3G และดิจิตอล ทีวี ความก้าวไกลของเทคโนโลยี จุดเปลี่ยนของสังคมไทย โดย อธิป ทรู

3G และดิจิตอล ทีวี ความก้าวไกลของเทคโนโลยี จุดเปลี่ยนของสังคมไทย โดย อธิป ทรู

3G และดิจิตอล ทีวี ความก้าวไกลของเทคโนโลยี จุดเปลี่ยนของสังคมไทย

โดย..ดร.อธิป อัศวานันท์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และนวัตกรรม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 3G ที่มีสามารถรองรับการหลอมรวมสื่อในทุกด้านในการนำเสนอรายละเอียดข้อมูลข่าวสาร การติดต่อถึงกันที่รวดเร็ว ย่อมสามารถทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง และเป็นอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ดีกว่า เทคโนโลยีใช้สาย และเทคโนโลยีแบบเดิมทั้งหมด

และยิ่งมีการพัฒนาโทรศัพท์มือถือ Smartphones ในระดับราคาที่ลูกค้าเป็นเจ้าของได้ง่าย คนในสังคมสามารถก็ยิ่งเข้าถึงอินเตอร์เน็ต โดยใช้ Smartphones เป็นอุปกรณ์หลัก และ 3G เป็นโครงข่ายหลักเสมือนถนนที่นำพาความเจริญไปสู่ทั่วทุกภูมิภาค

การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งเพราะจะพลิกวิถีชีวิตของคนไทยแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
หากมองย้อนกลับไปประมาณ 2 ปีก่อน  3G จะเป็นเรื่องที่เป็นกระแสพอสมควรคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)ชุดที่แล้วมีความพยายามที่จะจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ 3G แต่ถูกศาลปกครองระงับไปก่อน ปัจจุบัน มีหน่วยงานใหม่ที่เรียกว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ซึ่งมีภารกิจหลายเรื่องแต่ที่ได้รับความสนใจตอนนี้

เรื่องแรก คือ เรื่องของ 3G ที่ค้างมาจากสมัยที่แล้ว ส่วนเรื่องที่สองคือเรื่องของดิจิตอลทีวีที่ค่อนข้างจะได้รับความสนใจมากเพราะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายกว่าสำหรับคนส่วนใหญ่

มองในมุมของกฎหมายประเทศไทยนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 มาไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ได้ เมื่อมีการจัดตั้งกสทช.ขึ้นมาก็สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้ บทบาทของกสทช.แบ่งเป็นฝั่งโทรคมนาคมกับฝั่งบรอดแคสต์ ฝั่งโทรคมนาคมหน้าที่แรกเลย คือการจัดสรรคลื่นความถี่ 2100 MHz เพื่อประมูลเป็น 3G ส่วนด้านของบรอดแคสต์ก็นำคลื่นความถี่ทั้งของเดิมและของใหม่มาจัดสรรเป็นดิจิตอลทีวี

อุปสรรคของ 3G คือคลื่นความถี่ 2100 MHz เป็นคลื่นใหม่ที่ดีที่สุด แต่ติดปัญหาทางกฎหมายทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ได้  ผู้ประกอบการในปัจจุบันจึงหาทางออกทางอื่น โดยการใช้คลื่นความถี่เดิมมาใช้ ดังกรณีของทรูที่ทำ 3G กับคลื่นความถี่ 850 MHz กรณีของดีแทคและเอไอเอสที่เริ่มทำ 3G ไปแล้ว

ถ้าจะถามว่า 3G มีประโยชน์ยังไง จุดแรก คือ ทำให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตง่ายมากขึ้น ดังนั้นจากตัวเลขเดิมที่มีผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตอยู่ประมาณ 20 กว่าเปอร์เซ็น อาจจะขยับขึ้นถึง 80% ของประเทศ ในขณะที่เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจากเดิมอยู่ที่ 2-5% ก็มีโอกาสขึ้นถึง 80%

ซึ่งหากดูจากตัวเลขแนวโน้มผู้ใช้ Smartphone จะพบว่าอีก 2 หรือ 3 ปีข้างหน้า ครึ่งหนึ่งของประชากรไทยจะสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือในรูปแบบของไอโฟนและแอนดรอยด์ได้

ความก้าวไกลของเทคโนโลยีกำลังจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งไม่เพียงแค่ 3G เท่านั้น ปลายปีนี้ทุกคนจะเห็นอีกปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กัน นั่นคือ  การเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อกสู่ดิจิตอลทีวี ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนรอคอยมานานมาก

ข้อสังเกตจากงานสัมมนาในหัวข้อเกี่ยวกับบทบาทของกสทช.ในหลายเวทีได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า การหลอมรวมสื่อหรือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างโทรคมนาคมที่จะเป็น 3G หรือ กระทั่ง 4G กับดิจิตอลทีวี คนจำนวนหนึ่งจะตื่นเต้นกับดิจิตอลทีวี เพราะทุกบ้านมีทีวี และทีวีที่คนทุกรุ่นทุกวัยมีไว้เสพข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิงกำลังจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่มีอยู่แค่เพียง 6 ช่อง คือ  3,5,7,9,11 และ ThaiPBS เป็น 100 กว่าช่อง แถมยังเป็นฟรีทีวีไม่ต้องผ่านจานดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวี ให้ผู้บริโภคได้เลือกดูกันได้แบบสบาย ๆโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือน

อุตสาหกรรมโทรทัศน์ของประเทศไทยที่เป็นที่รู้กันว่าใหญ่มาก เพราะมีลักษณะเป็น National TV มีรายได้รวมกันทั้งประเทศประมาณ 100,000-150,000 ล้านบาท เมื่อประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนจากระบบอนาลอกมาเป็นดิจิตอลทีวี รายได้ตรงนี้จะไม่กระจุกตัวอยู่แค่ทีวี 6 ช่องเหมือนในอดีตแต่จะกระจายไปสู่รายย่อย จะมีการปฎิรูปการใช้โทรทัศน์เพื่อการสื่อสาร การโฆษณา ในหลากหลายรูปแบบ มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร อุตสาหกรรม การศึกษา ก็สามารถมีช่องของตัวเองได้เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายโดยตรง

เมื่อถึงจุดนั้น คนไทยในฐานะผู้บริโภคต้องปรับตัวอย่างไร ถ้าดูตัวอย่างของประเทศต่างๆ ผู้บริโภคที่จะรับชมดิจิตอลทีวีไม่ต้องเปลี่ยนทีวีแต่อาจจะต้องมี Set-top Box ส่วนเสาอากาศใช้ของเดิมได้ แต่สามารถรับชมรายการได้มากกว่า 100 ช่อง
สิ่งที่น่าจับตานอกจากการปรับตัวของฟรีทีวีเดิม 3,5,7,9,11 และ ThaiPBS แล้ว เคเบิ้ลทีวี ที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 200 กว่าช่องจะสร้างความแตกต่างอย่างไรกับดิจิตอลทีวีที่กำลังเกิดใหม่

จะเห็นว่าทั้งเทคโนโลยี 3G หรือแม้แต่ดิจิตอลทีวี ล้วนเป็นเรื่องใหม่ใกล้ตัวที่พวกเราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี คือโจทย์ที่เปลี่ยนไปขององค์กรธุรกิจ

ที่มา: คอลัมน์ คุยกับซีพี ปีที่ 2 ฉบับที่ 38 l ประจำวันที่ 9 เมษายน 2555

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ