"ไทย"ร่วงอันดับโลก ด้าน IT จาก 49 เป็น 57 พบ15 ล้านครัวเรือนยังขาดอุปกรณ์ IT
26 ม.ค. 55- วันนี้ ที่สำนักงาน กสทช. คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และกลุ่มภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. ได้จัดการประชุม “แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคมกับการมีส่วนร่วมของกลุ่ม/เครือข่ายชนเผ่า คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม”
นายศรีสะเกษ สมาน อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า เวทีนี้ ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและเทคโนโลยี ทั้งนี้ในร่าง แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมฉบับนี้ ได้มีการเสนอแนวทางในการปรับเปลี่ยนวิธีการในการระดมทุนจากผู้ให้บริการ จากเดิมที่ใช้วิธีให้ผู้ให้บริการเลือกได้ระหว่างการยื่นแผนการดำเนินงานต่อ กสทช. กับการให้ผู้ให้บริการต้องจัดสรรเงินร้อยละ 4 ของรายได้ ซึ่งตามแผนการจัดการฯเดิมนั้นมีเงินกองทุนฯ ทั้งสิ้น 2,929 ล้านบาท แต่ร่างแผนการจัดการฯฉบับนี้เปลี่ยนจากวิธีการ ทำหรือจ่าย เป็นวิธีการประมูล
“วิธีการนี้เป็นการระดมทุนมาไว้ที่กองกลางทั้งหมดก่อน คือสำนักการบริการอย่างทั่วถึง (USO) สำนักงาน กสทช. จากนั้นจึงเปิดให้มีการประมูลในส่วนของการพัฒนาโครงข่าย โดยผู้ที่ประมูลราคาต่ำสุดจะเป็นผู้ได้ทำโครงการเพื่อขยายโครงข่ายการเข้าถึงบริการตามแผนงานของ USO อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้อาจดีในแง่ของการปรับปรุงพัฒนาโครงข่ายในด้านการเข้าถึง แต่งานของ USO ควรรวมไปถึงการศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีและบริการ เพื่อตอบสนองกลุ่มคนด้อยโอกาสเช่น คนพิการทางสายตา และการเคลื่อนไหว หรือผู้สูงอายุ ก็ตาม นอกจากนี้ยังควรรวมถึงการพัฒนาศักยภาพ ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น คือความร่วมมือทั้งส่วนผู้ให้บริการ USO และผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ เพื่ออุดช่องว่างและทำให้การทำงานเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ป้องกันปัญหาเช่นที่ผ่านมา การทำโครงการแจกบัตรโทรศัพท์ แต่ไม่มีเครื่องรองรับจึงไม่เกิดประโยชน์กับคนด้อยโอกาส ควรเปลี่ยนแนวคิดจากการให้อย่างเดียวเป็นการมีส่วนร่วมและพัฒนาศักยภาพ”นายศรีสะเกษ กล่าว
นายจิรศิลป์ จรรยากุล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การเน้นเรื่องการพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่ชนบทมากเกินไปเท่ากับประชาชนต้องรับภาระในการจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือ ขณะที่โทรศัพท์พื้นฐานมีราคาถูกกว่า ดังนั้นจึงควรใช้ระบบ wireless มาช่วย แทนการลากสายเข้าบ้าน ก็จะทำให้สามารถใช้โทรศัพท์พื้นฐานได้มากขึ้น แทนที่จะต้องขยายโครงข่ายเพียงอย่างเดียว และหากเข้าสู่ระบบ 3G ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่าย
จากข้อมูลของสำนักการบริการอย่างทั่วถึง (USO) สำนักงาน กสทช. ระบุว่า สถานการณ์ในการเข้าถึงสารสนเทศของประชาชนว่า จากสถิติจำนวนครัวเรือนที่มีอุปกรณ์ ICT ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2553 พบว่า ยังมีครัวเรือนอีกร้อยละ 78 หรือจำนวน 15,158,000 ครัวเรือน จาก 19,644,00 ครัวเรือนที่ยังไม่มีอุปกรณ์ ICT
ส่วนสถิติจำนวนครัวเรือนที่มีอุปกรณ์ ICT ในกรุงเทพและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2553 พบว่า ในกทม.จำนวนครัวเรือนที่ยังไม่มีอุปกรณ์ ICT อยู่ร้อยละ 55 หรือ 1,109,00 ครัวเรือนจาก 2,020,000 ครัวเรือน
ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนครัวเรือนที่ยังไม่มีอุปกรณ์ ICT อยู่ร้อยละ 87
นอกจากนี้ จากการเปรียบเทียบดัชนีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปี 2009-2010 และปี 2010-2011 ของ World Economic Forum พบว่า ประเทศไทยตกอันดับจากอันดับที่ 47 ลงมาอยู่ที่อันดับที่ 59 เป็นรองประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม ส่วนดัชนีชี้วัดความพร้อมในการใช้งาน ICT ประเทศไทยตกมาอยู่ที่อันดับที่ 75 ตามหลัง เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน มาเลเซียและเวียดนาม
ทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้ (27 ม.ค.55) จะเป็นการจัดประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นต่อแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคม ที่ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ ถ.วิภาวดีรังสิต ตั้งแต่เวลา 9.00 น.เป็นต้นไป ก่อนนำเสนอแผนให้ กสทช. พิจารณาต่อไป