51 องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หนุนปกป้องอันดามัน

51 องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หนุนปกป้องอันดามัน

20152007011639.jpg

19 ก.ค. 2558 เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินยังคงปักหลักอยู่บริเวณหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถนนราชดำเนินนอก โดยมีประชาชนจาก จ.กระบี่ กว่า 100 คน เดินทางมาร่วมนั่งอดอาหาร เพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ทั้งนี้ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ เวลา 9.00 น. กลุ่มประชาชนจะเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ส่วน องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม 51 องค์กรได้ออกแถลงการณ์ “คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และการเปิดประมูลโครงการ” นำมาประกาศที่บริเวณหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายละเอียดดังนี้

20152007011658.jpg

แถลงการณ์ร่วม 51 องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม
“คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และการเปิดประมูลโครงการ”

วันที่ 19 กรกฎาคม 2558

ตามที่เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินได้ทำการอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อแสดงการคัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน จ.กระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการศึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และ กฟผ.กำลังจะเปิดประมูลการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในวันที่ 5 สิงหาคมที่จะถึงนี้นั้น

พวกเรา 51 องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมดังมีรายชื่อท้ายนี้ ขอแถลงสนับสนุนการแสดงออกของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และมีความเห็นข้อเรียกร้องร่วมกันดังนี้

1.การแสดงออกของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เป็นการแสดงความคิดเห็นตามหลักประชาธิปไตย และมิได้มีการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด 

2.พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติหรือ แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Sites) เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนก โลมา วาฬ และพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าสงวนของไทย และอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก พื้นที่ชุ่มน้ำและชายฝั่งทะเลอันดามัน ทั้งยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชนท้องถิ่น ทั้งในด้านการประมง และการท่องเที่ยว จึงเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่ที่มีความสำคัญและความอ่อนไหวทางธรรมชาติแห่งนี้

3.การเปิดประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ ทั้งที่โครงการยังอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และยังไม่ได้รับการอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี โดยอ้างว่าเป็นการดำเนินการ “คู่ขนาน” ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขัดกับหลัก “ธรรมาภิบาล” ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สิทธิชุมชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน 

4.ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยุติแผนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และยกเลิกการเปิดประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่โดยทันที

ด้วยความรักและห่วงแหนในทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน
1.    มูลนิธิโลกสีเขียว
2.    มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
3.    มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
4.    คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม
5.    ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
6.    ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา
7.    กลุ่มคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา และประชาชนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
8.    ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดหนองคาย
9.    เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)
10.    ศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre)
11.    ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
12.    เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ( Civil Society Planning Network) 
13.    สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)
14.    สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
15.    มูลนิธิธรรมรัฐเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
16.    สมาคมองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ(สอส.)
17.    มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยังยืน (มพย.)
18.    มูลนิธิอันดามัน 
19.    มูลนิธิป่าทะเลเพื่อชีวิต
20.    องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน
21.    สมาคมคนรักษ์กระบี่
22.    ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง
23.    ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศน์วิทยา
24.    คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
25.    ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนเพื่อสันติภาพอีสาน
26.    เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน
27.    ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
28.    มูลนิธิพัฒนาอีสาน
29.    เครือข่ายพลังงานยั่งยืน จ.สุรินทร์ 
30.    ศูนย์ส่งเสริมศักยภาพประชาชนนครราชสีมา
31.    เครือข่ายทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง
32.    สถาบันรักษ์ถิ่น กำแพงเพชร
33.    เครือข่ายทรัพยากรดินน้ำป่า จ.กำแพงเพชร
34.    เครือข่ายคนรักษ์น้ำปิงและป่า จ.กำแพงเพชร
35.    สถาบันสร้างเสริมการจัดการทรัพยากรชุมชน
36.    สมัชชาประชาชนสุโขทัย
37.    สหพันธ์รักษ์เมืองตาก
38.    ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จ.พิษณุโลก
39.    เครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก กลุ่มเพื่อนตะวันออก
40.    สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน
41.    โครงการปฏิบัติการเพื่อสิทธิคนจน
42.    สมัชชาคนจน (สคจ.)
43.    มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย
44.    สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
45.    กลุ่มใบไม้
46.    กลุ่มเยาวชนต้นกล้าน้อย
47.    เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง
48.    เพจคนอนุรักษ์
49.    สุนี ไชยรส
50.    สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
51.    สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส)

 

ทั้งนี้ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า กฟผ.เลื่อนประมูลโรงไฟฟ้ากระบี่ไปเป็น 5 ส.ค. โดยนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยระหว่างที่นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงานลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ว่า ขณะนี้ กฟผ.ได้เลื่อนกำหนดการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด จ.กระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์จากเดิม 22 ก.ค.นี้ ไปเป็นวันที่ 5 ส.ค. แทน เนื่องจากมีผู้ประกอบการเอกชนได้สอบถามข้อมูลมาเพิ่มเติมและบางรายยังเตรียมเอกสารไม่พร้อม ซึ่ง กฟผ.เห็นว่าหากมีทางเลือกจำนวนมากจะเป็นผลดีกว่าโดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับกรณีการประท้วงแต่อย่างใด

นายสุนชัย กล่าวว่า กฟผ.ในฐานะเป็นผู้กำหนดเทคนิคการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อให้ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมจึงทำควบคู่กันไปกับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบเทคนิคของผู้ที่ยื่นข้อเสนอว่าสอดคล้องกันหรือไม่เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะได้เทคโนโลยีที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมได้ตาม EHIA
อย่างแท้จริง 

“เราเองในฐานะผู้กำหนดเทคนิคหลังจากนั้นสู้ด้วยราคาเราก็เชื่อว่าสิ่งที่เราทำดีที่สุดแล้วที่เราต้องทำควบคู่ไปกับ EHIA ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลา 4-5 เดือนแต่ถ้ารอให้ EHIA ผ่านจะใช้เวลาเกือบปีเศษก็จะใช้เวลานานนับปีอาจไม่ทันกำหนดจ่ายไฟฟ้า ม.ค.2562 แต่การดำเนินงานก่อสร้างจริงก็ต้องรอให้ EHIA ผ่านก่อนอยู่แล้วไม่ใช่อยู่ๆ จะไปสร้างก่อนได้เลย” นายสุนชัยกล่าว

ทั้งนี้ หากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่เกิดไม่ทันกำหนดจ่ายไฟม.ค.2562 ภาคใต้จะเสี่ยงกับความมั่นคงเนื่องจากการหยุดซ่อมท่อก๊าซฯ จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) จะเกิดขึ้นทุกปีเป็นเรื่องปกติขณะที่การใช้ไฟภาคใต้จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ซึ่งเกิดจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยประเมินว่าปี 2662 ความต้องการใช้ไฟภารใต้จะอยู่ที่ 3,062 เมกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตจะอยู่ที่ 3,115 เมกะวัตต์ แม้ว่าจะรวมกับกำลังการผลิตพลังงานทดแทนจากโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และเล็กมาก (VSPP) 202 เมกะวัตต์ก็ไม่เพียงพอ

“แม้ว่าภาคใต้จะมีพลังงานทดแทนแต่หากพิจารณาจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นการขายไฟเข้าระบบแบบไม่กำหนดการจ่ายไฟที่แน่นอน (Non Firm) เพราะขึ้นอยู่กับธรรมชาติ จึงไม่สามารถจะเป็นพลังงานหลักได้รัฐบาลจึงส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ และเทพา จ.สงขลา 2 แห่งที่จะรองรับความต้องการในปี62และปี64 ตามลำดับ

ขณะที่การก่อสร้างสายส่ง 500 เควีจาก อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไป จ.สุราษฎร์ธานีจะแล้วเสร็จปี 2562 ขณะที่ไปภูเก็ตจะเสร็จปี 2565 หากเป็นไปตามแผนทั้งหมดก็จะทำให้ระบบไฟภาคใต้มีความมั่นคงอย่างมากและที่สำคัญจะทำให้ลดความเสี่ยงค่าไฟฟ้าแพงเพราะถ่านหินมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติ” ผู้ว่ากฟผ.กล่าว

นอกจากนี้กฟผ.ยังได้ลงนาม (MOU) ร่วมกับบริษัท JERA ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บ.เทปโก้และชุบุ เพื่อศึกษาในการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.เช่น โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และบางปะกง เป็นต้น โดยคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ 

“กฟผ.ก็จะดูว่าจะสามารถสร้างคลังและนำเข้า LNG เพื่อนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.เองได้หรือไม่เพราะขณะนี้การขนส่งทางท่อก็มีข้อจำกัด ส่วนจะมีการร่วมทุนหรือไม่อย่างไรคงต้องรอให้ผลการศึกษาออกมาก่อน” นายสุนชัยกล่าว

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าวว่า การหยุดซ่อมท่อก๊าซ JDA -A18ระหว่างวันที่ 21-25 ก.ค.58 ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อระบบไฟฟ้าภาคใต้เพราะโรงไฟฟ้าจะนะชุดที่ 1 จะปรับมาใช้ดีเซลได้ ทำให้มีเพียงจะนะชุด 2 ที่หยุดเดินเครื่อง แต่ก็มีการส่งไฟจากภาคกลางมาป้อน ซื้อไฟมาเลเซีย 30 เมกะวัตต์ รวมเหลือสำรอง 438 เมกะวัตต์ ทำให้เพียงพอรองรับกับความต้องการแต่หากเกิดฉุกเฉินก็มีมาตรการไว้ดูแลแล้วโดยเชื่อมั่นว่าจะไม่ถึงขั้นใช้มาตรการฉุกเฉินโดยเฉพาะการดับไฟบางพื้นที่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ