“สื่อสมัยนี้ เสรีภาพสมัยไหน” เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

“สื่อสมัยนี้ เสรีภาพสมัยไหน” เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

17 พ.ค. 2559 สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกันจัดงานล้อมวงสนทนาหัวข้อ “สื่อสมัยนี้ เสรีภาพสมัยไหน” เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) ณ ห้องแมนดาริน โรงแรมแมนดาริน (สามย่าน) กรุงเทพฯ ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

20161905000141.jpg

 

เชื่อเสรีภาพการสื่อสาร ลดความรุนแรง สร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้

20162005004634.jpg

นวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าว BBC สื่อมวลชนที่รายงานข่าวสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า เสรีภาพการสื่อสารของประชาชนทั่วไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มันทรง ๆ ไม่ได้พุ่งขึ้นสูงมากและไม่ได้ลดลงเยอะเนื่องจากคนในพื้นที่เข้าใจกันว่าอะไรพูดได้ไม่ได้ และคนที่มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจก็เป็นตัวละครเดิมที่เห็นกันมาเป็นสิบปี ไม่ใช่ตัวละครใหม่ 

ความแตกต่างอย่างชัดเจนคือยุคหนึ่งคนสามารถพูดเรื่องการเมืองกันได้มากกว่า ยกตัวอย่างการพูดคุยสันติภาพระหว่างขบวนการกับรัฐไทยเป็นตัวชี้วัดเสรีภาพตัวหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบัน การพูดคุยมีกรอบอย่างชัดเจน ในพื้นที่ไม่เคยมีการถกเถียงทิศทางการเมืองในพื้นที่อย่างจริงจัง อาจมีในบางกลุ่มบางคน แต่ไม่มากนัก และต้องมีบารมีทางการเมือง ถึงจะสามารถพูดเรื่องเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ขณะที่ก่อนหน้านี้ในยุคที่เรายังไม่มีรัฐประหาร มีการพูดคุยเรื่องสันติภาพ แม้จะมีข้อแม้ข้อสงสัยถึงเจตนารมณ์ทางการเมือง แต่มากน้อย บรรยากาศการพูดคุยในพื้นที่ก็เปิดกว้างกว่า

อดีตผู้สื่อข่าว BBC ชี้ว่า เรื่องสันติภาพเรากำลังเฝ้ามองว่าจะนำไปสู่การเปิดพื้นที่เจรจาพูดคุยการเมืองขนาดไหน เพราะเสรีภาพในการพูดเรื่องความเป็นธรรมในพื้นที่และการละเมิดสิทธิ จะเป็นกุญแจสำคัญต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต้องพูดถึงสันติภาพในกรอบของรัฐธรรมนูญ จะพูดเกินกว่านี้ไม่ได้แล้ว

อีกมาตรวัดหนึ่งคือ สื่อในระดับรากหญ้าหรือระดับพื้นที่ที่จะพูดปัญหาการเมืองในยุคนั้นมากกว่ายุคนี้อย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบัน สื่อหรือรายการวิทยุที่จะถกเรื่องการเมืองในพื้นที่ได้อย่างตรงไปตรงมา แทบจะหาไม่ได้เลย

นอกจากนี้ แม้แต่กรณีที่มักพูดกันเสมอว่าคนทำสื่อที่จะทำหน้าที่ได้โดยอยู่รอด ต้องเสนอข่าวอย่างสมดุล ไม่เลือกข้าง หรือภาษาชาวบ้านคือ เป็นกระดานสนทนาที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาเขียน ก็ยังไม่สามารถเกิดได้ หากจะมีก็เป็นสื่อใหญ่นอกพื้นที่ซึ่งก็ต้องมีแบ็กอัพ แต่ในพื้นที่สามจังหวัดถามว่าใครจะมาหนุนหลัง และคนฟังแต่ละกลุ่มก็น้อย ในเชิงพาณิชย์แล้วอยู่ไม่ได้ เมื่อในพื้นที่ไม่มีสื่อของตัวเอง ก็ไม่สามารถทำให้เกิดสื่อที่จะทำหน้าที่อย่างสมดุลได้

หลายคนพูดเรื่องว่า ถ้าเรารายงานอย่างถูกต้อง รอบด้านแล้วจะไม่เป็นไร ส่วนตัวยังสงสัย เพราะเห็นตัวอย่างมาแล้วในภาคใต้ บางทีคุณพยายามให้พื้นที่กับฝ่ายคู่ความขัดแย้ง แต่การให้พื้นที่ อาจไม่เป็นที่พอใจของอีกฝ่ายหนึ่ง สื่อบางรายถูกกดทับด้วยเรื่องเหล่านี้มาแล้ว ฝากเพื่อนสื่อกลับไปคิดว่าเป็นจริงและใช้ได้ในทุกสถานการณ์หรือไม่ อาจต้องมีการทบทวน และตอบคำถามว่าอะไรที่จะช่วยได้เวลาที่เราพบปัญหา 

นวลน้อย ยังแสดงความเห็นถึงการแก้ปัญหาด้วยวิธีหลังไมค์ โดยเล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดว่า เช่น การถูกเรียกรายงานตัว หรือมีชื่อในบัญชีดำของเจ้าหน้าที่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการติดต่อผู้ใหญ่ที่ตัวเองรู้จักเป็นทอด ๆ ให้ช่วยเคลียร์ ช่วยการันตี เพื่อหลุดบ่วง ผลที่เกิดขึ้นคือการแก้ปัญหาโดยพึ่งพาบารมีและความสัมพันธ์ แต่หลักการจะถูกวางไว้ก่อน ขึ้นอยู่กับใครเป็นเด็กใคร เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

“ดิฉันคิดโดยส่วนตัวอย่างจริงจังว่า คนเรา ความสามารถในการสื่อสารถูกโยงใยโดยตรงกับการต่อสู้ทางการเมือง ถ้าคนเราสามารถสื่อสารในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ จะช่วยให้เขาหลุดจากการต่อสู้ทางอื่น เช่นความรุนแรงหรืออะไรก็ตามแต่ ดังนั้น ถ้าผู้คนในสังคม ซึ่งรวมถึงผู้มีอำนาจ และผู้ที่ใช้อาวุธทั้งหลายสามารถมองเห็นเรื่องนี้ ก็ควรส่งเสริมให้คนมีความสามารถในการสื่อสารได้มากขึ้น” นวลน้อยกล่าว

อดีตผู้สื่อข่าว BBC กล่าวด้วยว่า การทำเช่นนั้นในตอนแรก ๆ อาจจะรู้สึกยากลำบากในการยอมรับ แต่ถ้ามีความอดทนมากพอ ทุกอย่างจะเข้ารูปเข้ารอยและการสื่อสารจะเป็นไปได้ด้วยตัวของมันเอง คนจะรู้ว่าตัวเองควรจะพูดอะไรมากแค่ไหน และมีกติกาขึ้นเองโดยอัตโนมัติ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราเป็นผู้รู้ดีพยายามบอกว่าจะพูดอะไร สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจะไม่เกิดขึ้น และอาจเกิดการเบี่ยงเบนการต่อสู้ และเกิดการใช้ความรุนแรงได้

 

สำนักข่าวภูเก็ตหวานภาพสะท้อนการทำงานสื่อท้องถิ่น 

20161905002611.jpg

ที่มาภาพ: Nbtc Rightss

ชุติมา สีดาเสถียร อดีตนักข่าวภูเก็ตหวาน เว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นภาคภาษาอังกฤษในจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงข้อจำกัดในการทำหน้าที่ของสื่อท้องถิ่นว่า ขึ้นอยู่กับกลุ่มทุนที่สนับสนุน เนื่องจากการทำงานของนักข่าวท้องถิ่นหรือสตริงเกอร์ไม่ได้รับเงินเดือนประจำ รายได้ต่อชิ้นงานราว 300-700 บาท แต่ต้องออกค่าเดินทางเอง บางครั้งไกลนับ 100 กิโลเมตร และบางกรณีต้องเดินทางข้ามเกาะเพื่อไปทำข่าว เพื่อแลกกับเงินจำนวนดังกล่าว

“หากไม่มีรายได้เพียงพอซับพอร์ทเพื่อการดำเนินชีวิต เสรีภาพก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่อาจเขียนข่าวให้รอบด้านได้” ชุติมากล่าว 

สำหรับการนำเสนอข่าวของภูเก็ตหวานนั้น ชุติมา กล่าวว่า เคยถูกถอนโฆษณาจากกลุ่มนายทุนและผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ เพราะนำเสนอข่าวด้านลบ เช่น กรณีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตซึ่งมีอยู่ทุกวัน กรณีน้ำเสีย และโรงแรมบุกรุกที่ชายหาด เป็นต้น ส่วนในกลุ่มนักข่าวท้องถิ่นด้วยกันก็ถูกทำให้เป็นสื่อชายขอบ เนื่องจากมุมมองการนำเสนอข่าวที่แตกต่างกัน โดยอ้างเรื่องภาพลักษณ์เรื่องการท่องเที่ยวและรายได้ของประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อปี 2557 ภูเก็ตหวานถูกกองทัพเรือแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาท และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังเผยแพร่รายงานที่อ้างถึงรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ระบุว่า กองกำลังทางเรือของไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ต่อมาแม้ศาลภูเก็ตตัดสินยกฟ้อง แต่ก็ตามมาด้วยการต้องปิดตัวลงของเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน 

ชุติมากล่าวว่า การควบคุมเสรีภาพการแสดงออกด้วยคดีความเป็นยาแรงที่ได้ผล เพราะระยะแรกที่โดนคดีรู้สึกช็อค ทำให้สับสนว่าอะไรคือสิ่งที่สื่อสามารถรายงานได้ อันไหนไม่ควรรายงาน ไม่มีสัญญาณบอกมาก่อน พร้อมระบุด้วยว่าการที่ต้องไปต่อสู้คดีในศาลเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทำให้เสียเวลา รวมทั้งเสียความรู้สึกกับการทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารให้ประชาชน 

“การที่เป็นสื่อเราต้องเข้าใจว่าสื่อทำหน้าที่อะไรบ้าง ถ้าเราเป็นสื่อ ถ้าเราเงียบ เราไม่ใช่แล้ว เราต้องสามารถที่จะยืนหยัด สื่อสารข้อมูลออกมาได้อย่างครบถ้วน แต่ข้อเท็จจริงมันไม่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างตัวสื่อกับนายทุน หรือว่าผู้บริหารในจังหวัดเองมีความใกล้ชิดกันมาก” ชุติมากล่าวถึงการทำงานของสื่อท้องถิ่น

อดีตนักข่าวภูเก็ตหวานยังกล่าวฝากถึงการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าว โดยยกกรณีที่เธอถูกกันไม่ให้เข้าไปรายงานข่าวในพื้นที่กองทัพเรือ และมีการติดรูปไว้หน้าประตูทางเข้าโดยระบุว่าเป็นบุคคลอันตรายห้ามเข้า ทั้งที่ขณะนั้นยังไม่มีคำตัดสินของศาล เธอได้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยังสมาคมนักข่าวฯ ในพื้นที่ และขอความช่วยเหลือจากนักข่าวในพื้นที่ให้ช่วยอธิบาย แต่ก็ไม่เป็นผล ไม่มีใครกล้าพูด จึงทำเพียงได้เขียนข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

แต่ขณะที่มีกรณีที่ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวช่อง 3 ลงพื้นที่ทำข่าว และได้ภาพและข่าวที่สื่อท้องถิ่นไม่ได้ ทำให้สื่อท้องถิ่นรวมตัวกันบอยคอตไม่รายงานข่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 สัปดาห์ ซึ่งตรงนี้ควรพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อร่วมกัน
 
“หากไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ คุณจะทำอะไรต่อได้ สื่อตอนนี้อ่อนแอมาก” อดีตนักข่าวภูเก็ตหวานกล่าว

 

การสื่อสารภาคพลเมือง ผลกระทบในรอบ 2 ปีหลังรัฐประหาร

20161905002812.jpg

ที่มาภาพ: Nbtc Rightss

สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ในช่วงเวลากว่า 8 ปีที่ทำงานมา การสื่อสารของภาคพลเมืองเติบโตขึ้นมาก พร้อม ๆ กับสื่อใหม่ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ภายหลังเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีนักข่าวพลเมืองถูกฟ้องมากขึ้น ล่าสุดคือกรณีนักเรียนชั้น ม.4 ที่สื่อสารเรื่องราวจากบ้านตนเอง (กรณีผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย) และในวันที่ 30 พ.ค.นี้ ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีที่ฟ้องไทยพีบีเอสจากรณีดังกล่าว 

อีกคดี คือกรณีของนักข่าวพลเมืองชาติพันธุ์ลาหู่ จ.เชียงใหม่ ที่ถูกฟ้องโดยหน่วยงานความมั่นคง ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว

เทียบกับช่วง 6 ปีก่อนหน้านั้น มีงานของนักข่าวพลเมืองกว่า 3,000 ชิ้นที่ออกอากาศ มีอยู่แค่ครั้งเดียวที่มีการร้องเรียนผ่านกลไกภายในของไทยพีบีเอส โดยให้มีการทำข้อมูลประกอบร่วมกับนักข่าวพลเมืองที่ออกอากาศ

นอกจากนั้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สื่อพลเมืองทั้งชาวบ้าน นักศึกษา และอาจารย์มหาวิทยาลัย ถูกเชิญไปปรับทัศนคติจำนวนมาก รวมถึงสั่งให้ขออนุญาตก่อนเข้าพื้นที่ด้วย

ส่วนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ก็พบว่ามีการถูกเตือนและตั้งคำถามว่าทำไมถึงปล่อยให้บางคนรายงานข่าวนักข่าวพลเมือง ก็อธิบายไปว่าตรงนี้เป็นสิทธิเสรีภาพ และงานนักข่าวพลเมืองไม่ได้เป็นการทำข่าวใส่ร้ายใคร แต่เป็นการนำเสนอปรากฏการณ์ในชุมชนที่เชื่อมโยงกับภาพสังคมใหญ่

สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมสหภาพวิทยุและโทรทัศน์แห่งเอเชียแปซิฟิก (ABU) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเชิญเครือข่ายที่ทำเรื่องนักข่าวพลเมืองจากหลายพื้นที่เข้าร่วมพูดคุย และมีคำอธิบายชุดหนึ่งเกิดขึ้นคือ การทำหน้าที่ของสื่อพลเมืองมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการทำหน้าที่ของสื่อกระแสหลัก 

คนในพื้นที่มองว่าความจริงบางอย่างมันหายไปจากสื่อกระแสหลัก ขณะที่สื่อพลเมืองที่ทำหน้าที่อยู่โดนดันให้ออกหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาปะทะกับอำนาจรัฐและทุนในท้องถิ่น รวมทั้งอำนาจรัฐในส่วนกลางด้วย ส่วนตัวคิดว่านี่คือสภาพอันตรายที่เกิดขึ้นตอนนี้ และมันอาจทำให้ปัญหาปะทุขึ้นในพื้นที่

การทำงานที่ผ่านมา พยายามที่จะหาจุดร่วมในการทำงานระหว่างนักข่าวพลเมืองกับสื่อกระแสหลัก และตรงนี้จะหนุนเสริมให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยในการสื่อสาร” ตรงนี้จึงเป็นประเด็นที่กังวลและยังไม่ได้คิดต่อว่าจะทำอย่างไร แต่พยายามระวังมากขึ้นซึ่งไม่ได้หมายถึงการเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่จะทำอย่างไรให้ยังรักษาพื้นที่และสามารถสื่อสารประเด็นชาวบ้านได้  โดยเป็นการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ไม่ใช่เผชิญหน้า

สุดท้าย ถ้าการทำหน้าที่ของสื่อหลักกับสื่อพลเมืองสัมพันธ์กันจะอธิบายถึงการมีเสรีภาพของสังคม ซึ่งการมีเสรีภาพตรงนี้ต้องมีกลไกเครื่องมือ ต้องมีการเมืองภาคตัวแทนทำงานคู่กับการเมืองภาคประชาชน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นต้องมีกลไกช่วยคลี่คลาย โดยสื่อเป็นกลไกหนึ่งแต่ไม่ใช่เครื่องมือแก้ปัญหา สื่อมีหน้าที่อธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น และเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่มีอยู่ ให้ฝ่ายนโยบายเอาไปพิจารณาแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของสังคม 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาเกิดเพราะกลไกประชาธิปไตยไม่ทำงาน และมีกลไกอื่นทำหน้าที่แทน ก็ตั้งคำถามว่าแก้ปัญหาได้แค่ไหน ดังนั้น กลไกประชาธิปไตยจึงเป็นหัวใจสำคัญเพื่อให้ภาครัฐหรือภาคการเมืองตอบโจทย์สังคมใหญ่ได้

ส่วนกระบวนการสื่อสารคือกระบวนการที่ทำให้มีพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งปัญหาจะแก้ได้หรือไม่ ไม่รู้ แต่คนที่มีปัญหาได้มีพื้นที่แสดงตัวตนเป็นที่มองเห็น และนำเสนอปัญหาเพื่อไปสู่การแก้ไข 

สมเกียรติ กล่าวในฐานะคนในองค์กรสื่อด้วยว่า สื่อปัจจุบันอยู่ในยุคที่คนจะเดือดร้อนหากเฟซบุ๊กล่มสักชั่วโมง แต่การปิดทีวีคนอาจไม่รู้สึก จึงมีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างทาง สื่อเองก็อาจมีบางจุดที่พลาดไป ทำให้คนในสังคมไม่ได้รู้สึกว่าสื่อเป็นที่พึ่งแบบเดิม และมีสื่อใหม่ ๆ ที่เรานึกไม่ออก เราอยู่ในยุคที่ถูกท้าทายมากว่าจะไปรอดหรือไม่ แต่ส่วนตัวยังรู้สึกว่าการเชื่อมต่อของสังคมต้องอาศัยสื่อหลัก ทุกวันนี้คนยังรู้เรื่องทำเนียบจากนักข่าวทำเนียบ ดังนั้น ต้องหาบทบาทให้เจอว่าเราอยู่ตรงไหน ไม่เช่นนั้นเราจะล่มสลายไปพร้อมยุคสมัย

 

ทัศนะเจ้าของวลี “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน นะคะท่าน”

20161905001137.jpg

ยุวดี ธัญญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ผู้ได้รับคำเตือนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเธอตะโกน “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” โดยบอกให้เธอ “ระวังตัวด้วย”

สิทธิเสรีภาพสื่อจะมีมากน้อยขึ้นกับตัวเราด้วย เพราะเสรีภาพขึ้นกับความรับผิดชอบ ไม่มีประเทศไหนในโลกให้ฟรีทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ การไขว่คว้าหาอยู่ที่ตัวเราเองด้วย ในฐานะผู้สื่อข่าวทำอย่างไรจะให้ได้ข่าวมาสู่ประชาชน เพราะการทำหน้าที่ของสื่อ คือทำให้ประชาชนได้ความรู้ ข้อเท็จจริงตรงไปตรงมามากที่สุด 

ทั้งนี้ มองว่านักข่าวในสนามไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เมื่อเราทำหน้าที่เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ยืนอยู่ตรงกลาง เราคงไม่เป็นอันตรายอย่างแน่นอน เพราะทุกคนโดยเฉพาะนักข่าวที่ดีต้องยืนอยู่บนผลประโยชน์ของส่วนรวม และนึกถึงความมั่นคงของชาติและความรับผิดชอบในฐานะคนไทยที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติ

ตั้งแต่ทำงานมา เจอรัฐบาลทั้งรัฐบาลเผด็จการและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยังมองว่าการทำหน้าที่สื่อในการแสวงหาข้อเท็จจริงไม่ได้ลดน้อยถอยลง นอกจากนี้ เสรีภาพของสื่อไทยในอาเซียนยังมีมากกว่าที่อื่น และช่วงที่มีรัฐบาลเผด็จการยึดอำนาจ ก็ไม่ได้ทำข่าวยากเย็นอะไร ในส่วนกลางยังเปิด 

ยุวดี ย้ำว่า สื่อเองก็รู้ว่าเสรีภาพต้องอยู่บนความรับผิดชอบ เพราะสื่อเองก็มีกฎหมายต่าง ๆ กำกับ อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่เป็นห่วง เช่น กรณีที่สื่อเอาข่าวในอินเทอร์เน็ตที่ไม่ได้กลั่นกรองความถูกต้องมานำเสนอ และเมื่อพลาดแล้วก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบ 

“เรากำลังถูกบีบรัดจากการสื่อสารที่รวดเร็ว กติกาสังคม และเรื่องต่าง ๆ ที่ต่างชาติ กำหนดขึ้น เช่น สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน” ยุวดีกล่าวและว่า ปัจจุบัน ความเข้มข้นของข่าวที่ไปสู่ประชาชนลดน้อยลง แม้สื่อจะต่อสู้ แต่บางครั้งเสรีภาพก็ขึ้นกับว่าจะถูกใจคนที่คุมเราอยู่หรือไม่ ถ้าถูกใจก็รอดไป แต่มองว่าสื่อก็รู้หน้าที่ของตัวเอง 

ทั้งนี้ เธอกล่าวถึงรายการคืนความสุขฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วยว่า เวลาออกมาพูดอะไร ก็ต้องเอาของใหม่ ๆ ออกมาให้ประชาชนรู้ อย่าเอาเรื่องเก่า ๆ มาพูด เพราะคนจะเบื่อ ถ้าพูดยาวไปคนไม่อยากฟังแล้ว พร้อมย้ำว่าให้เกียรติผู้นำประเทศทุกคน เพราะแต่ละคนขึ้นมาได้ต้องมีความสามารถ 

ขณะเดียวกัน ผู้นำทั้งหลายต้องมองสื่อไม่ใช่คู่ขัดแย้ง คู่กัดของรัฐบาลด้วย เพราะสื่อมีหน้าที่ตรวจสอบและเสนอแนะรัฐบาล อย่าเห็นว่าการตรวจสบเป็นการกลั่นแกล้ง ถ้าต่างฝ่ายรู้หน้าที่กันสังคมก็จะอยู่อย่างสงบสุขร่มเย็น 

สุดท้าย ยุวดี กล่าวด้วยว่า ขอให้คนไทยใจเย็น มองสิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุผล ดูประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และพม่าเป็นตัวอย่างว่าทำไมเขาอดทนจนมีรัฐบาลพลเรือนได้และไม่ต้องมีการยึดอำนาจ อยากให้ทุกกลุ่มหันมาดูตัวเอง ไม่ว่านักการเมืองหรือข้าราชการ หากทำดีแล้ว บ้านเมืองต้องไปไกลกว่านี้แล้ว

 

วอยซ์ทีวี ย้อนถามสโลแกนสื่อ ‘ถูกต้อง-รอบด้าน’ ใครเป็นคนชี้

20161905001204.jpg

พรรณิการ์ วานิช จากวอยซ์ทีวี กล่าวว่า ตั้งแต่วันแรกของรัฐประหาร ยังมีทหารในเครื่องแบบพร้อมอาวุธไปที่สถานีอยู่ ถึงห้องออกอากาศและในสูติโอ 

ในบรรยากาศแบบนี้ ปัจจัยที่ชี้วัดเสรีภาพสื่อ คือการไม่มี กสทช. ที่พูดแบบนี้เพราะในหลายประเทศเช่น ยุโรป สหรัฐ ก็มีสมาคมสื่อกัน แต่ประเทศที่เป็นนิติรัฐ มีกฎหมายบังคับใช้ได้อย่างถูกต้อง จะไม่มีการใช้กฎหมายพิเศษอะไรในการกำกับสื่อ หากสื่อใช้อำนาจเกินเขต สามารถใช้กฎหมายหมิ่นประมาทได้ตามปกติ 

การมีคณะกรรมการกำกับควบคุมกิจการสื่อ โดยจุดประสงค์การก่อตั้งแล้วอาจจะดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ “ไม่ปกติ” อย่างที่รัฐบาลชอบพูด จะเห็นว่า กสทช. ไม่สามารถเป็นอะไรได้มากกว่าเครื่องมือของรัฐบาลในการควบคุมสื่อ

ขณะเดียวกัน แม้ในสถานการณ์ปกติ ก็จะยังคงจะพูดเหมือนเดิม เพราะอย่างดี กสทช. ก็คือ คุณพ่อรู้ดี ที่คิดว่าประชาชนไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอในการรับสื่อ และอย่างเลวก็คือกลายเป็นเครื่องมือของเผด็จการในการปิดปากสื่อ ซึ่งสถานการณ์ไม่ปกตินี้จะเห็นว่าเป็นอย่างเลวมากกว่าอย่างดี

พรรณิการ์กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าวอยซ์ทีวี มีความเกี่ยวข้องกับฝั่งคนเสื้อแดงซึ่งถูกโยงกับทักษิณ ชินวัตร เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่นามสกุลชินวัตร แต่ถามว่านายทุนในไทยมีกี่คนที่มีสื่อในมือ ไม่ใช่ชินวัตรตระกูลเดียว แต่ วอยซ์ต้องรับสภาพนี้ ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ประชาชนเห็นว่าทำงานใต้สถานการณ์นี้ได้ดีพอที่จะเรียกตัวเองว่าสื่อได้หรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การทำงานใต้สถานการณ์แบบนี้ยากขึ้นอีก เพราะกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่มาควบคุมสื่อ เห็นได้ชัดว่า ทำเพื่อปกป้องรัฐมากกว่าปกป้องประชาชน และมีหลายมาตรฐาน

พรรณิการ์เปิดเผยว่า ผู้บริหารช่องกำชับเสมอว่า ถ้าช่องไหนพูดขนาดไหน เราก็พูด เรื่องไหนเขายังไม่พูด เราอย่าพูด เรตติ้งเราอาจจะดี แต่เราไม่สามารถรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ เพราะอาจถูกปิดช่องหรือริบเงินประกันหลักพันล้านได้ และขนาดว่าใต้ขีดจำกัดว่าอย่าพูดอะไรที่สื่ออื่นไม่ได้พูด ก็ยังไม่รอด บางครั้งเรื่องเดียวกัน ช่องอื่นพูดได้ แต่วอยซ์พูดแล้วเป็นปัญหา ตั้งคำถามถึงสมาคมสื่อว่าดูแลตรงนี้อย่างไร

นอกจากนี้ เธอกล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำขวัญวันเสรีภาพสื่อโลก ปีนี้ ของสมาคมสื่อที่ว่า “ถูกต้อง รอบด้าน คือหลักประกันเสรีภาพ” โดยชี้ว่า ที่ผ่านมา มีปัญหามาก เพราะความถูกต้องและความรอบด้านนั้นแต่ละคนมีมาตรฐานต่างกัน ทำให้ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้เลยว่าจะมีเสรีภาพ ต้องรอผู้มีอำนาจมาชี้ว่า เป็นสื่อที่ถูกต้องหรือไม่

พรรณิการ์ ให้ข้อมูลด้วยว่า ปีล่าสุดฟรีดอมเฮ้าส์จัดอันดับเสรีภาพสื่อของประเทศไทย ซึ่งเคยถูกยกย่องว่าเป็นประทีปของประชาธิปไตยในอาเซียน อยู่อันดับ 8 ของอาเซียน ต่ำกว่าเมียนมา ซึ่งอยู่สูงกว่าไทย 7 อันดับ 

“การที่ถูกจำกัดอย่างย่ำแย่ที่สุด ไม่ใช่ทั้งการมีทหารอาวุธครบมือมาที่สถานีทุกวัน วันละอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และไม่ใช่การที่ กสทช. เรียกเราไปบ่อย ๆ ซึ่งเราก็ไม่อยากว่า กสทช. เพราะเราก็รู้ว่าเขาถูกกดดันมาอีกทางหนึ่ง แต่มันคือการเซ็นเซอร์ตัวเองและเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมาก ๆ” พรรณิการ์กล่าว

พรรณิการ์ชี้ว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของสถานการณ์สื่อทุกวันนี้ไม่ใช่ทหารคุมหรือ กสทช.คุม เพราะตอนนี้ สถานการณ์คือสื่อไม่กล้าที่จะพูดเพราะว่าทุกคนอยู่บนความเสี่ยงที่ว่าจะโดนเรียก จะโดนปรับทัศนคติ จะโดนปิดช่องหรือไม่ และความคลุมเครือของการบังคับใช้กฎต่าง ๆ ไม่เท่ากัน 

“สื่อทุก ๆ ช่อง ทุก ๆ ฉบับ น่าจะต้องเคยเห็นข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่ กสทช. คสช. ใช้กับสื่ออยู่แล้ว แต่ความคลุมเครือที่เขาปล่อยไว้ก็คือไม่รู้ว่าเขาจะบังคับใช้เคร่งครัดมากน้อยแค่ไหน เพราะข้อที่กำหนดไว้มันกว้างมาก และสามารถตีความครอบคลุมได้ทุก ๆ อย่าง เมื่ออยู่บนเส้นประแบบนี้ มันก็หมายความว่าสื่อต้องคิดเอาเองว่าฉันทำขนาดไหนถึงจะล้ำเส้น และจุดนั้นคือการเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งทำให้นรกขุมนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีจุดต่ำสุด มีแต่ new low ลงไปเรื่อย ๆ เพราะยิ่งสถานการณ์เข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่สื่อจะยิ่งต้องนำเสนอข่าวที่แหลมคมมากขึ้นเรื่อย ๆ สื่อกลับเซ็นเซอร์ตัวเองหนักยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เพราะตัวเองก็กดดัน ต้องยอมรับว่าสื่อคือธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจทีวี ซึ่งมีเงินอยู่ในความเสี่ยงระดับหมื่นล้าน” 

การที่วอยซ์ทีวีต้องเซ็นเซอร์ตัวเองมากเกินไป อาจทำให้การพิสูจน์ตัวเองในวาระแรกว่ามีคุณค่าของการเป็นสื่อไม่ใช่กระบอกเสียงของนักการเมืองล้มเหลว ตอนนี้หลักการที่ทำคือพยายามไม่พูดอะไรที่ล้ำเส้น ที่สื่ออื่นไปไม่ถึง แต่ก็มีความเสี่ยงมากเพราะมีรายการวิเคราะห์ข่าวเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งเมื่อวางตัวเองเป็น “สถานีวิเคราะห์ข่าวที่ดีที่สุดในประเทศไทย” ยิ่งทำให้สุ่มเสี่ยงมากกว่าการรายงานข่าวปกติ เพราะมีเรื่องความคิดเห็นและการ คาดการณ์ ทำให้ถูกบิดเบื่อนได้ว่าเป็นการยุแยง ทั้งที่การรายงานข่าวปกติธรรมดาเองสามารถมีบิดเบือน ปกปิดได้ง่ายกว่าการวิเคราะห์ข่าวด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม พรรณิการ์ย้ำว่า แม้สื่อหลายคนจะบอกว่าเสรีภาพสื่อนั้นขึ้นกับตัวสื่อเองและเธอเองก็พูดถึงการเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่ต้องไม่มองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างว่า สิ่งที่พรากเสรีภาพของเราไปคืออำนาจรัฐ เพราะไม่มีทุนไหนเพียงหนึ่งเดียวควบคุมประเทศได้ แต่รัฐควบคุมประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

และถึงตอนนี้เสรีภาพสื่อเท่ากับเสรีภาพประชาชนไม่จริง ประชาชนต้องพึ่งตังเอง อย่างที่บอกว่านักข่าวพลเมืองเป็นความหวัง ประชาชนต้องดูแลตัวเองในขณะที่สื่อยังง่อยอยู่ตอนนี้

 

เนชั่นชี้ยืนยันหลักการ ยืนหยัดได้ในภาวะความขัดแย้ง

20162005004857.jpg

สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ บรรณาธิการข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่คนในเครือเนชั่นยึดถือมาตลอดคือหลักการ และต้องทำงานหนักเพื่อที่จะพิสูจน์ว่าเป็นอย่างที่ถูกมองหรือไม่ เพราะในยุคนี้คือยุคที่มีความขัดแย้งสูงและคนพยายามแบ่งฝักฝ่าย ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ในฐานะสื่อคือการยึดหลักการ 

“สิ่งที่จะทำให้เรายืนอยู่ได้ การที่เราจะวิเคราะห์ การที่เราจะทำเรื่องอะไร สิ่งที่ดีที่สุดก็คือว่าเราเกาะติดอยู่กับข้อเท็จจริง บางทีเราไม่ต้องแสดงความเห็นด้วยซ้ำ เราแค่เอาข้อเท็จจริงมาบอกว่ามันเกิดอะไรขึ้น ฝ่ายนี้ว่าอย่างไร ฝ่ายนั้นว่าอย่างไร ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร” สมฤทัยเล่าถึงการทำงานในฐานะคนทำรายการวิเคราะห์ข่าวการเมือง

จากหัวข้อเสวนา “สื่อสมัยนี้ เสรีภาพสมัยไหน” คำตอบก็ต้องดูจากข้อเท็จจริง ซึ่งหากย้อนกลับไปจะเห็นว่า สื่อถูกควบคุมอย่างหนักในยุคที่ใช้ ปว.17 ปี 2501 และยุคที่ใช้ ปร.42 ซึ่งในยุคนั้นผู้นำมีอำนาจเบ็ดเสร็จ และสื่อยังมีแค่หนังสือพิมพ์เป็นหลัก การที่มี ปว.17 และ ปร.42 เป็นกลไกกฎหมายซึ่งมีอำนาจในการยึดแท่นพิมพ์ เมื่อยึดเครื่องมือในการทำสื่อได้ ก็ยึดสื่อได้ 

ถึงยุคนี้ กลไกในการคุมสื่อมีประกาศ คสช. 4 ฉบับ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.ประกาศเพื่อคุมการเสนอข่าว เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก ไม่เพิ่มขัดแย้งหรือสร้างความปั่นป่วน และ 2.ประกาศเพื่อคุมสื่อออนไลน์ ซึ่งในวันนี้ธรรมชาติสื่อต่างไปจากเมื่อ 50-60 ปีก่อน ที่แค่มีอำนาจยึดแท่นพิมพ์ก็คุมสื่อได้ แม้มีความพยายามที่จะคุมสื่อ แต่โลกการสื่อสารยุคนี้ไปไกลเกินกว่าที่จะคุมได้ 

หากนับ 2-3 วันแรกของที่ คสช.เข้ามา มีการไปปิดช่องโทรทัศน์ แต่ก็มีการไปทำสื่อลงยูทูบ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ยิ่งปิดคนยิ่งอยากรู้ว่าทำไมต้องปิด ในวันนี้ (17 พ.ค.) เมื่อ 24 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็เกิดเพราะว่ารัฐพยายามที่จะปิด พยายามที่จะบอกว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี แต่เผอิญว่าในปี 2535 เริ่มมีการติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้คนรู้ความจริง

ถึงที่สุด เราเห็นความพยายามของผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ต่างต้องการที่จะคุมสื่อ อยากให้ภาพที่ปรากฏต่อประชาชนเป็นภาพที่ดี แต่จุดที่สำคัญในตอนนี้กฎหมายไม่สามารถคุมสื่อได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ก็มีความพยายามอื่นนอกจากกฎหมายที่จะมาสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้น อีกทั้งกลไกที่จะควบคุมไม่ได้คุมเฉพาะสื่อ แต่คุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนด้วย เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนเองสิ่งที่ดีที่สุดเมื่อถูกรุกโดยผู้มีอำนาจ คือการพยายามสร้างความแข็งแกร่งเพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจรุกเข้ามาได้ ซึ่งก็คือการทำหน้าที่อย่างรอบด้าน ถูกต้อง

สมฤทัย กล่าวด้วยว่า เธอเห็นด้วยกับคำขวัญของสมาคมนักข่าวที่พูดมาตลอด ซึ่งปีนี้เน้นออกมาว่า “ถูกต้อง รอบด้าน หลักประกันเสรีภาพ” ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็พูดมาตลอดว่าเสรีภาพกับความรับผิดชอบต้องอยู่คู่กัน

“ตราบใดที่เราในฐานะสื่อทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบ มันก็เป็นเกราะที่จะป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจเข้ามาควบคุมได้” สมฤทัยกล่าว และให้ข้อมูลว่ามีเพื่อนนักข่าวบางคนของเธอโดนเรียกจนเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว แต่ที่เขาอยู่ได้เพราะข้อมูลที่เขียนทุกอย่างอยู่บนข้อเท็จจริง

 

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยร้องยกเลิกคำสั่ง คสช.คุมสื่อ

20161905001009.jpg

สุปัน รักเชื้อ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า เสรีภาพสมัยนี้เป็นเสรีภาพที่ถูกตีกรอบ เสรีภาพแบบดิบ ๆ สุก ๆ หรือ “ฉี่ไม่สุด” ในการทำหน้าที่นำเสนอ แต่รัฐบาลทุกยุคที่ผ่านมาก็ไม่เคยให้เสรีภาพสื่ออย่างเต็มที่ มีการปิดกั้นมาตลอดในต่างรูปแบบ ไม่ว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีวิธีจัดการกับสื่อแบบนิ่งและเนียน หรือรัฐบาลชุดนี้ที่มีท่าทีขึงขังจริงจังจนออกจะโฉ่งฉ่าง 

สุปัน กล่าวด้วยว่า สื่อปัจจุบันทำข่าวไม่ลงลึก ด้านหนึ่งเพื่อความปลอดภัย ไม่กล้าวิพากษ์ เริ่มจะเซฟตัวเอง เซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น พื้นที่หลักที่เสนอข่าวประจำวันถูกปรับรูปแบบใหม่ ข่าวเศรษฐกิจนำเสนอได้แค่ว่ารัฐจะลงทุนที่นั่นที่นี่มีการจับมือเอกชน แต่กระทบประชาชนอย่างไร รายงานลำบาก 

เสรีภาพของสื่อถูกวางกรอบไว้ด้วยกฎหมายทั้งแพ่ง อาญา และในสถานการณ์พิเศษมักมีกฎหมายหรือคำสั่งมาตีกรอบอีกชั้น ทำให้สื่อไม่สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารตามเจตนารมณ์ที่อยากเสนอข้อเท็จจริง เดิมสื่อต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อมีสถานการณ์พิเศษ ยิ่งทำให้กลัวว่าจะเข้าความผิดตามคำสั่งหรือประกาศอะไรหรือไม่

ที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับ กกต.เรื่องการรายงานข่าวประชามติอย่างไรโดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่ง กกต. บอกว่าให้ทำตามประกาศ แต่ทั้งนี้ต้องดู พ.ร.บ.ประชามติ และประกาศ คสช.ประกอบด้วย ทำให้สื่อเหมือนโดนทอดแหหลบไปทางไหนก็เจอ 

ทั้งนี้ นอกจากเสรีภาพสื่อจะถูกปิดกั้นโดยอำนาจรัฐ ทุน และอิทธิพลท้องถิ่นแล้ว ยังถูกปิดกั้นโดยประชาชนด้วยกันเอง ด้วยอารมณ์ความรู้สึกในการเสพข่าวของประชาชน นี่เป็นประเด็นใหญ่ 

อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพ กล่าวด้วยว่า วิธีการเข้ามาควบคุมสื่อของรัฐ มีทั้ง 1.การเข้ามาขอคุยกับนักข่าวในภาคสนามว่าทำไมเสนอแบบนี้ มีอะไรให้ถามก่อน หรือเข้ามาทำความสนิทสนม 
2.การเข้ามาคุยกับผู้บริหารสถานี 3.การคุยกับธุรกิจโฆษณาหรือกลุ่มทุน เพื่อให้มีการตัดค่าโฆษณาจนทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในของสื่อ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาอำนาจรัฐและกลุ่มธุรกิจมีสัมพันธ์แนบแน่น แทบจะเป็นเสียงเดียวกัน 

4.ใช้กฎหมายฟ้องร้องเพื่อปิดปาก และ 5.การใช้เรื่องการให้สัมปทานซึ่งสื่อวิทยุจะอ่อนไหว เพราะต่ออายุปีต่อปี ส่วนสื่อโทรทัศน์สัญญายาวแต่ก็มีแรงเสียดทาน

“เราไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ แต่เราต้องการเสนอข้อเท็จจริงที่สังคมเขาสงสัย” สุปัน กล่าวและว่าหากสื่อไม่เสนอประชาชนจะไปสืบหาข้อเท็จจริงของเขาเอง ทั้งโดยการไปพูดคุยกันในสภากาแฟ และผ่านทางเฟซบุ๊ก

“ไม่มียุคไหนที่สื่อถูกถีบเป็นคู่ขัดแย้งทางสังคมมากเท่าสมัยนี้ และเป็นคู่ขัดแย้งทางสังคมที่มีกองเชียร์แต่ละฝ่าย ต้องยอมรับว่าสังคมแบ่งแยกเป็นสองสามความเห็น เสนอแบบที่ชอบใจก็เป็นสื่อพวกเรา ปรบมือเชียร์” 

สุปัน กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาข่าวเชิงสืบสวนน้อยลง เกิดจากพื้นฐานผู้สื่อข่าวยุคนี้ไม่ค่อยแน่น ขาดการทำข้อมูล ศึกษาที่มาที่ไป อีกทั้งสื่อเองไม่ค่อยอยากเล่น เพราะแรงเสียดทานจากอำนาจรัฐ อำนาจทุน และมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องทำการบ้านเยอะ ขณะที่สื่อมีการแข่งขันเรื่องความเร็ว ทำให้พื้นที่นำเสนอน้อย อีกทั้งต้องอยู่ภายใต้กรอบจำกัดของ คสช.ด้วย

นอกจากนั้น สุปัน ยังตั้งคำถามถึงบทบาทการทำงานของสื่อเองที่อาจต้องมีการทบทวน และย้อนไปตั้งคำถามต่อภาคประชาชนว่าจะเอาอะไร ต้องการข้อเท็จจริงหรือข้อเท็จจริงที่ถูกใจ ซึ่งอำนาจรัฐตีกรอบอยู่แล้ว ทั้งสื่อและประชาชนต้องช่วยกันยัน เสรีภาพสื่อไม่ใช่แค่สื่อตรวจสอบกันเอง แต่ต้องอาศัยแรงจากประชาชน ถ้าเราเชื่อว่าสื่อเสนอข้อเท็จจริงก็จะปกป้องสื่อได้

สุปัน กล่าวว่า ในสถานการณ์เผชิญหน้า สื่อที่ทรงพลานุภาพที่สุด ซึ่งหลายคนไม่ค่อยให้ความสำคัญคือผู้สื่อข่าวพลเมือง ซึ่งทุกคนเป็นสื่อได้และช่องทางเปิดกว้างมากที่สุด เราต้องช่วยกันส่งเสริมให้มีพื้นที่ทำงานข่าวที่มีประสิทธิภาพ รายงานสถานการณ์จากข้อเท็จจริงจากพื้นที่ เสนอได้โดยตรงผ่านช่องทางที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเรื่องเหมืองทองซึ่งก่อนหน้านี้สื่อหลักไม่ตาม แต่เมื่อเกิดกระแส แล้วสื่อหลักก็ลงไปเล่น ตรงนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญนักข่าวภาคพลเมือง

ตอนนี้ถ้าจะมองไปข้างหน้าถึงเสรีภาพในรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มอง 2 เรื่อง คือ พ.ร.บ.ปฏิรูปสื่อ ผ่าน สปช.แล้ว ต้องจับตาดู นี่คือการปิดกั้นการนำเสนอข้อเท็จจริงมากกว่าประกาศ คสช.ปัจจุบัน สอง พ.ร.บ.กสทช. เพราะถ้าไม่เฝ้าจับตาและออกมาส่งเสียง เราจะไม่มีพื้นที่สื่อสารกับสังคม 

สุปัน เรียกร้องด้วยว่า ท้ายที่สุด หากจะพิสูจน์ว่าสื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอจริง ขอให้ คสช.ยกเลิกประกาศ คสช. ทั้งหมด เพื่อพิสูจน์การทำหน้าที่ของสื่ออย่างถูกต้องรอบด้าน ถ้าไม่เป็นไปตามนั้น ก็ว่ากันด้วยกฎหมายที่มีอยู่เดิม 

ต่อคำถามเรื่องการดีลกับอำนาจรัฐ สุปัน กล่าวว่า ใช้ 2 วิธี คือ ดูว่าคุยกับใคร หากเป็นกลุ่มทางการเมืองจะคุยเปิดเผยเพราะไม่อยากถูกมองว่าไปตกลงกับคนนั้นคนนี้ เคยขอคุยกับทั้ง กปปส. นปช. ตำรวจ ทหาร พอมาเรื่องรัฐบาลต้องยอมรับว่าเป็นความขลาดกลัว แต่ด้านหนึ่งก็คำนึงถึงความปลอดภัยของนักข่าวในสนามข่าว เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน 

เขาเล่าด้วยว่า เมื่อก่อนสื่อเคยตกลงร่วมกันบอยคอตต์ไม่เสนอข่าวรัฐมนตรี พรรคการเมืองบางพรรค แต่เดี๋ยวนี้ไม่สามารถทำแบบนั้นได้แล้ว ก็เป็นเรื่องเอกภาพที่ต้องกลับมาตั้งคำถามตัวเอง 

 

มองไทยจากข้างนอก ความไม่แน่นอนและความกังวล

20161905003132.jpg

ที่มาภาพ: Nbtc Rightss

สตีเว่น เฮอร์แมน กรรมการบริหารของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) เล่าว่า มีนักข่าว ช่างภาพฟรีแลนซ์จำนวนมากเลือกกรุงเทพฯ เป็นฐานในภูมิภาค แม้ข่าวที่ทำจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศไทยแต่เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในไทย เช่น การชุมนุม หรือเหตุระเบิด นักข่าวเหล่านั้นก็จะไปทำข่าว อย่างเขาเองทำงานให้สำนักข่าว Voice of America ( VOA) ซึ่งมีสำนักงานระดับภูมิภาคอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ทำข่าวครอบคลุมถึง 20 ประเทศ 

เหตุผลที่สื่อต่างชาติจำนวนมากเลือกกรุงเทพฯ เป็นฐานระดับภูมิภาคเพราะสภาพแวดล้อมที่สะดวก มีสภาพความเป็นอยู่ที่เป็นมิตร เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งค่าครองชีพ ที่พัก โครงสร้างพื้นฐาน ระบบจัดการ มีเที่ยวบินจำนวนมาก และมีอินเทอร์เน็ตคุณภาพปานกลางในกรุงเทพฯ อีกทั้งเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา ระบบโทรคมนาคมของไทยก็ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

เฮอร์แมน กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นจริงในปัจจุบัน แต่ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯ ก็กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในภูมิภาค ทั้งในเรื่องเสรีภาพสื่อ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จนอาจส่งผลต่อการย้ายฐานประกอบการทั้งด้านสื่อ และธุรกิจต่างชาติ ปัจจัยหลักมาจากการที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย และพม่ามีการเปลี่ยนแปลงด้านสื่อไปในทิศทางที่ดีขึ้น และนี่คือสิ่งที่ไทยต้องเฝ้าระวังในอนาคต 

ปัจจุบันยังไม่มีนักข่าวต่างประเทศถูกเรียกไปปรับทัศนคติ แต่พบปัญหาเรื่องการขอวีซ่า และต่อวีซ่าที่ไม่เป็นระบบ และไม่มีความชัดเจน จึงทำให้ถูกมองว่าไม่มีความโปร่งใส และกระทำโดยพลการ เช่น ไม่มีการอธิบายรายละเอียดโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เขาแซวว่า หากเขาถามเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในห้องนี้ ก็อาจจะอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ได้ชัดเจนกว่าเจ้าหน้าที่ด้วยซ้ำไป 

เฮอร์แมน มองว่า บางครั้งสื่อไทยก็ไม่กล้า และถูกจำกัด รวมทั้งจำกัดตัวเองให้อยู่ในกรอบ สื่อไทยมักหลีกเลี่ยงการเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อาจเพราะคิดว่าคนไทยเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์อยู่แล้ว จึงไม่ต้องเขียนละเอียดนัก แต่กลับกันเมื่อสื่อต่างประเทศต้องรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้กับชาวต่างชาติฟัง พวกเขาต้องการที่จะรับรู้ถึงเบื้องลึก เบื้องหลัง ประวัติศาสตร์ และความเป็นมามากว่านั้น 

ก่อนการรัฐประหาร คนทำงานด้านข่าวเริ่มมีการเซ็นเซอร์ตัวเอง เพื่อป้องกันตัวเองจากการโดนมาตรา 112 ระบอบที่เรียกว่า “เผด็จการ” ถูกใช้เป็นสื่อกลางในการทำให้เกิดความกลัวในแวดวงสื่อ ซึ่งรวมถึงสื่อต่างชาติเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวล

เขาตอบคำถามกรณีที่รัฐเคยสนับสนุนการทำให้กรุงเทพฯ เป็นฮับของภูมิภาคว่า ตอนนี้กรุงเทพฯ ก็ยังไม่เสียสถานะนั้นไป แต่ก็มีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองว่านี่ไม่ใช่การรัฐประหารทั่วไป จึงทำให้ไม่สามารถหาความแน่นอนได้ทั้งในเรื่องระบบการปกครอง หรือเรื่องระยะเวลา สื่ออาจจะโอเคกับความไม่แน่นอน แต่ภาคธุรกิจไม่ชอบความไม่แน่นอนเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่เหมือนกับที่เคยเป็นในอดีต เสียงสะท้อนจากองค์กร บริษัทต่างชาติ และนักการทูต มีแต่ความไม่แน่นอน และความกังวล 

เฮอร์แมน กล่าวด้วยว่า คสช. รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มักปฏิเสธจะตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ทำให้ต้องอิงตามรายงานที่ออกมาจากฝั่งรัฐบาล หรือในสื่อไทย ทั้งที่พวกเขาเองก็มีคำถามที่แตกต่างออกไป เพราะต้องรายงานในบริบทที่ผู้อ่านต่างชาติจะเข้าใจ ขณะที่มี คสช.วิจารณ์การรายงานของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เขาคิดว่า คสช.ก็ควรจะต้องมีบทสนทนากับนักข่าวต่างประเทศเช่นกัน

20161905000936.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ