ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพยนตร์ไทยที่ถูกพูดถึงขณะนี้ คงจะไม่พ้นเรื่อง “สัปเหร่อ” ภาพยนตร์อีสานแนวดรามา-สยองขวัญ-ตลก โดยได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวกล้นหลามถึงเนื้อเรื่อง การแสดง ความหลากหลายทางอารมณ์ แก่นเรื่อง เพลงประกอบ การนำเสนอวิถีชีวิตของชาวอีสาน และงานสร้าง
ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนของภาพยนตร์ไทยท้องถิ่นอีสาน ภาพยนตร์ทำเงินทะลุร้อยล้านไวที่สุดของประเทศไทยในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่ยุค การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย ทำรายได้ทั่วประเทศไทยประมาณกว่า 600 ล้านบาท (26 ต.ค. 66) จากทุนสร้าง 10 ล้านบาท เป็นภาพยนตร์จากจักรวาลไทบ้านที่ทำเงินเปิดตัวได้สูงสุดและทำรายได้สูงสุดในจักรวาล และเมื่อเปรียบเทียบกับหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของไทยอาจจะพูดได้เลยว่าเป็นอันดับ 1 แซงพี่มาก…พระโขนง ที่มียอดออฟฟิเชียลอยู่ที่ 550 กว่าล้านบาทเท่านั้น แทนที่ควรจะเป็น 1,000 ล้านบาท
ทำไมยอดออฟฟิเชียลกับยอดทั่วประเทศไม่ตรงกัน
ข้อมูลจากวิกิพีเดียบอกว่ารายชื่อภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุดในประเทศไทย เป็นรายได้ของภาพยนตร์จากบอกซ์ออฟฟิสประเทศไทย เรียงตามรายได้แบบไม่คิดเงินเฟ้อ นับรายได้เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ เท่านั้น เนื่องจากระบบการฉายภาพยนตร์ในต่างจังหวัด เป็นการขายขาดให้แก่ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์แต่ละพื้นที่ ซึ่งทำหน้าที่นำภาพยนตร์จากผู้ผลิตไปจัดจำหน่ายต่อเองในต่างจังหวัด โดยใช้วิธีประมูลซื้อภาพยนตร์จากผู้ผลิต ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาของภาพยนตร์ และแนวโน้มการทำเงินในพื้นที่นั้น ๆ เมื่อซื้อขายขาดแล้ว รายได้ของผู้ผลิตก็คือเงินที่ได้จากการซื้อขายขาดนั้น ขณะที่รายได้จากการขายตั๋วภาพยนตร์ จะตกเป็นของผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ไป โดยจะแบ่งกันตามสัดส่วนที่ตกลงกับโรงภาพยนตร์ที่ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์เอาไปขายให้
ทั้งนี้ ผู้ผลิตอาจทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายเองก็ได้ โดยตัดบทบาทของพ่อค้าคนกลางออกไป ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า ซึ่งลักษณะนี้จะใช้ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเชียงใหม่ เป็นหลัก โดยผู้ผลิตจะติดต่อกับโรงภาพยนตร์ในพื้นที่โดยตรง และตกลงแบ่งรายได้กันในสัดส่วนที่แน่นอน (ส่วนใหญ่ตกลงแบ่งรายได้กันในอัตราส่วน 50:50) คำนวณจากตั๋วภาพยนตร์ที่ขายได้ ตัวเลขรายได้จะสะท้อนความสำเร็จของภาพยนตร์ได้อย่างแท้จริง แต่ปัญหาคือการติดต่อโดยตรงเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ผลิตเช่นกัน เพราะนอกจากจะต้องเป็นผู้ติดต่อเอง ผู้ผลิตยังต้องส่งผู้ควบคุมไปตรวจสอบที่โรงภาพยนตร์ว่าขายตั๋วภาพยนตร์ได้ตามจำนวนเงินที่แจ้งมาหรือไม่ ซึ่งผู้ผลิตภาพยนตร์ในประเทศไทยเองไม่ได้มีเงินทุนสูง จึงใช้ระบบติดต่อกันโดยตรงแค่ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ เท่านั้น
รายได้ของภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง อาจไม่ได้มาจากการขายตั๋วเข้าชมในโรงภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว รายได้อื่น ๆ อาจมาจากการขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ให้กับบริษัทเคเบิลทีวี วิดีโอ วีซีดี ดีวีดี และโทรทัศน์ รวมไปถึงรายได้จากช่องทางอื่นๆ เช่น สปอนเซอร์ สินค้าเมอร์ชั่นไดซ์ เป็นต้น
ดังนั้นถ้านับรายได้ออฟฟิเชียลของ “สัปเหร่อ” จะนับแค่เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ที่ประมาณ 130 กว่าล้านบาท (27 ต.ค. 66) และรายได้ทั่วประเทศประมาณการคือ 600 กว่าล้านบาทนั่นเอง (27 ต.ค. 66)
เพราะอะไรทำไมหนังเรื่องนี้ถึงจับใจคนดู
นอกจากเรื่องของกลยุทธ์ จังหวะ เวลาและฝีมือที่หลายคนวิเคราะห์ออกมา ส่วนตัวผู้เขียนก็มองว่าเรื่องของ “แนวหนัง” ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เชื่อมโยงความสำเร็จของหนังเช่นกัน
แนวหนัง ในทางทฤษฎีภาพยนตร์ ถูกจัดแบ่งออกเป็นแนว ๆ โดยแนวภาพยนตร์หนึ่งแนวมีความหมายถึงภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาจากองค์ประกอบของเรื่องราวที่คล้าย ๆ กัน เช่น Action, Drama, Fantasy, Adventure, Comedy, Sci-Fi เป็นต้น เมื่อย้อนกลับไปดูภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุดในประเทศไทย 20 อันดับแรกจะเห็นว่ามีเพียงไม่ถึง 5 แนวหนังที่เป็นที่นิยม
จากผังรายได้ภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุดในประเทศไทย (รายได้เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ เท่านั้น) จะเห็นว่าสัดส่วนคนดู
- อันดับ 1 คือ Comedy 29.4%
- อันดับ 2 คือ War 20.6%
- อันดับ 3 คือ Romantic 17.6%
- อันดับ 4 คือ Drama 14.7%
- อันดับ 5 คือ Horror 1.8%
- ส่วนหนังแนวอื่นอยู่ที่ 5.9%
จากการประมวลผลของผู้เขียน แนวหนังทั้ง 20 เรื่องส่วนใหญ่จะสอดแทรกความเป็น Comedy เข้าไป เพื่อให้เสพง่าย และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของคนทุกเพศทุกวัย แม้จะเป็นหนัง Drama แต่ก็จะบวกด้วยความเป็น Comedy หรือหนัง Horror ก็จะบวกความ Comedyทำให้ 20 อันดับหนังทำเงินสูงสุดในไทยมีสัดส่วนความเป็น Comedy ที่เยอะกว่าแนวอื่น ๆ
สอดคล้องกับข้อมูลสอบถามของศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พฤติกรรมการรับชมภาพยนตร์ของคนไทย 2559 ประเภทของภาพยนตร์ที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด พบว่า
ภาพยนตร์ประเภท Comedy เป็น 1 ใน 5 แนวภาพยนตร์ที่คนไทยชอบดูมากที่สุด
ในอนาคตอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงของประเภทของภาพยนตร์ที่ประชาชนชื่นชอบ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของเทคโนโลยีที่ลดลงไปมากเมื่อเที่ยบกับในปี 2559 ข้อมูลจากงานวิจัยแนวโน้มการชมภาพยนตร์ของสังคมไทยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าผู้ชมมีความเปลี่ยนแปลงไปจากวัฒนธรรมการรับชมดั้งเดิมคือในสมัยนี้มีความชื่นชอบที่จะรับชมภาพยนตร์อยู่ที่บ้านมากกว่าที่จะออกไปข้างนอก โดยจากการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่เลือกรับชมภาพยนตร์ผ่าน Netflix ที่บ้านมากกว่า ทำให้แนวหนังหรือความชื่นชอบหนังที่เปิดกว้างและไม่ได้ผูกขาดอยู่แค่จอเงินอย่างภาพยนตร์อย่างเดียวเท่านั้น