(สันป่าข่อยเนี่ยน) เราเป็น ‘คนสันป่าข่อย’

(สันป่าข่อยเนี่ยน) เราเป็น ‘คนสันป่าข่อย’

ย่านแต่ละย่านต่างมีเรื่องราว เอกลักษณ์เฉพาะของตัว ที่ประกอบสร้างขึ้นจากความคิด ความรู้สึก ตลอดจนความสัมพันธ์ พฤติกรรม หรือกิจกรรมที่เกิดในพื้นที่ ที่เป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงร้อยเรียงผู้คนในพื้นที่

วันนี้หากเรามองหาตลาด ขายอาหารไม่ว่าจะเป็น ของสด เช่น หมู อาหารทะเล ผักสด หรือ จะเป็นพวกกับข้าวสำเร็จรูป มีหมดตั้งแต่ อาหารไทย อาหารพื้นเมือง อาหารจีน ในราคาชาวบ้าน อีกหนึ่งตลาดที่อยู่คู่กับคนเชียงใหม่มายาวนานคือ ตลาดสันป่าข่อย จ.เชียงใหม่ ตลาดใจกลางย่านสันป่าข่อย

#ย่านสันป่าข่อย เป็นพื้นที่ ๆ ตั้งอยู่ตรงกันข้ามย่านวัดเกตุ มีถนนเจริญเมืองคั่นกลาง ก่อนที่ทางรถไฟจะขึ้นมาถึงเชียงใหม่ ย่านสันป่าข่อยเป็นย่านเล็กๆ มีผู้คนอยู่อาศัยไม่หนาแน่นมากนัก ชุมชนแรก ๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตนี้ คือ ชุมชนบ้านท่าสะต๋อย ด้านหลังตลาดสันป่าข่อยในปัจจุบัน

ในสมัยก่อน เมื่อรถไฟมาถึงเชียงใหม่ พร้อมกับนำชาวจีนจากกรุงเทพฯ เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมากทำให้ย่านนี้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของเชียงใหม่ มีร้านค้าตั้งเรียงรายอยู่ 2 ฝั่งถนนเจริญเมือง ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมสินค้าที่จะส่งลงไปขายที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะพืชผลทาง การเกษตรจากอำเภอรอบนอก เช่น ข้าว สุกร ยาสูบและครั่ง รวมทั้งทำหน้าที่กระจายสินค้าจากรุงเทพฯ ส่งไปยังตลาดต่าง ๆ ทั้งในเชียงใหม่และเมืองอื่น ๆ ในเขตตอนบน คนเชียงใหม่เล่าให้ฟังว่า ในยุคนั้นบริเวณย่านสันป่าข่อยเต็มไปด้วยโกดังสินค้าสำหรับพักรอสินค้าก่อนส่งต่อไปยังที่ต่าง ๆ คึกคักไปด้วยผู้คนที่มาซื้อขายสินค้า มีวัวล้อเป็นจำนวนมากบนสองฝั่งถนนรอรับจ้างขนของ กิจการค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นการดำเนินธุรกิจของกลุ่มพ่อค้าจีนแทบทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น นายทรง แซ่อั้ง (อังคไพโรจน์) เล่าว่า เขานั่งรถไฟไปซื้อของ เช่น เกลือ น้ำตาล และกะปิ จากกรุงเทพฯ มาขายที่ร้าน และจากที่นี่มีพ่อค้าจากกาดลำไยและกาดรอบนอกมาซื้อไปขาย ขุนอนุกรบุรี(ต้นตระกูลนิมากร) เปิดร้านเหลี่ยวชุ่นหลี สั่งรถจักรยานบรรทุกรถไฟจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาขาย เป็นต้น

ภาพ ถนนย่านสันป่าข่อยในอดีต

ศูนย์กลางที่สำคัญของพื้นที่ตรงนี้คือ กาด(ตลาด) สันป่าข่อย ไม่มีหลักฐานกล่าวว่ากาดแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อใดแน่ แต่เข้าใจว่าคงตั้งขึ้นก่อนปีพ.ศ.2469 เนื่องจากเมื่อรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสเชียงใหม่ กาดแห่งนี้มีอยู่แล้ว มีหลักฐานว่ากาดแห่งนี้สร้างจากการร่วมทุนระหว่างพระพิจิตรโอสถ ขุนอนุพลนคร และพลตรี พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) ปัจจุบันตลาดสันป่าข่อยเป็นตลาดที่คนเก่าแก่ในเชียงใหม่รู้จักกันดีว่ามีของกินอร่อย โดยเฉพาะอาหารของชาวจีน ซึ่งมีทั้งที่วางแผงขายในตลาด และเปิดร้านขายอยู่ริมสองฝั่งถนนเจริญเมือง ร้านที่ยังเป็นที่รู้จักกันดี คือ ร้านซาลาเปาวิกุล และร้านอาหารเจริญเมือง เป็นต้น

แต่ทว่าภาพสันป่าข่อยในปัจจุบันเจริญเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงตั้งแต่ปี 2546 50 ปีให้หลัง โดยอธิบายผ่านข้อมูลแผนที่ และทามไลน์การเติมเต็ม “การเติบโตของย่านสันป่าข่อย” ผ่านการแปลความหมายจากแผนที่โบราณ และภาพถ่ายทางอากาศเก่า เพื่อร่วมกันอ่านความเปลี่ยนแปลง และบทบาทของย่านกับเมืองเชียงใหม่

50 ปีทอง ก่อร่างสร้าง “สันป่าข่อย”

[พ.ศ. 2436] หากใครพอคุ้นตากับ ‘แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ.2436’ ฉบับพระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมคคาร์ธี) ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ มีการนำกลับมาลงสีใหม่ และถูกใช้อ้างอิงขอบเขตข่วงหลวงเวียงแก้ว กับข้อสันนิษฐานรูปทรงของประตูช้างเผือก จนกลายเป็นไวรัลให้คนรักเชียงใหม่ได้แลกเปลี่ยนกันในวงกว้าง ก็คงจะคุ้นชินกับภาพเขตเมืองเก่าที่มีการขีดแบ่งแปลงที่ดิน พร้อมระบุชื่อผู้ถือครองกำกับ แถมด้วยรายละเอียดปลีกย่อยอย่างการเขียนประตูเมือง ป้อม สะพาน หนองน้ำ ไร่นา เรียกว่าตามอ่านตามเทียบกับพื้นที่ ณ ปัจจุบันได้สนุกและน่าสนใจสำหรับแผนที่ฉบับนี้กล่าวถึงสันป่าข่อยไว้ด้วย ‘พื้นที่ว่าง’ ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่า พื้นที่สันป่าข่อยในยุคนั้นไม่ได้เป็นที่ตั้งของชุมชนหรือสถานที่ที่มีความสำคัญ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงจะมีเพียงพื้นที่ทางทิศเหนือถัดขึ้นไปไม่ไกล ที่มีการตีกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าเอาไว้ 2 ตำแหน่งกินพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่แรกอยู่ห่างออกไปไกลสุดระบุว่าเป็น “โรงเลื่อย” (โรงเลื่อยหมอชีค) ราวๆ ฝั่งตรงข้ามเทศบาลและตลาดเมืองใหม่ ตำแหน่งที่สองจะอยู่ใกล้ๆ และสัมพันธ์กับชุมชนสันป่าข่อย ถูกเขียนไว้ว่า “ที่สอนศาสนา Collage” นี่คือหลักฐานเชื่อมโยงกลับไปถึงมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในยุคนั้น ซึ่งเจ้าผู้ครองนครยกพื้นที่ให้ใช้ประกอบศาสนกิจ ทั้งสอนศาสนา เปิดโรงเรียน และรักษาผู้คน หากมองกลับมาฝั่งตรงข้ามย่านสันป่าข่อยตำแหน่งต้นสะพานนวรัฐ แปลงที่ดินระบุว่าเป็น ‘ที่พัก …หรับข้าหลวง” “House of commissioners” โดยไม่ปรากฏแนวสะพานนวรัฐแต่อย่างใด ในขณะที่ขัวกุลา หรือสะพานหมอชีคกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างออกไปจากฝั่งกาดหลวง และตลอดแนวจากทิศใต้จรดทิศเหนือ ปรากฏแปลงที่ดินระบุเจ้าของไว้เรียงรายแน่นขนัดตลอดแนว รวมถึงที่ดินของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครในยุคนั้น อยู่บริเวณที่ตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ในปัจจุบัน แสดงถึงความสำคัญของพื้นที่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ทั้งการขึ้นลงสินค้าตามท่าน้ำ และการเดินทางขึ้นล่องติดต่อระหว่างเชียงใหม่กับเมืองอื่นๆ

[ พ.ศ.2456 ] แผนที่พื้นที่ของมิชชันนารี (ค.ศ.1913) จาก CCT Archive ( CCT – The Church of Christ in Thailand : สภาคริสตจักรในประเทศไทย) แสดงพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ตั้งแต่ต้นสะพานนวรัฐ ย่านสันป่าข่อย วัดเกตฯ และถนนแก้วนวรัฐ โดยสะพานนวรัฐได้ระบุชื่อว่า New Bridge มีแปลงที่ดินระบุชื่อ Dr.Gilvary, Dr.Campbell และ School Girl (โรงเรียนหญิง) ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ร้าน McClanahan ขยับขึ้นไปทางทิศเหนือเป็นพื้นที่โรงพยาบาลหมอแมคเคน (McKean Hospital) เยื้องลงมาทางใต้ มีโบสถ์และโรงเรียนประถม (Primary School) ปัจจุบันคือโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ถูกเรียกว่า River Road และถนนเจริญเมืองได้ชื่อว่า New Road ไม่มีรายละเอียดบ้านหรือชุมชนสันป่าข่อย นอกจากเขียนว่า ‘Village’

**50ปีทองสันป่าข่อย อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2464-2514 ช่วงของการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอาคาร และสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ย่านสันป่าข่อย**

[ พ.ศ.2466 ] ย่านสันป่าข่อยได้ปรากฏตัวขึ้นบนแผนที่ City of Chieng Mai, Siam : St…ing Property held by American Presbyterian Mission : 1923 แผนที่แสดงที่ดินของมิชชันนารีอเมริกัน เพรสไบทีเรียน ปีพ.ศ.2466 ระบุชื่อพื้นที่ย่านสันป่าข่อยไว้ชัดเจนว่า “Village of San Pa Koi” ตัวอักษรนี้ถูกวางไว้ครอบคลุมพื้นที่ย่านสันป่าข่อยต้นถนนเจริญเมือง และคาดบางส่วนของถนนบำรุงราษฎร์ และได้ระบุตำแหน่งวัดสันป่าข่อย กับตลาดสันป่าข่อย เขียนว่า “MARKET” เอาไว้ และลากเส้นทาง ‘ถนนกองทราย’ เชื่อมย่านสันป่าข่อยเข้ากับพื้นที่สถานีรถไฟเชียงใหม่เอาไว้ด้วย และ ณ ขณะนั้นหน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ ได้มีอาคารตั้งอยู่หนึ่งหลังมีชื่อกำกับไว้ว่า “Railway Hotel” โดยมีพื้นที่โดยรอบเป็นนาข้าว ระบุไว้ชัดเจนว่า “Rice Field”

[ พ.ศ.2497, 2512, 2529 ] จากภาพถ่ายทางอากาศเก่า โดยการอนุเคราะห์ของ ผศ.ดร.นวลศิริ วงศ์ทางสวัสดิ์ และการรวบรวมวิเคราะห์และจัดทำผังการเปลี่ยนแปลงจำนวนอาคารในแต่ละช่วงเวลา โดย อ.ชยกฤต ม้าลำพอง ภายใต้การงานวิจัยโครงการบูรณาการทรัพยากรเมืองเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศูนย์ความเป็นเลิศล้านนาสร้างสรรค์และนวัตกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ภาพถ่ายทางอากาศและผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนอาคารในย่านสันป่าข่อยอย่างมีนัยยะสำคัญ จากปีพ.ศ. 2497 ที่มีอาคารอยู่จำนวน 561 หลัง เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2512 เป็น 943 หลัง และปีพ.ศ.2529 เป็น 1,166 หลัง ซึ่งถือเป็นเพดานจำนวนอาคารสูงสุด ซึ่งต่อมาจำนวนจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,100-1,200 หลัง จากผลการวิเคราะห์อาจใช้สันนิษฐานได้ว่า หลังจากการมาถึงของรถไฟในปีพ.ศ. 2464 ไปจนถึงพ.ศ. 2520 ที่มีรัฐได้ดำเนินโครงการสร้าง ขยาย และปรับปรุงถนน ทั้งถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง และถนนเชื่อมต่อระหว่างอำเภอแล้วเสร็จ เป็นช่วงเวลา 50 กว่าปีแห่ง ‘ยุคทอง’ ของการพัฒนาย่านสันป่าข่อย เป็นช่วงเวลาของการเติบโตและช่วงขาขึ้น (Boom) ของการทำมาค้าขาย สร้างกิจการ ร้านค้า และบ้านเรือน จะเห็นได้จากการเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวด้านหน้าสถานีรถไฟเป็นโรงแรมรถไฟเชียงใหม่ในปี 2564 (Railway Terminus Hotel) การเพิ่มขึ้นของอาคารร้านค้า โกดัง โรงสี และที่อยู่อาศัย ทั้งในส่วนริมถนนเจริญเมือง และพื้นที่ด้านในซึ่งแต่เดิมเคยเป็นที่นา ที่สวน และที่ว่าง

อ่านแผนที่ยุคต่างๆ Download : https://shorturl.asia/3TBSV– แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ.2436 – แผนที่พื้นที่ในการดูแลของมิชชันนารี (ค.ศ.1913 / พ.ศ.2456) – แผนที่ City of Chieng Mai แสดงที่ดินของมิชชันนารีอเมริกัน (ค.ศ.1923 / พ.ศ.2466)- ผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศเก่า (พ.ศ.2497, 2512, 2529)- ผังวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงจำนวนอาคารในแต่ละช่วงเวลา

ทีมงาน ไจสันป่าข่อย Jai San Pa Koi เปิดบทสนทนากับชาวสันป่าข่อย

คุณสมยศ นิมมานเหมินท์

คุณสมยศ นิมมานเหมินท์ : อาคารอนุสาร และย่านสันป่าข่อยในความทรงจำ

“ผมขอเริ่มเรื่องจากคุณหลวงอนุสารสุนทร คุณหลวงมีเชื้อสายจีน ครอบครัวตั้งรกรากที่ประเทศไทยย้อนไปไกลถึงสมัยอยุธยา คุณหลวงถือว่าเป็นคนรุ่นที่ 4 แล้วครับ จากอยุธยาพอกรุงแตก คนรุ่นต่อๆ มาได้ย้ายไปอยู่ธนบุรี แล้วค่อยย้ายมาลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่

คุณหลวงเกิดที่เมืองลำพูนริมฝั่งน้ำกวง อยู่ได้สักพักครอบครัวก็ย้ายไปค้าขายแถวสบทา และย้ายมาอยู่หน้าวัดเกตการาม เมืองเชียงใหม่ ตอนอยู่วัดเกตฯ ช่วงนั้นอายุอานามอยู่ในช่วงวัยรุ่น ได้ฝึกหัดซ่อมจักรยาน ตะเกียงลาน นาฬิกา ไปจนถึงพวกอาวุธปืน ไม่นานก็อพยพย้ายกันไปอยู่ฝั่งท่าแพ

“เหตุผลที่ย้ายจากท่าแพมาสันป่าข่อย เพราะช่วงเวลานั้นทางรถไฟและสถานีรถไฟเชียงใหม่ใกล้แล้วเสร็จ คุณหลวงท่านมีวิสัยทัศน์มองว่าพื้นที่แถวนี้อีกหน่อยจะเติบโต และค้าขายดี จึงสร้างตึกอนุสาร

สาเหตุที่ท่านตัดสินใจเพราะเห็นแล้วว่าทางรถไฟเริ่มขยับขึ้นเหนือมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะครั้งที่ท่านได้มีโอกาสไปรับพระราชายาเจ้าดารารัศมีกลับจากกรุงเทพ ตอนนั้นขณะเดินทางผ่านเมืองอุตรดิตถ์ราวปี 2457 ท่านก็ได้ถ่ายภาพรถไฟที่สถานีอุตรดิตถ์มาด้วย ซึ่งในปีนั้นการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาลยังไม่แล้วเสร็จดี ทางรถไฟมาแล้วเสร็จสมบูรณ์เอาเมื่อปี 2469 สมัยรัชการที่ 7

อาคารอนุสารได้เริ่มสร้างจริงๆ ก็ประมาณปี 2475 แล้วเสร็จ 2477 พอตึกสร้างเสร็จคุณหลวงท่านก็เสียชีวิตถัดมาไม่นาน ตึกอนุสารจึงเป็นรุ่นลูก (รุ่นปู่ย่า) รุ่นคุณพ่อผม รุ่นอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เป็นผู้สืบทอด และทำกิจการต่อ ผมนี่คือคนรุ่นที่ 4

ตอนนั้นอาคารแห่งนี้คุณพ่อผมทำขายเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นเครื่องจักรสีข้าวขนาดเล็ก ลูกค้าก็คือชาวบ้านที่เขาอยากมีเครื่องสีข้าว หรืออยากทำโรงสีข้าวขนาดเล็ก ไม่ต้องไปพึ่งพาโรงสีใหญ่ พอเครื่องโรงสีเล็กขายดี มันกลายเป็นเทรนของย่านนี้ไปเลย พวกปุ๋ยพวกสารเคมีการเกษตร หรือของหนักๆ อย่างอะไหล่อุตสาหกรรมที่มากับรถไฟ ก็จะมาลงไว้ตรงนี้

เมื่อก่อนแถวนี้เจริญมากครับ คึกคัก กิจการที่เกี่ยวกับสินค้าใหม่ๆ ที่มาจากรถไฟขายดิบขายดี เช่น พวกอะไหล่เครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง ตามมาด้วยพวกโรงกลึง กับพวกงานชิ้นส่วนอุตสาหกรรม พวกที่เป็นช่างก็อยู่แถวนี้เพราะมีงานแถวนี้

เรียกว่าย่านนี้เป็นศูนย์กลางการค้าการขายก็ว่าได้ แต่เป็นศูนย์กลางที่ไม่ค่อยมีเงินเท่าไหร่ (หัวเราะ) เน้นให้บริการและค้าขายเครื่องมืออุตสาหกรรม ถ้าจะคึกคักแบบหมุนเวียนกันตลอด ต้องไปตลาดสันป่าข่อย…

“สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นช่วงนี้ ที่เห็นคนรุ่นใหม่มาเปิดร้านทำกิจการที่สันป่าข่อย ผมคิดว่าถ้าสมมติว่าเราช่วยกันทำจริงจังๆ ให้มันบูม มันก็จะดี เหตุผลที่การค้าขายเครื่องจักรการเกษตรดรอปลงไป อู่ซ่อมรถดรอปลงไป เพราะธุรกิจมันเปลี่ยน เส้นทางค้าขายมันเปลี่ยน อย่างคนที่ขายรถยนต์ เดี๋ยวนี้เขาก็มีเซอร์วิสเซนเตอร์ของเขาเอง การขายอะไหล่แล้วได้ผลตอบแทนแบบเมื่อก่อนก็จะไม่ได้แล้ว

เช่นเดียวกับเครื่องจักรกลการเกษตร แต่ก่อนเราเป็นตัวแทนขาย แต่ว่าช่วง 30 ปีให้หลัง ธกส. และบรรดาธนาคาร เขาก็ต่อตรงกับทางบริษัทเครื่องจักร มีสินเชื่อ มีบริการให้เลือกเยอะแยะ สภาพก็ไม่ต่างกันกับค้าขายอะไหล่

เท่าที่ผมสังเกตเทรนด์ของธุรกิจแบบคนรุ่นใหม่ เห็นว่าฝั่งช้างม่อยเริ่มบูม คนเขาชอบกัน มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเยอะ เปิดบริการร้านอาหาร โรงแรม บูติคโฮเทล ผมก็คิดว่าอีกหน่อยสันป่าข่อยก็น่าจะมีโอกาสและความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน เปลี่ยนธุรกิจเดิมๆ ไปเป็นธุรกิจใหม่ จะให้ลูกหลานทำหรือให้เช่าอันนี้ก็สุดแล้วแต่”

“กลับมาคิดถึงตึกอนุสาร เราคุยกันมาตลอดว่าเราจะพยายามพัฒนาที่นี่ให้ก้าวหน้าต่อไป’

คุยกับลูกๆ ว่าถ้าจะเริ่มก็เริ่มที่นี่ ในส่วนอื่นยังไม่ได้ทำก็เอาไว้ก่อน ยอมรับว่ายังคิดถึงอนาคตว่าถ้าการรถไฟของประเทศเราดีขึ้น รถไฟใหญ่ขึ้น เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น จะเป็นรถไฟความเร็วสูงถึงแม้จะถึงแค่เมืองลำพูน เราเองก็น่าจะได้ประโยชน์ เพราะจากลำพูนมาเชียงใหม่ แล้วเป็นรถไฟภายในที่วิ่งติดต่อกันคล้าย ๆ กับแอร์พอตลิ้งค์แบบกรุงเทพ ก็น่าจะดีกับสันป่าข่อย สถานีขนส่งอาเขต พวกธุรกิจรถทัวร์ก็น่าจะกลับมาดีขึ้น”

“ในส่วนของตึกอนุสาร คุณหลวงท่านทำไว้ดีมาก ได้อาศัยเหล็ก ปูนจากรถไฟ ทำคานค่อนข้างแข็งแรง ฝาผนังยังใช้อิฐมอญกับปูนขาว แต่คานใช้ซีเมนต์กับเหล็ก คุณหลวงท่านออกแบบเอง เลือกทำเลเอง

รู้ไหมทำไมท่านเลือกตรงนี้ จริงๆ ตามชื่อเลย ‘สันป่าข่อย’ ที่ดินตรงนี้เป็นสันดอนที่มีต้นข่อยขึ้น สังเกตสิเวลาน้ำท่วมล้นมาจากน้ำปิง ย่านอื่นน้ำท่วมหมด ยกเว้นบริเวณนี้ ทั้งที่อยู่ริมน้ำ แปลกไหมล่ะ ก็เพราะว่าสูงกว่าที่อื่นๆ เป็นทำเลที่ดีมากทั้งอยู่อาศัยและค้าขาย”

อริษา นิมมานเหมินท์

เสน่ห์และชุมชนสันป่าข่อยในสายตา อริษา นิมมานเหมินท์ ทายาทหลวงอนุสารสุนทรรุ่นที่ 5 และผู้ดูแลตึกอนุสาร

ก่อนที่จะมารับหน้าที่ดูแลตึกอนุสาร

“จริงๆ เพิ่งกลับมาได้แค่ 2 ปีค่ะ ก่อนหน้านั้นทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นบริษัท support ทางด้านภาษา เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศไทย ส่วนเหตุผลที่กลับมาเชียงใหม่คือก่อนหน้านั้น ทางบ้านก็ชวนให้กลับมาเชียงใหม่ตั้งนานแล้ว แต่เรายังไม่พร้อมเพราะว่าลูกยังเล็ก และมีบริษัทที่ต้องดูแลทำงานกับคนต่างชาติตอนนั้นต้อง face to face เป็นหลัก แต่พอเจอโควิดสถานการณ์เปลี่ยนไปคนหันไปใช้ออนไลน์กันมากขึ้น

เราก็เลยมีความรู้สึกว่าเป็นเวลาที่ดีที่จะกลับเชียงใหม่ ตอนแรกที่กลับมา ก็ไม่ได้วางแผนอะไรมาก หลักๆ เลยก็มาช่วยดูธุรกิจหลักของที่บ้าน คืองานดูแลตลาดวโรรส ตลาดคำเที่ยง และตลาดต้นลำไย ระหว่างที่ดูแลสามตลาดก็เห็นว่าคุณพ่อ (คุณสมยศ นิมมานเหมินท์) ก็อยู่ดูแลตึกอนุสารมานาน

เราก็มองว่า จริงๆที่ตรงนี้ก็มีเสน่ห์ของมัน คิดว่าน่าจะสามารถเป็นเป็นพื้นที่ให้เช่า แล้วก็จะช่วยเป็นราย และได้ช่วยงานคุณพ่อไปได้ด้วย ก็เลยเข้ามาช่วยพัฒนาตรงนี้

ตั้งแต่เริ่มต้น วิธีคิดว่าจะเปิดให้เช่าตึกจนถึงวันนี้คือเกือบจะสองปีแล้ว?

ใช่ค่ะ ช่วงที่เริ่มน่าจะประมาณ พ.ย 64 ผู้เช่ารายแรก ๆ คือ ร้านวิถีลาบ และร้านกาแฟ Building A

ตอนมาทำตรงนี้มีโมเดล แนวคิด หรือว่าแรงบันดาลใจจากที่ไหนไหม

คือจริง ๆ แล้วไม่ได้ถึงขั้นเป็นแรงบันดาลใจอะไรขนาดนั้น แต่ความที่เมื่อก่อนเราเคยอยู่ญี่ปุ่น ชอบเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ เพราะเราเป็นคนชอบวัฒนธรรม ชอบประวัติศาสตร์ ชอบเมืองเก่าย่านเก่า เห็นเขาเอาตึกเก่ามา Renovate แบบไม่ใช่ทำตึกใหม่ครอบตึกเก่า แต่คือการยังคงรักษาตึกเดิมเอาไว้ ปรับปรุงเท่าที่จำเป็น และพยายามใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้งาน คนรุ่นใหม่กับตึกเก่ากับย่านเก่าก็สามารถ Blend in ไปด้วยกันได้ดี

นอกจากที่ญี่ปุ่นถ้าจะคล้ายบ้านเราหน่อยก็จะมีเวียดนาม เมืองโฮจิมินห์ คือที่นั้นมีตึกแบบสมัยโคโลเนียลอยู่เยอะ แล้วเขายังเก็บรักษาไว้ได้ มีการเปิดให้ใช้ตึกทำ café ขายกาแฟ มีร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่น และร้านสินค้าใหม่ๆ ร่วมสมัยเป็น Contemporary เลยนะ แต่ก็ยังมีลิฟท์กับราวบันไดที่ทุกอย่างเป็นของเดิม ดูขลังดี และเราก็ชอบ

เสน่ห์ของย่านสันป่าข่อยในสายตาคุณคืออะไร

จริง ๆ แล้วสันป่าข่อย นิยามเลยคือ Local เชียงใหม่ เเบบไม่ปรุงแต่ง เป็นย่านที่คนเชียงใหม่อยู่และใช้ชีวิตจริงๆ เป็นญาติพี่น้อง เป็นบ้าน และร้านค้าไปในตัว และไม่ได้เป็นย่านท่องเที่ยวแบบในเมืองเก่าที่มีโบราณสถาน มีวัดให้ดู หรือมีสถานบันเทิงร้านนั้นนี่เน้นให้นักท่องเที่ยว

ถึงแม้ตอนนี้เราจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว และคนสันป่าข่อยที่ใช้ชีวิตอยู่กันจริงๆ จะเริ่มลดลงไปเรื่อย ๆ เท่าที่ทราบร้านหลายแห่งลูกหลานก็มีบ้านในโครงการจัดสรรอยู่ข้างนอก กลางวันอาม่าอากง หรือคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ยังมาเปิดร้านเหมือนเดิม กลางคืนกลับไปนอนบ้านข้างนอก

นี่คือเสน่ห์ของสันป่าข่อย ยังมีคนค้าขาย ยังมีคนซื้อกับข้าวไปตลาดกลับมาทำที่บ้าน ยังมีร้านก๋วยเตี๋ยวร้านอาหารข้างทางเยอะแยะที่คนเชียงใหม่ยังรู้สึกว่ามาเพื่อกิน มาใช้ชีวิตประจำวัน

ที่นี่จะต่างกับที่อื่นๆ ที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยว พอโควิดก็ไม่มีนักท่องเที่ยวย่านก็จะเงียบเหงา แต่ที่สันป่าข่อยถึงแม้ว่าร้านอาหารหลายร้านจะไม่สามารถเปิดได้แต่เขาก็เปิดแบบขายแบบ Delivery หรือเปิดให้ซื้อกลับบ้าน คนก็ยังใช้ถนนเจริญเมืองไปมายังพลุกพล่าน

ก็เลยคิดว่าอันนี่แหละเป็นเสน่ห์ของสันป่าข่อย ย่านที่คนเชียงใหม่ยังแวะมาอยู่ มากิน ใช้ชีวิตที่เป็น Local จริงๆ

ขอช่วยลงรายละเอียดสักนิดว่า เสน่ห์ Local แบบสันป่าข่อยประกอบด้วยอะไรบ้าง?

“ของกินอร่อย ๆ มาอันดับหนึ่ง ที่มีของกินขึ้นชื่ออยู่หลายร้านทั้งเจ้าเก่า และร้านเปิดใหม่

อันดับสอง คือ ร้านอะไหล่ยังมีของอยู่เยอะ และไม่มีที่อื่นที่ใกล้เมือง ของขายแบบนี้แล้วต้องมาที่นี่เท่านั้น

อันดับสาม คือ อาคารถ้าให้มองผิวเผินจากข้างนอก เราจะรู้สึกเฉย ๆ แต่พอได้เข้ามาข้างในแล้วจะรู้สึกว้าว! เพราะเราเห็นแค่ข้างหน้าเป็นห้องแถว แต่พอเราได้มีโอกาสเดินเข้าไปจะแปลกใจว่าในนี้มันมีเวิ้งแบบนี้ด้วยเหรอ มีอาคารที่มีหน้าต่าง มีเสา มีรายละเอียดแบบนี้ด้วย เป็น Hidden Gem ที่เมื่อก่อนไม่ได้เปิดให้เห็น หรือไม่ได้รับความสนใจ แต่วันนี้ สิ่งนี้ คือ เสน่ห์ที่รอให้คนมาค้นพบ

ที่เห็นชัด ๆ เช่น อาคารหัวมุมสี่แยกที่ตอนนี้เป็นกาแฟร้าน Graph ดูข้างหน้าคือดูไม่ออกว่ามีอะไรพิเศษ มันดูเรียบ ๆ แต่พอเข้าไปข้างใน Space ของอาคาร หลายละเอียดต่างๆ แล้วได้งานตกแต่งเข้าไปเพิ่มก็ยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีก”

สำหรับคุณย่านสันป่าข่อยกว้างแค่ไหน และบุคลิกคนสันป่าข่อยเป็นอย่างไร?

“แต่ก่อนก็เคยคิด แบบว่าย่านเราถึงหน้าสถานีรถไฟเลยไหม ก็ไม่ใช่ น่าจะประมาณเลยสี่แยกตลาดไปนิดหน่อยถึงแค่ตรงนั้นแค่หน้าปั๊มเชลล์ ถ้าไปทางใต้ก็แถว ๆ ค่ายกาวิละ ถ้าริมน้ำปิงก็ถึงแค่หน้าโบสถ์หนึ่ง (คริสต์จักรที่ 1) ถ้าเกินจากนั้นเป็นย่านวัดเกตฯ ถ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปถึงแถว ๆ ซายูริ และสุเหร่าบ้านฮ้อ อันนี้จากความรู้สึกของเรานะ ก็ไม่รู้ว่าคนอื่นเขานิยามเหมือนเราหรือเปล่า

ส่วน Character คนสันป่าข่อย เรามองว่าคนสันป่าข่อยเป็นคนค้าขาย เน้นค้าขายเช้าเปิดร้านเย็นปิดร้าน แต่เป็นคนค้าขายแบบ ค้าส่ง ค้าขายของหนัก อุตสาหกรรม อันนี้เป็นภาพของคนรุ่นพ่อรุ่นปู่นะคะ เพราะเราจะมีภาพติดตาอย่างคุณพ่อขายเครื่องจักรกลเกษตร มีหลายคนขายอะไหล่รถยนต์ค่ายใหญ่ อะไรที่ Support เครื่องจักรต่างๆ”

คนสันป่าข่อย พ.ศ นี้ สัดส่วนจำนวนผู้เช่า หรือเจ้าของเดิม แบบไหนเยอะกว่ากัน?

“ถ้าตึกของเราผู้เช่าจะเยอะกว่าแน่นอน ถ้าให้คิดถึงตึกรอบๆ เราก็ยังรู้สึกว่าคนค้าขายยังเป็นคนเก่าคนเดิม สไตล์อากงอาม่ามาเปิดร้านเพราะเป็นกิจวัตร ทำไปแก้เบื่อ และตัวเองก็ยังอยู่ในร้าน ให้ลูกจ้างขายไป ตกเย็นก็ปิดร้านขึ้นไปนอนชั้นบนไม่ก็ลูกหลานมารับกลับไปอยู่บ้าน แต่ร้านอาหารใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นก็คิดว่าน่าจะเป็นผู้เช่าเยอะกว่าเจ้าของตึกค่ะ”

คนที่นี่รวมตัวกันแบบไหน ไปร่วมงานที่วัด หรือมีคณะกรรมการชุมชน มีจัดประชุม มีอะไรแบบนั้นหรือเปล่า?

“มีความรู้สึกว่าที่ผ่านมาทุกคนก็ทำค้าขายของตัวเองไป ที่วัดมีงานอยู่บ้าง แต่บ้านเราก็ไม่ได้ไปร่วมสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่แถวตลาด เวลาเขามีอะไร เขาจะต้องไปที่วัดสันป่าข่อย ไม่ว่าจะเป็นทำบุญ สืบชะตา หรืองานศพ ส่วนเรื่องประธานชุมชน คณะกรรมการ หรือกลุ่มผู้ประกอบการสันป่าข่อยอันนี้ยังเคยได้ยินว่ามี

จริงๆ เราก็คิดเรื่องนี้ และคิดว่าอนาคตมันจะเป็นประโยชน์

อย่างที่ญี่ปุ่นเขาจะมีกลุ่มผู้ประกอบการชุมชน เวลามีงานสำคัญเขาจะมาประชุมกัน ยิ่งถ้าเป็นถนนที่มีร้านค้าติดกัน คือ เขาจะตั้งกลุ่มกันขึ้นมาเลย แล้วสลับกันเป็นประธาน จะช่วยกันดูแลจัดงานประจำปีปีละครั้ง

รวมไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่าง เรื่องความสะอาด เรื่องการประกาศแจ้งข่าวสาร เป็นการรวมกลุ่มที่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ด้านธุรกิจอย่างเดียว แต่ชุมชนก็ได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งเราคิดว่าถ้ามี Community แบบนี้ที่สันป่าข่อยก็จะดีมาก”

ลองประเมินความพร้อมของสันป่าข่อย พอจะมี Community แบบนั้นได้ไหม?

“คิดว่าตอนนี้ยังต้องทำความเข้าใจกันเพิ่ม ยังต้องเรียนรู้กัน อย่างที่ผ่านมาหลาย ๆ ร้านรู้จักกันอยู่แล้ว แต่เพิ่งมาไม่กี่ปีนี้เองที่มีร้านใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และเราก็ไม่รู้จัก ก็น่าสนใจดีว่าเราจะร่วมกันอย่างไร”

คนรุ่นคุณพ่อ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ เขา Surprise กับความเปลี่ยนแปลงไหม ที่มีร้านใหม่ ๆ แล้ววัยรุ่นวัยทำงานมาใช้บริการกันเยอะขนาดนี้

“เขา Surprise ค่ะ ยกตัวอย่างตึกของเรา คุณพ่อเขาก็ตกใจเพราะตอนแรกเขาไม่ได้คิดว่าตึกเราจะน่าสนใจขนาดนั้น เพราะเขาก็ยังมีภาพจำร้านค้าเครื่องมืออุตสาหกรรม กับอะไหล่ยนต์ เราก็เข้าใจ และก็พยายามชวนคิดว่าที่ร้านใหม่ ๆ

เขาสนใจตึกเราไม่ใช่เฉพาะเป็นตึกเก่า แต่เพราะเขาเข้าใจเสน่ห์ของที่นี่ และเห็นว่ามันจะส่งเสริมธุรกิจของเขา ส่วนตัวเราก็ได้พูดคุยกันกับผู้เช่า ดูแล้วสไตล์ไปด้วยกันได้ และมีความตั้งใจมากๆ อย่างร้านแรก ๆ ร้านวิถีลาบ ร้าน Building A

ตอนนั้นยังไม่มีร้านอื่นๆ ด้านหลังอาคารขยะยังต่างๆ ยังกอง ๆ รอการจัดการ เขาก็ตั้งใจทำร้านเต็มที่ ปรากฏว่าที่จอดรถเต็ม คนมากันเยอะมาก พวกผู้ใหญ่เขาก็ตกใจว่ามาอะไรกันเยอะแยะ แค่มากินลาบแค่เนี่ยนะ เขาก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าเด็กสมัยนี้ชอบแบบนี้

จริงๆ ตอนจะปรับเป็นให้เช่าแบบนี้ก็กังวลอยู่หน่อย ๆ แต่เราอาศัยว่าเราทำเลย ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ถาม (หัวเราะ) แต่สุดท้ายคุณพ่อก็ต้องเป็นคนเซ็นสัญญากับผู้เช่าอยู่ดี เราก็อาศัยว่าเราเลือกผู้เช่า เราเลือกแล้วว่าโอเค ต้องมียื่นแบบร้านว่าจะมาทำอะไรมาให้เราดูก่อน เราก็พิจารณาว่าแนวทางไปด้วยกันได้ไหม อย่าง Building A กับวิถีลาบ ถือว่าเป็นเครื่องยืนยันให้เรามั่นใจว่าเสน่ห์ที่เราอยากเก็บไว้ไปกันได้จริง ๆ กับธุรกิจยุคใหม่”

อีก 5 ปี หรือ 10 ปี ภาพสันป่าข่อยในความคิดเป็นแบบไหน เมื่อมีร้านใหม่ๆ เข้ามาเติม กับความพยายามรักษาเสน่ห์อัตลักษณ์ของย่าน มันจะไปด้วยกันอย่างไร?

“เรื่องการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ คือจริงๆ แล้ว ก็สองจิตสองใจอยู่ สิ่งที่เราอยากรู้ก่อน ก็คือว่าความเป็นไปของคนที่อยู่แถวนี้จะเป็นยังไง

คือจะยังคงเป็นย่านที่คนอยู่อาศัย ไปอีกสักพักไหม หรือว่าจริง ๆ แล้วส่วนใหญ่เหลือแต่อาม่าอากง แล้วเขาพร้อมย้ายออกแล้ว อยากเข้าใจตรงนี้ให้ชัดเจนก่อน และคิดว่าทุกคนที่อยู่ที่นี่ก็กำลังมองสิ่งนี้เหมือนกัน

ถ้าวันหนึ่งเริ่มเห็นชัดแล้วว่าหน้าร้านพากันปิดหมด เพราะไม่มีใครทำอะไรต่อแล้ว เราอาจจะต้องช่วยกันคิดหาวิธีสร้างแรงจูงใจให้คนกลับเข้ามาอยู่ ทั้งลูกหลานที่จะมาอยู่อาศัยเอง หรือเริ่มธุรกิจ หรือจะให้เช่าก็แล้วแต่ ทำให้ traffic คนเข้ามาในย่านยังพอมีจะได้ไม่เงียบเหงา และต้องไม่ใช่แค่การดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวต้องส่งเสริมให้คนได้มาอยู่อาศัยจริงๆ

สิ่งที่เราเห็นตอนอยู่ญี่ปุ่น คือหลาย ๆ เมืองมีปัญหาเรื่อง Aging Society เเละคนหนุ่มคนสาวก็ออกจากบ้านไปทำงานในเมืองย่านค้าขายของบ้านนอกต่าง ๆ หลายที่จึงซบเซา เพราะไม่มีใครมาแทนอากงอาม่า ประชากรก็เริ่มลดลงเรื่อย ๆ จนใกล้จะเมืองร้างเข้าไปทุกที

ซึ่งเราก็ไม่อยากให้ย่านเราเป็นอย่างงั้น ส่วนตัวนะ อาจจะต้องช่วยกันมองว่าอนาคตของที่นี่จะเป็นยังไง จะว่าไปการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการนั้นก็ดี เพราะจะช่วยกำหนดทิศทางที่เราจะพัฒนาไปด้วยกันได้ดีขึ้น เรื่องนี้มันช่วยเราได้แน่นอน เพราะคนหนึ่งคนพูดเสียงจะเบา แต่ถ้าหลายคนพูดเสียงมันจะดังขึ้น

คราวนี้ก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเรื่องการพัฒนาย่าน หรือแม้แต่การต่อรองกับราชการ ถ้าสมมติว่าเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ก็คิดว่าอะไร ๆ น่าจะดีกว่า เช่น ที่นี่น้ำประปามักจะหยุดไหล โดนมาหลายรอบแล้ว คือจู่ ๆ น้ำก็ไม่ไหลขึ้นมาเฉย ๆ เราเองก็มีสำรองไว้ไม่เยอะ ไหนจะไฟดับอีก คือถ้ารวมกลุ่มกันได้จริง ๆ คิดว่าจะเป็นเรื่องที่ดีกับย่านของเรามากๆ ค่ะ”

ออม อิชยา อักษรโศภณพันธุ์

คุณออม อิชยา อักษรโศภณพันธุ์ นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เติบโตในย่านสันป่าข่อย

เล่าย้อนไปถึงวัยเด็กสักหน่อย ตอนนั้นสันป่าข่อยเป็นอย่างไร

“ออมขอเล่าผ่านสายตาของคนอายุ 42 ปีนะคะ เกิดที่นี่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ตลอด เรียกว่าน่าจะเห็นในทุกช่วงเวลาของสันป่าข่อยแต่ความทรงจำในวัยเด็กอาจจะตกหล่นบ้างค่ะ

สรุปได้ 3 คำ คือ สงบ สะดวกสบาย ค้าขายดี

ภาพจำคือความคึกคักในช่วงกลางวัน แต่ละร้านค้ามีลูกค้าเข้าออกตลอด แต่ในช่วงเย็นหลังเวลาปิดร้านก็มีความสงบ ที่สำคัญคือค่อนข้างสะดวกสบายค่ะเพราะบ้านเราอยู่ในเมืองจะเดินทางไปไหนก็ง่ายไปหมด ใกล้ตลาด ใกล้โรงเรียน ใกล้โรงพยาบาล ผู้ใหญ่พูดเรื่องนี้กรอกหูบ่อยครั้งจนจำได้ ถ้านับรุ่นแล้วออมเป็นทายาท รุ่นที่ 3 ที่อยู่ในย่านนี้ รุ่นแรกคืออากงที่เข้ามาตั้งรกรากค่ะ

อาม่าเคยเล่าให้ฟังว่า อากงเป็นชาวจีนแต้จิ๋วเข้ามาไทย โดยผ่านทางกัมพูชาแล้วมุ่งหน้าสู่ไทยผ่านทางจันทบุรี หรือ ตราด อันนี้ไม่แน่ใจเรื่องจังหวัดที่เข้ามานัก จากเอกสารการเข้าเมืองทำให้รู้ว่าอากงเข้ามา

ในช่วงปีพ.ศ. 2489 ก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่2 แป๊ปเดียว เอกสารตัวนี้ตัวหนังสือไม่ชัดแล้วตัวเลข พ.ศ.อาจคลาดเคลื่อนนะคะ

ออมคิดว่าน่าจะเป็นคนจีนอพยพยุคท้าย ๆ แล้ว เพราะจากนั้นไม่นานรัฐไทยก็ทำการจัดระเบียบและควบคุมคนจีนอพยพตามเอกสารประวัติศาสตร์

นับว่าเป็นโชคดีของอากงที่เข้ามาก่อนการเปลี่ยนแปลง การเข้าไทยของอากงก็คงมีเหตุผลเหมือนคนจีนทั่วไปในยุคนั้น ส่วนการเลือกเข้ามาเชียงใหม่น่าจะเป็นการชักชวนจากเพื่อน ๆ ที่เข้ามาอยู่ก่อน

ช่วงแรกอากงได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอสันป่าตองสักระยะ รับจ้างทำสวนและเป็นพ่อค้าเร่ไอติมจนมาพบรักกับอาม่าที่นั่น

จากนั้นแต่งงานกันและย้ายมาตั้งรกรากที่สันป่าข่อย แน่นอนว่าในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจของย่านสันป่าข่อยเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูที่สุด มีเถ้าแก่มากมายเกิดขึ้นในยุคนั้น คหบดีต่าง ๆ ก็ล้วนอยู่ในย่านนี้ทั้งสิ้น

ตอนนั้นที่บ้านสันป่าข่อยอากงทำธุรกิจอะไร

พอย้ายมาสันป่าข่อยยังไม่ได้เริ่มทำธุรกิจในปัจจุบันนี้ค่ะ ช่วงแรกในการใช้ชีวิตเหมือนคนจีนที่เริ่มเข้ามาตั้งรกรากใหม่คือรับจ้างทำงานทั่วไปและค้าขายทุกอย่าง

อาม่าขายทุกอย่างในทุกเทศกาลค่ะ อากงโชคร้ายอายุสั้นไปหน่อย ประสบอุบัติเหตุทางถนนโดนรถชนเสียก่อน

ตอนนั้นมีถนนตัดใหม่แล้วนะคะคือบริเวณแยกศาลเด็กค่ะ ออมเกิดไม่ทันนะคะ ไม่เคยเจออากง ย้อนกลับมาเรื่องธุรกิจคือเริ่มก่อร่างสร้างฐานะในรุ่นที่ 2 เกิดจากผู้หญิงสองคนที่เป็นเสาหลักของบ้านคือ ตั่วโกวและหยี่โกว ธุรกิจก็ดำเนินมาจนถึงปัจจุบันค่ะ

บ้านของออมทำธุรกิจหลักคือ ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลทำครบวงจรเลยทั้งขายส่ง ขายปลีกและรับซื้อรางวัล เราทำธุรกิจนี้ยาวนานร่วม 50 ปีแล้วค่ะ ชื่อร้าน “เจ้เชง” ตอนนี้ยังทำธุรกิจนี้อยู่ค่ะเพิ่มเติมในปัจจุบันมีธุรกิจที่พักและมีตึกให้เช่าค่ะ

ทราบว่าคุณออมเคยเก็บรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ย่านสันป่าข่อย และจัดกิจกรรมเล่าเรื่องเก่า ทำนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ทำไมถึงสนใจทำ

ความเหงาเป็นจุดเริ่มต้นค่ะเมื่อต้องกลับมาทำงานที่บ้านและต้องดูแลอาม่าที่เริ่มป่วยจากวัยชราและโรคประจำตัว ความที่ทำงานนอกบ้านมาก่อน

โดยเฉพาะงานสุดท้ายที่ทำก่อนลาออกเป็นงานที่สนุกมากมีกิจกรรมให้ทำเยอะและได้เดินทางด้วย เราต้องหาความสนุกและคลายความเหงา

ความเบื่อในชีวิตประจำวันให้กับตัวเองซึ่งวิธีที่ค้นพบคือการเดินเล่นค่ะ ช่วงแรกนั้นยังอาศัยอยู่ชั้นบนของร้านค้า กิจวัตรประจำวัน คือเปิดร้าน 7 โมง ปิดร้าน 6 โมงครึ่งเวลาเย็น เป็นแบบนี้ทุกวันใน 1 สัปดาห์

ช่วงเวลาหลังปิดร้านเลยเลือกเดินเล่น จากนั้นเริ่มเพลินมีเวลาว่างทีไรต้องออกมาเดินดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมบ้านเรือน ร้านค้า

ตลอดจนแอบสังเกตกิจกรรมต่าง ๆ ของคนในย่าน ทุกสิ่งล้วนน่าสนใจ มีการถ่ายรูปเล่นเก็บบันทึกไว้ดูส่วนตัว เราให้คำนิยามตัวเองว่าเป็น นักสังเกตการณ์

ถ้าถามว่าชอบอาคารไหน ตึกไหนของย่าน ขอยกมา 3 อาคาร คือ อาคาร วปถ. 2 .ที่มีความขรึม เท่ ส่วนตึกที่น่ารักมาก ๆ ของย่าน คือ คาเฟ่ paw made ส่วนอาคารที่ทรงเสน่ห์ที่สุด รักที่สุดต้องยกให้บ้านไม้สองชั้นที่ติดกับธนาคารกรุงไทย เวลามองครั้งใดเหมือนต้องมนตร์ น่าจะเป็นบ้านไม้หลังเดียวที่หลงเหลืออยู่ในย่าน

ทุกจุดที่เราได้เดินผ่านล้วนเห็นความงาม ความน่ารักที่แฝงอยู่ในอาคาร ตัวคนและบริบทแวดล้อม อดคิดไม่ได้ว่าภายใต้สิ่งเหล่านั้น น่าจะมีเรื่องราวให้เราค้นหา ประกอบกับมีเรื่องหนึ่งที่สนใจมากเกี่ยวกับย่าน

คือ อัตลักษณ์ของคนที่นี่มันสะท้อนความเป็นย่านพอสมควร

ถึงแม้จะเรียนจบบัญชีมาแต่ชอบอ่านหนังสือและสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน ประกอบกับได้รู้จักกับป้าอ้อ ศรีประกาศ จนได้รับโอกาสให้ร่วมจัดกิจกรรมในงานศรีประกาศอิชิในปี 2561 จึงได้หยิบยกบันทึกบางส่วนมาจัดเป็นกิจกรรมค่ะ ระหว่างที่ได้จัดกิจกรรม

ก็ได้เขียนเล่าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเฟสบุ๊กส่วนตัวบ้าง หรือในเพจที่พักของธุรกิจครอบครัวบ้างค่ะ ซึ่งทั้งกิจกรรมและการเขียนเล่าเรื่องทำไปด้วยความชอบ ซึ่งการเพิ่งได้จัดกิจกรรมครั้งแรกนั้นมีข้อบกพร่องหลายส่วนอยู่เหมือนกัน เนื้อหาไม่แน่นและเน้นเล่นสนุกส่วนตัวเกินไป

พอได้แสดงตัวว่าทำกิจกรรมหรือสนใจเรื่องของย่านทำให้รู้ว่ามีคนที่สนใจและอยากบอกเล่าเรื่องย่านนี้เหมือนกัน โชคดีมากที่มีโอกาสได้รู้จักอาจารย์อังคาร สุขเจริญ ซึ่งเป็นคนบ้านหลังชินเหมือนกัน (โรงหนังชินทัศนีย์ในอดีต)

นอกเหนือจากป้าอ้อแล้วก็มีอาจารย์อังคารคนนี้แหละที่บันทึกเรื่องราวความก่อนหนหลังไว้

แสดงว่าได้เห็นสันป่าข่อยมาตลอดเวลา

“จะว่าแบบนั้นก็ใช่ค่ะ ถูกค่ะ ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มาตลอด
คิดว่าตัวเองเป็นแฟนพันธุ์แท้ของย่านค่ะ 

ประมาณว่าแค่ได้กลิ่นก็รู้แล้ว ว่าอยู่ตรงไหน ไม่ว่าจะกลิ่นฉุนของหอมแดง กระเทียม ตลอดจนกลิ่นสาบฉุนของสารเคมีทางการเกษตร รวมถึงกลิ่นหอมฉุยของอาหารก็จำได้นึกออก จากการเฝ้าดู ย่านสันป่าข่อยที่ใครว่าเป็นย่านที่เงียบ ๆ นิ่ง ๆ เป็นแค่ทางผ่านเข้าเมืองหรือออกนอกเมืองของคนหลาย ๆ คน จริง ๆ แล้วมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา และกิจกรรมการค้าต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างปกติด้วยดีค่ะ ช่วง 4 – 5 ปีหลังมานี้ มีร้านใหม่ ๆ เกิดขึ้น มีคาเฟ่ต่าง ๆ ทยอยผุดขึ้นมาแทนที่ธุรกิจเดิม แน่นอนค่ะว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นตามยุคสมัย เดิมทีการสานไมตรีอาจเป็นการรินชาให้ดื่ม แต่วันนี้อาจเป็นการชวนกันกินกาแฟในคาเฟ่แทนค่ะ”

เท่าที่สังเกต และรู้สึก ‘คนสันป่าข่อย’ มีลักษณะอย่างไร

“ดูจากลักษณะภายนอกไม่ว่าจะเป็นวัยผู้ใหญ่กว่าเรา เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันกับเรา จะเห็นหลาย ๆ คนหน้าตาออกตี๋ ๆ หมวย ๆ แต่อู้กำเมืองปร๋อ จนอดรู้สึกไม่ได้ว่าย่านนี้เป็นคนจีนล้านนาหรือเปล่า นี่ไม่ได้ต้องการสรุปแบบเหมารวมว่าทุกคนมีเชื้อสายจีนนะ เพียงแต่คนแวดล้อมหลายคนของเรานั้นมีลักษณะแบบนี้ แต่ตอนนี้ถ้าเรียกตัวเองคงเป็น “คนเจียงใหม่” กันหมดแล้วหล่ะ เป็น “คนเมือง” แล้ว แต่ยังไหว้เจ้าตามขนบธรรมเนียมได้และไหว้ผีปู่ย่าเป็นด้วย ด้วยความที่เป็นย่านการค้า กิจวัตรซ้ำเดิมทุกวัน เช้าเปิดร้าน เย็นปิดร้าน ตกเย็นอยู่บ้านใครบ้านมัน กินข้าวแล้วนอนเก็บแรงไว้ตื่นมาทำงานในตอนเช้าต่อ ลักษณะของคนในย่านจึงมีความเป็นปัจเจกสูง รักในความสงบ สันโดษ มองด้วยสายตาคนนอกอาจดูว่าเราเป็นคนเงียบๆ เก็บตัว จากการสังเกตผู้ใหญ่แวดล้อมคือ สมาคมกันเมื่อไปวัด สังคมกันเมื่อไปตลาด ผู้ใหญ่ค่อนข้างจะรู้จักกัน ส่วนรุ่นเราไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว ถ้าไม่เคยเรียนหรือเคยเล่นด้วยกันมาก่อน เพื่อนหลายคนถ้าครอบครัวไม่ได้ทำธุรกิจหรือเลือกที่ไม่สานต่อธุรกิจเดิมก็เลือกย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ในย่านจึงเหลือแต่คนแก่ ๆ รุ่นอาโกว อาแปะ อากง อาม่า เฝ้าร้าน มันเลยส่งผลให้ดูแล้วเป็นย่านนิ่ง ๆ เงียบ ๆ ก็ได้”

ในความรู้สึกของคนสันป่าข่อย ย่านสันป่าข่อยกินอาณาเขตพื้นที่แค่ไหน

“ถ้าตอบแบบใช้ความรู้สึกและความคิดเห็นส่วนตัว ไม่แน่ใจเรื่องความถูกต้อง คิดว่าหากเดินทางมาจากตัวเมืองเก่าข้ามสะพานนวรัฐลงมาคือย่านสันป่าข่อย หรือหากเดินทางมาจากถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ผ่านย่านหนองประทีป ผ่านสถานีรถไฟปุ๊ปนับเป็นสันป่าข่อยเลย เดาว่าทางทิศเหนือของย่านน่าจะไปจรดถึงโรงเรียนดารา ถ้าจำไม่ผิดเคยเห็นภาพว่าจุดรอรถเมล์หน้าโรงพยาบาลแมคคอร์มิคยังมีสกรีนติดตรงหลังคาว่า “กลุ่มหนุ่มสาววัดสันป่าข่อย” ซึ่งผ่านไปตอนนี้ไม่เห็นแล้วนะคะ ส่วนทางทิศใต้น่าจะยาวไปถึงค่ายกาวิละค่ะ แอบคิดเล่น ๆ ว่า แค่ถามคนในละแวกนี้ว่าเป็นศรัทธาวัดไหน ถ้าได้คำตอบว่าเป็นศรัทธาวัดสันป่าข่อยแล้วค่อยถามว่าบ้านอยู่ตรงไหน นั่นแหละพอจะอนุมานอาณาเขตของสันป่าข่อยได้ หนึ่งชุมชน หนึ่งวัดคือคำตอบ”

ตัวตน คุณค่า หรือภาพจำของสันป่าข่อย ในมุมมองของคุณ

“ความเรียบง่าย คือคำตอบค่ะคือตัวตนของคนในย่าน จากการสังเกตหลาย ๆ คนในย่านรวมถึงครอบครัวตัวเองด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ได้ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ยึดหลัก “พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่เป็น” อยู่สบาย ค้าขายได้คือจบ ในเรื่องภาพจำของสันป่าข่อย ภาพแรกที่ลอยมาคงเป็นเรื่องของกินอร่อย เมื่อก่อนถ้าจะหาอาหารจีนอร่อย ๆ ย่านนี้ก็มีการถูกพูดถึงเสมอ ทั้งของที่ขายในตลาดหรือของกินข้างทาง ปัจจุบันร้านเก่าแก่อย่างซาลาเปาวิกุล ก็ยังขึ้นชื่อว่าเป็นของดี ของอร่อยของย่านที่ทุกคนต้องแวะเหมือนเดิม ขนมจีนมิชลีนในตลาดทองคำที่หลายคนชอบจนกลายเป็นร้านโปรดของคนเชียงใหม่รวมถึงเป็นร้านที่นักท่องเที่ยวปักหมุด กล้วยทอดบัตรคิว หมูทอดน้ำพริกหนุ่มป้าต้อยที่หลายคนซื้อเป็นของฝาก ช่วงเย็นก็มีร้านหมูกระทะออยโอ๊ต ร้านอาหารตามสั่งที่ชื่อผัดไทพิจิตร ร้านบะหมี่แมน หรือร้านบัวลอยไข่หวาน ร้านเหล่านี้เปิดมานานและมีชื่อเสียง ส่วนช่วงเช้าตรู่ยังมีร้านกาแฟเก่าแก่ของย่าน ชื่อ “ร้านกาแฟไข่ลวก” ที่ขายขนมปังสังขยาที่อร่อยมากนอกเหนือจากการขายชา กาแฟแบบโบราณและอาหารเช้าแบบโอลด์สกูล ถัดมาไม่ไกลกันนักยังมีร้านไก่ทอดสมุนไพรใต้ต้นไม้ที่ไม่ควรพลาด จากนั้นระหว่างวันยังสามารถเดินเล่นในย่านตลอดเส้นถนนเจริญเมืองเพื่อหาของอร่อยได้อีกเพราะมีคาเฟ่มากมายให้เลือกตามรสนิยมภาพถัดมาที่เห็นคือ ร้านเสื้อผ้ามือสองดี ๆ ที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันกับออมจะรู้ว่ามีหลายร้านในตลาดให้เลือกช้อป ส่วนเรื่องอะไหล่รถ วัสดุอุปกรณ์ของเครื่องยนต์ เครื่องจักร เครื่องมือช่างก็มีให้เลือกซื้อหลายร้าน รวมถึงอู่ซ่อมรถดี ๆ ชื่อดังหลายอู่ได้แฝงตัวอยู่ในย่านด้วยเช่นกันอยากชวนย้อนเวลากลับไปภาพจำตอนเป็นเด็ก สันป่าข่อยวันนั้นเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวคิดว่าจะตอนเด็กหรือตอนนี้ สิ่งเหมือนเดิมคือเรื่องบรรยากาศแห่งการค้าขาย สองฟากถนนเจริญเมืองเต็มไปด้วยร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นร้านอะไหล่ยนต์ ร้านวัสดุเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร ร้านอาหาร ซึ่งในตอนเด็ก ๆ ก็รู้สึกว่าชีวิตสะดวกสบายอย่างไรก็ยังคงเป็นแบบนั้น อยากกินของอร่อยในย่านก็มีให้เลือกซื้อหามากมาย หากอยากซื้อวัตถุดิบดี ๆ อาหารทะเลมาทำกินในบ้านก็มีให้เลือก วัสดุอุปกรณ์จุ๊กจิ๊กอะไรก็หาซื้อได้ในตลาด ถ้าไม่มีจริง ๆ ก็แค่นั่งรถข้ามไปหล่ายหน้าเพื่อซื้อของที่กาดหลวงโดยรถสามล้อถีบรับจ้างซึ่งเรารู้สึกว่าสะดวกดีอาม่าชอบใช้บริการมาก ในตอนกลางคืนแม้ไม่คึกคักเท่ากลางวันเพราะไม่ใช่ย่านที่มีความเคลื่อนไหว 24 ชั่วโมงแต่เวลาหิวก็ยังออกมาหาซื้อของกินได้ “

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นภาพและจดจำได้ดี

“ราว ๆ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาค่ะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชัดเพราะคาเฟ่มากมายทยอยเกิดขึ้นในย่านนี้ทดแทนร้านค้าเก่า ๆ ดั้งเดิม ทำให้ย่านนี้ได้รับการพูดถึงมากจากเดิมเป็นแค่ทางผ่านเพื่อไปที่อื่นหรือเป็นที่รู้จักของคนเฉพาะกลุ่ม ตอนนี้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นเป็นทางผ่านที่ควรต้องแวะ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจร้านค้าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะธุรกิจเดิมต้องหยุดกิจการไปเนื่องจากไม่มีคนสานต่อ หรือไปต่อไม่ได้ด้วยสาเหตุของยุคสมัย หรือแม้กระทั่งต้องย้ายออกไปนอกเมืองเพราะความสะดวกในเรื่องของการขนส่งที่ไม่แออัดแบบร้านลิ้มศักดากุลเคมีเกษตร ซึ่งสถานที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้ก็อยู่ภายใต้อาคารลิ้มศักดากุลที่ในอดีตขายอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ทางการเกษตร ปัจจุบันเจ้าของอาคารได้จัดสรรพื้นที่ให้คนมาเช่าทำธุรกิจ มีทั้งคาเฟ่ชื่อ Flo coffee brewers และร้านขนมชื่อไอลี่ เบเกอรี่ ซึ่งดีมาก ๆ ในแง่สร้างความมีชีวิตชีวาให้อาคารอายุร่วม 100 ปีอีกครั้ง เหมือนต่อลมหายใจให้อาคาร ขณะเดียวกันกลายเป็นการส่งเสริมให้ย่านมีบรรยากาศที่ดี ดึงดูดความสนใจให้คนหันมามองความงามของอาคารเก่า และตระหนักถึงคุณค่าจนอยากรักษาและอนุรักษ์ตึกเก่า ๆ อาคารโบราณไว้”

ตอนที่เราทำกิจกรรมคุยเรื่องคุณค่าของย่าน เคยคิดไหมว่าปลายทางจะสร้างผลการเปลี่ยนแปลง หรือคาดหวังการเปลี่ยนแปลงกับพื้นที่อย่างไร “จริงๆคาดหวังค่ะ คาดหวังให้เกิดการเชื่อมต่อและสานสัมพันธุ์กับคนในย่านจนมีการรวมกันแบบชุมชนในย่านเมืองเก่าเพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาร่วมกัน เพราะเราไม่สามารถหยุดเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงได้แต่สามารถกำหนดและคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ในเชิงพัฒนาพื้นที่ร่วมกันค่ะ เพื่อให้การอยู่อาศัยของทั้งคนเก่าแก่ดั้งเดิมของย่านและคนใหม่ ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดเป็นพื้นที่เชิงสร้างสรรค์”

ภาพของ community (ชุมชน)ที่ฝันไว้หน้าตาเป็นอย่างไร

“อยากให้รักษาเสน่ห์ความเป็นสันป่าข่อยไว้ ทั้งความเรียบง่าย ไม่โฉ่งฉ่าง สามารถนวยนาดได้ มีการอยู่ร่วมกันอย่างผสมผสานสอดคล้องทั้งการใช้ชีวิตของคนเก่าในพื้นที่และคนใหม่ที่เข้ามาทำธุรกิจ ทั้งนี้อย่างที่บอกไปข้างต้นค่ะ ว่าต้องมีการพูดคุยและมีข้อกำหนดร่วมกันก่อน เจ้าของสินทรัพย์ที่ปล่อยเช่าอาจต้องเลือกผู้เช่าที่เข้ามาอยู่ในย่านพอสมควร เพื่อไม่ให้มาทำลายบรรยากาศดี ๆ ที่มีอยู่เดิมและไม่เบียดเบียนความสุขสงบของคนเก่าแก่ในย่าน แม้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นตามยุคสมัยซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีคนให้ความสนใจย่านนี้ ขณะเดียวกันเราต้องคงไว้ซึ่งคุณค่าของย่าน เคารพคุณค่าของมรดกที่คนรุ่นก่อนทิ้งไว้ให้ด้วยค่ะทั้งนี้หากมีโอกาสออมก็อยากเป็นอีกคนที่ร่วมบันทึกเรื่องราวของย่านและได้บอกเล่าให้คนอื่นได้ฟังค่ะ”

วัดสันป่าข่อย : ศรัทธาวัด และความเปลี่ยนแปลงย่านสันป่าข่อย

พระครูรัตนสุตสุนทร หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดสันป่าข่อย

ทีมงาน ไจสันป่าข่อย Jai San Pa Koi ได้รับโอกาสสัมภาษณ์พระครูรัตนสุตสุนทร หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดสันป่าข่อย เมื่อราวปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลวงพ่อได้มอบเอกสารชิ้นสำคัญ “ธรรมบรรณาการ จากศิษย์และศรัทธาวัดสันป่าข่อย” หนังสือเนื่องในงานฌาปนกิจศพ พระอธิการทองคำ สุคนฺโธ (เจ้าอาวาส พ.ศ.2474-2518), มกราคม พ.ศ.2520 ให้ไว้เพื่อใช้ในงานวิจัย และเผยแพร่ต่อ – หนังสือฉบับนี้รวบรวมประวัติพระอธิการทองคำฯ เจ้าอาวาสลำดับที่ 8 ของวัดช้างม่อย, เอกสารการเดินทางไปไหว้พระธาตุที่ย่างกุ้ง, บทความธรรมะ โดยพระศรีธรรมนิเทศ (พระมหากมล โชติมนฺโต) เจ้าอาวาสลำดับที่ 9 และประวัติย่อของวัดช้างม่อย- ไจสันป่าข่อยได้ขออนุญาตนำบทสัมภาษณ์ และคัดลอกเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือดังกล่าวมานำเสนอ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้แก่ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์และเรื่องราวของวัดสันป่าข่อย

ประวัติโดยย่อวัดสันป่าข่อย (คัดลอกจากหนังสือธรรมณาการฯ) วัดสันป่าข่อย เดิมชื่อว่าวัดนางเหลียว สร้างขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานชี้ชัด เดิมวัดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางทิศตะวันออก หลังปั๊มน้ำมันถิ่นไทยงาม (*ปั๊มน้ำมันก่อนถึงค่ายกาวิละ) ต่อมาน้ำท่วม จึงได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่วัดสันป่าข่อยปัจจุบัน ของเก่าคือ พระเจดีย์ทรงพม่าสร้างขึ้นในยุคพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (*ครองนครเชียงใหม่ พ.ศ.2399-2413) และในคราวฉลองพระเจดีย์ พระเจ้ากาวิโลรสก็เสด็จมาเป็นประธานทำบุญราวๆ จุลศักราช 1230 (*พ.ศ.2411)(*เพิ่มเติมโดย ไจสันป่าข่อย)

เรื่องราวในความทรงจำของหลวงพ่อกับวัดสันป่าข่อยอาตมาเป็นคนสันกำแพง

มาบวชเรียนเป็นเณรอยู่ที่วัดสันป่าข่อยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2503 ก่อนจะมาเป็นเจ้าอาวาสก็เป็นพระลูกวัด แล้วก็เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส เพิ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปีพ.ศ. 2562 เท่าที่จำได้วัดสันป่าข่อยนี้มีมานานแล้ว ตลาดสันป่าข่อยก็เช่นกัน ตอนเป็นเณร อาตมาก็อาศัยโรงเรียนปริยัติธรรมวัดสันป่าข่อยนี่แหละ ศึกษาเล่าเรียน เพราะที่นี่เมื่อก่อนถือว่าเป็นโรงเรียนพระขนาดใหญ่ มีพระเณรมาเรียนกันเยอะ วัดแถวนี้ที่มีโรงเรียนก็จะมีวัดสันป่าข่อย กับวัดเกตการาม เท่านั้น โรงเรียนปริยัติธรรมวัดสันป่าข่อย พระเณรส่วนใหญ่จะมาจากในเมือง ไม่ก็พื้นที่ใกล้ๆ แถวๆ บวกครกหลวง บวกครกน้อย ดอนจั่น เมืองกาย และเมืองสารท สมัยอาตมา มีพระเณรมาเรียนมากถึง 70-80 รูป มาเรียนภาคบ่ายโมง เรียนบาลีบ่ายโมงถึงบ่าย 3 จากนั้นบ่าย 3 ถึง 5 โมงเย็นเป็นห้องเรียนนักธรรม เรียนเสร็จ 5 โมงก็พากันกลับวัด เดินบ้าง สามล้อบ้าง แล้วแต่ใครสะดวก

ความเป็นไปของย่านสันป่าข่อย และศรัทธาคนสันป่าข่อย

หลังๆ มานี้ในวัดไม่มีอะไรเปลี่ยนเท่าไหร่ อาณาเขตวัดเท่าเดิม ยุคที่วัดเปลี่ยนไปเยอะ คือยุคหลวงพ่อทองคำ เริ่มจากการย้ายเจดีย์ทรงพม่าที่เคยอยู่หน้าวิหาร ไปสร้างใหม่ไว้ด้านหลัง สมัยท่านมีการก่อสร้างอาคาร และสิ่งก่อสร้างหลายหลัง จนมีบันทึกกันว่า “มีแต่แผ่นดินเท่านั้นเป็นของเก่า” ตึกอาคารที่เห็นๆ อยู่นี่ก็ฝีมือและความคิดริเริ่มของท่านทั้งนั้น ท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องานก่อนสร้าง ท่านจึงคุมงานสร้างเอง บางวันก็ไปผสมปูนเอง ก่ออิฐเอง ทำได้ทั้งงานไม้งานปูน แล้วก็สอนให้ศิษย์วัดทุกคนให้ทำเป็น ให้ขยันขันแข็ง ไม่ให้อยู่เฉยๆที่ท่านทำไว้ให้ก็จะมี หอไตร วิหาร กุฎิหลังใหญ่ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ อาคารโรงเรียนปริยัติธรรม และกำแพงใหม่รอบวัด รวมไปถึงสุสานบ้านเด่นนั้นก็ฝีมือท่าน ในสมัยที่อาตมาเป็นเณร บ้านแถวนี้เมื่อก่อนเป็นบ้านไม้เฮือนแป ยังไม่มีธนาคาร ค่ายทหารมีแล้ว ตลาดทองคำมีแล้ว จริงๆ เมื่อก่อนเคยเป็นโรงเรียนเทศบาล 5

ศรัทธาของวัดสันป่าข่อย ในยุคนั้นเป็นใคร

ส่วนใหญ่ก็คนที่มีบ้านอยู่แถวๆ โรงเรียนปรินส์ฯ ไม่ก็แถวๆ โรงหนังชินทัศนีย์ (*ปัจจุบันคือที่ตั้งธนาคารทหารไทยธนชาต ttb) ไปจนถึงสถานีรถไฟ ถ้าทางใต้ก็ลงไปถึงบ้านท่าสะต๋อย แต่จะไม่ข้ามแม่น้ำปิงไปฝั่งในเมือง จากวันนั้นถึงวันนี้เจ้าศรัทธาหลักเก่าแก่ ก็จะมีเจ้าของร้านหลี่เฮง อันนี้มาอุปถัมภ์วัดแต่ดั้งเดิม

วัดสันป่าข่อยมีงานประเพณี หรืองานสำคัญๆ อะไรบ้าง

ที่รวมญาติโยมงานประจำปีคือทำบุญหลวงพ่อทองคำ ประเพณีปีใหม่สงกรานต์มีสืบชะตาทุกวันที่ 16 เมษายน และมีเวียนเทียนในวันสำคัญ และงานทำบุญศพ

การทำบุญ และศรัทธาวัด “

เมื่อก่อนญาติโยมเยอะ วัดสันป่าข่อยเป็นเหมือนศูนย์กลางของชุมชนแถวนี้ ทั้งพ่อค้าแม่ค้า เจ้าของร้าน คนมารอรถ คิวรถสามล้อ ความคึกคักทั้งช่วงเช้า ที่คนมาจับจ่ายซื้อวัตถุดิบไปทำกับข้าว และช่วงเย็นที่มีตลาดเย็นขายของกิน วันพระคนรอตักบาตรกันเยอะ คนมาทำบุญที่วัดก็เยอะ เดี๋ยวนี้วันศีล (วันพระ) ญาติโยมมีไม่ถึง 10 คน อายุ 30-60 คน สังเกตว่าเป็นคนที่มีกำลังเดินมาวัด อาจเป็นเพราะที่จอดรถในวัดมีไม่มากด้วย ส่วนใหญ่เป็นศรัทธาวัดที่คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่ ถ้าเป็นแต่ก่อนจะมีขาจรมาทำบุญอยู่บ้าง เพราะหน้าวัดจะมีคิวสามล้อถีบ คนทำบุญจะมีทั้งคนมาซื้อของ ไปจนถึงกรรมกรในตลาด กับบรรดาเจ้าของร้านค้าในย่านซึ่งเดี๋ยวนี้ก็อายุเยอะกันแล้ว ไม่ค่อยจะได้มากันหละที่ยังมีนิมนต์กันเป็นประจำคือ ทหารจากค่ายกาวิละ เวลามีงานที่ต้องเชิญพระก็จะมานิมนต์กันอยู่เสมอ อาตมาคิดว่า เรื่องศรัทธามันเป็นไปตามกาลเวลา สมัยก่อนเวลาวัดมีงาน จะมีคนมาช่วยกันเยอะ ตอนนี้ก็มีหายๆ ไปบ้าง เพราะแถวนี้มันย่านการค้าต่างคนต่างมีการมีงาน ส่งลูกไปเรียนที่อื่น คนรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยผูกพันกับพื้นที่แล้ว ศรัทธาดั้งเดิมก็อายุมากจะให้มากันบ่อยๆ ก็เห็นทีจะไม่ไหว เชื่อไหมว่าแต่ก่อนเวลาที่วัดมีงานจะขอชาวบ้านมาช่วยกันได้ แต่ตอนนี้ต้องจ้างอย่างเดียว งานศพก็มีการจ้าง เป็นไปตามสภาพสังคม”

ความทรงจำที่ดี กับวัดและชุมชน

“จริงๆ เราไม่ได้ตั้งใจจะบวช ตอนนั้นบวชเพราะเพื่อน ๆ เค้าบวชกัน อาตมาก็ตามเค้ามา พ่อแม่ก็ส่งให้เราได้บวช แล้วก็มาอยู่ที่นี่ แรกทีเดียวอาตมาไม่ได้คิดตั้งใจจะอยู่ตรงนี้ ตอนเป็นเณร หรือเป็นพระหนุ่ม คิดแค่ว่าพอครูบา (หลวงพ่อทองคำ) ท่านให้ทำอะไรเราก็ทำ พอเรียนหนังสือจบเปรียญ 3 อาตมาก็ซึมซับกิจของสงฆ์ไปโดยปริยาย อยู่แล้วสงบ ไม่วุ่นวาย จึงตั้งใจว่าจะช่วยงานวัดแบบนี้ต่อไปจนกว่าจะทำไม่ไหว สำหรับญาติโยมชุมชน ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาตมามองว่ามันเป็นไปตามยุคสมัย วัดก็ยังอยู่ตรงนี้เป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และเวลามีเรื่องใดๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะวัดนี้ก็เป็นพื้นที่หนึ่ง ที่ใช้งานได้ อย่างน้อยๆ หลายคนมาตลาดมาจอดรถ ก็แวะทำบุญ ทำแล้วสบายใจ นั้นก็เป็นเรื่องที่ดีแล้วแหละ”

[ อ้างอิง ]

1.งานวิจัยโครงการบูรณาการทรัพยากรเมืองเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศูนย์ความเป็นเลิศล้านนาสร้างสรรค์และนวัตกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา (ไจ้สันป่าข่อย)

2.ภาพถ่ายทางอากาศเก่า เมืองเชียงใหม่ ปี [ พ.ศ.2497, 2512, 2529 ] โดยการอนุเคราะห์ของ ผศ.ดร.นวลศิริ วงศ์ทางสวัสดิ์ และการวิเคราะห์และจัดทำผังการเปลี่ยนแปลงจำนวนอาคารในแต่ละช่วงเวลา โดย อ.ชยกฤต ม้าลำพอง

3.บทความ “ประตูเมืองนครเชียงใหม่” เขียนโดย วรชาติ มีชูบท ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 25594.บทบาทของกรมรถไฟหลวงกับการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2464-250, สุทธิศักดิ์ แสวงศักดิ์, วิทยานิพนธ์ บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 25615.เเผนที่เมืองนครเชียงใหม่, หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่

4.(รายการอ้างอิงศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. วัดสำคัญของนครเชียงใหม่ เล่ม 2. เชียงใหม่ : ส. ทรัพย์การพิมพ์, 2535.อนุ เนินหาด, พ.ต.ท. (2543). เชียงใหม่สะปะเรื่องตะวา. เชียงใหม่ : นพบุรีการพิมพ์.)

เขียนโดย : สามารถ สุวรรณรัตน์ Chiang Mai Learning City

ภาพ : ไจสันป่าข่อย Jai San Pa Koi

*ไจสันป่าข่อย
งานสื่อสารผลิตโดยโครงการการบูรณาการทรัพยากรเมืองเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ศูนย์ความเป็นเลิศล้านนาสร้างสรรค์และนวัตกรรม
คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ