5 ปีทีวีสาธารณะ ใครได้อะไร
ภัทรา บุรารักษ์
สาขาการสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา
“คุ้มภาษีหรือไม่?” เป็นวาทกรรมที่มักถูกใช้เมื่อมีผู้ต้องการประเมินการทำงานของสื่อสาธารณะ หรือต้องการจะใช้เป็นเครื่องมือตั้งคำถามกับการทำงานของสื่อแห่งนี้มาตั้งแต่ก่อนการก่อกำเนิด 15 มกราคม 2551 และก็ยังคงใช้กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
หากจะตอบคำถามดังกล่าว คงต้องอธิบายขยายคำถามเพื่อหาคำตอบก่อนว่า “ความคุ้มภาษี” นั้นเทียบกับอะไร ? จะเทียบกับงบประมาณที่จะใช้ในการลงประชามติแต่ละครั้ง หรือเทียบกับงบประมาณที่ใช้ในการป้องกันน้ำท่วม หรือเทียบกับการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส) หรือเทียบกับ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ว่ากันให้ชัด เทียบกันเป็นหมวด ๆ ของเงินงบประมาณกับปริมาณที่ได้รับ
ในความเป็นจริงแล้ว การเปรียบเทียบในลักษณะดังกล่าวอาจจะตอบและวัดความ “คุ้ม” ได้ยาก เพราะการทำงานมีเป้าหมายและคุณค่าเฉพาะตัว การวิเคราะห์เชิงปริมาณอาจไม่เพียงพอในการอธิบายและให้คำตอบได้
แต่หากจะให้ตอบคำถามโดยการวัด “ความคุ้ม” เชิง “คุณค่า” โดยเฉพาะคุณค่าที่มีต่อสังคม ที่เราผู้ดู ผู้มีส่วนร่วม และผู้เป็นเจ้าของเงินภาษีทั้งทางตรงทางอ้อม จะได้รับ นั้นคุ้มค่าหรือไม่ งานเขียนชิ้นนี้อาจพอให้ผู้อ่านได้เห็นภาพและตอบคำถามกับตัวเองได้บ้าง
ทุกครั้งที่กล่าวถึงการทำงานสื่อสาธารณะแล้ว คนมักจะยกกรณีการดำเนินงานของ BBC มาเป็นต้นแบบหรือเปรียบเทียบ จริงอยู่ทั้ง BBC และ Thai pbs มีหลักการเป็นสื่อสาธารณะเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องทำแบบเดียวกัน เพราะหากพิจารณาสื่อสาธารณะประเทศอื่น วิธีการทำงาน แนวทางหรือเป้าหมายของแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันไปตามบริบท สภาพแวดล้อมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เช่น ABC สื่อสาธารณะของประเทศออสเตรเลีย มุ่งเน้นไปที่การตอบสนองความแตกต่างหลากหลาย เพราะสภาพสังคมวัฒนธรรมที่ผู้คนมีความแตกต่างกันในด้านชาติพันธุ์ ส่วน PSB ของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีวิธีการบริหารจัดการองค์กรที่ไม่เหมือนกับ BBC เพราะไม่เน้นที่จะผลิตรายการเอง หรือแม้แต่สถานีโทรทัศน์ภูมิภาคของ BBC ที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ การปฏิบัติงานและเป้าหมายในการทำงานแตกต่างจาก BBC สถานีหลัก
สำหรับสื่อสาธารณะของไทย หากเรายังคงจำกันได้ถึงประวัติศาสตร์การปรากฏขึ้นของ Thai pbs คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากปัจจัยทางการเมือง มีการเปลี่ยนผ่านแค่ชั่วข้ามคืน ทำให้ทั้งคนทำสื่อ และสังคมไทยยังตั้งตัวไม่ติด และยังแทบไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อสาธารณะอย่างพอเพียง ซึ่งแน่นอนการเปลี่ยนผ่านในลักษณะดังกล่าว จึงไม่สามารถเปลี่ยนใจ เปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนความคุ้นเคยกับสื่อแบบเดิมๆ ให้กับคนทำงานและคนดูตามไปด้วย ดังนั้นช่วงเวลาเริ่มต้น การทำงานจึงไม่เพียงต้องทำหน้าที่สื่อสาธารณะที่เน้นการเป็นสื่อเพื่อสร้างพลเมือง ทำงานบนการมีส่วนร่วมของคนดู ไปพร้อมกับการจัดการความขัดแย้งที่เกิดจากการเสียผลประโยชน์ ความไม่รู้ ความกลัว และความเคยชินกับแนวปฏิบัติการเป็นสื่อมวลชนแบบเดิมของคนในองค์กรไปพร้อมกัน
การดำเนินงาน 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราพอมองเห็นคุณลักษณะของการเป็นสื่อสาธารณะแบบของไทย ที่เป็นสื่อที่เน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมในระดับต่างๆ ที่มีความแตกต่างจาก BBC หรือในประเทศอื่น ๆ ซึ่งคุณลักษณะของการเป็นสื่อสาธารณะของ Thai pbs ที่ปรากฏออกมาแบบนั้น ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นไปตามตามสภาพปัจจัยด้านต่างๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของไทย ที่กำหนดการทำงานให้กับ Thai pbs แต่สิ่งที่ทั้ง BBC ABC CBS และ Thai pbs ต้องมีเหมือนกันก็คือ ปรัชญาของการเป็นสื่อสาธารณะที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจทุน การเมือง และอำนาจของสาธารณะชนและเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงสื่อและข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสื่อสาธารณะเป็นสื่อที่สามารถนำเสนอเนื้อหารายการที่เป็นประโยชน์หรือมีคุณค่าต่อสังคม เพื่อเป็นการเพิ่มความรู้และยกระดับคนดู ส่งเสริมความเป็นพลเมืองให้กับสาธารณะได้
จุดเด่นที่เป็นคุณลักษณะสำคัญของการเป็นสื่อสาธารณะของThai pbs ก็คือ การทำงานร่วมกับภาคประชาชน คนธรรมดา หลายระดับ ซึ่งถือเป็นกระบวนการ “หลังจอ” ที่คนส่วนใหญ่อาจมองเห็นภาพไม่ชัด และไม่ชิน เพราะพูดถึงสื่อทีวีแล้ว ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงสิ่งที่ปรากฏผ่านทางจอโทรทัศน์ และผูกพันอยู่กับเนื้อหาที่ปรากฏผ่านหน้าจอมากกว่า แต่ กระบวนการสร้าง “หลังจอ” ถือเป็นอีกวิธีการทำงานอีกรูปแบบหนึ่งที่ Thai pbs เปิดช่องทางการเข้ามามีส่วนร่วมของคนดู ที่เคยเป็นคนดู กลายมาเป็นคนดูที่วิพากษ์วิจารณ์ เป็นแหล่งข้อมูล เป็นแหล่งข่าว หรือกลายเป็นผู้ร่วมผลิตรายการผ่านรูปแบบรายการต่างๆ โดยสถานีฯ จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลรับผิดชอบโดยตรง มีการทำงานเชื่อมโยงกับฝ่ายข่าวและฝ่ายรายการ บนหลักการการทำงานที่ต้องการใช้กลไกของกระบวนการ “หน้าจอ และ หลังจอ” ผลักดันและขับเคลื่อนซึ่งกันและกันเพื่อนำไปสู่การนำเสนอเนื้อหา และย้อนกลับมายังพื้นที่หรือประเด็นที่นำเสนอ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทั้งในเชิงประเด็นและตัวบุคคลหรือกลุ่มที่ทำงานร่วมกัน
ยกตัวอย่างกรณี “หลังจอ” ที่ผู้เขียนมีโอกาสศึกษาถึงกระบวนการการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนารายการของท้องถิ่น ระหว่างคนท้องถิ่นกับคนทำสื่อมืออาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นชินทั้งตัวคนทำสื่อมืออาชีพ และประชาชน ผลก็คือในระยะแรกของการเริ่มต้นทำงานร่วมกัน นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมาก และมีโอกาสการครอบงำและขัดแย้งกันสูงมาก เวลาส่วนใหญ่ในการการทำงานจึงเน้นการปรับความเข้าใจและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยอาศัยปัจจัยการทำงานทั้งด้านตัวบุคคลที่เข้ามาประสานงาน ท่าที วิธีการ และกำหนดความสัมพันธ์ที่มีความเฉพาะและอ่อนไหว และใช้ระยะเวลาในการสร้างความเข้าใจและร่วมรู้เพื่อทำงานรวมกันกว่า 8 เดือน จึงเริ่มเห็นผลที่ดีขึ้น ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นและคนทำสื่อมืออาชีพในระดับต่างๆ และปรากฏเป็นรายการโทรทัศน์ “จอเหนือ” รายการที่ในยุคก่อตั้งผลิตขึ้นจากการทำงานร่วมของคนสื่อและคนธรรมดามาใช้ และได้รับการพัฒนาไปสู่พื้นที่ และรายการอื่นโดยพยายามยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเหมือนกัน
ที่น่าสนใจก็คือ เนื้อหารายการ “จอเหนือ” ในยุคเริ่มต้นที่ได้รับการกำหนดมาจากภาคประชาชน ส่วนใหญ่ประเด็นที่ได้รับการเสนอเพื่อนำไปสู่การผลิตมักเป็นประเด็นร้อน หรือประเด็นที่เป็นปัญหาที่ท้องถิ่นหรือชุมชนกำลังเผชิญหน้า การได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเช่นระบบทุนนิยม หรือนโยบายของรัฐเป็นต้น ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่นดิน น้ำ ป่า การเรียกร้องการจัดการตนเองด้วยการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่น รวมไปถึงคุณค่าท้องถิ่น อัตลักษณ์ ความงดงามในท้องถิ่นที่กำลังลดเลือน หรือเสื่อมถอยไปจากท้องถิ่น เช่นผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่ทำเหมืองทองคำ จ.พิจิตร ปัญหาเรื่องข้อพิพาทเรื่องการบุกรุกที่ดินทำกิน จ.ลำพูน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเข้าถึงและการใช้สิทธิ์การสื่อสารผ่านสื่อของประชาชนเป็นความต้องการจัดความสมดุลของโครงสร้างอำนาจระหว่างพลเมืองกับรัฐ โดยให้เสียงของภาคประชาชนปรากฏผ่านสังคมผ่านสิทธิการสื่อสาร เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและเปลี่ยนแปลงให้ตนเองและชุมชนให้ดีขึ้นมากกว่าการได้ปรากฏตัวผ่านจอทีวีเท่านั้น หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งก็คือ ลักษณะของโทรทัศน์สาธารณะในการรับรู้และความต้องการของภาคประชาชนก็คือ สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเป็นสื่อเพื่อความบันเทิง ดังนั้นจึงมักถูกค่อนแคะจากวงการสื่อหรือคนนอกว่าเป็นสื่อเพื่อคนชายขอบ ตกขอบ หรือ NGOs แต่หากสื่อสาธารณะไม่ทำในลักษณะดังกล่าว สื่อหลักช่องไหนจะเข้าไปทำให้พวกเขา หรือมันไม่มีคุณค่าที่จะปรากฏผ่านคลื่นความถี่ใดๆ
ปรากฏการณ์และผลของการทำงานที่เกิดขึ้นดังกล่าว ถือเป็นเรื่องยากและไม่เคยทำได้มา 50 กว่าปีนับตั้งแต่การปรากฏตัวขึ้นของสื่อโทรทัศน์ในประเทศไทย เพราะแม้แต่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 ในภูมิภาคยังไม่สามารถทำได้ เพราะติดปัจจัยที่สำคัญคือด้านความเป็นเจ้าของ (สนใจดูงานดุษฎีนิพนธ์ ภัทรา บุรารักษ์. โทรทัศน์ท้องถิ่น: การกำเนิด การดำรงอยู่และการพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551 และการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโทรทัศน์สาธารณะกับภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาสถานีภูมิภาค. วารสารนิเทศศาสตร์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 2 2554 หน้า 1-17 )
ดังนั้นระยะเวลา 5 ปีของการปรากฏตัวขึ้นบนสถานการณ์แวดล้อมแบบไทย ๆ จึงเป็นช่วงเวลาของการสร้างความเป็นสาธารณะ และหารูปแบบที่เหมาะกับสภาพสังคมไทย
แต่หากจะมองภาพว่า สื่อสาธารณะทำอะไรให้กับใครบ้างใน 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการพิจารณาว่าเรายังคงต้องการระบบสื่อแบบนี้อยู่อีกหรือไม่ และคุ้มค่ากับภาษีเหล้าบุหรี่ที่จ่ายไปหรือไม่ ?
นอกจากประเด็นของคุณลักษณะของสื่อสาธารณะแบบไทย อย่าง Thai pbs ที่กล่าวไปข้างต้น ผู้เขียนอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะเป็นนักวิชาการที่สนใจด้านสื่อกระจายเสียงระบบสาธารณะทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาค และสอนด้านสื่อสารมวลชนที่มีหน้าที่ผลิตกำลังคนที่มีทักษะความรู้ทางด้านการสื่อสารและสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ เพื่อให้ภาพที่ชัดขึ้นว่า 5 ปีที่ผ่านมาใครได้อะไรจาก Thai pbs โดยจะเล่าแยกเป็น 2 มิติ คือ มิติทางด้านวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และมิติทางด้านการผลิตบัณฑิตด้านการสื่อสาร
มิติความสำคัญที่มีต่อวงการวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
ถือเป็นความตื่นเต้นทางวิชาการโดยเฉพาะด้านสื่อโทรทัศน์ หลังจากการปรากฏตัวของสื่อสาธารณะ แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ควันของการขัดแย้ง ทางการเมือง และการคัดค้านของพนักงานเดิมของสถานีโทรทัศน์ iTV แต่ในวงวิชาการต่างรู้ว่าการคืนคลื่นสำหรับการทำผิดเงื่อนไขการรับสัมปทานเป็นเรื่องปกติ (แต่ขณะนั้นบ้านเรายังไม่เคยมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะยังไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่อะไรให้ใครได้) และหากแยกเอาความขัดแย้งคัดค้านดังกล่าวออกมาพิจารณาเฉพาะการเกิดขึ้นของสื่อสาธารณะ ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เพราะเป็นระบบสื่อที่สังคมคาดหวัง และที่ผ่านมาการเรียนการสอนทำได้เพียงการยกตัวอย่างจากสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศ ไม่ BBC ประเทศอังกฤษ NHK ประเทศญี่ปุ่น ABC ประเทศออสเตรเลีย PSB ประเทศสหรัฐอเมริกา และ CBS ประเทศแคนาดา แต่ความรู้พวกนี้มีข้อจำกัดเนื่องจากเป็นงานเขียนต่างๆ ที่ปรากฏผ่านสื่อมายังประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นการเขียนในกรอบนโยบาย การทำงานอย่างกว้าง มากกว่าลงรายละเอียดในการบริหารจัดการในแต่ละส่วนอย่างเพียงพอที่จะเป็นความรู้ได้ เช่นในกรณีการใช้แนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องทำอย่างไรแบบไหน หรือ การใช้กลไกการกำกับดูแลผ่านสภาผู้ชมผู้ฟัง ที่หากนำเข้ามาปฏิบัติใช้จริง กลับพบว่าความรู้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ
นอกจากนั้นจากการปฏิบัติการ “หลังจอ “หน้าจอ” ของ ThaiPBS มาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยังทำให้คำว่า “สิทธิในการสื่อสาร” “สิทธิการเข้าถึงสื่อ” ปรากฏเป็นรูปธรรม จับต้องได้อย่างชัดเจน ผลจากการวิจัยการมีส่วนร่วมระหว่างสื่อสาธารณะและภาคประชาชน ดังที่ได้อ้างข้างต้น พบว่า การปฏิบัติการร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมและ ThaiPBS ในช่วงศึกษาแสดงให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมของคน หรือกลุ่มประชาชนในกระบวนการสื่อสารเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นและทำได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นการฝ่ามายาคติที่แบ่งแยกบทบาทคนดูและคนทำสื่อมาโดยตลอด และที่สำคัญของการทำงานร่วมกันอีกประการหนึ่งก็คือการทำให้คนสื่อมืออาชีพได้รับประสบการณ์สำคัญในการเรียนรู้การทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด ที่ช่วยลดอคติ ความไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อมั่น และการผูกขาดความรู้ของคนสื่อมืออาชีพอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในการทำงานของสถานีฯ โทรทัศน์ของไทยมาก่อน
มากไปกว่านั้น กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนและคนทำสื่อมืออาชีพดังกล่าว ยังเป็นการทลายความกลัว ความไม่มั่นใจและความไม่สนใจที่มีต่อสิทธิการสื่อสาร เข้าถึง และมีส่วนร่วมในสื่อของคนท้องถิ่น อันจะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาท้องถิ่นหรือชุมชนของพวกเขาให้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองและชุมชนในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิมีเสียงต่อการกำหนดความเป็นไปของชุมชนท้องถิ่นเขาลง
นอกเหนือจากความรู้ทางด้านระบบการบริหารจัดการแล้ว การทำงาน “หน้าจอ” ของ ThaiPBS ยังกล่าวเป็นแหล่งศึกษาเพื่อผลิตทางด้านรายการ มาตรฐานทางด้านการผลิตรายการ การผลิตข่าว กระบวนการสร้างนักข่าวพลเมือง ฯลฯ ที่ในแวดวงวิชาการที่มีหน้าที่หา “ชุดคำอธิบาย คำพยากรณ์ และแนวทางจัดการ” ให้สอดรับและเท่าทันโลกการสื่อสารที่มีการเปลี่ยนแปลง
ดังนั้นของการเกิดขึ้นของสื่อสาธารณะ จึงเปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการทางสังคมที่มีคุณค่าสำหรับ วิชาการด้านการสื่อสารมวลชนทั้งในด้านการผลิต ความรู้ ความเข้าใจ และหาแนวทางวิธีการใหม่ๆ ในการพัฒนาให้สื่อสาธารณะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะชนให้มากที่สุด
มิติด้านการเรียนการสอน ที่นิสิตได้รับประโยชน์
ผู้เขียนมักถามกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมกับ ThaiPBS เสมอเมื่อมีโอกาสพานิสิตไปร่วมกิจกรรมว่า “ทำไมสถานีฯ โทรทัศน์ช่องนี้ถึงต้องทำแบบนี้” (หมายถึงการให้นิสิต นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการสื่อสาร และการฝึกทักษะการเป็นผู้สื่อข่าว ทั้งในเวทีภูมิภาคและส่วนกลาง) คำตอบที่ได้รับคล้าย ๆ กันก็คือ ก็เพราะสถานีฯ แห่งนี้เป็นสื่อสาธารณะ ที่ต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้สร้างเนื้อหาผ่านหน้าจอโดยตรง หรือฝึกทักษะเพื่อเป็นนักสื่อสารที่ดี ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นกระบวนการที่ทำให้พวกเขาเติบโตขึ้น และกลายเป็นสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ
จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเป็นผู้สอนทางด้านนิเทศศาสตร์ อยู่ในต่างจังหวัด ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าถึงองค์กรสื่อทางกายภาพเป็นเรื่องที่ลำบาก และทำได้ไม่บ่อย แต่ที่ผ่านมา องค์กรสื่อสาธารณะได้ขยับเส้นห่างดังกล่าวให้ใกล้มากขึ้นโดยกำหนดหน้าที่ให้กับหน่วยงานที่ดูแลด้านการพัฒนาเครือข่ายสื่อที่เน้นการทำงานหลังจอเพื่อยกระดับหรือหนุนเสริมศักยภาพของคนทำงาน ซึ่งหมายรวมถึงนิสิตนักศึกษาทั้งที่เรียนและไม่เรียนทางด้านนิเทศศาสตร์ได้มีเวทีในการแสดงออก และฝึกทักษะการทำงานแบบสื่อมวลชนมืออาชีพในหลายรูปแบบ ในลักษณะทั้งเชิงรุกเข้าไปในพื้นที่ต่างจังหวัดและดึงให้นิสิตเข้ามาเรียนรู้ในเวทีการทำงานแบบนักสื่อสารในสถานการณ์จริงในเมืองหลวง ล่าสุดการระดมนิสิตนักศึกษาที่สนใจทางด้านการสื่อสาร การเป็นผู้สื่อข่าว เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างเข้มข้นในด้วยกระบวนการสื่อสารแบบ Multi Platform ในมิติของอาเซียน จนกลุ่มนิสิตรวมตัวกันเป็นกลุ่ม AYM -Asian Youth Media และให้เยาวชนได้ร่วมปฏิบัติการสื่อในเวทีการประชุมสุดยอดสื่อมวลชนโลก AMS ที่จัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร ในลักษณะคู่ขนานไปกับสื่อมวลชนมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศ
กิจกรรมเหล่านั้นไม่เพียงแต่สร้างความภาคภูมิใจและฝึกฝนทักษะด้านการเป็นผู้สื่อข่าวให้กับนิสิตเท่านั้น แต่ยังทำให้นิสิตเหล่านั้นเติบโต และเข้มแข็ง ซึ่งผู้เขียนสัมผัสได้จากมุมมอง ทัศนคติ และการทำงานของนิสิตที่ผ่านกระบวนการอย่างเข้มข้นร่วมกับสื่อสาธารณะ แต่ประเด็นสำคัญคงไม่ใช่เพียงให้พวกเขาเป็นนักข่าวที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือได้ติดตั้งวิธีคิดแบบสื่อสาธารณะให้กับพวกเขา ที่พวกเขากลับมาต่อยอดและถ่ายทอดแนวคิดและวิธีการทำงานเหล่านั้นให้กับรุ่นน้องและเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัย เช่นการจัดตั้งชมรมนักข่าว หรือการสร้างกลไกการทำงานด้านการสื่อสารผ่านช่องทางการสื่อใหม่ที่พวกเขากำหนดขึ้นเอง เพื่อทำงานตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่ของเขา เช่นกลุ่ม นิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา ยังคงมีการผลิตข่าวภายในจังหวัดส่งให้กับช่วงข่าวพลเมือง และจัดตั้งเป็นกลุ่มสื่อ AYM UP MEDIA ที่เปิดกว้างให้กับเพื่อน ๆ ที่เรียนทางด้านนิเทศศาสตร์และสาขาอื่นๆ ได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน หรือกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีการสร้างช่องทางการสื่อสารและจัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อทำงานสื่อสารเรื่องราวของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองที่พวกเขาสื่อสารเอง ดังที่ได้พวกเขาได้แนะนำกลุ่มผ่านทางเฟซบุ๊คว่า
"ชมรมสื่อสันติภาพ" หรือเรียกสั้นๆว่า (PEACE MEDIA) ซึ่งเป็นชมรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ได้ร่วมเรียนรู้พร้อมกับปฏิบัติการสื่อสารแห่งอนาคต โดยได้เล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสาร เเละได้นำรูปแบบการสื่อสารแห่งอนาคต นั้นก็คือ รูปแบบ Muiti-Platform นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมร้อยสื่อต่าง ๆ เข้าด้วยกันด้วยทาง https://www.facebook.com/groups/315379035210573/ เสมือนโชว์รูมร่วมกัน มีทั้งข่าว รายงานพิเศษ ทั้งในรูปแบบวิดีโอ งานวิทยุกระจายเสียง งานเขียน ภาพถ่าย สื่อเครือข่ายสังคม ที่เชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ นับเป็นการบูรณาการเครื่องมือที่มีอยู่ ด้วยทุกทักษะที่มี เต็มศักยภาพแห่งพลังของเยาวชน เพื่อสื่อสารกับสังคม จะทำให้โลกเกิดความสงบสุขและเกิดสันติภาพได้”
ในฐานะครูคนหนึ่งจึงภูมิใจที่สามารถสร้างพื้นที่และมีเครือข่ายสื่อขนาดใหญ่มาช่วยกันสร้างนิสิตให้มีโอกาส วิธีคิด และวิธีการทำงานเพื่อสาธารณะอย่างมืออาชีพที่ไม่โดยไม่หลงลืมหรือทอดทิ้งคนส่วนใหญ่ของสังคม และมองเห็นว่าการสื่อสารคือสิทธิและหน้าที่ของคนทุกคนที่จะสื่อสาร
จากปรัชญาของสื่อสาธารณะที่มีเพื่อคานอำนาจระหว่างทุน การเมืองและสาธารณะชน จึงทำให้เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการคัดค้านและรู้สึกขวางหูขวางตา ซึ่งจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่วันนี้ การมีสื่อสาธารณะในสังคมไทย ได้เดินทางมาไกลพอที่จะทำให้สังคมรู้ว่าสื่อสาธารณะมี “คุณค่า” ที่ “ขาดไม่ได้” และจำเป็นต้อง “ดำรงอยู่” แม้จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ซึ่งก็เปรียบเสมือนที่เราต้องกินข้าว แต่บางวันอาจเลือกกินอย่างอื่นบ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมากินข้าวอยู่นั่นเอง
แต่การดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าได้นั้น ประเด็นสำคัญก็คือ ภาคประชาชนหรือสาธารณชน จะต้องช่วยกัน ดูแล ตรวจสอบ และเข้ามามีส่วนร่วมในการก้าวเดินขององค์กรอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันองค์กรและผู้บริหารสื่อสาธารณะก็ต้องไม่ติดกับของวาทกรรมหรือมายาคติเหล่านั้นจนไม่กล้าขยับตัว แต่ตรงกันข้ามต้องมีความกล้าพอที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และมีจุดยืนในความเป็นสื่อสาธารณะที่เหมาะกับสภาพบริบทของสังคมไทยยึดถือสาธารณะเป็นหัวใจของการทำงานให้ชัดเจน ซึ่งระหว่างทาง อาจเจออุปสรรค ความเจ็บปวดมากถึงมากที่สุด อาจต้องแวะข้างทางบ้างเพื่อเรียนรู้ หรือพักบ้างเพื่อทบทวน หรืออาจเจอกับคนทำงานที่ดีหรือไม่ดี แต่ผู้คนเหล่านั้นจะหมุนเวียนหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรย่อมเป็นไปตามเงื่อนไข แต่ตัวตนและบทบาทของ “สื่อสาธารณะ” ต่างหากเล่า ที่ยังคงต้องอยู่ต่อไป