“ทบทวนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ!” เสียงจากท้องถิ่น ย้ำการพัฒนาต้องคู่ชีวิตคนมั่นคง

“ทบทวนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ!” เสียงจากท้องถิ่น ย้ำการพัฒนาต้องคู่ชีวิตคนมั่นคง

รายงานโดย ตาล วรรณกูล 

27 ก.ย. 2559 เวทีสัมมนาสาธารณะ เรื่องธรรมมาภิบาลกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หว่างวันที่ 26-27 ก.ย. 2559 มีตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก พื้นที่เขตเศรษฐกิจ 10 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ตาก จ.เชียงราย จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.สระแก้ว จ.ชลบุรี จ.จันทร์บุรี จ.ตราด และจ.สงขลา กว่า 100 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

ในการพูดคุยหลายพื้นที่ได้สะท้อนสภาพปัญหาและผลกระทบที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ การใช้อำนาจตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยอาศัยอำนาจตามมาตราที่ 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานภาพการใช้ที่ดินจาก พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ดินสาธารณะสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ให้กลายไปเป็นที่ราชพัสดุ ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งระยะที่ 1 และ 2 รวมกว่า 24,000 ไร่

ด้านสมนึก ตุ้มสุภาพ ศูนย์ศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนได้กล่าวถึงลักษณะของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 12/2558 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ว่าเป็นคำสั่งเชิงนโยบาย ส่วน คำสั่งที่ 17/2558 ว่าเป็นคำสั่งเชิงกฎหมาย ซึ่งให้อำนาจวินิจฉัยแก่คณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในการจัดการที่ดินในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 

“คำสั่งที่ 12 เพียงแต่แต่งตั้งคณะกรรมการฯ แต่ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย จึงต้องออกคำสั่งที่ 17 ภายใต้มาตรา 44  ซึ่งมีผลต่อการถอนสภาพที่ดินเดิม เช่น ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งจากนโยบาย การเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน ไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องผ่านขั้นตอนมากมาย แต่คำสั่งที่ 17 ทำได้ ด้วยการให้อำนาจคณะกรรมการฯ วินิจฉัยสภาพที่ดิน” สมนึกกล่าว

ส่วนการเร่งรัดเพื่อจัดหาที่ดินดังกล่าว ปรากฏข้อเท็จจริงจากพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พบว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่ใช้วิธีการข่มขู่ คุกคาม กดดัน ประชาชนในพื้นที่เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดิน เพื่อให้กลุ่มทุนรายใหญ่ได้เช่าใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม

20162709133451.jpg

20162709134156.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (27 ก.ย. 2559) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการพูดคุย กลุ่มประชาชนที่มาร่วมประชุม 18 องค์กร ได้จัดทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี เรื่อง “เสียงประชาชนจากพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” 

วิจิตรา เสนทา ตัวแทนประชาชนจาก 8 พื้นที่เขตเศรษฐพิเศษ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัดภาคตะวันออก อ่านจดหมายเปิดผนึก ระบุ 5 ข้อเสนอ ให้ชะลอและทบทวนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และผังเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม และจะต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การปกป้องพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่เกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า ทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งการสูญเสียความมั่นคงในการประกอบอาชีพของคนท้องถิ่น

ทั้งนี้ กลุ่มองค์กรเครือข่ายประชาชนที่ร่วมจัดทำจดหมายเปิดผนึก 18 องค์กร ประกอบด้วย กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น จ.ตาก, สหพันธ์รักษ์เมืองตาก, กลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกยาสูบ ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, สภาองค์กรชุมชน จ.นครพนม, สภาองค์กรชุมชน จ.หนองคาย, ศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคม จ.มุกดาหาร

เครือข่ายวาระเปลี่ยนภาคตะวันออก, กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง, กลุ่มรักษ์บ้านฉาง จ.ระยอง, ศูนย์ปกป้องสิทธิและคุ้มครองผู้บริโภค จ.ตราด, สภาพลเมือง จ.ชลบุรี, ประชาชน ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว, เครือข่ายป่าชุมชนรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก, เครือข่ายสัฆะพัฒนาภาคตะวันออก และสมัชชาประชาชน จ.สุโขทัย, กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ดินทำกินด้านการเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว อ.สะเดา จ.สงขลา

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก มีดังนี้

จดหมายเปิดผนึก ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี
“เสียงประชาชนจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ”

จากการที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี  พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ได้ใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558  เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557   ซึ่งมีผลให้เปลี่ยนแปลงสถานภาพการใช้ที่ดินจาก พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ให้กลายเป็นที่ดินราชพัสดุ  ในพื้นที่  6  จังหวัดในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 ได้แก่ ตาก มุกดาหาร  สระแก้ว ตราด สงขลา และหนองคาย และระยะที่ 2 ได้แก่ กาญจนบุรี นครพนม เชียงราย และนราธิวาส รวมพื้นที่ประมาณ 24,000 ไร่ 

การเร่งรัดเพื่อจัดหาที่ดินดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พบว่า การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับพื้นที่ได้ใช้วิธีการ คุกคาม ข่มขู่  กดดัน  บังคับ หลอกลวง และปิดล้อมทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินให้กับนักลงทุนรายใหญ่เช่าใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม  โดยเฉพาะสถานการณ์ในพื้นที่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หรือแม้กระทั่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2  อย่างพื้นที่จังหวัดนครพนม หน่วยงานรัฐได้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านจำนวน 33 ราย ในตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เพื่อขับไล่ให้ออกไปจากพื้นที่ ตลอดจนสร้างความแตกแยกรัฐกับประชาชน ประชาชนกับนักลงทุน และประชาชนกับประชาชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

ประชาชนจาก 8 พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ด้วยเหตุจาก “การกำหนดและออกแบบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ขาดการมีส่วนร่วม” นั้นนำไปสู่ความไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากรัฐบาลมุ่งเน้นดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาที่คนในท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์ ซ้ำร้ายยังเป็นการละเลยความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 

นอกจากนี้ ประชาชนจาก 8 เขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ยังมีความกังวลใจในประเด็นการปกป้องพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งสวนทางกับความพยายามผลักดันอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิศษของรัฐบาล เพราะหากไม่ระมัดระวังในการดำเนินการตามนโยบายลักษณะดังกล่าว  พื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในด้านการผลิตอาหารหลายพื้นที่ของประเทศ อาจต้องล่มสลายลงจากการดำเนินนโยบายที่ละเลยศักยภาพที่แท้จริงของท้องถิ่น

ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจาก 8 พื้นที่เขตเศรษฐพิเศษ และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จึงมีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีดังต่อไปนี้

1. ชะลอ และทบทวนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและผังเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของ 10 จังหวัด โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมโดยไม่มีผลกระทบต่อประชาชน และประชาชนนำเสนอพื้นที่ทางเลือกในการจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ

2. การกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจะต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การปกป้องพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่เกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า ทะเลและชายฝั่ง และการสูญเสียความมั่นคงในการประกอบอาชีพของคนท้องถิ่น

3. การส่งเสริมและสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องสอดคล้องกับศักยภาพและยังประโยชน์ให้กับคนในท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม

4. จัดให้มีกลไกในรูปแบบคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัด

5. จัดตั้งกลไกอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) ที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ขอแสดงความนับถือ

กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น จังหวัดตาก
สหพันธ์รักษ์เมืองตาก จังหวัดตาก
กลุ่มรักษ์เชียงของ จังหวัดเชียงราย
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกยาสูบตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
สภาองค์กรชุมชนจังหวัดนครพนม
สภาองค์กรชุมชนจังหวัดหนองคาย
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมมุกดาหาร
เครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก
กลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง
กลุ่มเรารักษ์บ้านฉางอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง
ศูนย์ปกป้องสิทธิและคุ้มครองผู้บริโภค จังหวัดตราด
สภาพลเมือง จังหวัดชลบุรี
ประชาชนตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
เครือข่ายป่าชุมชนรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก
เครือข่ายสังฆะพัฒนาภาคตะวันออก
สมัชชาประชาชนสุโขทัย
กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ดินทำกินด้านการเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว อ.สะเดา จ.สงขลา

 

20162709133505.jpg

20162709133512.jpg

20162709133517.jpg

20162709133523.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ