10 เรื่องด้อย ประเด็น “พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” ในรอบปี 2554 (2)

10 เรื่องด้อย ประเด็น “พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” ในรอบปี 2554 (2)

10 เรื่องด้อย ประเด็น “พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” ในรอบปี 2554 (2)
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

เรื่องด้อยที่ 6: ค่าแรง 300 บาท ความหวังริบหรี่ ฤา เป็นเพียงนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ได้มีมติชัดเจนว่า ให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ออกไปเป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 จากเดิมที่จะมีกำหนดใช้ทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2555 นี้ ซึ่งจะใช้เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูเก็ตก่อนเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ โดยใช้เหตุผลว่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และจะครอบคลุมในทุกจังหวัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป เพื่อให้สถานประกอบการมีเวลาเตรียมตัว ในขณะเดียวกันระหว่างใกล้ถึงกำหนดวันประกาศใช้นโยบายค่าแรง 300 บาท เสียงต่อต้านกลับดังระงมไปทั่ว โดยเฉพาะข้ออ้างที่ว่าหากขึ้นค่าแรงระดับนี้ เศรษฐกิจทั้งระบบจะพังครืนรวมทั้งภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็มีการเลี่ยงบาลีเรียกเป็น "รายได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300 บาท" ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงการหาเสียงไม่สามารถทำได้จริงและเพื่อไม่ให้เสียคะแนน รัฐบาลจึงมอบหมายให้ "คณะกรรมการค่าจ้างกลาง" คิดสูตรค่าจ้างที่ทุกฝ่ายรับได้ จนมีแนวทางในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% จากเดิมจะปรับวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่มีเงื่อนไขว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างอีก  2  ปี  จึงต้องดูว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเตรียมหารือเพื่อหาทางฟ้องศาลปกครองแล้ว

นายบุญสม ทาวิจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า “ที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีนโยบายอะไรคืบหน้าตามสัญญาไว้กับประชาชน เหมือนสัญญาไปก่อนให้ได้คะแนน จึงมาคิดวิธีการดำเนินงานทีหลังแล้วเปลี่ยนวาทะ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง”

เรื่องด้อยที่ 7: รัฐบาลไทยยังไม่รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87, 98

จนบัดนี้รัฐบาลไทยก็ยังไม่รับรองอนุสัญญา ILOฉบับที่ 87, 98 เสียที ! ทั้งๆที่อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จึงสำคัญต่อแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยิ่งนัก

ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะผู้ประสานงานคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 กล่าวว่า “อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 นี้ถือว่าเป็นอนุสัญญาหัวใจหลักของผู้ใช้แรงงานที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ทำให้ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนพ้นไปจากข้อจำกัดในการรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรของคนงานและในการเจรจาต่อรอง การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานก็จะลดน้อยลงไปด้วย การรับรองอนุสัญญาจะช่วยให้ลดความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างได้ เพราะล่าสุดสมาชิกองค์กรแรงงานระหว่างประเทศทั่วโลกกว่า 183 ประเทศ ก็ได้รับรองอนุสัญญาฯ 2 ฉบับนี้ไปแล้ว เหลืออีกเพียง 20 ประเทศเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วยที่ควรเร่งดำเนินการในเร็ววัน”

บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ กล่าวว่า “ปัจจุบันแม้ไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองการรวมตัวของแรงงาน ที่เรียกว่าพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ก็ถือเป็นกฎหมายแรงงานฉบับที่มีสาระที่ล้าหลัง ด้อยพัฒนาด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการจัดตั้งองค์กรและเรียกร้องต่อรองของลูกจ้างมากที่สุด มีการแก้ไขปรับปรุงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งปรับปรุงแก้ไขจากประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 พ.ศ.2518 และประกาศกระทรวงมหาดไทยหลายฉบับที่ออกตามมา และ พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2537 และปี 2542 โดย พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ได้มีการปรับปรุงแก้ไขสำคัญมาแล้วรวม 4 ครั้ง มักแก้ไขในยุคเผด็จการทหารปกครองประเทศ ซึ่งย่อมไปในทางควบคุม จำกัดเสรีภาพการรวมตัวต่อรองของลูกจ้างและสหภาพแรงงานมากขึ้น”

อนุสัญญาฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว มีสาระสำคัญ 3 ประการที่เมื่อให้สัตยาบันแล้วจะทำให้กระบวนการสหภาพแรงงานเติบโตอย่างมาก คือ

1. คนงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ
2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ ที่จะจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง
3. องค์กร(สหภาพ) มีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์กรใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเสรี
ในขณะที่อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง กล่าวถึง
1. การคุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
2. องค์กร ลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงระหว่างกันทั้งในการก่อตั้ง การปฏิบัติ และการบริหาร และการมุ่งสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของคนงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง
3. ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกลไก การเจรจา โดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์กร นายจ้าง กับองค์กรคนงาน
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่าเพราะคนงานต้องขออนุญาตจัดตั้งสหภาพจากกระทรวงแรงงาน ทำให้คนงานที่เป็นแกนนำถูกเลิกจ้างและทำให้นายจ้างขัดขวางและทำลายการจัดตั้งสหภาพจำนวนมาก

เรื่องด้อยที่ 8: กระทรวงแรงงานยังไม่ประกาศใช้กฎกระทรวงคุ้มครองคนทำงานบ้าน

ทุกวันนี้แรงงานที่ทำงานในบ้านหรืออาชีพแม่บ้านก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง กฎหมายประกันสังคมก็ยังมีข้อจำกัดยกเว้นการบังคับใช้กับคนทำงานบ้านที่ไม่มีธุรกิจรวมอยู่ด้วย หรือแม้กระทั่งอนุสัญญาฉบับที่ 189 ว่าด้วยการคุ้มครองดูแลคนงานบ้าน จนบัดนี้รัฐบาลไทยก็ยังไม่รับรอง แม้ว่าทุกวันที่ 28 สิงหาคม ของทุกปี จะเป็นวันคนทำงานบ้านสากล และเครือข่ายแรงงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนได้มีการเรียกร้องกับรัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานมาโดยตลอดแต่ยังมิเป็นผล ที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนว่าคนทำงานบ้านยังไม่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งๆที่แรงงานที่ทำงานบ้านนั้นเป็นแรงงานที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับแรงงานกลุ่มอื่นๆจึงควรได้รับสิทธิพื้นฐานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบได้รับ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างที่เป็นธรรม ได้รับวันหยุดประจำสัปดาห์หรือวันหยุดประจำปี ตลอดจนการได้รับสิทธิประกันสังคมในกรณีเจ็บป่วยหรือมีสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย

นางสมร ทาสมบูรณ์ ตัวแทนลูกจ้างทำงานบ้าน เคยกล่าวไว้ว่า “ตนเองได้เข้าทำงานบ้านตั้งแต่ตอนอายุ 13 ปี ได้เงินเดือนเดือนแรก 20 บาท ต่อมาเพิ่มเป็น 100 บาท และอยู่มา 6 เดือนจึงได้เพิ่มค่าจ้างเป็น 150 บาท และเพิ่มเป็น 300 บาทต่อมา ตอนนั้นหวังว่าการเข้ามาทำงานบ้านในเมืองจะได้รับการสนับสนุนจากนายจ้างให้มีโอกาสเรียนหนังสือ แต่ก็ไม่เป็นไปดังหวัง เพราะตนเองจบเพียงแค่ประถมศึกษาปีที่ 3  ฉะนั้นสิ่งที่อยากให้รัฐบาลสนับสนุน คือ ขอให้รัฐบาลได้ออกกฎหมายให้มีวันหยุดกับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อให้ลูกจ้างได้มีเวลาพักผ่อน ไปเรียนหนังสือ พบเพื่อน ญาติมิตร ขอให้มีการกำหนดค่าแรงที่เป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ และการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิการเจ็บป่วย ปลอดภัยจากการถูกคุกคาม ลวนลาม หรือล่วงละเมิดทางเพศ”

เรื่องด้อยที่ 9: อุบัติเหตุซ้ำซากระหว่างการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ

ในรอบปี 2554 ยังเกิดอุบัติเหตุระหว่างการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติบ่อยครั้ง เนื่องจากยังมีการลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานอยู่เสมอ และรัฐบาลไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น ในปี 2554 อย่างน้อยเกิดถึง 7 ครั้ง

-18 พฤษภาคม 2554 ที่บริเวณถนนเลียบคลองส่งน้ำชลประทานโรงสูบ 3 เขตเทศบาลเมืองชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี รถกระบะลักลอบขนแรงงานข้ามชาติจากพม่าได้ขับรถหนีด่านตรวจตำรวจเพชรบุรี จนเป็นเหตุให้รถเสียหลักพลิกคว่ำตกคลอง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีก 19 คน ขณะกำลังจะพาแรงงานไปส่งที่ จ.ปัตตานี

-23 พฤษภาคม 2554 เกิดอุบัติเหตุรถกระบะขนแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา เสียหลักชนต้นไม้ มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวน 19 คน ที่ถนนสายชนบท หมู่ที่ 4 หมู่บ้านหนองตะเคียน ต.ไทยอุดม อ.คลองหาด จ.สระแก้ว เนื่องจากคนขับได้ขับรถหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยใช้ความเร็วสูง ประกอบกับไม่ชำนาญเส้นทางจึงเสียหลักตกข้างทาง

-4 กรกฎาคม 2554 เกิดอุบัติเหตุที่จุดกลับรถตรงข้ามสถานีไฟฟ้าย่อย หลักกม.ที่ 3-4 ถนนบายพาสทิศใต้ ท้องที่หมู่ 10 ต.โคกสว่าง อ.เมือง จ.สระบุรี เนื่องจากรถกระบะที่บรรทุกแรงงานข้ามชาติด้าวรวม 15 คน เพื่อมุ่งหน้าไปรับจ้างเก็บลำไยที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เฉี่ยวชนกับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ขณะที่รถพ่วงกำลังกลับรถในระยะกระชั้นชิด ทำให้รถกระบะที่ขับรถมาด้วยความเร็วเบรกไม่ทัน ทำให้แรงงานข้ามชาติที่นั่งอยู่ท้ายกระบะรถกระเด็นออกจากตัวรถกระแทกพื้นเสียชีวิตและบาดเจ็บ
-4 กรกฎาคม 2554 เกิดอุบัติเหตุรถตู้โตโยต้าตกลงไปในเขื่อนคลองบางแก้ว หมู่ที่ 10 ต.บ้านอิฐ อ.เมือง จ.อ่างทอง เนื่องจากคนขับไม่ชำนาญทางและเป็นเวลากลางคืน ทำให้แรงงานจากพม่าที่เดินทางออกมาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปทำงานที่ตลาดไทยและที่จังหวัดราชบุรี ได้รับบาดเจ็บรวม 21 คน (เป็นเด็ก 3 คน ผู้ชาย 13 คน ผู้หญิง 5 คน)

-9 กรกฎาคม 2554 รถตู้ขนแรงงานข้ามชาติเสียหลักตกข้าง บริเวณหลักกิโลเมตร 322-323

ต.เกาะหลัก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้รับการว่าจ้างให้นำแรงงานจากประเทศพม่าที่ทำงานอยู่ในมหาชัย จ.สมุทรสาคร ไปต่อพาสสปอร์ตที่จังหวัดระนอง โดยขณะที่ขับมาถึงบริเวณดังกล่าว คนขับสังเกตเห็นเหมือนมีอะไรวิ่งตัดหน้าจึงหักหลบตกลงไปในคูข้างทาง จนมีผู้บาดเจ็บรวม 13 คน

-8 ตุลาคม 2554 รถกระบะขนแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชาลักลอบเข้าเมืองเสียหลักพุ่งชนประสานงากับรถบรรทุกไม้พะยูงแปรรูป บนถนนสายสระแก้ว-จันทบุรี บริเวณเขตรอยต่อระหว่าง อ.เขาฉกรรจ์ กับ อ.เมือง จ.สระแก้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน และบาดเจ็บสาหัสกว่า 10 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติเกือบทั้งหมด

-13 ธันวาคม 2554 เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ปิกอัพขนแรงงานข้ามชาติจากพม่าพลิกคว่ำลงข้างทาง บริเวณถนนสายแม่สอด – แม่ระมาด ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้มีแรงงานข้ามชาติบาดเจ็บถึง 8 คน สาเหตุเนื่องจากมีรถจักรยานตัดหน้าทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำ

เรื่องด้อยที่ 10: ไม่มีศูนย์เด็กเล็กสำหรับแรงงานที่ทำงานในย่านอุตสาหกรรม

แม้ว่าทุกคนจะทราบดีว่าเด็กคืออนาคตของชาติและเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของทุกประเทศ ซึ่งควรจะได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยเรียน แต่สภาพสังคมในปัจจุบันพ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกอยู่กับบ้านได้เหมือนในอดีต วิธีการเลี้ยงลูกจึงเปลี่ยนไป หลายคนจึงมักจะหาทางออกโดยการส่งลูกกลับไปให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่ต่างจังหวัดเลี้ยง หรือไม่ก็ฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กต่างๆ ส่วนคนมีฐานะดีก็มีโอกาสเลี้ยงลูกเองหรือไม่ก็จ้างพี่เลี้ยงส่วนตัวได้ แต่สำหรับแรงงานแล้วที่ส่วนใหญ่ได้รับเพียงค่าแรงขั้นต่ำ ไม่สามารถส่งลูกไปที่สถานเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพดีได้ ทำให้แรงงานจำนวนมากจึงส่งลูกไปต่างจังหวัด โดยแต่ละปีจะมีโอกาสได้เจอลูกไม่กี่ครั้ง ที่ไม่ได้ส่งไปก็ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิดเพราะต้องทำงาน หรือไม่ก็จ้างเลี้ยงไปตามมีตามเกิด สถานที่บางแห่งมีพี่เลี้ยง 1 คนต้องดูแลเด็กถึง 15 คน เป็นต้น

ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเด็กเล็ก โดยมีมาตรการลดหย่อนภาษีเป็นจำนวน 2 เท่า ให้แก่นายจ้างที่จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการและบุคคลทั่วไป รวมทั้งนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์เด็กเล็ก แต่การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ทั้งๆที่การปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่แล้วขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆให้มีคุณภาพสูงขึ้น ทั้งทางด้านสภาพแวดล้อม และคุณภาพของครูก็มิใช่เรื่องยากแต่อย่างใด นอกจากนั้นแล้วควรคำนึงถึงกรณีพ่อแม่ที่ทำงานในโรงงานแล้วไม่ได้เลิกงานตามเวลาปกติของคนทั่วไป เพราะการทำงานแบ่งเป็นกะ มีตั้งแต่ 08.00-17.00 น. เข้า 16.00 น. ออกเที่ยงคืน และเข้าดึก ออกเช้า ก็ควรจะต้องมีศูนย์เด็กเล็กที่ปรับเปลี่ยนเวลาของครูและพี่เลี้ยงให้สอดคล้องกับเวลาทำงานของคนงาน โดยเฉพาะในย่านอุตสาหกรรมที่มีคนงานทำงานเป็นจำนวนมาก

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ