เวทีสะท้อนชีวิตแรงงาน “คุณค่าของคน ≠ คุณค่าของงาน” #DecentWork วันงานที่มีคุณค่า

เวทีสะท้อนชีวิตแรงงาน “คุณค่าของคน ≠ คุณค่าของงาน” #DecentWork วันงานที่มีคุณค่า

คุณค่าของงาน หรือ คุณค่าของคนกันนะ ที่มีคุณค่ามากกว่ากัน  ….

คุณมองว่าอย่างไร ?

 “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” คำนี้ฝั่งรากและแน่นอนว่ามันเป็นวลีที่ยิ่งตอกย้ำยุคปัจจุบัน ที่สภาวะสังคมเป็นอยู่ปัจจุบัน เราวัดจากค่าของเราที่เงินเดือนที่เราได้ ถูกตีค่าด้วยสิ่งนั้นที่เป็นสิ่งที่ต้องการในชีวิตประจำวัน แต่เราก้ต้องแลกด้วยต้นทุน คือ เวลา + ความสามารถ สมการคุณค่านี้ทำให้เราคิดว่า ถ้าเราอยากได้เงินเดือนที่มากขึ้น เราก็ต้องแลกกับผลงานที่มากขึ้น นี่คือความเชื่อฝั่งหัว

ฟัง Podcast ช่องหนึ่ง มีการพูดคุยกันถึงเรื่อง พูดว่า เราต้องยอมรับว่าคำว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน เพราะสิ่งที่ทำให้เราเชื่อมาตั้งแต่เด็นจนโต เมื่อเราเด็กเราเข้าเรียน ครูให้ค่ากับเด็กที่เรียนเก่งมากกว่าเด็กหลังห้อง มีการจัดอันดับ 1 2 3 4 ให้เห็น พอเราโตขึ้นเรียนมหาลัยมีเรื่องเกียรตินิยม จัดลำดับค่าของคนในทุก ๆ ก่อนจบออกไปทำงานจริง พอจบมาเราทำงานวัดคุณค่าของงานที่ตัวเลขของเงินเดือน จนเราเผลอเข้าใจโลกของเราตั้งแต่เกิดมาว่าค่าของคนวัดกันแบบนี้

แต่เมื่อเราโตขึ้นทำงานและเห็นโลกกว้างมากขึ้น มันไม่จำเป็นที่เราจะต้องเชื่อแบบนั้นเสมอไป เพราะจริง ๆ แล้วงานไม่ใช่องค์ประกอบเดียวของชีวิต เราลองหยิบคำถามนี้ไปถามคนที่หลากหลาย เราจะเห็นการสะท้อนคุณค่าที่แตกต่างผ่านมุมมองของแต่ละคน แต่ถ้าเรากลับมาถามตัวเองว่าเรื่อง ค่าของคนอยู่ที่ผลงาน วันนี้ก็อาจต้องมานั่ง definition งานของเราอีกทีว่า งานที่เรารู้สึกว่ามีคุณค่ามันมีหน้าตาแบบไหน ซึ่งวลี ค่าของคนอยู่ที่ผลงาน มันเป็นวลีใหญ่ที่ส่งผลต่อชีวิตคน ซึ่งไม่แปลกถ้าเราเทียบ เฉลี่ยอายุของเราที่เกิดมาอยู่บนโลกใบนี้ เฉลี่ยแล้ว 80 ปี – 20 ปีแรกเราเป็นเด็กน้อย 30 ปีหลังเราทำงานหนักมาก ซึ่งสัดส่วนเยอะและหลายคน concern มากกว่าว่าค่าของเราอยู่ที่ผลงานที่จะพาเราไปจุดต่างกันออกไป แต่กลับมามองว่า body ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเราเทียบกับสัดส่วนทั้งคุณค่าของชีวิตและงาน งานเป็นส่วนหนึ่งของหัวไหล่ที่เราต้องแบกไว้หนึ่งข้าง อีกข้างหนึ่งอาจเป็นคุณค่าทางจิตใจ การใช้ชีวิต ส่วนประกอบของชีวิต ครอบครัว เพื่อน สังคมและอื่น ๆ จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีคำตอบสุดท้ายว่าอะไรที่จะมีคุณค่ากว่ากัน

เมื่อเราถูกนิยามและประเมินค่าด้วยอาชีพ ด้วยรายได้ และถูกมองผ่านกรอบของระบบทุนนิยมอยู่เสมอ การตกอยู่ในกล่องของกลุ่ม ‘ไร้อาชีพหรืออาชีพอิสระ แรงงานข้ามชาติ และคนงานแพลตฟอร์ม”’ ถูกมองเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีคุณูปการกับระบบทุนนิยม กระทั่งในระดับความคิดของสังคม ก็จะมองคนเหล่านี้อย่างด้อยค่า ด้อย ‘ราคา’ ลง กลายเป็นตัดสินถึงอาชีพเหล่านี้ว่าไม่มีคุณค่าทันที

Decent work หรือ ‘งานที่มีคุณค่า’ เป็นอีกคำยอดฮิตที่ชวนตั้งคำถามว่าแล้วงานแบบใดที่ตรงตามนิยามของคำว่า ‘ดีและมีคุณค่า’

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม 2565 เครือข่ายแรงงานภาคเหนือร่วมกับมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation), มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) และ ตี่ตาง จัดงาน “คุณค่าของคน ≠ คุณค่าของงาน” เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล หรือ Decent Work Day ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ต.ค. ของทุกปี ขึ้นที่โรงแรมฮอลิเดย์การ์เด้น จังหวัดเชียงใหม่

(World Day for Decent Work) วันนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คนทำงาน ได้กลับมาทบทวนว่าการงานอาชีพของเรานั้นถึงบรรทัดฐาน “‘งานที่มีคุณค่า” หรือยัง และถ้ายัง เราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราทำเพื่อเลี้ยงชีพนั้นไม่เพียงแต่ทำให้เรามีกินมีใช้ไปวันๆ แต่ทำให้เรารู้สึกมีเกียรติ ภูมิใจ มั่นคงกับการทำงานนั้นๆ ด้วย

ภายในงานมีการแสดงละครจากตัวแทนแรงงานในอาชีพต่าง ๆ ละครเวที “เราต้องการสวัสดิการ” โดยคนงานถึงทุกคน ​ที่แสดงออกสะท้อนความเป็นแรงงาน และปัญหาที่เผชิญ เช่นเรื่องสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และเวทีมีการโต้วาที โดยตัวแทนคนงานอาชีพต่าง ๆ หมุดสื่อสารจากนักข่าวพลเมือง  https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000027345

การแสดงละครสะท้อน อีกหนึ่งปัญหา “จากคนงานถึงคนงานทุกคน” การแสดงบทบาทชีวิตจริง เล่าเรื่องแต่ละอาชีพในการเข้าไม่ถึงสิทธิของทั้ง แรงงานข้ามชาติ แรงงานแแม่บ้าน แรงงานแก่อสร้าง แรงงานภาคการเกษตร แรงงานแพล็ตฟอร์ม แรงงานภาคบริการ จำลองสถานการณ์เหตุการณ์การทำงานในแต่ละวันซึ่งหากวันหนึ่งแรงงานเหล่านี้ล้มป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ด้านสวัสดิการพื้นฐานเรื่องการรักษา ว่าด้วยสถานพยาบาลมีการปฏิเสธการรักษาพยาบาล และทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล แพทย์ไม่ชี้เรื่องการบาดเจ็บจากการทำงาน ซึ่งยังมีเรื่องการป่วยจากการทำงาน ที่เป็นภูมิแพ้ เป็นโรคผิวหนัง การทำงานเป็นผื่นคันความร้อนที่ตากแดดทั้งวัน การทำงานตลอดเวลา แต่ไม่ได้งานล่วงเวลา ด้วยการทำงานตลอดเวลาทำให้การพักผ่อนไม่เพียงพอนำไปสู่การบาดเจ็บอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือเกิดโรคจากการทำงานได้จากการสะสมจากความเสี่ยงเป็นเวลานาน ๆ ด้วยโรคจากการทำงานจะใช้เวลานานกว่าจะป่วยไม่เหมือนกับการประสบอุบัติเหตุที่เห็นชัด อย่างรถล้ม นิ้วขาด แขนขาด ขาขาด เสียชีวิตเลย จึงมีตัวเลขบาดเจ็บ และตายชัดเจนกว่าการเจ็บป่วยจากการทำงาน และคำถามถึงความปลอดภัยในการทำงาน … #เราทุกคนต้องมีสวัสดิการ

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล : ภาพจาก Lanner

ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “คุณค่าของคน คุณค่าของงาน” เนื่องในวันงานที่มีคุณค่า โดยรศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ระบบทุนนิยมทำให้เราต้องทำงานชิ้นเล็ก ๆ เขาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตที่ใหญ่มาก ทำให้คนกลายเป็นปัจจัยการผลิต เราไม่ได้อินกับงานที่เราทำ ภาวะความแปลกระหว่างเรากับงาน เราไม่รู้ว่ามันสร้างความภูมิใจกับงานยังไง ภาวะแบบนี้ คำอธิบายแบบเดิมคือ เราจะถูกเอารัดเอาเปรียบ และจะทำให้เกิดความรู้สึกร่วม ๆ กัน ระบบการจ้างงานที่เป็นอยู่ตอนนี้มันไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรา ไม่ได้เห็นหัวเรา ​

แบบเดิมแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในโรงงาน ทำให้เกิดสภาวะความรู้สึกร่วมกัน เกิดการรวมตัวกัน สหภาพแรงงานทำให้เกิดการยกระดับของค่าจ้าง สหภาพเรียกร้องให้เกิดมาตรฐานการจ้างงานให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง สวัสดิการ สหภาพจึงมีความสำคัญมาก รวมถึงกลไกในการต่อรอง เยียวยา

​แต่ปัจจุบันแรงงานอยู่โรงงานยังมีอยู่ ดูได้จากแรงงานในแคมป์ก่อสร้าง ภาคการเกษตร เราจะเห็นอยู่ แต่แรงงานเพื่อนบ้านอาจจะจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีสถานการณ์ที่รุนแรง เป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับสังคมไทย เชียงใหม่ มีแรงงานเกือบแสนคนก่อนโควิด-19 แต่ช่วงปลายศตวรรษ 20 ต้นจนถึง ศตวรรษ 21 แรงงานอยู่นอกโรงงาน เกิดความปรับเปลี่ยนในความสัมพันธ์ในการจ้างงาน เช่น ยืดหยุ่น หรือตามยุทธศาสตร์ ไม่ใช่เฉพาะในภาคเอกชน แต่ในหน่วยงานรัฐก็มีการจ้างงานแบบนี้เกิดขึ้นเยอะมาก ​

วันนี้เรามาพูดถึงงานที่มีคุณค่า แต่โลกปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับ Precarious work หรืองานที่ไม่มั่นคง ทำให้เกิดการทบทวน ตรวจสอบ การนิยามความหมายของงานและความสัมพันธ์ของมนุษย์ ​

เมื่อท้องถนนกลายเป็นโรงงาน โรงงานมันครอบชีวิตของเรา มันไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีนายจ้าง แต่นายจ้างมันมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ยกตัวอย่างอาชีพไรเดอร์ การเรียกลูกจ้างว่า partner ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเท่า ๆ กัน แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่​

ภาพจาก : decode.plus

เวลาถามเรื่องคุณค่าของงานหรือคุณค่าของคน เราต้องพิจารณาปัจจัยดังนี้

1. ควรพูดถึงคุณค่าของงานต้องถูกมองจากคนทำงานด้วย ต้องกลับมาคิดว่าคนทำงานมองเรื่องนี้อย่างไร

2. การสร้างเครือข่ายคนทำงาน การรวมกลุ่มและแนวร่วมแบบใหม่ เราต้องออกแบบหน้าตาของ “สหภาพแรงงาน” ใหม่ที่สอดคล้องกันในแต่ละกลุ่ม

3. ​“แรงงานคือแรงงาน” มายาคติในปัจจุบันมีความหลากหลายมาก เราไม่ควรแบ่งแยก แยกย่อยของแรงงาน ทำให้เราไกลจากกันและลดอำนาจการต่อรองลง

4. “แรงงานคือมนุษย์” แรงงานไม่ใช่แค่คนทำงาน แต่การจ้างงานต้องสัมพันธ์กับชีวิตระยะยาว ระบบสวัสดิการหลังวัยทำงาน การยอมรับให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น ๆ ระบบ ”บำนาญประชาชน” ต้องได้รับการผลักดันในเรื่องนี้” ​

สำหรับคนงานบนแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ แม่บ้านออนไลน์ หมอนวดผ่านแอปพลิเคชัน การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะเทคโนโลยีทำให้คนงานไม่ถูกคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานดั้งเดิม หลายคนกลายเป็น #คนงานนอกระบบ ที่ต้องซื้อประกันชีวิตเอง รักษาตัวเองเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงาน ต่อรองค่าแรงไม่ได้ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ .นอกจากนั้นอีกหลายคน (โดยเฉพาะแรงงานหญิง) ยังมีภาระทำงานบ้าน ดูแลครอบครัว เหมือนทำงานมากขึ้นเป็นสองเท่า คนเหล่านี้ต้องแบ่งสรรเวลาทำงาน-งานบ้าน-พักผ่อนจนน่าเกิดคำถามว่างานที่ “อิสระ” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้เราอิสระได้จริงหรือไม่ หรือแค่ทำให้เราต้องขูดรีดตัวเองมากขึ้นในช่วงที่มีเวลาว่างจากงานกวาดถูบ้าน งานเลี้ยงลูก ฯลฯ มาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว.ปัจจุบันคนงานบนแพลตฟอร์มในไทยยังไม่ถูกคุ้มครอง

คำถามสำคัญในวัน #DecentWork ปีนี้อาจเป็นว่า “การงานที่มีคุณค่าของคนงานออนไลน์มีหน้าตาเป็นอย่างไร” และ “ใครอีกบ้าง –นอกจากคนทำงาน– ควรเป็นคนรับผิดชอบให้เกิดการงานที่มีคุณค่าเหล่านั้นขึ้นจริง”

กิจกรรมโต้วาทีในหัวข้อ “คุณค่าของคนสำคัญกว่าคุณค่าของงาน” เพื่อถกเถียงในเรื่องคุณค่าของคนหรือคุณค่าของงาน โดยสรุปคือ ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าของคนหรือคุณค่าของงาน เราควรจะไปด้วยกัน จึงอยากชวนตั้งคำถามว่าคุณค่ามันอยู่ที่ตรงไหน ใครเป็นคนกำหนดคุณค่า และที่สำคัญที่สุดคือเราไปหลงกลกับกับดักการให้คุณค่าด้วย

ช่วงท้ายของเวที เครือข่ายแรงงานภาคเหนือได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เนื่องในวัน “งานที่มีคุณค่า” ความดังนี้

องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ให้ความหมายของ “งานที่มีคุณค่า” คือ งานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ ประกอบด้วยหลักการสำคัญดังนี้

1.เสรีภาพในการสมาคม สิทธิการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของคนทุกคนและการเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดสภาพการจ้างงาน การไม่ใช้แรงงานบังคับ การไม่ใช้แรงงานเด็ก และการไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน

2.การจ้างงานประจำ

3.การประกันสังคม

4.ระบบการปรึกษาหารือตามหลักมาตรฐานแรงงานสากล

5.การมีความเท่าเทียมทางเพศ ​

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือพบว่า สถานการณ์การจ้างงานปัจจุบันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยนั้น แรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติยังถูกละเมิดสิทธิแรงงานหลายประการ ได้แก่​ คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังคงเผชิญปัญหา ทั้งเรื่องรายได้ที่ค่าจ้างที่ได้รับส่วนใหญ่อยู่ในฐานค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งแทบไม่พอในการดูแลตัวเองและครอบครัว นายจ้างตัดลดสวัสดิการต่าง ๆ และอุปสรรคในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน รวมถึงไม่มีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคีชุดต่างๆ ​คนงานทำงานบ้านและคนทำงานในภาคการเกษตรยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน ไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม รวมถึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นต้น​แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับสิทธิเฉกเช่นแรงงานทั่วไปตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด เช่น ไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดและวันลาตามที่กฎหมายกำหนด ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ และเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องอาชีพ และเอกสารที่ใช้ในการขึ้นทะเบียน นายจ้างบางรายไม่ได้นำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนประกันสังคม และคนงานส่วนที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมก็ยังมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น การใช้สิทธิในกองทุนว่างงาน ทุพลภาพ และกรณีการรับเงินบำเหน็จชราภาพ ​มีการเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าจ้างระหว่างแรงงานหญิงและแรงงานชาย ​มีความรุนแรงทางเพศในที่ทำงาน​แรงงานในภาคบริการยังคงถูกเลือกปฏิบัติและตีตราจากสังคม ด้วยเหตุผลของความแตกต่างทางเพศ ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพเฉกเช่นแรงงานทั่วไป ​แรงงานที่ขับรถส่งอาหารในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยังขาดการเข้าถึงสิทธิ และสวัสดิการด้านต่าง ๆ ต้องแบกรับความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางรายได้ ความมั่นคงในอาชีพ และความเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกายจากการทำงานโดยต้องรับผิดชอบตนเอง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของคนทำงาน

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จึงมีความเห็น ดังนี้

1. รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน

2. รัฐบาลต้องนำหลักการการคำนวณค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานแรงงานสากล มาใช้สำหรับการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน และใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั่วทั้งประเทศ

3. รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาการจ้างงานยืดหยุ่น เสี่ยง และไม่มั่นคง (precarious work) รวมถึงการจ้างงานบนแพลตฟอร์มที่บริษัทพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในฐานะนายจ้าง โดยรัฐต้องไม่ตีความแรงงานแพลตฟอร์มเป็นคนงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบตามที่บริษัทพยายามกล่าวอ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการหมวดหมู่สถานะจ้างงานผิดประเภท (misclassification)

4. รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเป็นแผนนโยบายระยะยาว 5 ปี หรือ 10 ปี โดยต้องกำหนดนโยบายที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีความโปร่งใสและเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

5. รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ6. รัฐบาลต้องยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และให้แก้ไข พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานภาคบริการ​เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ 9 ตุลาคม 2565

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ 9 ตุลาคม 2565​

ไฟล์แนบแถลงการณ์ เนื่องในวัน “งานที่มีคุณค่า” 2565 : 9.แถลงการณ์ เนื่องในวัน “งานที่มีคุณค่า”

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : Lanner, เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ