10 เรื่องเด่น 10 เรื่องด้อย ประเด็น “พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” ในรอบปี 2554
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
เรื่องเด่นที่ 5: การประกาศใช้ พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
นับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ
(1) ให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จัดให้มีมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในหน่วยงานของตนไม่ต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าว (2) การจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยฯ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (3) การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน แก้ไข และร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของภาครัฐและเอกชน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้จัดตั้งภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ
สาเหตุที่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้เนื่องจากในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ สารเคมี และสารเคมีอันตรายมาใช้ในกระบวน การผลิต การก่อสร้าง และบริการ แต่ขาดการพัฒนาความรู้ความเข้าใจควบคู่กันไป ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานในด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน และก่อให้เกิดอันตรายจากการทำงาน จนถึงแก่บาดเจ็บ พิการทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือเกิดโรคอันเนื่องจากการทำงานซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นรวมทั้งประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีหลักการส่วนใหญ่เป็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานทั่วไปและมีขอบเขตจำกัดไม่สามารถกำหนดกลไกและมาตรการบริหารงานความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการประกาศใช้กฎหมายนี้โดยเฉพาะขึ้นมา
รวมถึงเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 คณะรัฐมนตรียังได้ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งเป็นแผนที่จัดทำขึ้นตามพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) การเสริมสร้างการคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (2) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (3) การจัดการองค์ความรู้ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพ แวดล้อมในการทำงาน (4) การพัฒนาระบบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และ (5) การพัฒนากลไกการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
เรื่องเด่นที่ 6: การเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เมื่อมิถุนายน 2554 ที่รวมถึงบุตรและผู้ติดตาม
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติสัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา รวมทั้งผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง และให้แรงงานข้ามชาติที่ลักลอบทำงานให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทั้งนี้รัฐบาลได้ดำเนินการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา การที่รัฐบาลเปิดให้มีการจดทะเบียนรอบใหม่เป็นการเอื้อให้แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามสามารถเข้าถึงการคุ้มครองและบริการทางสังคมขั้นพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งมีความจำเป็นในเชิงบริหารจัดการของประเทศ ก่อให้เกิดผลดีต่อชุมชนและสังคมไทยโดย รวมทั้งในเรื่องความมั่นคงทางสังคมและความมั่นคงทางสุขภาวะ รวมถึงในเรื่องการทราบจำนวนและสะท้อนสภาพการณ์ที่แท้จริงซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการในด้านอื่นๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การจัดเก็บรายได้เข้าสู่กองทุนสุขภาพแรงงานข้ามชาติเพื่อใช้ในงานด้านการสาธารณสุขและควบคุมโรคในประเทศไทย เป็นต้น
เรื่องเด่นที่ 7: 8 มีนาคม 2554 100 ปี วันสตรีสากล
มีนาคม 2554 ถือว่าเป็นวันครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล ทำให้กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน 100 ปีสตรีสากล รวม 37 องค์กร ประกอบด้วยองค์กรแรงงาน องค์กรผู้หญิง องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายต่างๆ ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีวันสตรีสากล ปี พ.ศ. 2554 เป็นปีที่เวียนมาครบรอบหนึ่งร้อยปีแห่งการต่อสู้ฝ่าฟันของผู้หญิงทั่วโลกเพื่อให้ได้รับสิทธิความเท่าเทียม ทั้งสิทธิประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ สิทธิในการทำงานที่มีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และได้รับสวัสดิการสังคม สิทธิเสมอภาคที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ถูกคุกคามทางเพศ รวมถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ เป้าหมายการจัดงานในครั้งนี้ คือ ต้องการให้ผู้หญิงจากทุกภาคส่วนได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประเด็นการต่อสู้และสรุปบทเรียน รวมถึงการรวมพลังผู้หญิงจากทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน กลุ่มบูรณาการสตรีและองค์กรเครือข่ายได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ใน 4 เรื่องหลัก คือ
(1) ผู้หญิงทำงานทุกกลุ่ม ต้องได้ทำงานในระบบสามแปดที่แท้จริง โดยมีระบบสวัสดิการสังคมที่จำเป็นตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ ลูกจ้างภาครัฐ หญิงบริการ แรงงานเกษตรและประมง เพราะค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมและไม่พอเพียงทำให้คนทำงานหญิงส่วนใหญ่ต้องอดทนทำงานเกินวันละ 8 ชม.
– ให้แรงงานหญิงเกษียณจากการทำงานเมื่ออายุ 60 ปี
– ยอมรับหญิงบริการ แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคเกษตร และประมง เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยรัฐบาลช่วยส่งเงินสมทบในอัตราไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง และให้มีระบบบำนาญประชาชน และให้รัฐตั้งกองทุนเพื่อสวัสดิการสุขภาพและสังคมแก่คนอาชีพบริการโดยหักจากภาษีธุรกิจภาคบันเทิงและการท่องเที่ยว
– ต้องมีมาตรการเด็ดขาดห้ามการเลิกจ้างคนท้อง ส่งเสริมให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ ราคาถูก กระจายทั่วถึงในชุมชน โรงงาน หน่วยงานของรัฐและบริษัทเอกชน และจัดเสริมเจ้าหน้าที่บริการดูแลให้สอดคล้องกับเวลาทำงานของผู้หญิง
– รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงานเพราะการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก โดยให้พ่อมีสิทธิลางานดูแลลูกและแม่หลังคลอดบุตรเพราะสุขภาพไม่แข็งแรง
(2) ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับผู้หญิงอย่างมีคุณภาพ เพราะวันนี้ยังคงมีผู้หญิงที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเพราะมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกในอัตราสูง ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ถ้ามีระบบการตรวจสุขภาพที่ครบถ้วน มีคุณภาพ บริการฟรีหรือราคาถูกและเข้าใจผู้หญิง รวมทั้งส่งเสริมการแพทย์ที่ป้องกันความปลอดภัย และดูแลรักษาโรคภัยที่เกิดจากการทำงาน จนถึงระดับสถานีอนามัย เพื่อคุ้มครองดูแลโรคภัยต่อระบบอนามัยเจริญพันธุ์จากสารเคมีภาคเกษตร
(3) การคุ้มครองดูแลปัญหาทัศนคติ “เหมารวม”และ “เลือกปฏิบัติ” ต่อผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นกรณีการตั้งท้องไม่พร้อม ความรุนแรงในครอบครัว การคุกคามทางเพศและถูกข่มขืน การส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาศักยภาพความก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน กระบวนการยุติธรรมที่มีอคติทางเพศ ตลอดจนสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ
(4) ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจและวางแผนทุกระดับ ทั้งกรรมการไตรภาคี กรรมการองค์กรอิสระและการมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้นทุกระดับ
เรื่องเด่นที่ 8: นักสื่อสารแรงงาน ผู้สื่อข่าวภาคพลเมือง
แม้ว่าที่ผ่านมาประเด็น “แรงงาน” จะได้รับการหยิบยกจากสื่อมวลชนทั้งกระแสหลักและกระแสรองมาสื่อสารตามหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีอีกหลายประเด็นที่ตกหล่นหรือไม่ได้รับการหยิบยกมานำเสนอ ทั้งด้วยข้อจำกัดของจำนวนเนื้อที่ข่าวที่จะนำเสนอ หรือประเด็นความน่าสนใจที่แต่ละสำนักข่าวก็มีมุมมองที่แตกต่างกันไป จึงทำให้มีความจำเป็นที่แรงงานจะต้องเปิดพื้นที่การสื่อสารด้วยตนเอง เพื่อทำให้ประเด็นแรงงานกระจายสู่สาธารณะ ได้รับความสนใจ จนกระทั่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายหรือพัฒนากลไกที่เกี่ยวข้องในอนาคต มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยจึงได้ริเริ่มโครงการ "การพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน" ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. หนึ่งในสาระสำคัญของโครงการนี้ คือ การทำให้แรงงานสามารถผลิตสื่อ เพื่อนำเสนอเรื่องราวของตนเอง ด้วยตนเอง นอกจากนั้นแล้วโครงการยังได้จัดทำเว็บไซต์ voicelabour.org ที่มีแรงงานเขียนข่าวใหม่ๆ มานำเสนอให้เห็นเกือบทุกวัน และมีหนังสือพิมพ์แรงงานวอยซ์เลเบอร์เผยแพร่เรื่องราวของแรงงานในแง่มุมต่างๆที่ไม่พบตามหน้าสื่อทั่วไปในทุกเดือน
เรื่องเด่นที่ 9: เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดลำพูนกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในชุมชน
เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดลำพูน จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในชุมชน จ.ลำพูน ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. โดยเป็นโครงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และกลุ่มแรงงานในชุมชนร่วมกันขับเคลื่อน โดยมีเป้าหมาย คือ ผู้ใช้แรงงานในชุมชนทั้ง 10 แห่ง คือ เทศบาลเมืองลำพูน, เทศบาลตำบลบ้านกลาง, เทศบาลตำบลเหมืองง่า, เทศบาลตำบลประตูป่า, เทศบาลตำบลริมปิง, เทศบาลตำบลต้นธง, เทศบาลตำบลมะเขือแจ้, เทศบาลตำบลบ้านธิ, เทศบาลตำบลทากาศเหนือ และเทศบาลตำบลทาสบเส้า เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายอาชีพให้เข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในการทำงาน เกิดรูปแบบการพัฒนาสวัสดิการที่เหมาะสม มีนโยบายท้องถิ่นระดับจังหวัดที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ที่ผ่านมาการพัฒนาในพื้นที่ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกจนทำให้แรงงานส่วนใหญ่หลุดออกจากการคุ้มครองของกฎหมายแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม เนื่องจากเมืองลำพูนเป็นที่ตั้งของบริษัทโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่เสี่ยงภัยต่อปัญหาสุขภาพของกลุ่มประชากรวัยทำงาน โดยเฉพาะที่เกิดจากการประสบอันตรายและเจ็บป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน อย่างไรก็ตามถือเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องมีมาตรการรองรับโดยเฉพาะการจัดบริการอาชีวอนามัยสำหรับแรงงานนอกระบบหรือแรงงานในชุมชน และท้องถิ่นถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องของการประสานทรัพยากรและการกระจายทรัพยากร ทั้งการจัดการในเรื่องของอาชีวอนามัย สวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับ การจัดการอาชีพเพื่อก่อให้เกิดสัมมาชีพที่ยั่งยืน เพราะสัมมาชีพเป็นการประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม
เรื่องเด่นที่ 10: เกษตรกรในระบบพันธสัญญารวมตัวก่อตั้งเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา เพื่อเคลื่อนไหวให้ได้รับความเป็นธรรมและการดูแลจากรัฐบาล
เมื่อวันที่ 27-28 สิงหาคม 2554 เกษตรกรในระบบพันธสัญญาจาก 3 ภาค 3 เครือข่าย 8 กลุ่ม 6 จังหวัด ได้ร่วมประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำเกษตรในระบบดังกล่าว ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลน้ำแพร่ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จากกระบวนการทำเกษตรในระบบพันธสัญญาทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัท เช่น กรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรจะถูกเอาเปรียบจากบริษัทหรือนายหน้าด้วยการหักเปอร์เซ็นต์ความชื้นโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ขณะที่กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ถูกเอาเปรียบจากบริษัทด้วยการนำลูกไก่ไม่มีคุณภาพมาขายให้กับเกษตรกรทำให้เกษตรกรขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นหนี้ไม่สามารถใช้หนี้คืนได้ ดังนั้นเกษตรกรที่เข้าร่วมประชุมจึงได้ตกลงกันก่อตั้ง"เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา" เพื่อตัวแทนในการเรียกร้องกับรัฐบาลให้ดูแลเกษตรกรผู้ทำการเกษตรระบบพันธสัญญา ดังนี้
-ออกกฎหมายคุ้มครองเกษตรกรที่อยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญาได้รับความเป็นธรรม
-มีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการนำเข้าสารเคมีและการเก็บสารเคมี
-จัดตั้งกองทุนคุ้มครองเกษตรกรในระบบพันธสัญญา
-ผลักดันให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นมีบทบาทผลักดันให้เกิดกลไกกลางในการดูแลความเป็นธรรม
-ให้มีกลไกในการกำกับมาตรฐานของราคาและคุณภาพปัจจัยการผลิต
-สนับสนุนให้เกิดธรรมนูญเกษตรกร
-ปรับเปลี่ยนบทบาทภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง
-ให้รีบดำเนินการออกกฎหมายและระเบียบที่เอื้อกับเกษตรกรรายย่อย
พร้อมกันนี้ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนร่วมกันดังนี้
-ขอให้ร่วมกันผลักดันให้รัฐและทุนยุติการดำเนินธุรกิจระบบเกษตรพันธสัญญาที่ไม่มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกร ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร
-ขอให้ร่วมกันผลักดันให้การทำเกษตรระบบพันธสัญญาและการผลิตที่มีลักษณะของการผูกขาดโดยทุนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมแก่เกษตรกร การไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร
-ขอให้ร่วมกันผลักดันให้รัฐมีมาตรการในการเยียวยาเกษตรกรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบเกษตรพันธสัญญาอย่างเร่งด่วน