เช็คความพร้อม ‘เชียงใหม่’ ก้าวต่อไปในการพัฒนา ‘ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ’

เช็คความพร้อม ‘เชียงใหม่’ ก้าวต่อไปในการพัฒนา ‘ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ’

ผ่านมาร่วมปีนับตั้งแต่ที่ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค พร้อมปักหมุดขับเคลื่อนนโยบาย “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC)” เพื่อเดินหน้าพัฒนา 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง ให้กลายเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศอย่างยั่งยืน รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจภูมิภาคและดึงอีก 17 จังหวัดภาคเหนือให้เติบโตไปด้วยกัน

โดยความคืบหน้าล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า จากมาตรการด้านสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ในไตรมาสแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือจำนวนทั้งสิ้น 20 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 8,116 ล้านบาท โดยส่วนมากเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารและกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล

ควบคู่กับการดำเนินนโยบายที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม บทความนี้ขออาสาพาทุกท่านมาอัพเดตความพร้อมของเชียงใหม่หนึ่งในเมืองหัวหอกของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือกับเหล่าผู้มีบทบาทสำคัญผลักดันการพัฒนาในพื้นที่ พร้อมทำความเข้าใจถึงโอกาสจากนโยบาย ตลอดจนเป้าหมาย ทิศทางและแผนการที่เชียงใหม่จะก้าวเดินไปต่อจากนี้

“เชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคเหนือ ทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นที่นี่ล้วนส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภูมิภาค และแน่นอนว่าการพัฒนา NEC นั้นจะทำให้ทุกจังหวัดของภาคเหนือได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง”

นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงภาพรวมโอกาสอันน่าจับตามองของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ก่อนเสริมต่อว่าสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยด้านต่าง ๆ จากนโยบายนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและกระจายรายได้แก่ทุกภาคส่วน

นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงภาพรวมโอกาสอันน่าจับตามองของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ก่อนเสริมต่อว่าสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยด้านต่าง ๆ จากนโยบายนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและกระจายรายได้แก่ทุกภาคส่วน

“ยกตัวอย่าง ‘อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว’ ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม บริษัททัวร์ หรือร้านอาหารในเขตอำเภอเมืองเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่กิจกรรมการท่องเที่ยวยังสามารถเชื่อมโยงโอกาสสู่ธุรกิจ ภาคการผลิตและการบริการในชุมชนท้องถิ่นทั่ว 25 อำเภอ ประกอบกับระบบคมนาคมขนส่งขั้นพื้นฐานที่เรามีอย่างเพียงพอก็ช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อกับจังหวัดใกล้เคียง อาทิ เชียงราย ลำพูน และลำปาง ตอบโจทย์ทั้งการเดินทางท่องเที่ยวและการให้บริการการขนส่งโลจิสติกส์ ที่สำคัญเรามีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเยอะมาก ซึ่งสามารถหนุนเสริมการพัฒนา BCG Model ไปพร้อม ๆ กันได้”

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เผยว่าเป็นอุตสาหกรรมของภาคเหนือที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากสุดในช่วงไตรมาสแรกของปี ส่วนนี้ทางหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เป็นอีกหน่วยงานที่มีบทบาทขับเคลื่อน ด้วยภารกิจที่พร้อมสานต่อแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์และมุ่งสนับสนุนให้สมาชิกหอการค้านำเทคโนโลยี Robotic และ Data Analysis มาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจ เพื่อส่งเสริมและวิเคราะห์ข้อมูลในภาคการผลิตและการบริการ ซึ่งถือเป็น New S-Curve อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตอันเป็นหัวใจหลักของกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (New Growth Engines) ตลอดจนต่อยอดธุรกิจ Startup และอำนวยความสะดวกแก่ Digital Nomad

“สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจและธุรกิจของเชียงใหม่เติบโตมากขึ้น คือการขับเคลื่อนในรูปแบบ New S-Curve ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาต่อยอดพัฒนา นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่า จังหวัดเชียงใหม่มีกลุ่ม Digital Nomad อยู่อาศัยกว่า 10,000 ราย และเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ก็กระจายตัวอยู่ในจังหวัดใกล้เคียงอย่าง ลำพูน ลำปาง หรือเชียงรายด้วย สาเหตุหลักมาจากการที่ภาคเหนือมีวัฒนธรรมและปัจจัยหลายอย่าง เช่น สิ่งแวดล้อม ค่าครองชีพ ระบบอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ที่สามารถตอบสนองวิถีชีวิตและการทำงาน ซึ่งคนกลุ่มนี้เองนำเงินเข้าประเทศเราค่อนข้างเยอะในแต่ละปี ดังนั้นถ้ามีการผลักดัน Digital District หรือ Digital Nomad City เศรษฐกิจโดยรวมของภาคเหนือจะต้องเติบโตยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน”

จุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวพร้อมกับบอกว่า ปัจจุบันหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่พยายามผลักดันในเรื่องของ Terrain Medicine นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลจากสถานพยาบาลให้สามารถสั่งยา หรือรับคำปรึกษาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและช่วยให้ชาวเชียงใหม่ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของ Cosmetic Valley หรือการยกระดับมาตรฐานพืชผักสมุนไพรไทยด้วยงานวิจัยและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าต้นทุนท้องถิ่นด้วยการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ

“เราไม่อยากให้เกิดการมองว่ามีแค่ภาคเอกชนหรือธุรกิจที่ได้ประโยชน์ เพราะจริง ๆ แล้วทุกคนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือต่างได้รับผลประโยชน์เหมือนกันหมด โดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่จะได้รับการพัฒนาและทำให้ทุกคนในพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัดมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม อีกทั้งนี่เป็นโอกาสเหมาะที่เราจะช่วยกันผลักดันนโยบายการลดฝุ่น PM 2.5 ส่งเสริม BCG Model รวมถึงสนับสนุน Soft Loan เพื่อการใช้พลังงานสะอาดและสร้างคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจด้วย”

อย่างไรก็ตาม จุลนิตย์ชี้ว่า ณ ตอนนี้สิ่งที่ควรผลักดันเป็นลำดับแรกสุด คือการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่ได้ทราบถึงความสำคัญ สิทธิประโยชน์ และการเชื่อมโยงของ 4 พื้นที่เป้าหมายการพัฒนา เพื่อให้ทุกคนเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนและเป็นพลังสร้างสรรค์ร่วมมือขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือไปด้วยกัน

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ดร.ณรงค์ ตนานุวัฒน์ กงสุลกิตติมศักดิ์ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมองว่า การสื่อสารเป็นปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ไขก่อนอื่นใดเพื่อทำให้การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือเดินหน้าไปต่อได้อย่างทันท่วงที

ร.ณรงค์ กล่าวเสริมว่า อีกประเด็นสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ คือเรื่องระบบโลจิสติกส์ที่จะช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะประเทศจีน

“ตลาดการค้าใหญ่สุดของภาคเหนือคือตลาดจีน เพราะเขามีความต้องการสินค้าจากไทยสูงมาก ซึ่งหลังจากที่มีเส้นทาง R3A เราก็จะสังเกตเห็นได้ว่าการขนส่งสินค้าหลายอย่างนิยมไปทางบกหรือทางรถไฟมากขึ้น แล้วตอนนี้จีนก็กำลังพัฒนาถนน R3A คู่ขนานที่ประเทศลาว หากถนนสายนี้สำเร็จมันก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังประเทศจีน และจากจีนเข้ามาประเทศไทยกระทั่งสามารถเชื่อมไปถึงสิงคโปร์ นี่คือโอกาสจากระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ”

ไม่เพียงการเชื่อมโยงการค้าข้ามดินแดนหรือภายในอนุภูมิภาค การเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดข้างเคียงก็นับเป็นเป้าหมายของการดำเนินนโยบาย ซึ่งจะช่วยขยับขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมประเด็นนี้ วิเชียร เชิดชูตระกูลทอง ประธานกิตติมศักดิ์และกรรมการที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อธิบายว่า

“ในอดีตการส่งเสริมด้านการลงทุนและการพัฒนาต่าง ๆ ส่วนมากจะเน้นแต่เชียงใหม่ แต่เมื่อเกิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ทั้ง 4 จังหวัดจึงต้องมองภาพร่วมกัน มองจุดเด่นที่สามารถนำมาบูรณาการหรือจุดด้อยที่ต้องช่วยเหลือกัน เช่น การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ที่ลำปางอาจจะปลูกพืชสมุนไพรบางตัวได้ เชียงรายก็เป็นเมืองสมุนไพร เชียงใหม่เป็นเมืองเทศกาลซึ่งเป็นจุดขายและดึงดูดคนให้เดินทางเข้ามา ส่วนลำพูนก็โดดเด่นด้านประเพณีวัฒนธรรมและนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถพัฒนาในด้าน High Technology ซึ่งทั้ง 4 จังหวัดต่างมีแบบฉบับแห่งความเป็นวัฒนธรรมล้านนาที่สามารถนำ Hi-Tech มาบูรณาการร่วมกับ Hi-Touch และหยิบจับมาต่อยอดสร้างสรรค์จุดขายร่วมกันได้ ดังนั้นภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ต่อจากนี้จะมีกระจายอำนาจ กระจายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมไปสู่จังหวัดข้างเคียงในภาคเหนือให้เกิดความเสมอภาคมากยิ่งขึ้น”

ในเชิงรูปธรรม วิเชียรกล่าวว่าสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่มีบริษัทที่สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทด้านการเกษตร หัตถกรรม การออกแบบ รวมถึงด้านสุขภาพ อาทิ Sun Sweet, เอ็กซา ซีแลม หรือชาระมิงค์ โดยมีทั้งกลุ่มใหญ่และ SME ซึ่งบริษัทเหล่านี้นอกจากจะมีศักยภาพในการแข่งขัน ยังมีรูปแบบการทำงานเป็นคลัสเตอร์ โดยคลัสเตอร์สำคัญที่เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ อย่าง Food Valley ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และมีการใช้โมเดลทันสมัยที่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐ กระทรวงเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรมและนวัตกรรม โดยได้นำมาเป็นต้นแบบที่เชียงใหม่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก่อนจะเติบโตจนกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับพื้นที่และภูมิภาค ขณะที่ด้านหัตถอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง หรืออุตสาหกรรมดิจิทัล เชียงใหม่ก็มีครบพร้อมสำหรับการพัฒนาเมืองสู่การเป็น Smart City และเมืองน่าอยู่ อีกทั้งยังมีอุตสาหกรรมที่ทำงานร่วมกับชุมชน อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมวัสดุต่าง ๆ ซึ่งช่วยกระจายรายได้แก่ท้องถิ่นและส่งเสริมชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดด้วย

“ประโยชนหลัก ๆ ที่เราควรได้รับจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ คือการพัฒนาด้าน Ecosystem ที่จะช่วยเติมเต็มแรงจูงใจให้อยากมาลงทุนและอยู่อาศัยในพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมด้านงานวิจัย ซึ่งภาคเหนือมีมหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่งและมีความเข้มแข็งด้านนวัตกรรมสูง ดังนั้นเราจึงมองว่าการเข้ามาของ NEC จะต้องเป็นสะพานเชื่อมองค์ความรู้จากการค้นคว้าวิจัยที่มีประโยชน์ รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่ดึงผู้ประกอบการหรือองค์ความรู้จากต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่เพื่อกระตุ้นการลงทุน เกิดการแลกเปลี่ยนนวัตกรรม ทักษะและความเชี่ยวชาญ ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นสิ่งสำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานต้องพร้อม ไม่ว่าจะสนามบิน รถไฟความเร็วสูง ถนนหนทาง ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ถ้าเรามีความพร้อมตรงนี้เหมือนกับที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มี เชื่อว่าการพัฒนาของเมืองต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือจะเจริญรุ่งเรืองอย่างก้าวกระโดด”

เขียน : ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ-เชียงใหม่ Northern Economic Corridor-CNX

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ