“เราอยู่ที่นี่ ได้ยินเราไหม?” เสียงจากลูกไม้แม่ขาน

“เราอยู่ที่นี่ ได้ยินเราไหม?” เสียงจากลูกไม้แม่ขาน

 ที่กลางทุ่งนาขั้นบันใด ที่ขณะนี้ กลายเป็นเวทีของพวกเธอ  เด็กๆ ลูกไม้แม่ขาน

 เธอม้วนกาย… ทำตัวเองเหมือนสายน้ำ เมื่อได้ยินเสียงแกวดังขึ้นพร้อมๆ กับเสียงธาจากผู้เฒ่าปกาเกอญอ  …

“สายน้ำเจ็ดสายไหลเรื่อย เอื่อยไหลรวมสายเป็นหนึ่ง พี่น้องเจ็ดบ้านพิงพึ่ง หนุนหลังเป็นหนึ่งรวมกันลูกไม้แม่เก็บสะสม ให้เจ้าสืบทอดเผ่าพันธุ์ วันคืนผันผ่านแสนสั้น ต่อกันทอดสายยาวนาน”

แล้วพวกเธอก็กลายเป็นสิง เป็นสิงสาราสัตว์ เป็นต้นไม้  และเป็นผู้คนที่อยู่ที่บ้านสบลานแห่งนี้

“ฝูงนกขับขานเสียงเพลงกล่อมไพร เหล่าสัตว์ดำรงอยู่ร่วมพฤกษา นกยูงชีวิตเดียวสิ้นเสียงแว่ว  ใจกระชาก  ลิงน้อยมรณา ป่าร่ำไห้ หลั่งน้ำตา ท่วมเจ็ดผืนยืนเดียวดาย”

“ละครเรื่องนี้เนื้อหาเกี่ยวกับเขื่อน การรักษาป่า และวัฒนธรรมค่ะ ..  ถ้าเขาสร้างเขื่อน น้ำก็จะท่วมหมู่บ้าน เราก็จะต้องย้ายบ้านไปอยู่ในเมืองหรือที่อื่น วัฒนธรรมก็สูญหายค่ะ  ซึ่งเราไม่ต้องการ เราอยากได้วิถีชีวิตของเรา บ้านของเรา เราไม่อยากได้เขื่อนค่ะ” เชอรี่  นวรัตน์ พาราศี บอกความหมายของละครเรื่องนี้

ด.ช.ตัง บอกว่า “เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปกป้องหมู่บ้าน   ถ้าเขาสร้างเขื่อนหมู่บ้านหาย ภูมิปัญญาก็หาย  ทุกคนก็ลงไปในเมือง ไม่มีวิถีชีวิตหาปูหาปลากิน หาไม่ได้แล้ว ถ้าน้ำท่วมเขื่อนไม่มีอะไรทำ  ได้แต่ทำงาน เรียนหนังสืออยู่ในห้อง”

…เสียงธายังคงขับขานต่อ พร้อมบทกวีที่บอกความหมายในสิ่งที่กำลังเข้ามาในหมู่บ้าน

 

ป่าอยู่บนที่สูง น้ำอยู่ในที่ราบ หากยกน้ำขึ้นที่สูง น้ำจะท่วมผืนป่าจมหาย  อย่าให้น้ำทำผิดหน้าที่ เพราะคนทำผิดหน้าที่ หน้าที่ของป่าคือรักษาต้นน้ำ หน้าที่ของน้ำคือหล่อเลี้ยงทุกสรรพชีวา น้ำไม่ใช่ทำลาย ป่าไม่ใช่ผู้จำนน หากน้ำมา เงาป่าจะรุก ผู้คนจะมลาย”

“ได้ยินเราไหม !!”  เด็กๆ ตะโกนพร้อมกัน

 ชลิดา  ชัยวรรณ   นักเรียนศูนย์การศึกษาโจ๊ะมาโลลือหล่า โรงเรียนวิถีชีวิตบ้านสบลานเล่าว่า  คำพูดที่เธอและเด็กๆพูดไป คือคำพูนแทนป่าเขา สัตว์ คน ชาวบ้าน  ที่พูดไม่ได้  เพราะถ้ามีการสร้างเขื่อนที่นี่ ป่าก็หายไป  หมู่บ้านก็หายไป วัฒนธรรมของปกาเกอญอก็หายไป

ชลิดา เกิดที่บ้านสบลาน แม่ของเธอสืบทอดการทอผ้าให้ตั้งแต่ 7 ขวบ จนปีนี้เธอย่างเข้า 17 ปีแล้ว  เธอจึงรู้ว่าป่ารอบหมู่บ้านมีความสำคัญต่อชีวิตทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำ  แหล่งอาหารที่เธอจะเก็บหน่อไม้หรือพืชสมุนไพร  ไปจนถึงเปลือกไม้ชนิดใดที่เธอจะนำมาย้อมฝ้ายเพื่อทอผ้าได้

ชลิดา

 

“การใช้ประโยชน์จากป่าของเรา เช่นไม้ประดู่  ถ้าเราจะย้อมสีก็จะเข้าไปหักเปลือกไม้มานิดหน่อย   หรือไปเก็บลูกมะขามป้อม เอามาย้อนสีธรรมชาติ  มะขามป้อมจะให้สีเทาออกสีน้ำเงิน  เราเรียนจากในชุมชนที่เขาทำกันและสืบทอดจากเขา ….ถ้าไม่มีป่าเราก็ไม่ได้สืบทอดสิ่งที่เราทำในหมู่บ้าน มันก็หายไปทั้งหมด”

“การจะสร้างธรรมชาติไม่มีใครทำได้ มนุษย์ทุกคนทำไม่ได้ ที่จะสร้างก้อนหินขึ้นมาก้อนหนึ่ง เป็นไปไม่ได้ ธรรมชาติสร้างมาเราต้องดูแลรักษา” แม่เฒ่าปกาเกอญอบอก

ปกาเกอะญอแห่งบ้านสบลานมีความเชื่อว่าชีวิต ผูกพันกับต้นไม้  จึงมีการกำหนดวิธีดูแลรักษาผืนป่า เช่นกำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย รวมถึงบ่มเพาะลูกหลานให้เห็นความสำคัญของธรรมชาติ  หมู่บ้านแห่งนี้ อยู่ที่ ต.สะเมิงใต้  อ.สะเมิง  ชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่หุบเขาและอยู่กับแบบเครือญาติ  มีความเชื่อเกี่ยวกับทรัพยากรต้นไม้  ภายในบ้านสบลานมีโรงเรียนวิถีชีวิต หรือ โจ๊ะมาโลลือเหล่า ที่เปิดสอนทุกระดับชั้น โดยการศึกษาอยู่บนรากฐานภูมิปัญญาและวิถีชุมชน แต่เชื่อมโยงความรู้จากสังคมภายนอกมาเรียนวิชาพื้นฐานและเรียนภูมิปัญญาจากผู้รู้ในชุมชนด้วย

เมื่อป่าที่บ้านจะต้องกลายเป็นพื้นที่รับน้ำของการสร้างเขื่อนแม่ขาน หนึ่งใน 21 เขื่อนตามโครงการเงินกู้บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่บอกว่าเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น   เด็กๆ ก็เป็นจะส่วนหนึ่งที่จะสื่อให้คนเข้าใจวิถีที่พวกเขาจำเป็นจะต้องอยู่กับป่า

เชอรี่

 

ครูอรพินท์ กุศลรุ่งรัตน์  ครูโรงเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า         “เวลามีงานเทศกาล การเชื่อมต่อกับการศึกษาทางเลือก  เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ไปบอกกล่าวว่าวิถีชีวิตเขาเป็นแบบนี้  อีกอย่างที่เขาทำได้ คือการเขียน นิทานชุมชน การรวมรวมภูมิปัญญาของชุมชน สร้างเป็นหนังสือนิทาน  หรืออาจมีเวลาไปเรียนรู้แลกเปลี่ยนที่อื่นเขาก็จะไปแชร์กับที่อื่น 

ชลิดาและเพื่อนๆ  ไม่รู้ว่า  เสียงของป่าและคนบ้านสบลาน จะดังเพียงพอที่จะบอกให้รู้ว่า พวกเธอไม่ต้องการให้ป่าและวิถีชีวิตดั้งเดิมถูกทำลายได้หรือไม่  แต่นี่คือสิ่งเล็กๆ ที่เด็กๆ จะทำได้ ก็จะพยายามทำต่อไป  เพราะที่นี่คือบ้านของเธอ  

“เสียงฟ้าครืนครืนจะถล่ม จะกดเราจมลงให้ปริ่มน้ำ จะจมบ้านจมป่าใต้บาดาล จะรุกรานฐานถิ่นที่แม่ให้ มาเถิดลูกแม่ลูกผืนป่า มาจับมือให้ใจกล้าและหาญสู้ มากอดคอชนหลังให้เขาดู เราจะอยู่ที่นี่ถิ่นสีทอง  ได้ยินเราไหม ??”

                                                            

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ