สช.สานพลังพระสงฆ์ร่วมดูแลประชาชนทุกมิติ พร้อมขยายความร่วมมือทั่วประเทศ เน้นย้ำการสร้างธรรมนูญสุขภาพในการรับมือ โควิด19 ทั้งด้านสุขภาพ-เศรษฐกิจ ด้วยต้นทุนของชุมชน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในประเทศไทยมีตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะส่วนหนึ่งเป็นการทำงานที่เข้มแข็งของภาคสาธารณสุขและรัฐบาลที่มีความเข้มงวดในมาตรการ lock down แต่การหยุดนิ่งไม่อาจทำได้ยาวนาน จะต้องมีการผ่อนคลายในที่สุด เนื่องจากมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ท่ามกลางโจทย์ใหญ่ทั้งการรับมือกับเรื่องสุขภาพและการแก้ไขปัญหาปากท้อง ปรากฏว่าชุมชนท้องถิ่นดูจะมีความหวังอยู่มาก
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะข่าวเช้านี้ FM101.5 วิทยุจุฬาฯ กล่าวถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นว่า ชุมชนจำนวนมากมีต้นทุนความพร้อมค่อนข้างมาก ซึ่งวิกฤตเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาและความร่วมมือ รวมถึงการมีส่วนร่วมให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยช่วงต้นของการแพร่ระบาด เครือข่ายสาธารณสุข 7 แห่ง รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมกับหน่วยงานด้านปกครองและองค์กรด้านสังคม 12 แห่ง ขับเคลื่อนการสานพลังเพื่อเปลี่ยนประชาชนผู้ตื่นตระหนกเป็นผู้ตื่นรู้รับมือภัยโควิด19 และขณะนี้กำลังขยายความร่วมมือไปยังพระสงฆ์ทั่วประเทศด้วย
นพ.ประทีป กล่าวว่า การทำงานนี้ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ตั้งต้นจากต้นทุนเดิมที่ท้องถิ่นทั่วประเทศมีอยู่แล้ว เพราะมีองค์กรจัดตั้งของประชาชนที่แอคทีฟ มีหน่วยงานที่ทำงานกับชุมชนจำนวนมาก เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีกองทุนอยู่ราว 6,000 กองทุน มีสมาชิก 5.7 ล้านคนทั่วประเทศ มีเงินหมุนเวียน 17,000 ล้านบาท มีองค์กรชุมชนทั่วทุกตำบล 7,000 กว่าแห่ง โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนในหมู่บ้านมากที่สุดมีอยู่เกือบ 10,000 แห่ง อาสาสมัครสาธารณสุขอีก 1 ล้านคน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีกองทุนที่ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 6,700 กองทุน งบประมาณปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้ดำเนินการช่วยภัยโควิดได้ โดย สช.ทำหน้าที่สานพลังเครือข่ายและภาคประชาชนในพื้นที่ที่เคยมีกระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพ และทำธรรมนูญสุขภาพอยู่แล้ว มาร่วมกันแก้โจทย์โควิด19 จุดที่น่าสนใจยิ่งคือ ความร่วมมือนี้กำลังกระจายสู่พระสงฆ์
เลขาธิการ คสช. กล่าวต่อว่า วันที่ 28 เม.ย. 2563 จะมีการประชุมสงฆ์ทั่วประเทศ โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานการประชุมเพื่อส่งสัญญาณทำความเข้าใจกับพระสงฆ์ทั่วประเทศที่มีกว่า 2 แสนรูป รวมทั้ง อปท.ทั่วประเทศให้เข้าใจตรงกันว่า บทบาทพระสงฆ์ท่ามกลางวิกฤตนี้จะเป็นอย่างไร หลังจากวิกฤตคลายลงพระจะมีส่วนช่วยได้อย่างไร โดยจะมีการถ่ายทอดสดผ่าน เฟซบุ๊ก เพจ สช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
“พระสงฆ์มีผลต่อประชาชน โดยเฉพาะการให้ความรู้ การดูแลด้านจิตใจ เรารู้ว่าสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบแง่สุขภาพ อาจต้องเกิดความสูญเสีย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ทำงานหนักมาก แล้วยังมีผลกระทบด้านสังคมเพราะคนตกงานย่อมเกิดความเครียด ดังนั้นพระสงฆ์จะช่วยให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน เยียวยาจิตใจ กระทั่งมีส่วนร่วมฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชน”
สำหรับตัวอย่างรูปธรรมนั้น นพ.ประทีป เล่าว่า ธรรมนูญสุขภาพ หรือการสร้างข้อตกลงของคนในท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาในชุมชนหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนั้น มีการทำงานในหลายพื้นที่อยู่แล้ว เมื่อมีวิกฤตโควิด19 ทำให้มีความตื่นตัวในการใช้เครื่องมือนี้มากขึ้น เช่น เครือข่ายมัสยิดแห่งหนึ่งใน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ สร้างข้อตกลงร่วมรับมือโควิด19 ซึ่งเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับภาครัฐ และปรับให้สอดคล้องกับบริบทของชาวมุสลิมด้วย เช่น การละหมาดควรทำอย่างไร บางตำบลเริ่มกำหนดมาตรการสังคมต่างๆ เช่น แนวทางการจัดงานศพ ชุมชน ต.หนองบอน จ.ตราด กำหนดมาตรการเกี่ยวกับงานบุญประเพณี การจัดระเบียบตลาดนัดและล้งผลไม้ ชุมชนเกื้อวิทยา เขตบุคคโล กทม. มีการทำข้อตกลงการดูแลกันเรื่องความเป็นอยู่ การสร้างโรงทาน เป็นต้น
“จุดสำคัญที่สุดคือ การมีส่วนร่วมจากประชาชน ซึ่งจะทำให้พื้นที่เข้มแข็งและจัดการตัวเองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ประสบการณ์ของการสู้ภัยโควิด19 รอบนี้จะทำให้ชุมชนมีข้อตกลงร่วมในการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ หรือโรคระบาดใหม่ ๆ ในอนาคตข้างหน้า เรียกว่า มีทั้งประสบการณ์ ระบบการจัดการ เกิดความไว้วางใจระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่” นพ.ประทีปกล่าว