ผอ.สบท. ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่ง หลังวุฒิเลือกแล้วให้เป็น กสทช. ไม่หวั่นแม้ “ขาลอย” ระบุพร้อมลุยงานคุ้มครองผู้บริโภค เตือนเอสเอ็มเอสรบกวน งานนี้โดนแน่ กม.ชัดโทษปรับ ๕ ล้าน
15ก.ย.54-นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ว่าที่กรรมการกสทช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)แล้ว ซึ่งจะมีผลในวันที่ ๑๗ กันยายนนี้ ทั้งยังได้ทำหนังสือแจ้งลาออกจากการเป็นกรรมการและที่ปรึกษาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งหมด เพื่อเตรียมตัวเข้าทำงานเป็น กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม แม้จะยังไม่มีการทูลเกล้าก็ตาม
“เป็นการทำตามขั้นตอนของกฎหมายที่ระบุว่า ภายใน ๑๕ วัน ผู้ได้รับเลือกเป็น กสทช. จะต้องลาออกจากตำแหน่งอื่นใด โดยไม่เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และต้องไม่ประกอบอาชีพที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์กับการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนเรื่องการทูลเกล้านั้นเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องพิจารณา ผมเองได้ทำตามขั้นตอนกฎหมาย โดยได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น ชมรมแพทย์ชนบท คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อลาออกแล้วจำนวน 30 กว่าองค์กร “ นายประวิทย์กล่าว
นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า จุดอ่อนของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ผ่านมา คือ ผู้บริโภคไทยยังตื่นตัวน้อย เนื่องจากขาดการให้ข้อมูลจากองค์กรที่รับผิดชอบ การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ หลายเรื่องมีระเบียบหรือประกาศที่ดีแต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ เช่น ผู้ให้บริการต้องจัดเบอร์สำหรับร้องเรียนฟรี แต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ หรือไม่มีการดำเนินการจริงจากผู้ให้บริการ ซึ่งสะท้อนว่ากฎหมายไม่ได้บังคับใช้
“งานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องเร่งรัดดำเนินการคือ การตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมา รวมถึงออกหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันการอาศัยโครงข่าย หรือการโฆษณา มาเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการค้ากำไรเกินควร ก่อความเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 31 ที่ระบุว่า ต้องออกหลักเกณฑ์และห้ามบริษัทฝ่าฝืน ถ้าฝ่าฝืนปรับเริ่มต้นไม่เกิน 5 ล้าน ปรับรายวันอีกไม่เกินวันละแสน ตรงกับกรณีของเอสเอ็มเอสรบกวน รวมถึงเอสเอ็มเอสที่ไม่ได้สมัครแล้วหาเงิน จึงต้องดำเนินการ”นายประวิทย์กล่าว
นายประวิทย์กล่าวอีกว่า สำหรับการผลักดันงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น จะต้องมีการหารือร่วมกับ กสทช. ต่อไป เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง เนื่องจากส่วนที่ กสทช. ดูแลมีอยู่ ๒ กลุ่มคือ กลุ่มผู้ให้บริการและกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ ต้องมีการพัฒนากลไกให้มีความคล่องตัว ตอบสนองปัญหาได้รวดเร็ว เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่า เรื่องร้องเรียนต้องเสร็จภายใน ๓๐ วัน ถ้าไม่เสร็จ สำนักงานจะมีความผิดทางแพ่ง เจตนารมณ์ของกฎหมายชัดเจนคือ เน้นประสิทธิภาพในการตอบสนองปัญหาของประชาชน
“การใช้กระบวนการแบบเดิม คือ แจ้งผู้ร้องใน 7 วัน แจ้งบริษัท 7 วัน รอบริษัทอีก เดือนนึง ผ่านอนุฯอีกครึ่งเดือน กรรมการกลั่นกรองอีกครึ่งเดือน เข้ากทช.อีกเดือนหนึ่ง ทั้งหลายทั้งปวงก็สามเดือนไม่ทันการณ์ตามที่กฎหมายกำหนด จึงแปลว่าต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพและทันเวลา ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย” นายประวิทย์กล่าว