมุสลิมอุยกูร์ได้อย่างเป็นอิสระ เพื่อสามารถกำหนดแนวทางให้การช่วยเหลือได้ตามกรอบหน้าที่ 

4.ขอให้องค์กรด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ และภาคประชาสังคมของประเทศจีนเอง เฝ้าติดตามชะตากรรมและตรวจสอบการดำเนินการใดๆ ของรัฐบาลจีนที่จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับกลุ่มดังกล่าว

5.ขอให้เรียกร้องให้รัฐบาลจีน เปิดโอกาสให้ผู้แทนขององค์การสหประชาชาติ สนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้ง เพื่อประกันการอยู่ร่วมกันของประชาชนที่มีวัฒนธรรม ภาษา ศาสนาที่หลากหลาย อย่างสันติ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

1.เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (Migrants Working Group)
2.สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
3.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
4.โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (stateless watch) 
5.มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Prorights Foundation)
6.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
7.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

April 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

31
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
1
2
3
4

18 April 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ