5 องค์กรสิทธิระหว่างประเทศ แถลงครบรอบ 1 ปีสังหาร ‘ใช่ บุญทองเล็ก’ จี้ไทยปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิ

5 องค์กรสิทธิระหว่างประเทศ แถลงครบรอบ 1 ปีสังหาร ‘ใช่ บุญทองเล็ก’ จี้ไทยปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิ

11 ก.พ. 2559 องค์กรฟอรั่มเอเชีย (the Asian Forum for Human Rights and Development หรือ FORUM-ASIA) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) อินเตอร์เนชั่นแนล เฟเดอเรชั่น ฟอร์ ฮิวแมนไรท์ (International Federation for Human Rights หรือ FIDH) เวิลด์ ออร์แกไนเซชัน อเก้นส์ ทอร์เจอร์ (World Organization against Torture หรือ OMCT) และโพรเท็คชัน อินเตอร์เนชั่นแนล (Protection International) ออกแถลงการณ์ร่วมองค์กรสิทธิระหว่างประเทศ เรียกร้องทางการไทยยุติการลอยนวลพ้นผิด และประกันให้เกิดความยุติธรรมต่อชุมชนที่ถูกคุกคาม

20161102232924.jpg

ภาพ: นายใช่ บุญทองเล็ก เสื้อขาวขวาสุดของภาพ

แถลงการณ์ระบุถึง ในวาระครบรอบหนึ่งปีการเสียชีวิตของนายใช่ บุญทองเล็ก นักกิจกรรมด้านสิทธิที่ดิน ซึงถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 รวมถึงกรณีการเสียชีวตสมาชิกคนอื่นๆ ของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนที่ทำงานเพื่อสิทธิในที่ดิน โดยเรียกร้องทางการไทยให้คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนที่เสี่ยงต่อการถูกข่มขู่ บังคับไล่รื้อ ถูกสังหาร และถูกทำร้ายที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ทางองค์กรทั้ง 5 กระตุ้นให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2558 ว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนในที่ประชุมที่ผ่านมา ด้วยการประกาศใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที ทั้งนี้ให้ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อให้การประกันว่าจะเกิดการสอบสวนดำเนินคดีสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนต่อการดำเนินงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 

รวมถึงประกันให้หน่วยงานของรัฐในทุกสาขา ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ภายใต้การทำงานของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่จะสามารถสร้างกลไกการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในทางกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยง และประกันว่าผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขู่หรือคุกคาม จะสามารถเข้าถึงช่องทางการเยียวยาได้

แถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้ 

 

20161102232802.jpg

แถลงการณ์ร่วมองค์กรสิทธิระหว่างประเทศเรียกร้องทางการไทย
ยุติการลอยนวลพ้นผิดและประกันให้เกิดความยุติธรรมต่อชุมชนที่ถูกคุกคาม

กรุงเจนีวา/ กรุงลอนดอน /กรุงปารีส/ กรุงบรัสเซลล์
11 กุมภาพันธ์ 2559

ในวาระครบรอบหนึ่งปีการเสียชีวิตของนายใช่ บุญทองเล็ก นักกิจกรรมด้านสิทธิที่ดิน องค์กรฟอรั่มเอเชีย (the Asian Forum for Human Rights and Development หรือ FORUM-ASIA) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) อินเตอร์เนชั่นแนล เฟเดอเรชั่น ฟอร์ ฮิวแมนไรท์ (International Federation for Human Rights หรือ FIDH) เวิลด์ ออร์แกไนเซชัน อเก้นส์ ทอร์เจอร์ (World Organization against Torture หรือ OMCT) ซึ่งทำงานภายใต้กรอบความร่วมมือของดิอ็อพเซอร์เวทอรีย์ ฟอร์ เดอะ โพรเท็คชัน ออฟ ฮิวแมนไรท์ดีเฟนเดอร์ (the Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) และโพรเท็คชัน อินเตอร์เนชั่นแนล (Protection International) เรียกร้องถึงรัฐบาลไทยอีกครั้งเพื่อให้ความยุติธรรมในคดีที่เกิดขึ้นกับนายใช่ บุญทองเล็กและสมาชิกคนอื่นๆ ของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนที่ทำงานเพื่อสิทธิที่ดิน และเรียกร้องทางการไทยให้คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนที่เสี่ยงในการถูกข่มขู่ บังคับไล่รื้อ ถูกสังหาร และถูกทำร้ายที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ผ่านไปหนึ่งปีสำหรับการสังหารนายใช่ บุญทองเล็ก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี นับเป็นหนึ่งปีที่สมาชิกชุมชน สกต. ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว คนร้ายยังคงลอยนวลพ้นผิด ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา สมาชิกของชุมชนได้เข้าไปอาศัยในที่ดินของคลองไทรพัฒนา แต่กลับมีผู้ถูกสังหาร ขู่ฆ่า คุกคามด้วยการใช้มาตรการทางศาล ข่มขู่ ทำลายทรัพย์สินและพืชผล และถูกขู่ให้ออกจากพื้นที่ ในขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อปี 2557 ให้บริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด ซึ่งทำสวนปาล์มในพื้นที่ต้องออกจากพื้นที่ในอำเภอชัยบุรี แต่ถึงทุกวันนี้ทางบริษัทยังคงอยู่ในพื้นที่เดิม

นายใช่ บุญทองเล็ก อายุ 61 ปีถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 โดยคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ระหว่างที่เขาอยู่ที่บ้านของญาติบริเวณนอกชุมชนคลองไทรพัฒนา นายใช่นับเป็นสมาชิกคนที่สี่ของ สกต. ในชุมชนคลองไทรพัฒนาที่ถูกสังหาร นอกจากนี้เมื่อเดือนมกราคม 2553 มีผู้พบศพนายสมพร พัฒภูมิ อดีตช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณด้านนอกของหมู่บ้าน และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงอีกสองคน ได้แก่ นางมณฑา ชูแก้ว อาชีพค้าขาย และนางปราณี บุญรักษ์ คนงานรับจ้าง ต่างถูกยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับจากตลาด จนถึงทุกวันนี้ยังไม่สามารถจับตัวผู้ที่สังหารบุคคลเหล่านี้มาลงโทษได้

เจ้าพนักงานผู้สอบสวนคดีการสังหารนายใช่ บุญทองเล็กได้ส่งมอบหลักฐานให้พนักงานอัยการ โดยมีผู้ต้องสงสัยสามคนคือมือปืน ผู้จ้างวานฆ่า และคนขับรถจักรยานยนต์ แต่ที่ผ่านมาสามารถนำตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนขับรถจักรยานยนต์ได้เพียงคนเดียวมาเข้ารับการพิจารณาคดีในข้อหาฆ่าคนตาย ร่วมกันทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยเจตนา และมีอาวุธไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทางการพยายามสร้างหลักประกันเพื่อให้เกิดความยุติธรรม แต่ทางฟอรั่มเอเชีย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเตอร์เนชั่นแนล เฟเดอเรชั่น ฟอร์ ฮิวแมนไรท์ เวิลด์ ออร์แกไนเซชัน อเก้นส์ ทอร์เจอร์ ซึ่งทำงานภายใต้กรอบความร่วมมือของดิอ็อพเซอร์เวทอรีย์ ฟอร์ เดอะ โพรเท็คชัน ออฟ ฮิวแมนไรท์ดีเฟนเดอร์ และโพรเท็คชัน อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงมีความกังวลกรณีที่มีจำเลยเพียงคนเดียวเข้ารับการไต่สวน ทั้ง ๆ ที่น่าจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องมากกว่านี้ และเรียกร้องให้ทางการสอบสวนต่อไปเพื่อประกันว่าผู้ต้องสงสัยทุกคนจะถูกดำเนินคดี และได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

นางเอเวอร์ลิน บาลาอิส เซอร์ราโน (Evelyn Balais-Serrano) ผู้อำนวยการบริหารฟอรั่มเอเชียกล่าว“การดำเนินการเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อการเสียชีวิตของนายใช่ บุญทองเล็กเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงต่อตัวเขาเอง ครอบครัวของเขา และสกต.เท่านั้น หากยังเป็นสัญญาณที่แสดงถึงเจตจำนงครั้งใหม่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และศาลที่จะประกันให้มีการคุ้มครองตามกฎหมายต่อการดำเนินกิจกรรมอย่างสงบของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่กระทำการข่มขู่ คุกคาม และสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งทำให้เกิดบรรยากาศที่น่าหวาดกลัวสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานในประเด็นสิทธิที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย”  

การที่สมาชิก สกต. ต้องเผชิญกับการคุกคามเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการขาดกลไกคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ทำงานในเขตชนบทซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงทรัพยากรและการเยียวยา

ทางองค์กรทั้ง 5 ขอกระตุ้นให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2558 ว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนในที่ประชุมที่ผ่านมา ด้วยการประกาศใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที ทั้งนี้ให้ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อให้การประกันว่าจะเกิดการสอบสวนดำเนินคดีสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนต่อการดำเนินงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงประกันให้หน่วยงานของรัฐในทุกสาขา ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ภายใต้การทำงานของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่จะสามารถสร้างกลไกการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในทางกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยง และประกันว่าผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขู่หรือคุกคาม จะสามารถเข้าถึงช่องทางการเยียวยาได้

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ