11 องค์กรสิทธิชาติพันธุ์ โต้ ‘ดำรงค์ พิเดช’ กล่าวหาทำลายป่า หวั่นสร้างความแตกแยกในสังคม

11 องค์กรสิทธิชาติพันธุ์ โต้ ‘ดำรงค์ พิเดช’ กล่าวหาทำลายป่า หวั่นสร้างความแตกแยกในสังคม

11 องค์กรสิทธิ์ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีนายดำรงค์ พิเดช ให้สัมภาษณ์สื่อ กล่าวหากลุ่มชาติพันธุ์ว่าเป็นตัวการหลักทำลายป่าในภาคเหนือ ชี้เป็นการกล่าวหาโดยปราศจากข้อเท็จจริง หวั่นสร้างความขัดแย้งทางเชื้อชาติในสังคมไทย แนะรัฐยอมรับให้ชุมชนร่วมจัดการทรัพยากร วอนสื่อให้พื้นที่อีกฝ่ายได้ชี้แจง

17 มิ.ย. 2559 เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ร่วมกับองค์กรภาคีและเครือข่าย 11 องค์กร อ่านแถลงการณ์ตอบโต้กรณีที่ นายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรคทวงคืนผืนป่า และอดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ไทยรัฐนิวส์โชว์” ตอน “ปิดจุดอ่อนก่อนป่าหมดประเทศ” พูดคุยถึงการแสวงหาทางออกในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ถูกบุกรุกทำลาย โดยมีถ้อยคำที่สร้างความไม่สบายใจให้กับชนเผ่าพื้นเมือง และสร้างภาพลบให้กับชนเผ่า ทำให้เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง และองค์กรภาคีเกิดความไม่สบายใจ และต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคมจึงได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

20161706211800.jpg

แถลงการณ์ กรณีการให้สัมภาษณ์ของนายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่กล่าวหาว่าการทำลายป่าเกิดจากกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเผ่า

จากการให้สัมภาษณ์ของนายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในรายการไทยรัฐนิวส์โชว์ ไทยรัฐทีวี ออกอากาศวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ประเด็น “ปิดจุดอ่อนก่อนป่าหมดประเทศ” โดยคำให้สัมภาษณ์ของนายดำรงค์ พิเดช ที่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในประเทศไทยที่มีอย่างต่อเนื่อง แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะออกกฎระเบียบใช้บังคับอย่างเข้มงวด แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะปี 2559 มีการบุกรุกทำลายป่าได้อย่างชัดเจนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย

โดยมีบางช่วงบางตอนของการให้สัมภาษณ์ได้กล่าวว่า “ปัญหาหนักสุดคือภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และจังหวัดอีสานที่เลย ที่เป็นระดับล้าน ๆ ไร่ เกิดจากการทำของชนกลุ่มน้อยทั้งนั้น ชาติพันธุ์ทั้งนั้น โดยเฉพาะเผ่าม้งแต่ไม่มีใครพูดถึงความจริง คนคิดว่าราษฎรทางล่างขึ้นไปโค่น ไม่ใช่ 90เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของชาติพันธุ์ชาวเขาโดยเฉพาะเผ่าม้ง”

“ชาวเขาพอมีบัตร มันก็เลือกตั้งได้ก็มีหัวคะแนน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มันก็ไปบอก สส.สส.ก็ไปบอกรัฐมนตรี รัฐมนตรีก็มาสั่งอธิบดี เพราะรัฐมนตรีมาจาก สส.แต่งตั้งอธิบดีก็ไม่กล้า ก็ลามได้ใจไปเรื่อยๆ”

“จะมีการจัดระเบียบชนกลุ่มน้อยที่อยู่บนดอยใหม่ทั้งหมด หมู่บ้านโน้น หมู่บ้านนั้น เอามารวมกันทั้งหมดเหมือนอพยพ แต่ไม่ได้อพยพไปที่อื่นนะ ก็อยู่ในพื้นที่แต่ลงมาต่ำจากที่ไห้ยอมเสียพื้นที่ซักหมื่นสองหมื่นไร่สามหมื่นไร่รักษาอีกล้าน ๆ ไร่”

จากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวนั้น ถือเป็นการแสดงความเห็นที่มีอคติทางชาติพันธุ์ต่อพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองที่มีวิถีชีวิตอยู่กับป่า เป็นการกล่าวโทษด้วยทัศนคติที่เป็นลบแบบเหมารวม และเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติด้วย ซึ่งทำให้สังคมโดยทั่วไป มีความเข้าใจที่ผิดและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนคนไทยที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรมได้

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ร่วมกับภาคีองค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จึงขอเรียกร้องให้นายดำรงค์ พิเดชรัฐบาล และสื่อมวลชน ดังนี้

1. ให้นายดำรงค์ พิเดช ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน โดยการขอโทษต่อกลุ่มชาติพันธุ์ม้งและชนเผ่าพื้นเมืองโดยรวมผ่านสื่อทีวี และให้ยุติการกระทำใด ๆ ที่เป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และสร้างความแตกแยกให้กับประชาชนคนไทยด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางชาติพันธุ์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งที่บานปลาย

2. ให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและยุติบทบาทของนายดำรงค์ พิเดช ไม่ให้กระทำการใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 66/2557 ซึ่งมีข้อหนึ่งระบุว่าการดำเนินการใด ๆ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนต่อประชาชน ผู้ยากไร้ คนจน คนที่ไม่มีที่ดินทำกิน และนโยบายรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้ว่าต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศและจัดการป่าให้เกิดความยั่งยืน เนื่องจากนายดำรงค์ พิเดช เป็นผู้ที่มีอคติต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่า ไม่มีความเข้าใจแนวคิดเรื่อง “คนอยู่กับป่า” “สิทฺธิชุมชน”และ “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม” ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนและหน่วยงานรัฐได้

3. ให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาป่าไม้ ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และพื้นที่สาธารณะของชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองให้ชัดเจน โดยการกันพื้นที่ดังกล่าวออกจากเขตป่าอนุรักษ์ของรัฐด้วยความชอบธรรม ถูกต้อง และยึดหลักปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) และเจตนารมณ์แห่งปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP)

ทั้งนี้ให้รัฐจัดตั้งกลไกการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจการถือครองที่ดิน พร้อมทั้งพิจารณารับรองและยอมรับเอกสารสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติการที่ดีและส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามจารีตประเพณีที่เป็นการอนุรักษ์และการใช้อย่างยั่งยืน (Customary Sustainable Use) ของชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองอย่างจริงจัง

4. ให้ไทยรัฐทีวีและสื่อมวลชนต่างๆ ต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการนำเสนอข่าวที่ไม่ถูกต้อง การตีตราแบบเหมารวม หรือเป็นข้อมูลของบุคคลและองค์กรที่มีอคติทางชาติพันธุ์ ซึ่งอาจสร้างปัญหาและความขัดแย้งระหว่างคนไทยที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ พร้อมทั้งขอให้ร่วมเข้าพื้นที่ชุมชนเพื่อพิสูจน์การจัดการทรัพยากรและการใช้ที่ดินของชนเผ่าพื้นเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และนำมาเสนอผ่านสื่อของไทยรัฐทีวีและสื่อช่องอื่น ๆ ด้วย

5. คชท.ร่วมกับภาคีองค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องขอขอบคุณ คสช.และรัฐบาลที่ให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมืองด้วยความจริงใจ อันจะนำไปสู่การสร้างความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยด้วย 

พวกเราจะติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องข้างต้นและยินดีสนับสนุนการปฏิบัติการที่ดีของบุคคลและหน่วยงานทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งขอยืนหยัดในการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนและสนับสนุนการดำรงวิถีชีวิตชุมชนที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประเทศไทยยังคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่กับการดำรงอยู่ของความหลากหลายทางชาติพันธุ์และพหุวัฒนธรรมของสังคมไทยต่อไป

รายนามองค์กรร่วมแถลงการณ์

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย(คชท.)
เครือข่ายการจัดการสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง
เครือข่ายตระกูลม้งในประเทศไทย
เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย
เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง
เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม
เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ
มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์

คลิปข่าว: เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย IMN Channel

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ