พิธีสืบชะตาแม่น้ำลาหลวง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ภาคีเครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำลา ร่วมกันจัดงาน ครบรอบ 2 ปี “สืบชะตาแม่น้ำแม่ลาหลวง สู่การคัดค้านเหมืองแร่ฟลูออไรต์” ณ พื้นที่ป่าจิตวิญญาณ บริเวณพื้นที่ขอสัมปทานเหมืองแร่ฟลูออไรต์ บ้านห้วยมะกอก ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อปกป้องสายน้ำ ปกป้องผืนป่าและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลายจากการทำเหมืองแร่ฟลูออไรต์ เพราะแม่น้ำแม่ลาหลวงและแม่น้ำลาเป็นแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนให้พื้นที่และยังเป็นต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย อาทิ แม่น้ำยวม แม่น้ำเมย ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน หากเกิดเหมืองแร่ขึ้นในพื้นที่ก็จะส่งผลกระทบต่อสายน้ำผู้คนที่อยู่ลุ่มน้ำแม่ลา
โดยในงานมีมวลชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและภาคีเครือข่ายในภาคเหนือกว่า 300 คน มาร่วมกิจกรรม เพื่อเป็นสักขีพยานและแสดงพลังร่วมกันคัดค้านเหมืองแร่ฟรูออไรต์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เริ่มด้วย พิธีกรรมสืบชะตาแม่น้ำแม่ลา ตามพิธีกรรมทางความเชื่อของชุมชนทั้งสี่ ความเชื่อ ได้แก่ ศาสนาคริสต์คาทอลิกและโปรเตสแตนต์ ศาสนาพุทธ และความเชื่อดั้งเดิม
การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 4 ศาสนา หนึ่งในนั้นเป็นการประกอบพิธีกรรมดั้งเดิมหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘การเลี้ยงผี’ โดยมีผู้ประกอบพิธีกรรมและชาวบ้านที่นับถือศาสนาดั้งเดิมร่วมประกอบพิธีกรรมบริเวณริมน้ำแม่ลาหลวงในพื้นที่เหมืองแร่ฟลูออไรต์ทางผู้ประกอบพิธีกรรมและชาวบ้านที่ร่วมพิธีกรรมได้เล่าให้ฟังว่า พิธีกรรมดั้งเดิมเป็นพิธีขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ปกปักรักษาผืนป่า สายน้ำ ชุมชน ผู้คนและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆไม่ให้ถูกทำลาย รวมถึงเป็นการสาปแช่งผู้ที่เข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้มีอันเป็นไป
นพวิทย์ โชติเกษตรกุล ตัวแทนเยาวชนในพื้นที่แม่ลาน้อย กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องหลายๆที่มาร่วมงานในวันนี้ รวมถึงพี่น้องเครือข่ายภาคีต่างๆ ในงานวันนี้เป็นการจัดงานครบรอบ 2 ปีสืบชะตา มีจุดประสงค์ 3 ข้อดังนี้ 1.เพื่อสร้างความสามัคคีให้กับคนในชุมชนและเครือข่ายรักษ์ลุ่มแม่น้ำลา
2.เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่แม่น้ำแม่ลาหลวง พื้นที่เหมืองแร่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมซึ่งมันตรงข้ามกับความเป็นจริงที่มันอุดมสมบูรณ์ และเต็มไปด้วยป่านานาชนิด หากมีการทำเหมืองแร่เราจะได้รับผลกระทบทั้งหมู่บ้านพื้นที่ลุ่มน้ำ
3.เพื่อแสดงออกถึงว่าคนแม่ลาน้อยไม่ต้องการเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ซึ่งเหมืองเคยทำเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถ้ามันดีจริงพวกเราคงไม่ออกมาคัดค้าน
ต่อมาในเวทีเสวนา “เหมืองแร่ฟลูออไรต์กับวิถีชีวิตคนลุ่มแม่น้ำลาหลวง สะท้อนประเด็นการต่อสู้ของพี่น้องแม่ลาน้อยผ่านมุมมองแต่ละส่วนดังนี้
นายจวน สิทธิจา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาหลวง ซึ่งเป็นผู้นำในการนำพี่น้อง กล่าวว่า เป็นผู้นำต้องมีความกล้า เพื่อยืนยันเราต้องสู้เพราะทรัพยากรเป็นของคนแม่ฮ่องสอน น้ำมีความอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงพี่น้องแม่ลาหลวง แม่ลาน้อย รวมถึงพี่น้องแม่สะเรียง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต เราในฐานะประชาชนไม่มีอาวุธไปต่อสู้กับภาครัฐ และไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เราสู้ในฐานะมวลชน ภาครัฐเอื้อแต่นายทุน เราต้องระดมทุน แม้ว่ารัฐจะไปไกลแล้วแต่เราก็ไม่ย่อท้อ
วิชัย หยกรุ่งทิวากร พ่อหลวงบ้านสันติสุข กล่าวว่าตลอดเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมาก็ได้เห็นถึงความเดือดร้อน ความทุกข์ใจของพี่น้อง จึงได้ขอความร่วมมือและความคิดเห็นพี่น้องแต่ละในพื้นที่เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้แบ่งว่าใครเป็นพี่น้องต้นน้ำหรือปลายน้ำ เพราะทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกัน ถ้าเราไม่สู้พื้นที่แห่งนี้อาจจะเป็นป่าทรุดโทรม ป่าต้นน้ำก็ไม่สามารถเป็นแหล่งน้ำให้เราไปใช้ในแม่น้ำลา จึงอยากเป็นตัวแทนกลุ่มรักษ์แม่น้ำลาขอบคุณพี่เลี้ยงที่คอยเคียงข้างเรา และผู้นำแต่ละคนที่โดนกดดันจากภาครัฐเพื่อเป็นตัวหลักในการต่อสู้และขอบคุณพี่น้องที่อยู่เคียงข้างกันไป ไม่ใช่พี่น้องหัวลา พี่น้องห้วยมะกอก แต่เราทุกคนต้องสู้ไปด้วยกัน
อุดม สุจา กำนันตำบลแม่ลาหลวง กล่าวว่าสายน้ำก็เหมือนสายเลือด ที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรา ไม้ไผ่หลายอันรวมกันก็เป็นกอไผ่ที่แข็งแรง เราไม่สามารถทำเองได้ ควรที่จะร่วมมือร่วมใจกัน
สะท้าน วิชัยพงษ์ ตัวแทนสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่าในฐานะพี่น้องปกาเกอะญอแม่ฮ่องสอน ถ้าเราไม่รักกันใครจะมารัก ถ้าเรามีพลังชัยชนะก็จะได้มา เราจะสู้ตามวิถี สันติวิธี เพราะรู้ว่าพื้นที่ป่าเคยถูกทำลาย หอมและกระเทียมจากแม่ลาหลวง และหัวลาเป็นที่ต้องการของตลาด ถ้าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่สิ่งเหล่านี้คงจะหายไป ผมเลยสู้ทั้งเรื่องเหมือง และเรื่องป่า พื้นที่ทำกิน เราเข้าร่วมทั้งนโยบายของรัฐแม่กระทั่งคทช.แต่ท้ายที่สุดก็ถูกยึด ไม่ว่ายังเราก็จะสู้ด้วยกันเพื่อให้ลูกหลานมีกินมีใช้ มีศักดิ์ศรีไปพร้อมๆกัน เราจะอยู่ที่นี่ ตายที่นี่
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เสนอการต่อสู้ในเชิงกฎหมายว่า “ทำอย่างไรให้รัฐปลดพื้นที่ตรงนี้ออกจากพื้นที่ทำเหมืองได้ ซึ่งรัฐมันต้องประกาศว่าเป็นพื้นที่เหมืองแร่ก่อนมันถึงจะสามารถขอสัมปทานเหมืองแร่ได้ ถ้าเราสามารถทำได้จะเป็นการยกระดับในการต่อสู้ให้เห็นว่าเราจะไม่สามารถยกให้ใครมาทำลายพื้นที่ตรงนี้”
นอกจากนี้ยังเสนอว่าเราต้องดึงอำนาจในการมีส่วนร่วมกลับมาสู่ชุมชน ต้องถามคนแม่ลาน้อยยก่อนว่า มันควรที่จะเป็นเหมืองแร่หรือไม่ ให้กระบวนการมันหยุดชะงักเพื่อรอกระบวนการตัดสินใจจากเราก่อน นอกจากนี้เราต้องสู้ตามสิทธิที่เรามี สิทธิชุมชนเป็นสิทธิที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเรามีสิทธิจะกำหนดชีวิตของตัวเอง เสรีภาพในการรวมกลุ่มอย่างกลุ่มรักษ์แม่น้ำลา หรือสิทธิที่จะรณรงค์เราต้องไปเดินรณรงค์ซึ่งมันเป็นสิทธิเสรีภาพของเราเพื่อให้ภาครัฐต้องฟังเราว่าเรามีสิทธิในชุมชน อยากให้พี่น้องเขื่อมั่นว่าเรามีอำนาจในการต่อกรอำนาจที่มันไม่ชอบธรรม
เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่าในเชิงกฎหมายนโยบายเราสามารถตรวจสอบได้ว่าการประกาศเป็นเหมืองแร่ถูกต้องหรือไม่ สามารถเสนอตรวจสอบได้ว่ากระบวนการทำเหมืองแร่มันถูกต้องหรือไม่อำนาจนี้สามารถเรียกหรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และให้พี่น้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งผมพยายามใช้บทบาทสส.ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์
ในอีกประเด็นเวลงเราได้ยินคำว่าเวลาจะทำเหมืองแร่เพื่อที่จะพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมันเป็นการพัฒนาแบบเก่าที่ต้องทำโครงการใหญ่ๆ การพัฒนาแบบนี้เป็นตามแผนพัฒนา 2504 ที่เราไม่สามารถอยู่กับป่าได้ การพัฒนาเหมืองแร่จริงๆมันตกไม่ถึงชาวบ้าน ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านทำได้จริงๆคือยาม คนขุดในเหมือง เราจะได้จริงๆหรือ?
สิ่งที่เรามีที่นี้คือป่า มีเศรษฐกิจอย่างหอมและกระเทียม ถ้ามีการทำเหมืองน้ำ ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในประเทศที่เจริญแล้ว จะมีการกระจายอำนาจในการพัฒนา ท้องถิ่นเข้ามามีอำนาจในการตัดสิน รวมถึงอำนาจการตัดสินใจในทรัพยากรธรรมชาติ ยกตัวอย่างเรื่องเหมือง อำนาจตัดสินใจต้องอยู่ที่ชาวบ้าน เช่น ผลกระทบแบบนี้เราจะรับยังไง ถ้ามีผลประโยชน์ถ้าเราจะเอาก็ต้องยอมรับผลกระทบที่ตามมา แต่ในระบบกฎหมายมันยังไม่ถึงขนาดนั้น ชาวบ้านได้รับแค่ผลกระทบ ยังไม่มีอำนาจตัดสินใจ
อีกอย่างที่อยากเสนอคือการต่อสู้แค่ชุมชนเดียวมันไม่พอ เพราะเราไม่มีเครื่องมือไปสู้กับนายทุนใหญ่ ในโซนนี้อย่างน้อย 3 พื้นที่อย่างเหมืองแร่แม่ลาหลวง โครงการผันน้ำ เหมืองแร่แม่สะเรียง แม้ว่าจะอยู่คนละที่แต่มันคือความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรที่รัฐกำลังเอาไปประเคนให้นายทุน คิดว่าคนที่โดนเหมือนกันต้องต่อสู้ร่วมกันมันไม่ใช่แค่ที่ใดที่หนึ่งแต่เป็นประเด็นร่วมกัน
อีกกิจกรรม ร่วมพูดคุยให้กำลังใจพี่น้องมาลาน้อยให้ยังคงยืนหยัดต่อสู้อย่างเข้มแข็ง
สองแก้ว ประจักเมธี ผู้ช่วยสส. ต.แม่ลาหลวง กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่เห็นพลังของพี่น้อง เราจะต้องช่วยกันไม่มีใครรักเราเท่าพวกเราเอง ถ้าเราไม่มาแสดงด้วยกันในการต่อต้าน โอกาสที่เราจะพ่ายแพ้นั้นสูง ยิ่งพวกเรามีกำลังมากเท่าไหร่ เราก็จะคัดค้านได้มากเท่านั้น ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม และเป็นกำลังใจให้ทุกคนมีกำลังต่อสู้ต่อไป
กมลศักดิ์ ซาววงศ์ นายกอบต.สันติคีรี กล่าวว่าผมเกิดสันติคีรี ตายสันติคีรี เราไม่ต้องกลัว เราต้องสู้เพื่อตำบลของเรา ยังไงก็จะสู้ด้วยกัน
ตัวแทนแกนนำชุมชนแม่สะเรียงกล่าวว่า ถ้าพวกเรารวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวก็จะไม่มีใครสามารถมาทำอะไรพวกเราได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
พรชิตา ฟ้าประทานไพร ตัวแทนกะเบอะดิน กล่าวว่า บ้านตนเองเป็นพื้นที่ต่อสู้เหมืองแร่ถ่านหินมา 4 ปีแล้ว เราก็ยังยืนยันว่าจะไม่เอา พื้นที่แม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ที่มีพื้นที่ป่าเยอะที่สุดในประเทศเรา สิ่งหนึ่งที่เรายังไม่มีคือไฟฟ้า ประปา แต่เราต้องเสียสละพื้นที่ในบ้านของเราซึ่งมันสร้างผลกระทบมากมาย มาที่นี่ก็รู้สึกว่าอุดมสมบูรณ์มากๆ เราต้องร่วมกันเพื่อที่จะให้พื้นที่ตรงนี้ออกจากพื้นที่เหมืองแร่ให้ได้
ลิขิต พิมานพนา ตัวแทนจากกลุ่ม ชาติพันธุ์ปลดแอกกล่าวว่า คนที่กำลังเจอปัญหาร่วมกันยังมีอีกเยอะมากๆ อยากให้พี่น้องหาพันธมิตร ซึ่งมันเป็นปัญหาหาเรื่องใหญ่เรื่องเดียวกัน การที่เราจะสู้ได้เราต้องร่วมมือกันกับการต่อสู้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ตราบใดที่พี่น้องยังจะสู้ผมและพี่น้องทักคนในเครือข่ายก็ยืนยันว่าจะเคียงข้างในการต่อสู้ไปด้วยกัน
กิจกรรมสุดท้ายของคือการ การอ่านคำประกาศเจตนารมณ์ โดยน้องเยาวชนในพื้นที่แม่ลาน้อย
หลังจบกิจกรรมบนเวทีเสร็จแล้วมวลชนที่เข้าร่วมงานได้ร่วมกันปลูกกล้าไม้บริเวณพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ฟรูออไรต์และปล่อยปลาลงแม่น้ำแม่ลา เพื่อแสดงถึงการปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและผืนดินผืนป่าสายน้ำแห่งนี้สืบทอดให้ลูกหลานต่อไปในอนาคต
AUTHOR : R2S