18 เครือข่ายประชาชน ร้องยกเลิกแผนพีดีพี 2015 ทำใหม่ให้มีส่วนร่วม

18 เครือข่ายประชาชน ร้องยกเลิกแผนพีดีพี 2015 ทำใหม่ให้มีส่วนร่วม

เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ร้องยกเลิก แผนพีดีพี 2015 เพื่อจัดทำแผนใหม่ด้วยกระบวนการที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ด้านคนกระบี่ชี้บทเรียนผลกระทบโรงไฟฟ้าน้ำมันเตา เรือขนส่งทำระบบนิเวศทะเลเสียหาย 

20150809163626.jpg

รายงานโดย: พิมพ์กมล พิจิตรศิริ

7 ก.ย. 2558 เวลาประมาณ 10.30 น. ที่กระทรวงพลังงาน เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 18 องค์กร จากหลายพื้นที่ อาทิ จ.กระบี่ อ.เทพา จ.สงขลา ลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน จ.อุบลราชธานี รวมกลุ่มกัน ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ค้านแผนพีดีพี 2015

จากกรณี แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 หรือแผนพีดีพี 2015 ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2558

ข้อเรียกร้อง ของเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 4 ข้อ คือ 1. ยกเลิก แผนพีดีพี 2015 เพื่อให้จัดทำแผนใหม่ ด้วยกระบวนการที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ใช้ในการวางแผน และตรวจสอบการวางแผนได้อย่างโปร่งใส

2. การจัดทำแผนพีดีพีจากนี้ไป ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ คือ ผู้บริโภคต้องไม่รับภาระการลงทุนเกินจำเป็นจากการวางแผนผลิตไฟฟ้าที่ผิดพลาด ก่อนที่จะวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ให้พิจารณาปรับปรุงโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่แล้วและมีกำหนดว่าจะปลดระวาง 

เลือกแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนที่ไม่ใช้พลังงานถ่านหินและนิวเคลียร์ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ต้องไม่ถือเป็นพลังงานหมุนเวียน และการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ต้องไม่ตั้งเพดานการผลิต และส่งเสริมการผลิตให้ได้มากที่สุดเป็นทางเลือกแรก

3. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เทพา และเขาหินซ้อน ซึ่งไม่ได้มีความจำเป็น และยังไม่มีภาระผูกพัน (ยังไม่ทำสัญญา) จะต้องยกเลิก ไม่ดำเนินการต่อ แต่หาก ยังดึงดันที่จะเปิดประมูลต้องหาทางชดใช้ค่าเสียหายในอนาคต โดยไม่ผลักให้เป็นภาระผู้บริโภค

4. การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเพื่อนบ้านและเขื่อนบนแม่น้ำนานาชาติ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันในภูมิภาคโดยไม่สร้างความขัดแย้ง 

ด้านกระทรวงพลังงาน นายธนรัช จังพานิช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านยุทธศาสตร์พลังงาน เป็นตัวแทนรับหนังสือ 

20150809163730.jpg

20150809163709.jpg

ต้นเหตุ คลองยวน เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวถึง เป้าหมายการเดินทางมายืนหนังสือครั้งนี้ว่า เพื่อสะท้อนให้ภาครัฐและ กฟผ.ได้รู้ว่า แผนพีดีพี 2015 ส่งผลกระทบต่อพวกเราชาวประมงชายฝั่งและคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการพัฒนาของรัฐ 

“จากแผนพีดีพี ที่เค้ากำหนดการใช้พลังงาน เรามองว่า พลังงานมันมีเพียงพอ ไม่ควรจะทำเพิ่ม หรือว่าพลังงานทางเลือกมันก็มีเยอะ มันมีอยู่มากมาย ที่มันเป็นพลังงานทดแทนได้ เราก็เลยมาเสนอว่า แผนนี้ น่าจะให้มีหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการที่จะวางแผน” ต้นเหตุกล่าว

ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ยังเล่าถึง ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าน้ำมันเตาของชาวบ้านแหลมหิน ต.คลองรั้ว อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ จากเรือขนส่งน้ำมันเตาว่า ตั้งแต่ปี 2547 เส้นทางที่เดินเรือ น้ำทะเลลึกแค่ 8 เมตร แต่เรือบรรทุกน้ำมันเตาหลายๆ ตันต้องวิ่งผ่านทางน้ำตื้น ทำให้ปะการังเทียมธรรมชาติ และปะการังเทียมที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อทำเป็นบ้านพักของสัตว์ทะเล ถูกทำลายจากเรือบรรทุกน้ำมันเตามานานกว่า 10 ปี 

เส้นทางที่เรือบรรทุกน้ำมันเตาวิ่ง ล้วนเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เช่น เต่าทะเล เต่าตนุ เต่ากระ เต่ามะเฟือง รวมทั้งฉลาม วาฬ โลมา ที่สำคัญคือ พะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ที่จะหายากของกระบี่ การวิ่งเรือบรรทุกน้ำมันดังกล่าวกระทบต่อระบบนิเวศ และคนที่อยู่กับทะเลแถบชายฝั่ง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนทิศทางของเส้นทางน้ำ

“กฟผ. มองว่า ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีแค่ สารปรอท ตะกั่ว ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แต่ผมถามว่า สิ่งแวดล้อมที่อยู่ข้างเราอย่าง สัตว์น้ำ มนุษย์ ต้นไม้ ไม่ใช่สิ่งแวดล้อมใช่หรือเปล่า กฟผ. เขาบอกว่า เค้าไม่พูดถึง เราเลยไม่อยากให้กระบี่เป็นแบบแม่เมาะ คำว่า ถ่านหินสะอาด มีแค่ในนวนิยาย” ต้นเหตุกล่าว

20150809163718.jpg

อิสคาเรส หะยีเด เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวถึง ความกังวลต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ว่า วิถีชีวิตคนในพื้นที่จะเปลี่ยนไป โดยอาจต้องขายที่และย้ายออกไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ และเศรษฐกิจของคนในพื้นที่จะได้รับผลกระทบ เช่น ปลูกยาง แต่ยางไม่มีน้ำยาง ปลาได้รับสารพิษ ทำให้การขนส่งไปยังตลาดการค้าจังหวัดอื่นลำบาก เพราะมีการรับรู้ของความอันตรายจากสารพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน

อีกทั้ง ในเรื่องการท่องเที่ยว การมีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวในอาเซียนที่จะเข้ามาเที่ยวสงขลา-ปัตตานี เพราะคนในพื้นที่สามารถพูดภาษามลายู และอาหรับ ขาดความเชื่อมั่นได้ 

ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากแผนพีดีพี 2015 มีรายละเอียด ดังนี้ 

 

จดหมายเปิดผนึก

ถึง นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

สำเนาถึง ผู้ว่าการ กฟผ.

จาก เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากแผนพีดีพี 2015

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน 2558

สืบเนื่องจากการอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (แผนพีดีพี 2015) ซึ่งจะนำไปสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากถึง 57,459 เมกะวัตต์ในระยะ 20 ปีข้างหน้า โดยอ้างถึงความจำเป็นต่อความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งจากการตรวจสอบเนื้อหาของแผนฯ ฉบับนี้ ทำให้พบความไม่ชอบมาพากลหลายประการ ที่สำคัญคือแผนพีดีพี 2015 จะนำไปสู่การลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เกินความจำเป็น เป็นการลงทุนที่ไม่เกิดประโยชน์ กลายเป็นภาระทางการเงินของผู้บริโภคในระยะยาวคิดเป็นเงินกว่า 6.7 แสนล้านบาท ดังนี้

1. กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองตามแผนสูงเกินมาตรฐาน 15% ไปอย่างมากในช่วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2558-2568) โดยแผนพีดีพี 2015 มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวมากกว่าแผนฯ ฉบับเดิมหลายพันเมกะวัตต์ ทั้งๆ ที่ควรมีการสร้างน้อยลงจากแผนเดิม เนื่องจากการขยายตัวเศรษฐกิจลดลง และมีการเพิ่มเป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงานมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า แผนพีดีพี 2015 จะมีกำลังผลิตส่วนที่เกินกว่ามาตรฐาน 15% สูงถึง 10,214 – 18,099 เมกะวัตต์ ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2579 หรือคิดเป็นเงินลงทุนเฉลี่ยถึง 6.7 แสนล้านบาท ที่ผู้บริโภคจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระโดยไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากโรงไฟฟ้าเหล่านี้เลย

ที่สำคัญ ภายใต้กำลังผลิตสำรองที่สูงเกินมาตรฐานนี้ ยังรวมถึงโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างขึ้นแล้ว แต่ถือว่าเป็นกำลังผลิตที่ไม่พร้อมใช้งาน จำนวน 6,092-13,083 เมกะวัตต์ ซึ่งเฉพาะส่วนนี้ คิดเป็นเงินลงทุนเฉลี่ยถึง 4.6 แสนล้านบาท โดยไม่มีการชี้แจงต่อสาธารณะ ว่าโรงไฟฟ้าจำนวนมหาศาลนี้ เหตุใดจึงไม่พร้อมใช้งาน หรือไม่สามารถใช้เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองได้

2. มีการอ้างว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และ เทพา เป็นโครงการที่ “มีภาระผูกพันแล้ว” ไม่สามารถยกเลิกได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่, เทพา (สงขลา), รวมถึงเขาหินซ้อน (ฉะเชิงเทรา) เป็นโครงการที่ยังไม่มีภาระผูกพันใดๆ และไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างอย่างน้อยในระยะ 12 ปีจากนี้ แม้จะยกเลิกโครงการทั้งสาม กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองก็ยังคงสูงเกิน 15% อยู่ดี จึงน่าแปลกใจที่ กฟผ.พยายามเร่งรัดให้มีการเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ทั้งๆ ที่การจัดทำรายงาน EIA/EHIA โครงการยังไม่แล้วเสร็จ

3. ในช่วง 20 ปีข้างหน้า มีโรงไฟฟ้าที่จะครบกำหนดสัญญาและถูกปลดออกจำนวน 24,736 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้สามารถทำการปรับปรุงประสิทธิภาพ หรือก่อสร้างโรงใหม่ทดแทนโรงเดิมได้อย่างน้อย 21,419 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีผลดีทั้งในด้านต้นทุนที่ต่ำกว่าการพัฒนาโครงการใหม่ทั้งหมด และไม่เพิ่มความขัดแย้งในพื้นที่ใหม่ๆ แต่แผนพีดีพี 2015 กลับมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงเดิมเพียง 10,513 เมกะวัตต์

4. โรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างใหม่จำนวนมากในแผนฯ ส่วนหนึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหินที่จะถูกก่อสร้างขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน และส่งไฟฟ้าเข้ามาใช้ในประเทศไทย ถือเป็นการส่งออกปัญหาสิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งกับชุมชนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกัน โครงการเช่นเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน แม้จะสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบนิเวศข้ามพรมแดน และสร้างผลกระทบย้อนกลับมาที่ประชาชนไทย

พลังงานเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาสังคมมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงทางพลังงาน ควรเป็นไปเพื่อความอยู่ดีมีสุขของผู้คน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจท้องถิ่น และขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการรักษาความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรเพื่อลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา การวาง “แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า” หรือแผนพีดีพีของประเทศไทยไม่ได้เป็นไปเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ แต่กลับเน้นการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยอ้างความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างไม่บันยะบันยัง อีกทั้ง กระบวนการจัดทำแผนที่ผ่านมายังปิดกั้นการมีส่วนร่วมของสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเหล่านั้น แม้จะรู้อยู่แล้ว ว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสุขภาพประชาชนในวงกว้าง ตั้งแต่ แม่น้ำ ภูเขา ที่ราบ ทะเล และชายฝั่ง

แผนพีดีพีถือเป็นแผนแม่บทระยะยาว 20 ปี แต่ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2550-2558) กลับมีการประกาศใช้แผนพีดีพีรวมแล้วถึง 8 แผน โดยแต่ละแผนที่ถูกประกาศใช้ก็มักจะมีการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอทั้งที่ระบบไฟฟ้าของเราจากอดีตที่ผ่านมาจะมีกำลังผลิตสำรองสูงเกินมาตรฐานมาโดยตลอด โดยเฉพาะแผนพีดีพี 2015 ซึ่งจะนำไปสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นอย่างมากมายมหาศาลดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น

ดังนั้น เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ได้รับปัญหาโดยตรงจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเขื่อนขนาดใหญ่ (ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน) จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงพลังงาน

1. ยกเลิก แผนพีดีพี2015 เพื่อให้จัดทำแผนใหม่ ด้วยกระบวนการที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ใช้ในการวางแผน และตรวจสอบการวางแผนได้อย่างโปร่งใส

2. การจัดทำแผนพีดีพีจากนี้ไป ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์เหล่านี้

2.1 ผู้บริโภคต้องไม่รับภาระการลงทุนเกินจำเป็น จากการวางแผนผลิตไฟฟ้าที่ผิดพลาด เช่น การลงทุนในกำลังผลิตสำรอง ที่เกินจากมาตรฐาน 15% ประมาณ 6.7แสนล้านบาท ต้องไม่นำมารวมในการคิดค่าไฟฟ้า

2.2 พิจารณาปรับปรุงโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่แล้วและมีกำหนดว่าจะปลดระวาง ก่อนที่จะวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่

2.3 เลือกแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน ไม่ใช้พลังงานถ่านหินและนิวเคลียร์

2.4 การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ต้องไม่ถือเป็นพลังงานหมุนเวียน

2.5 การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ต้องไม่ตั้งเพดานการผลิต และส่งเสริมการผลิตให้ได้มากที่สุดเป็นทางเลือกแรก

3. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เทพา และเขาหินซ้อน ซึ่งไม่ได้มีความจำเป็น และยังไม่มีภาระผูกพัน (ยังไม่ทำสัญญา) จะต้องยกเลิก ไม่ดำเนินการต่อ … แต่หาก กฟผ. ยังดึงดันที่จะเปิดประมูลต่อ ต้องหาทางชดใช้ค่าเสียหายในอนาคตโดยไม่ผลักมาเป็นภาระผู้บริโภค

4. การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเพื่อนบ้านและเขื่อนบนแม่น้ำนานาชาติ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันในภูมิภาคโดยไม่สร้างความขัดแย้ง

เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ได้แก่

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

สมาคมคนรักษ์เลกระบี่

เครือข่ายปะทิวรักษ์ถิ่น

เครือข่ายรักษ์บางสน

เครือข่ายรักษ์ละแม

เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้าน อ่าวท่าศาลา

เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา

สมาคมประมงพื้นบ้านอำเภอหัวไทร

กลุ่มธนาคารปูขนาบนาก

เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน

เครือข่ายประชาชนภาคตตะวันออก

เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน

กลุ่มเกษตรอินทรีย์ สนามชัยเขต

กลุ่มศึกษาพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม จังหวัดอุบลราชธานี

เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

กลุ่มฮักน้ำของ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ