ถนนราชดำเนินนอก / ‘พีมูฟ’ ยุติการชุมนุมเรียกร้องวันนี้ หลังจากรัฐบาลรับข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย 10 ข้อ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา 7 คณะ เช่น การแก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบ ผลกระทบจากการพัฒนาภาครัฐ สวัสดิการโดยรัฐ สิทธิที่อยู่อาศัย ฯลฯ โดยจะประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาครั้งแรกภายในเดือนตุลาคมนี้ ย้ำหากรัฐบาลไม่ทำตามข้อตกลงจะกลับมาชุมนุมใหม่ ด้าน ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม. เป็นประธานอนุกรรมการแก้ปัญหาสิทธิที่อยู่อาศัย
ตั้งคณะอนุกรรมการแก้ปัญหา 7 ด้าน
ตามที่เครือข่ายภาคประชาชนในนาม ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ (ขปส.) หรือ ‘P-Move’ (People Movement) ได้ชุมนุมตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา บริเวณประตู 5 (หลังทำเนียบรัฐบาล ตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ) เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลรวมทั้งหมด 10 ข้อ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การคุ้มครองวิถีชีวิตสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม นโยบายรัฐสวัสดิการ ปัญหาที่อยู่อาศัย ฯลฯ โดยตัวแทนกลุ่มพีมูฟได้ประชุมร่วมกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และมีการเจรจาเพื่อจัดตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหารวม 7 ด้าน จนได้ข้อยุติเบื้องต้นแล้วนั้น
วันนี้ (17 ตุลาคม) เวลาประมาณ 12.40 น. บริเวณที่ชุมนุมประตู 5 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้แถลงข่าวยุติการชุมนุม หลังจากปักหลักชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา รวมเวลา 15 วัน โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มพีมูฟ รวม 7 คณะ มีนายภูมิธรรม รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการ ประกอบด้วย
1.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ 2.คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ 4.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ
5.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะและบุคคล 6.คณะอนุกรรมการสิทธิที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และ 7.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
เริ่มประชุมแก้ปัญหา 7 ด้านภายในเดือนตุลาคมนี้
นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ ‘พีมูฟ’ กล่าวว่า พีมูฟได้เจรจากับรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการ 2 ครั้ง โดยประชุมร่วมกับคณะกรรมการ ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม และได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 2 ครั้ง คือ วันที่ 10 และ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา
หลังจากมีมติ ครม.วันที่ 16 ตุลาคม ได้มีการประสานงานฝ่ายเลขานุการ คือส่วนราชการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาทำความเข้าใจ และกำหนดแผนการทำงานร่วมกัน ในวันนี้ (17 ตุลาคม) โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานในระดับกรมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทั้ง 10 เรื่อง เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันที่ตึก ก.พ.ร. โดยจะใช้อนุกรรมการแก้ไขปัญหาในการทำงานภายใต้หลักประกันทั้งหมด 4 เรื่อง ดังนี้
- การเจรจาหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหา 6 ข้อ 2. เมื่อได้หลักการร่วมกัน ได้เสนอปัญหาให้รัฐบาลในรูปแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 เรื่อง และปัญหารายกรณี 266 กรณี 3. ต้องมีการเจรจารายปัญหา ขณะนี้ได้เจรจาข้อเรียกร้องทั้ง 10 เรื่อง และต้องกระจายปัญหารายกรณีไปสู่กลไกเร่งรัดการแก้ไขปัญหา และ 4. พีมูฟต้องการได้รับการยืนยันจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ตลอดระยะเวลาการชุมนุม 15 วัน ได้มีกระบวนการต่าง ๆ เกิดขึ้น และจะดำเนินการอย่างไรหลังจากนี้ รวมถึงบันทึกเอกสารทั้งหมดแจ้งมายังประธานกรรมการบริหารพีมูฟอย่างเป็นทางการ
“การประชุมอนุกรรมการทั้ง 7 คณะ จะเริ่มประชุมครั้งแรกภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของอนุกรรมการ บางเรื่องที่สามารถสั่งการได้ในทันทีต้องมีข้อยุติภายใน 30 วัน เรื่องระยะกลางให้เวลาดำเนินการ 90 วัน และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย นโยบาย และมติ ครม. ต้องแก้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี” นายประยงค์กล่าว
ส่วนกรณีเร่งด่วน 3 กรณี คือหลีเป๊ะ จ.สตูล, บางกลอย จ.เพชรบุรี และโฉนดชุมชนคลองโยง จ.นครปฐม ได้เจรจาให้สำนักงานสำนักนายกรัฐมนตรีจัดทำหนังสือแจ้งหน่วยงานรับทราบโดยด่วน และต้องยุติภายใน 30 วัน
นอกจากนี้นายประยงค์ได้กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรมีแนวโน้มสนับสนุนนโยบายของพีมูฟ หากมีการยกร่างกฎหมายต่าง ๆ ขึ้นมา พีมูฟจะไปรณรงค์กับพรรคการเมืองเพื่อให้สนับสนุน นอกจากนั้นพีมูฟยังคงขับเคลื่อนกับฝ่ายตุลาการ เพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องเปลี่ยนระบบการพิจารณาจากระบบกล่าวหาเป็นระบบไต่สวน เพื่อให้คนจนสามารถหยิบยกข้อเท็จจริงมาต่อสู้คดีได้อย่างเป็นธรรม
“ครั้งนี้พีมูฟไม่ได้เรียกร้องแก้ปัญหารายกรณีเป็นหลัก แต่เราสรุปบทเรียนการต่อสู้ 13 ปี เห็นว่าต้องแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเพื่อไม่ให้ปัญหาวนเวียน จึงขมวดเรื่องทั้งหมดแยกเป็นกลุ่มปัญหา และเสนอนโยบาย 10 ด้าน และเรายืนยันว่าหากประสบความสำเร็จ ผู้ได้ประโยชน์จะไม่ใช่แค่พีมูฟ เราไม่ได้เรียกร้องปัญหาส่วนตัว แต่เรียกร้องสังคมที่เป็นธรรม ส่วนรายกรณีต้องแก้ไปด้วยอยู่แล้ว ซึ่งเราคงต้องทำงานร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายนโยบาย ฝ่ายการเมือง เช่น การจัดทำกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทวงคืนผืนป่า จะมีผู้ได้รับประโยชน์อย่างน้อย 48,000 คดี ซึ่งเราต้องอาศัยฝ่ายค้านด้วย” นายประยงค์ย้ำ
นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานกรรมการบริหารขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า พีมูฟยังคงยืนยันว่าหากการดำเนินการไม่เป็นไปตามที่เจรจากันไว้ พีมูฟพร้อมเคลื่อนไหวใหญ่แน่นอน ซึ่งครั้งหน้าอาจขอชุมนุมในระยะเวลาที่ยาวกว่าเดิม เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปในระดับนโยบาย ไม่ใช่เพียงแค่รายกรณี
นัฐาพันธ์ แสงทับ รองประธานกรรมการบริหารขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้อ่านแถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เรื่อง “ประกาศยุติการชุมนุมพีมูฟทวงสิทธิ เดินติดตาม กำกับ ตรวจสอบ การทำงานของรัฐบาล” เนื่องจากได้บรรลุข้อเรียกร้องทั้งหมดตามเจตนารมณ์ โดยผ่านการประชุม ครม. 2 ครั้ง มีแนวทางในการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ด้านอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงแก้ไขปัญหากรณีเร่งด่วนและกรณีอื่นๆ อีกรวม 266 กรณี และมีกลไกให้ติดตามเร่งรัดดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งพีมูฟขอขอบคุณรัฐบาลที่เร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
“เรายืนยันจะยังใช้การเมืองบนท้องถนนของเราติดตาม ตรวจสอบ การทำงานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และจะยังใช้ทุกกลไก ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ผลักดันข้อเรียกร้องของเราอย่างถึงที่สุด หากภายหลังรัฐบาลแสดงท่าทีไม่จริงใจต่อการแก้ไขปัญหา หรือจะสร้างผลกระทบด้วยการผลักดันนโยบายที่เอื้อพวกพ้องตนและกลุ่มทุน ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง เราก็พร้อมจะกลับมาชุมนุมเคลื่อนไหวทุกเมื่อ ตามสิทธิ เสรีภาพ ในการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” ผู้แทนพีมูฟกล่าวก่อนจะยุติการชุมนุม
กลุ่มพีมูฟมีข้อเรียกร้องเชิงนโยบายรวมทั้งหมด 10 ข้อ ดังนี้ 1. ด้านสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีบทบัญญัติกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่าง ๆ ขอให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกกระบวนการทุกขั้นตอน
- ด้านการกระจายอำนาจ ขอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เพื่อปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นและสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ด้านนโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ขอให้เร่งออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
- ด้านนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ขอให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า
- ด้านนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ขอให้ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้มีการละเมิด คุกคามชีวิตทรัพย์สินและส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินป่าทั่วประเทศ
- ด้านการป้องกันภัยพิบัติ ขอให้มีคณะกรรมการส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุ และการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ
- การคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชุมชนและชาติพันธุ์ในทุก ๆ ด้าน ขอให้เร่งลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ….
- ด้านสิทธิของคนไร้สถานะ แต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะเป็นกรรมการกลางที่มีผู้ทรงคุณวุฒิมีภาคประชาชนที่มีประสบการณ์เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน
- ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ โดยเสนอนโยบายและสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ
10.ด้านที่อยู่อาศัย โดยให้รัฐจัดสรรที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัย จัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย หยุดใช้มาตรการไล่รื้อชุมชน
รมว.พม. เป็นประธานแก้ปัญหาด้านสิทธิที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องทั้ง 10 ด้าน รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหารวมทั้งหมด 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ 2.คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ 4.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ
5.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะและบุคคล 6.คณะอนุกรรมการสิทธิที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และ 7.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม.ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการสิทธิที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยมี นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการชุดนี้