กิน-เล่า-บนดอย ล้อมวงคุยคนแป่

กิน-เล่า-บนดอย ล้อมวงคุยคนแป่

จังหวัดแพร่ขึ้นชื่อด้านภูมิปัญญาการผลิตสุราพื้นบ้านมาเป็นเวลานาน โดยมีรายได้หมุนเวียนรวมแล้วไม่น้อยกว่า 400-500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาจากผลพลอยได้ของกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดแพร่ แต่ด้วยอุปสรรคจากข้อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตสุราหรือการควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงทำให้สุราพื้นบ้านจังหวัดแพร่ยังคงเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนได้ไม่เต็มที่

แม้ว่าจะมีการแก้กฎกระทรวงการคลัง มาตรา 153 เพื่อปลดล็อกการผลิตสุราไปแล้วเมื่อปี 2565 เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา  กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ลงนามโดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ทางออกของปัญหาสุราพื้นบ้านจังหวัดแพร่ไม่ได้สิ้นสุดที่การปลดล็อกการผลิต แต่ควรไปจบที่การสร้างโอกาส สร้างการรับรู้และเข้าใจภาพลักษณ์ใหม่ของสุราพื้นบ้านจังหวัดแพร่ และนี่คือโจทย์สำคัญที่ภาคประชาชนสุราก้าวหน้าจังหวัดแพร่ที่ประกอบด้วยผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำท้องถิ่น รวมไปถึงประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นตรงกันว่า ต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การจัดกิจกรรมสุราก้าวหน้า สร้างการรับรู้ใหม่ให้กับจังหวัดแพร่

“กิน-เล่า-บนดอย” ก้าวแรกของผู้ประกอบการคุยกัน ในยุครัฐบาลใหม่

(6 ตุลาคม 2566) ภาคประชาชนสุราก้าวหน้าจังหวัดแพร่ได้จัดกิจกรรมเสวนา “กิน-เล่า-บนดอย” ณ ไร่ลุงลอน บนถนนลอยฟ้าหลังวัดพระธาตุปูแจ ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมงานในการกำหนดทิศทางอนาคตสุราก้าวหน้าจังหวัดแพร่

ณัฏฐ์วรัตถ์ ภัทรเสนาธรรม ผู้ประกอบการสุราพื้นบ้านจังหวัดแพร่ กล่าวว่า สุราก้าวหน้าในวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของนักลงทุน คนทำเหล้าและคนดื่มเหล้าแล้ว ตนจึงมาร่วมงานกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในเสียงประชาชนที่ต้องการผลักดันให้จังหวัดแพร่เป็นเมืองหลวงสุราก้าวหน้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อ้อย ข้าวโพด ที่นอกจากจะสามารถเพิ่มกำลังการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้มากขึ้นตามความต้องการซื้อแล้ว เกษตรกรยังสามารถเพิ่มความต้องการขายอีกช่องทางหนึ่งโดยการทำสุรากลั่นได้อีกด้วย กับอีกสิ่งหนึ่งที่ตนอยากจะผลักดันคือ ขอให้รัฐบาลพิจารณาปรับราคาข้าวสูงขึ้นและลดภาษีสรรพสามิตเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรนำผลผลิตมาให้แก่พี่น้องประชาชนจังหวัดแพร่ได้ผลิตสุราก้าวหน้ามากขึ้น

กร (นามสมมุติ) ภาคประชาชนจังหวัดแพร่ มองถึงปัญหาและอุปสรรคของสุราก้าวหน้าจังหวัดแพร่ด้านการสื่อสารว่า จากที่มาร่วมงานกิจกรรมในครั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ทุกแบรนด์สุราพื้นบ้านหรือแม้กระทั่งคราฟต์เบียร์ที่มาร่วมงานนี้ล้วนมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ทันสมัย สื่อสารแบรนด์เข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัยได้ดี แต่ทำไมถึงกลับไม่เป็นที่รู้จักในสังคมจังหวัดแพร่เลย ซึ่งตนเข้าใจดีว่า ข้อกฎหมายควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้กีดกันไม่ให้การประชาสัมพันธ์หรือการโปรโมทแบรนด์สินค้าสามารถทำได้ในวงกว้าง หากในอนาคตมีการแก้ไขกฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสการซื้อขายผลิตภัณฑ์สุราชุมชนให้แก่ผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นได้มากขึ้นแล้ว ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการจะผลักดันสุราก้าวหน้าให้เป็นหนึ่งในของดีจังหวัดแพร่ก็จะสามารถใช้ศักยภาพที่มีสื่อสารบนช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

เช่นเดียวกับ สุภวัฒน์ ศุภศิริ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ในฐานะประชาชนผู้เข้าร่วมงานฯ ได้มองปัญหานี้ว่า ด้วยความที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในจังหวัดแพร่ได้เชื่อมโยงกับฐานการผลิตสุราพื้นบ้าน ตนจึงมองว่า การโปรโมทโฆษณาสุราพื้นบ้านอย่างเสรีอาจยังไม่ใช่ปลายทางที่ดีที่สุดสำหรับการมองแบบภาพใหญ่ แต่การโฆษณาจะช่วยนำไปสู่การพูดคุยเพื่อจัดงานกิจกรรมระดับเฟสติวัล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาพใหญ่ของจังหวัดแพร่ทั้งด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมไปถึงการสร้างวัฒนธรรมการกินดื่มร่วมสมัย และสร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคมสุราก้าวหน้าจังหวัดแพร่

“กระจายอำนาจ” โจทย์สำคัญที่ควรแก้ปัญหาร่วมกับ “สุราก้าวหน้า”

สุภวัฒน์ ยังกล่าวต่อถึงประเด็นนี้ว่า ด้วยข้อกฎหมายระดับประเทศที่ยังคำนึงถึงความสำคัญของท้องถิ่นค่อนข้างน้อย ผู้นำหรือผู้แทนระดับท้องถิ่นหลายพื้นที่เห็นตรงกันว่า แม้ตนอยากจะผลักดันให้พี่น้องประชาชนจังหวัดแพร่สามารถผลิตและโฆษณาสุราก้าวหน้าได้อย่างเสรี แต่เมื่อไปติดเพดานตรงที่กฎหมายกลางก็ทำให้ส่วนท้องถิ่นสนับสนุนได้ไม่เต็มที่เช่นกัน

สุภวัฒน์มองว่า จังหวัดแพร่หรือแม้กระทั่งทุกจังหวัดในประเทศไทยควรมีกฎหมายพิเศษหรือข้อระเบียบบังคับที่ใช้เฉพาะถิ่น เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการสุราพื้นบ้านหรือคราฟต์เบียร์ได้ผลิต จัดจำหน่าย และโฆษณาผลิตภัณฑ์ของแต่ละแบรนด์ได้อย่างไร้ขอบเขตที่เกินความจำเป็น ซึ่งตนอยากให้รัฐบาลเข้าใจท้องถิ่นมากขึ้นว่า ถ้าสามารถปลดล็อกส่วนนี้ให้กับท้องถิ่นได้ ผลดีที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่แค่พี่น้องประชาชนจังหวัดแพร่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ภาพใหญ่ระดับประเทศเองก็จะได้รับประโยชน์จากการมีพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างสุราก้าวหน้าด้วยเช่นกัน

นอกจากผลดีทางเศรษฐกิจแล้ว สุภวัฒน์ยังอธิบายเพิ่มเติมในข้อกังวลทางสังคมและวัฒนธรรมว่า การผลักดันนโยบายสุราก้าวหน้าไม่ใช่เพื่อการส่งเสริมให้ผู้คนทำผิดศีลธรรม ดื่มด่ำเพื่อความบันเทิงจนเมามาย แต่เป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นว่า สุราพื้นบ้านของแต่ละชุมชนมีที่มา เรื่องเล่าที่แฝงตามกระบวนการผลิตขั้นตอนต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งต่อเป็นองค์ความรู้และเกิดการเรียนรู้ในบ้านของตนเอง ทุกคนทุกช่วงวัยจะเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมเราควรรักษาภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันดีเหล่านี้ไว้

“สุราก้าวหน้า” สื่อสารด้วยค่านิยมที่คนจังหวัดแพร่ภาคภูมิใจ

โรสสุคนธ์ สีเถื่อน อินฟลูเอ็นเซอร์จังหวัดแพร่ ได้พูดถึงประเด็นนี้ในมุมมองคนรุ่นใหม่ว่า เมื่อก่อนคนมักจะเรียกชื่อสุราพื้นบ้านว่าเป็นเหล้าขาว เหล้าต้ม หรือเหล้าเถื่อนบ้าง เวลาที่มีเพื่อน ๆ จากต่างพื้นที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วถามว่า ของดีจังหวัดแพร่คืออะไร ถ้าวันหนึ่งได้แนะนำสุราพื้นบ้านโดยเรียกว่า “สุราก้าวหน้า” แทน “เหล้าขาว” ตนจะรู้สึกว่าวันนี้สุราก้าวหน้าจังหวัดแพร่ได้ยกระดับสู่ตลาดสากลอย่างที่เคยวาดฝันไว้แล้ว ตนจะภาคภูมิใจมากที่การต่อสู้เพื่อสุราก้าวหน้าของทุกคนในจังหวัดแพร่ไม่ได้สูญเปล่า

เช่นเดียวกับ อนันตลักษณ์ สุวรรณลักษณ์ ผู้ประกอบการสุราก้าวหน้าจังหวัดแพร่ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าวอีกว่า การต่อสู้เพื่อสุราก้าวหน้าจังหวัดแพร่เปรียบเสมือนกับเหตุการณ์ “กบฏเงี้ยว พ.ศ. 2445” ที่คนในท้องถิ่นต้องลุกขึ้นสู้เพื่อต่อต้านความไม่เป็นธรรมของอำนาจรัฐ ดังนั้น ในงานกิจกรรมพูดคุย “กิน-เล่า-บนดอย” จึงเหมือนกับเชิญชวนทุกคนมาตั้งเก๊าด้วยกัน และการจัดงานกิจกรรมใด ๆ ที่สุราก้าวหน้าได้มีส่วนร่วมก็เป็นการแสดงให้ภาครัฐได้เห็นศักยภาพการยกระดับท้องถิ่นที่มาจากประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

สุราก้าวหน้าไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องการกินดื่ม แม้ว่าอาจยังมีหลายคนที่มองว่าการสนับสนุนนโยบายสุราก้าวหน้าขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม แต่สิ่งที่ทุกคนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องผลักดันร่วมกันต่อจากนี้คือ ถ้าสามารถทำให้สุราก้าวหน้าอยู่บนจุดกึ่งกลางระหว่างการยึดมั่นในศีลธรรมกับความจำเป็นด้านเศรษฐกิจได้ เชื่อว่าสุราก้าวหน้าจะสามารถยืนหยัดบนสังคมได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

เรื่องและภาพ : ตะลอนตะหลอด : ชาติพันธุ์ลำปาง-แพร่ สื่ออิสระภาคเหนือ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ