60 ปี บาดแผลมินามาตะ 10 เครือข่ายประชาชนไทยเรียกร้อง “ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม”

60 ปี บาดแผลมินามาตะ 10 เครือข่ายประชาชนไทยเรียกร้อง “ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม”

20161109141958.jpg

10 ก.ย. 2559 ในวาระครบรอบ 60 ปีของการค้นพบโรคมินามาตะและมีรายงานทางการแพทย์อย่างเป็นทางการครั้งแรก เครือข่ายจุฬาฯ นานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือเพื่อผู้ป่วยโรคมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษามหาวิทยาลัยคุมาโมโต กักกุเอ็ง จ.คุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น มูลนิธิบูรณะนิเวศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ “60 ปี โรคมินามาตะ: การเรียนรู้หายนะจากมลพิษอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” 

เพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมจากมลพิษอุตสาหกรรมครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ และเพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะให้ผู้เกี่ยวข้องจากหลายๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชนได้มีโอกาสร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนโดยตรงกับผู้ป่วยโรคมินามาตะที่ยังมีชีวิตอยู่ และกลุ่มประชาชน/นักวิชาการญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อร่วมกันแก้ไขหน้าประวัติศาสตร์แห่งความสูญเสียไปสู่การมีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมแก่สังคมญี่ปุ่นและสังคมโลก

 

เสวนาวิชาการ “60 ปี โรคมินามาตะ: การเรียนรู้หายนะจากมลพิษอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” #ช่วงที่ 1 แถลงข่าว

Posted by มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) on Friday, September 9, 2016

 

ชิโนบุ ซาคาโมโต ผู้ป่วยโรคมินามาตะแต่กำเนิด เนื่องจากได้รับสารปรอทจากการปล่อยน้ำเสียที่เจือปนด้วยสารปรอทของบริษัทชิสโสะ ที่บริเวณอ่าวมินามาตะ และยังเป็นผู้อุทิศตัวเพื่อป้องกันเพื่อนมนุษย์ จากโรคมินามาตะ เดินทางมาร่วมงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเธอในเวที โดยเล่าความทุกข์ทรมานที่เธอได้รับจากโรคนี้มาทั้งชีวิตและกล่าวร้องขอให้ทั่วโลกตระหนักในพิษร้ายของสารปรอท 

ครอบครัวของชิโนบุป่วยเป็นมินามาตะทั้งครอบครัว พี่สาวของเธอก็เป็นมินามาตะตั้งแต่กำเนิดเช่นกัน ชิโนบุไม่สามารถเดินได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ จึงต้องพยายามฝึกเดินอย่างมาก หลังจากนั้น จึงได้เข้าเรียนชั้นประถม 1 แต่ก็ยังช้ากว่าเพื่อนปกติ ในช่วงชั้น ป.1 ครูก็สอนปกติ แต่ ป.2 ครูก็ไม่ค่อยสอนแล้ว ส่วนเรื่องการเขียนและอ่านตัวหนังสือ มีคนมาสอนให้เมื่อโตขึ้นแล้ว 

ชิโนบุ เล่าว่า เธอเคยไปในประเทศสวีเดน ซึ่งที่จริงไม่ได้อยากไป ช่วงนั้นคือปี 1972 เธอรู้สึกกังวลและกลัว แต่ก็คิดว่าดีที่มีโอกาสไปในครั้งนั้น เธอรู้สึกดีที่มีคนฟังสิ่งที่เล่าเรื่องมินามาตะ และหลายคนต่างพากันร้องไห้เมื่อได้ฟังเรื่องราว คนสวีเดนใจดีมาก นอกจากนั้นชิโนบุได้เดินทางไปประเทศเวียดนาม เธอก็ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยจากพิษฝนเหลือง ซึ่งที่นั่นก็มีสภาพคล้ายๆ กันกับเธอ 

“ทำไมถึงพวกเราจึงต้องป่วย ทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย” เธอได้แต่คิดและรู้สึก

เธอรู้สึกแค้นใจที่ต้องรับผลจากการที่ชิสโสะ ที่ได้ปล่อยสารปรอทลงทะเล จนทำให้พวกเธอป่วยเป็นโรคมินามาตะ และเธอไม่อยากให้เมืองไทยเป็นเหมือนที่มินามาตะอีก

สมบุญ สีคำดอกแค สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวตอนหนึ่งในเวทีเสวนาว่า ครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องมินามาตะ เธอคิดว่าจะมีอยู่แค่ในพิพิธภัณฑ์ มีแต่บันทึกในประวัติศาสตร์ ไม่คิดว่าจะยังคงมีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเรื้อรัง นั่นแสดงให้เห็นว่าความเจ็บป่วย สูญเสีย ผลกระทบทางสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากมลพิษอุตสาหกรรมเป็นฆาตกรที่โหดร้ายที่ฆ่าพวกเราอย่างเลือดเย็น ทำให้เจ็บป่วยไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นปกติสุขได้

อยากเรียกร้องผ่านสื่อมวลชน ไปถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศในขณะนี้ว่า ได้โปรดช่วยเหลือพวกเราซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นในชุมชนหรือในโรงงานอุตสาหกรรมที่เสียงของพวกเรานั้นไม่ดังพอ อยากให้คิดว่าการกระทำใด ๆ การลงทุน หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่าได้ใช้เลือดเนื้อ ชีวิต และน้ำตาของประชาชนด้วยกันเลย และขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นรวมทั้งรัฐบาลไทยได้ชดเชยความเสียหายให้กับชีวิตมนุษย์ที่เสียไป และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกำกับดูแลความปลอดภัย เพื่อความเป็นอยู่ของพวกเราที่เป็นประชาชนเหมือนกัน

ด้าน สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ผู้ประสานงานกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ในฐานะตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองและมลพิษอุตสาหกรรม กล่าวคำแถลงเนื่องในวาระ “60 ปี ของการค้นพบโรคมินามาตะ” รายละเอียดดังนี้

คำแถลงเนื่องในวาระ “60 ปี ของการค้นพบโรคมินามาตะ” 

เครือข่ายประชาชน ตามรายนามท้ายนี้ ขอแถลงเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย และรัฐบาลทั่วโลก ดังต่อไปนี้

1. เพื่อให้การพัฒนาประเทศ เป็นไปภายใต้หลักความเป็นธรรม และมีความยั่งยืน อันหมายถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบาย โครงการ หรืออนุญาตให้ผู้ใดดำเนินโครงการใด ๆ จะต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และผลกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัย คุณภาพชีวิต สิทธิเสรีภาพ ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน เป็นสำคัญ และมาก่อนตัวเลขหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

2. การประเมินความคุ้มค่าเพื่อที่จะดำเนินโครงการ หรืออนุญาตให้ดำเนินโครงการ จะต้องนำประเด็นในข้อ 1 มาพิจารณาเป็น “ต้นทุน” ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าต้นทุนด้านอื่น ๆ

3. การดำเนินนโยบายใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน ไม่ว่าในมิติใด ทางตรงหรือโดยอ้อม จะต้องเปิดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ได้โดยเสรีตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และต้องให้สิทธิประชาชนในท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น ๆ ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเท่าเทียม

4. รัฐบาลควรนำประสบการณ์จากการดำเนินโครงการ หรืออนุญาตให้ดำเนินโครงการ ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อประชาชน ทั้งที่เคยเกิดขึ้นในประเทศตนเองและต่างประเทศ มาพิจารณาอย่างจริงจัง ในฐานะบทเรียน ที่ควรหาทางหลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอย

5. ในกรณีที่ประชาชนได้รับผลกระทบ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จากโครงการพัฒนาของรัฐ และ/หรือโครงการที่รัฐอนุญาตให้เอกชนดำเนินการ รัฐบาลต้องรับผิดชอบให้เกิดการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม และในกรณีที่เกิดกระทบต่อสภาพแวดล้อม รัฐจะต้องดำเนินการหรือผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ให้กลับคืนมาเป็นปกติและปลอดภัยในระยะยาว

6. ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับเอกชนผู้ดำเนินโครงการ รัฐต้องถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ต้องเร่งคลี่คลายแก้ไขปัญหา ด้วยความเป็นธรรม ไม่ปล่อยปละหรือละเลยทอดทิ้งความเดือดร้อนของประชาชน หรือปล่อยให้ชุมชนท้องถิ่นเผชิญหน้ากับกับเอกชนโดยลำพัง

โดยเราขอยืนยันว่า การพัฒนาใด ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซึ่งเป็นไปเพื่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ จะมีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อมนุษย์ได้ ต่อเมื่อการโครงการนั้น ๆ ดำเนินไปภายใต้ความเป็นธรรม ไม่เพียงในแง่ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แต่ยังหมายถึง “ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม” อันหมายถึงการเคารพและให้ความสำคัญต่อความปลอดภัย สุขภาพ คุณภาพชีวิต วิถีชีวิตที่แตกต่าง และสิทธิเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์ อย่างเสมอหน้ากัน

ท้ายนี้ เราขอขอบคุณพี่น้องชาวเมืองมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้สอนให้เราได้เรียนรู้ทั้งมลกระทบของอุตสาหกรรมที่ขาดความรับผิดชอบ อคติและการละเลยของภาครัฐ 

และขอแสดงความเคารพหัวใจที่ยิ่งใหญ่ กล้าหาญ ของชาวมินามาตะ ที่ยอมเสียสละแรงกายแรงใจต่อสู้เพื่อผลักดันให้โลกนี้มีความปลอดภัย โลกที่เราทุกคนจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุกและยั่งยืน

10 กันยายน 2559

1. เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในจังหวัดเลย (รวมเรื่องที่ดินและเขื่อน) 
2. เครือข่ายอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ 
3. กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดอุมุง — แร่เหล็ก เลย
4. กลุ่มฮักบ้านเจ้าของฮั่นแน้ว
5. ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม จังหวัดขอนแก่น
6. กลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง
7. กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด บำเหน็จณรงค์ ชัยภูมิ
8. สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
9. กลุ่มอนุรักษ์ดงมูล
10. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

20161109142056.jpg

ภาพโดย : W. Eugene Smith และ Aileen M. Smith

000

ทำความรู้จัก “โรคมินามาตะ”

1 พฤษภาคม 2499 รัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศยอมรับการค้นพบ “โรคมินามาตะ” อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก – เกือบทศวรรษ หากนับตั้งแต่สหกรณ์การประมงมินามาตะเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากน้ำเสียของโรงงาน และกว่า 2 ทศวรรษ หากนับตั้งแต่บริษัทชิสโสะซึ่งตั้งโรงงานที่เมืองมินามาตะ ได้เปิดโรงงานผลิตสารอะเซทัลดีไฮด์ (acetaldehyde) ที่ต้องใช้สารปรอทในกระบวนการผลิต เมื่อ พ.ศ. 2475

พ.ศ. 2486 สหกรณ์การประมงมินามาตะเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากน้ำเสียของโรงงาน โดยทางบริษัทชิสโสะตกลงทำสัญญาจ่ายเงินชดเชย 152,500 เยน เป็นค่าเสียที่เกิดในอดีตและที่อาจจะเกิดในอนาคต ก่อนที่อีกเพียงไม่กี่ปีต่อมา ชาวประมงจะได้พบว่าปลาและสัตว์น้าในอ่าวมินามาตะลอยตายจำนวนมาก ปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างชัดเจน และเริ่มต้นประท้วงต่อโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียลงในท้องทะเลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขา โดยไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ

ไม่เพียงแต่ปลาและสัตว์น้ำที่ต้องตายอย่างไร้ค่า สารปรอทที่ถูกปล่อยออกมาผ่านน้ำเสียของโรงงานบริษัทชิสโสะ ได้ทำให้ผู้คนในเมืองมินามาตะจำนวนมากต้องล้มป่วย พิการ และใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยหลายรายต้องเสียชีวิตลง ขณะที่ทารกเกิดใหม่จำนวนมากต้องลืมตาขึ้นมาดูโลกพร้อมกับโรคปริศนานี้ ยังไม่นับการตกเป็นเหยื่อของการรังเกียจและการกีดกันทางสังคม ด้วยความเชื่อผิดๆ ว่าความเจ็บป่วยของชาวเมืองมินามานะเป็นโรคติดต่อ ด้วยสภาพของร่างกายและอาการของโรคที่แสดงออกมาอย่าน่ากลัว ยิ่งมีการสันนิษฐานทางการแพทย์ในเบื้องต้นว่านี่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง การกีดกันรังเกียจจากสังคมก็ยิ่งทวีความรุนแรง

โศกนาฏกรรมอันเลวร้ายที่กดทับชีวิตของพวกเขา ได้ฉุดลากชาวเมืองมินามาตะเข้าสู่ปีแล้วปีเล่าแห่งการต่อสู้อันยืดเยื้อยาวนาน ผู้ป่วย ญาติ ตลอดจนกลุ่มแพทย์จากมหาวิทยาลัยคุมาโมโต
ภายหลังการยอมรับของรัฐบาล, กลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะได้นำคดีขึ้นสู่ศาล

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้แต่งตั้งกลุ่มแพทย์จากมหาวิทยาลัยคุมาโมโตขึ้นมาศึกษาค้นหาสาเหตุและวิธีการรักษาโรค เพื่อที่จะพบว่า นอกจากโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นอาการโรคที่เกิดจากพิษของสารปรอท (methyl mercury) ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในน้ำเสียที่โรงงานของบริษัทชิสโสะปล่อยทิ้งลงสู่อ่าวมินามาตะของทะเลชิรานุย โดยไม่มีการบำบัดใดๆ สารปรอทในน้ำเสียได้เข้าไปสะสมอยู่ในตัวปลาและหอยที่ชาวประมงจับขึ้นมาขายและรับประทาน จนกระทั่งเกิดการทำลายระบบประสาทของร่างกาย ทำให้เจ็บป่วย และมีผู้ป่วยจำนวนมากมีอาการหนักจนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

“โรคมินามาตะ” หรือ “โรคจากพิษของสารปรอท” ได้คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นทั้งในเมืองมินามาตะและเมืองอื่นๆ หลายพันคน ส่วนผู้ป่วยอีกนับหมื่นๆ รายที่ยังคงมีชีวิตรอดถึงปัจจุบัน ก็ต้องมีชีวิตต้องอยู่ในสภาพร่างกายที่ผิดปกติ หลายรายทุพพลภาพจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โรคมินามาตะจึงไม่เพียงแต่นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและสุขภาพที่ดีของผู้คนจำนวนมาก แต่ยังก่อความเสียหายทางจิตใจและทางสังคมแก่ผู้ป่วยและเครือญาติอย่างไม่อาจจะประเมินออกมาเป็นจำนวนเงินได้ ยังไม่นับความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอีกมากมายมหาศาล – มรดกแห่งความสูญเสียเหล่านั้นยังคงตกค้างและปรากฏร่องรอยมาจนถึงปัจจุบัน

“โรคมินามาตะ” เป็นทั้งโศกนาฎกรรม และตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลและการขาดธรรมาภิบาลของรัฐบาลผู้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ โดยละเลยความสำคัญของชุมชน สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ของธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งโรคมินามาตะเองได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในประเทศญี่ปุ่น ทั้งในมิติของการเสียสละของชาวญี่ปุ่น ทั้งประชาชนทั่วไป นักวิชาการ และนักกฏหมายที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อกอบกู้ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมและสังคมให้เกิดขึ้นภายในประเทศ จนนำไปสู่การทบทวนและปรับปรุงกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการมลพิษอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ รวมถึงการปฏิรูปนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อลดปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมและวางระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศให้มีความปลอดภัยและยั่งยืนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดการโยกย้ายการลงทุนอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ก่อมลพิษสูง เช่น กลุ่มปิโตรเคมีและอื่นๆ ไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมหย่อนยานกว่า

… และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการย้ายฐานการผลิตดังกล่าวนี้

 

หมายเหตุ: ที่มาภาพและคลิปจากเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ