5 ข้อเท็จจริง-จุดยืน กรณีปลดบอร์ด สสส.-บอนไซขบวนการภาคประชาชน

5 ข้อเท็จจริง-จุดยืน กรณีปลดบอร์ด สสส.-บอนไซขบวนการภาคประชาชน

คำแถลงขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน กรณีการบอนไซขบวนการภาคประชาชนด้วยการปลดบอร์ด สสส. การระงับการอนุมัติและงบประมาณการดำเนินงานโครงการ รวมทั้งการใช้มาตรการภาษีคุกคามองค์กรภาคประชาสังคมโดยไม่ชอบธรรม

20161201001808.jpg

11 ม.ค. 2559 เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (Thai Health Movement) ซึ่งเป็นการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายวิชาการ และเครือข่ายองค์กรประชาชน รวม 20 เครือข่าย แถลงจุดยืน จำนวน 5 ข้อ หลังการหารือร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาที่เชื่อมโยงกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ชั้น 4 อาคารคริสตจักรแห่งประเทศไทย 

สืบเนื่องจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ปลดกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จำนวน 7 คน ประกอบด้วย นพ.วิชัย โชควิวัฒน, ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี, นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ, นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์, นายสมพร ใช้บางยาง, รศ.ประภาภัทร นิยม และนายวิเชียร พงศธร จากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา

คำแถลงมีดังนี้

คำแถลงขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน
กรณีการบอนไซขบวนการภาคประชาชนด้วยการปลดบอร์ด สสส.
การระงับการอนุมัติและงบประมาณการดำเนินงานโครงการ
รวมทั้งการใช้มาตรการภาษีคุกคามองค์กรภาคประชาสังคมโดยไม่ชอบธรรม

ที่รัฐบาลได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งทำงานใกล้ชิดกับองค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่นรวม 7 คนออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 โดยก่อนหน้านั้น 3 เดือนคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้เข้ามาควบคุมการอนุมัติและระงับการจ่ายงบประมาณให้กับโครงการที่ได้ดำเนินการทำความตกลง อีกทั้งได้มีคำสั่งจากผู้มีอำนาจให้กรมสรรพากรตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปีจากองค์กรภาคประชาสังคมอย่างไม่ชอบธรรม

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ซึ่งเป็นการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายวิชาการ และเครือข่ายองค์กรประชาชน รวม 20 เครือข่าย ขอแถลงจุดยืนและข้อเท็จจริงต่อประชาชนในกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. ปัญหาการปลดบอร์ด สสส.และการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนเห็นว่า การปลดบอร์ดของ สสส.ทั้ง 7 คนเป็นไปโดยไม่ชอบธรรม เนื่องจากไม่พบการทุจริต อีกทั้งการดำรงตำแหน่งของกรรมการก็มีคุณสมบัติเป็นไปตามกฎหมายซึ่งตราไว้ หากการปลดบอร์ดทั้ง 7 คนด้วยเหตุผลซึ่งนายกรัฐมนตรีอ้างว่าเพื่อไม่ให้ขัดขวางการตรวจสอบ ดังนั้นเมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้นลง และพบว่ากรรมการที่ถูกปลดออกไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่บกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ได้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ รัฐบาลต้องคืนความเป็นธรรมให้กับคณะกรรมการทุกท่าน เพื่อกู้เกียรติยศ ศักดิ์ศรี และประวัติการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงตรง และยุติธรรมของคณะกรรมการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวโดยเร็ว 

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนมีข้อเสนอ ดังนี้คือ 

1.1 ยกเลิกการสั่งที่ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ “พ้นจากการเป็นกรรมการและการดำรงตำแหน่งในกองทุนดังกล่าว” เพื่อให้คณะกรรมการสามารถกลับเข้ามาปฏิบัติงานได้หลังการตรวจสอบเสร็จสิ้นลงโดยเร็ว

1.2 ขณะนี้สัดส่วนของคณะกรรมการของ สสส.เหลือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 2 คน และมีกรรมการจากสัดส่วนภาครัฐ 11 คน ดังนั้นหากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่ประสงค์จะดำรงตำแหน่งต่อ กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งซึ่งขาดการถ่วงดุลจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาจได้กรรมการซึ่งมีคุณสมบัติที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการของ สสส.ที่เหลืออยู่ และคณะรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสรรหาและแต่งตั้ง ดำเนินการเพื่อให้ได้คณะกรรมการที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1) กรรมการผู้ทรงคุณวุติทั้ง 7 คนต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต และมีผลงานที่เป็นประจักษ์ในด้านต่างๆตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยต้องมีคุณสมบัติไม่ด้อยไปกว่าคณะกรรมการทั้ง 7 คนที่พ้นจากหน้าที่ไป

2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านแอลกอฮอล์ บุหรี่ อาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งต้องไม่มีความสัมพันธ์ หรือทัศนคติในทิศทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูประบบสุขภาพที่มุ่งสร้างความเท่าเทียมเป็นเป็นธรรมด้านสุขภาพ และต้องมาจากภาคเอกชนอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง จากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด 8 คน ตามมาตรา 17(5) ตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544

1.3 ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนจะติดตามความคืบหน้าการประชุมของคณะกรรมการ สสส.ในวันที่ 15 มกราคม 2558 อย่างใกล้ชิด หากพบว่าการแต่งตั้งผู้จัดการ การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นโดยมิชอบ รวมทั้งไม่มีความคืบหน้าเพื่อแก้ปัญหาข้างต้น ขบวนการฯ จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งจะแถลงต่อสื่อมวลชนต่อไป

2.กรณีการระงับการจ่ายงบประมาณดำเนินการและไม่อนุมัติโครงการที่มีงบประมาณเกิน 5 ล้านบาท

การระงับการจ่ายเงินให้แก่โครงการที่ได้ลงนามในความตกลงร่วมปฏิบัติงานร่วมกับ สสส.แล้วมีจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,953 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นโครงการที่งบประมาณเกิน 5 ล้านบาทจำนวน 515 โครงการ รวมงบประมาณ 1,643 ล้านบาท โดยจะมีผู้ปฏิบัติงานในองค์กรต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 5,200 คน ในจำนวนนี้มีมากกว่า 3,400 คนที่ขาดงบประมาณดำเนินการและค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนานเกิน 3 เดือน 

งบประมาณที่สนับสนุนในโครงการต่างๆ นั้นจะเกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติงานในโครงการย่อยๆ และอาสาสมัครไม่เต็มเวลาที่ร่วมกันทำงานให้กับสสส.อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ขณะนี้ผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับคาดว่าน่าจะเกิน 10,000 คน

20161201001845.jpg

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่มากไปกว่านั้นคือผลกระทบจากการที่ประชาชนในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก เยาวชน แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ประชาชนในชุมชนแออัด ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งขาดโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากกิจกรรมและโครงการที่ลดปัจจัยเสี่ยงเรื่องสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ สารเคมี ขยะของเสียอันตราย ไปจนถึงการส่งเสริมสุขภาพ เช่น เกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย และการออกกำลังกาย เป็นต้น

การระงับโครงการของสสส.ยังกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมของหน่วยงานรัฐด้วยเนื่องจากสัดส่วนงบประมาณที่สสส.ให้กับหน่วยงานของรัฐในรอบ 15 ปีนั้นเป็นการสนับสนุนให้กับหน่วยงานของรัฐมากที่สุด เฉพาะในกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีโครงการที่มีข้อจำกัดจากงบประมาณปกติแต่ได้รับการสนับสนุนจากสสส.ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น เครื่องมือประเมินเด็กปฐมวัย การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก การแก้ปัญหาตั้งครรภ์วัยรุ่น ต้นแบบโรงเรียนสุขภาวะ ระบบการให้คำปรึกษาในศาล การดูแลเด็กในกระบวนการยุติธรรม รูปแบบการรักษาสุรายาเสพติด การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นต้น

การระงับการจ่ายงบประมาณ และการไม่อนุมัติโครงการใหม่ๆ คาดว่าจะส่งผลกระทบและการสูญเสียโอกาสในการมีระบบสุขภาวะที่ดีในหมู่ประชาชนนับแสนนับล้านคน 

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

โครงการที่ภาคีร่วมดำเนินงานกับ สสส. ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามสัญญาที่ทำไว้ร่วมกัน หากโครงการยังคงถูกแช่แข็ง ไม่จ่ายเงินตามงวดความตกลงที่ได้ลงนามไว้ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนจะดำเนินการยื่นฟ้อง สสส. ต่อศาลปกครอง 

20161201002420.jpg

3. กรณีผู้มีอำนาจสั่งการให้มีการไล่เบี้ยเก็บภาษีมูลนิธิและและองค์กรต่างๆ ที่ร่วมปฏิบัติงานกับ สสส.

นอกเหนือจากผลกระทบจากการระงับงบประมาณดำเนินการแล้ว ยังมีการดำเนินการให้กรมสรรพากรไล่เบี้ยเก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปีกับมูลนิธิและองค์กรต่างๆที่ร่วมปฏิบัติงานกับสสส. โดยอ้างว่า การดำเนินงานของมูลนิธิและองค์กรต่างๆเป็นการรับจ้างทำของ ซึ่งต้องเสียภาษีและตีตราอากร ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ดังนี้

1) องค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมปฏิบัติงานกับสสส.นั้นไม่ได้สัมพันธ์กับสสส.ในฐานะ “ผู้รับจ้างทำของ” แต่เป็น “ผู้ดำเนินงานแทนสสส.” โดยในความตกลงของสสส.กับภาคีนั้นจะมีการลงนามในความตกลงที่เรียกว่า “ข้อตกลงการปฏิบัติงาน” ไม่ใช่ “สัญญารับจ้างทำของ” แต่ประการใด ทั้งนี้ โดยสสส.ได้เคยขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดตีความในโครงการที่ลงนามในความตกลงดังกล่าวเมื่อปี 2547 โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบกลับตามหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2547 วินิจฉัยว่าเป็น “การดำเนินการแทน” 

2) ในความตกลงของสสส.ที่ดำเนินการร่วมกับภาคีนั้นได้แยกงบประมาณที่เกี่ยวข้องเป็น 2 ส่วนคือ งบที่เป็นค่าตอบแทนบุคลากร และงบประมาณการดำเนินกิจกรรมตามโครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะ “ซึ่งต้องเป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดที่สสส.กำหนด” และถือว่าเป็น “ผลงานของสสส.” โดยในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนบุคคลากรจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยสสส.จะหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก่อนโอนงบประมาณให้กับมูลนิธิและองค์กรร่วมปฏิบัติงาน

ส่วนงบประมาณเกี่ยวกับการดำเนินงานร่วมกับสสส.นั้นไม่ได้เป็นรายได้เพื่อเอามาแบ่งปันกัน แต่จะใช้ดำเนินเพื่อสาธารณประโยชน์ตามความตกลงกับสสส. ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นต้องมีการเก็บใบเสร็จหลักฐานต่างๆ เอาไว้ทั้งหมด หากมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายเหล่านี้ต้องส่งคืนสสส.ตอนหมดสัญญา หากมีการจัดซื้ออุปกรณ์หรือคุรุภัณฑ์ใดๆ ระหว่างการดำเนินกิจกรรม อุปกรณ์เหล่านั้นถือว่าเป็นทรัพย์สินของสสส.ทั้งหมด ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสัญญาการรับจ้างทำของ

ส่วนในกรณีที่งบกิจกรรมนั้นต้องมีค่าตอบแทนบุคคลอื่น หรือต้องจ่ายสำหรับงานบริการต่างๆ จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นการทำหน้าที่แทนสรรพากรและสสส.

3) ผู้ปฏิบัติงานในมูลนิธิและองค์กรต่างๆ ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามเงินเดือนที่แต่ละคนได้รับตามความเป็นจริงทุกประการ

4) ปัญหาความเดือดร้อนขณะนี้เกิดขึ้นจากกรณีที่กรมสรรพากรไล่เรียกเก็บภาษีย้อนหลังมูลนิธิและองค์กรต่างๆ ย้อนหลัง 5 ปี และตีความอย่างไม่ชอบธรรมว่าความตกลงดังกล่าว “เป็นสัญญาจ้างทำของ” ต้องเสียภาษีในอัตรา 3% และต้องติดตราสารอากรในอัตรา 1 บาท ต่อทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท (0.001%) พร้อมเบี้ยปรับ 5-6 เท่า ของงบประมาณดำเนินการ สร้างความตระหนกทั้งต่อมูลนิธิและองค์กรที่ร่วมปฏิบัติงานกับสสส.และโครงการย่อยต่างๆ ที่ร่วมปฏิบัติงาน 

ทั้งนี้เนื่องจากต้องใช้เงินประมาณ 800 ล้านบาทสำหรับภาษีอากรและค่าปรับ ซึ่งแม้เมื่อแยกย่อยไปตามความตกลงแต่ละโครงการแล้วก็ตาม ก็จะไม่มีองค์กรใดที่มีความสามารถพอที่จะจ่ายได้

การดำเนินการไล่เบี้ยเก็บภาษีจากองค์กรสาธารณประโยชน์ดังกล่าว และอาจมีปัญหาเรื่องวินัยจึงถือเป็นการคุกคามการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมอย่างร้ายแรงซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

เครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนฯ มีข้อเรียกร้อง ดังนี้คือ

3.1 ให้หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กรมสรรพากร และสรรพากรจังหวัดทุกจังหวัด ยุติการคุกคามองค์กรต่างๆ

3.2 ให้คณะกรรมการ สสส.ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ “ข้อตกลงการปฏิบัติงาน” ระหว่างภาคีและสสส.ไม่ใช่ “การรับจ้างทำของ” แต่เป็นการดำเนินงานเพื่อสาธารณประโยชน์

3.3 ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนจะร่วมมือกันฟ้องร้องเพื่อยกเลิกประกาศกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

20161201002432.jpg

4. ข้อเสนอการปฏิรูป สสส.

เราเห็นว่าการดำรงอยู่ของสสส. สปสช. หรือกลไกอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพที่กระจายการผูกขาดและรวมศูนย์เกี่ยวกับการส่งเสริมระบบสุขภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสุขภาพและการที่ภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูประบบสุขภาพไม่ให้รวมศูนย์อยู่ภายใต้ระบบราชการเหมือนที่เคยเป็นมา สสส.เป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบใหม่ ซึ่งมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย อย่างไรก็ตาม สสส.ก็ควรปฏิรูป เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความโปร่งใสให้เพิ่มมากขึ้น 

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนฯ มีข้อเรียกร้องดังนี้คือ

4.1 เพิ่มการสนับสนุนโครงการแก่องค์กรและประชาชนเพื่อสร้างความเท่าเทียมในระบบสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มโครงการ กิจกรรม และทุ่มเทงบประมาณที่มีเป้าหมายสำหรับกลุ่มคนด้อยโอกาส ทั้งในเมืองและชนบท 

4.2 เพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการและกรรมการระดับต่างๆ ให้มีผู้ที่มีผลงานและประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาด้านต่างเข้ามามีบทบาทในสสส.ให้เพิ่มมากขึ้นไม่ให้จำกัดเฉพาะกลุ่มเดิม ปรับทิศทางการทำงานให้ใกล้ชิดกับองค์กรภาคประชาสังคมโดยตรงมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรประชาชน แทนการทำงานผ่านผู้เชี่ยวชาญซึ่งอยู่ในเครือข่ายใกล้ชิดสสส.เป็นหลักเช่นที่ผ่านมา

4.3 สนับสนุนให้ออกระเบียบใหม่ที่ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการและผู้ได้ประโยชน์จากการรับทุนอย่างเข้มงวด 

4.4 กระจายระบบการสนับสนุนทุนให้มีการตัดสินใจในระดับภูมิภาค 

4.5 ประเมินผลการดำเนินงานของสสส. และการประเมินการทำงานของผู้บริหารของสสส.โดยโปร่งใสและมีส่วนร่วมโดยภาคีให้มากขึ้น 

5. กรณีโครงการประชารัฐ

ตามที่สื่อมวลชนได้รายงานการพบปะระหว่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคตร. ประธานบอร์ด สสส. และผู้รับผิดชอบโครงการประชารัฐ โดยมีการหารือกรณีการเดินหน้านโยบายประชารัฐที่ไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะคตร.ไม่อนุมัติโครงการเช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ของสสส. และนายกได้สั่งการให้แก้ไขโดยแยกโครงการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.โครงการที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ สสส. และไม่มีข้อกังขาให้ผ่านการพิจารณา 2.โครงการประชารัฐของรัฐบาลที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะชุมชน สังคม และฐานรากให้ได้รับการผ่านพิจารณา 3.โครงการอื่นๆที่ไม่เข้าข่ายสองข้อข้างต้น ก็ให้ไปปรับแก้ไขและเสนอเข้ามาตามกระบวนการ

การดำเนินการดังกล่าวชี้ว่า การตีความว่าการดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาวะของชุมชน และสังคมของสสส.ที่คตร.ชี้ว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เกินขอบเขตความหมายของเรื่องสุขภาพ จนนำมาสู่การตรวจสอบสสส. และแช่แข็งโครงการของสสส. ล้วนแล้วแต่เป็นความเข้าใจผิดของคตร. ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการที่สสส.ดำเนินการมาโดยตลอดล้วนแล้วแต่มีการดำเนินการไม่แตกต่างกับโครงการภายใต้นโยบาย “ประชารัฐ” ที่ขอเสนอทุนสนับสนุนจากสสส.แต่ประการใด การปลดบอร์ดสสส. และการบีบให้อดีตผู้จัดการสสส.ต้องลาออกก่อนหน้านี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากความเข้าใจผิดของหน่วยงานที่ตรวจสอบทั้งสิ้น 

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนฯ จะติดตามการดำเนินการโครงการประชารัฐในส่วนที่ขอรับทุนสนับสนุนจาก สสส. ว่า

5.1 จะมีการใช้งบประมาณในโครงการประชารัฐมากจนเกิดผลกระทบต่อการดำเนินการปกติของสสส. ซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาชนด้อยโอกาสหรือไม่อย่างไร 

5.2 ตรวจสอบการดำเนินการในโครงการ “ประชารัฐ” ที่มีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องมาจากกลุ่มธุรกิจด้าน การเกษตร/อาหาร และธุรกิจแอลกอฮอล์ ร่วมด้วยว่า ได้ดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ สสส. หรือเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุน

5.3 ติดตามผลการประชุมของบอร์ด สสส.ในวันที่ 15 มกราคม 2588 เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้จัดการสสส.คนใหม่ การดำเนินการสรรหาบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิ และความคืบหน้าการแช่แข็งโครงการ ว่าจะมีการดำเนินการไปในทิศทางใด

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนเห็นว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นกับ สสส.ได้ทำให้ทั้งภาคีต่างๆ รวมทั้งประชาชน และสื่อมวลชนได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการนำเสนอความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการปรับปรุงและพัฒนากลไกการปฏิรูประบบสุขภาพ เพื่อให้เป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง เราจะยังคงทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหา และการปฏิรูปสสส. ทั้งนี้ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนจะเคลื่อนไหวเพื่อให้ข้อเรียกร้องตามที่ได้นำเสนอไปแล้วให้ปรากฏเป็นจริง

เราเชื่อมั่นในพลังของประชาชนมากกว่าการฝากอนาคต “การปฏิรูป” ในมือของผู้มีอำนาจ

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (Thai Health Movement)
11 มกราคม 2559

20161201002352.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ