“กระจายอำนาจปฏิรูปการศึกษาคืนสู่สังคม” สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา ประกาศ 9 ข้อขับเคลื่อน

“กระจายอำนาจปฏิรูปการศึกษาคืนสู่สังคม” สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา ประกาศ 9 ข้อขับเคลื่อน

20150404122746.jpg

3 เม.ย. 2558 เวที ‘คืนการศึกษาให้สังคม ให้ประชาชนปฏิรูปการศึกษา’ ในการประชุมวิชาการ ‘สานพลังเรียนรู้ครูนักปฏิบัติ: คืนความสุขสู่ผู้เรียน’ระหว่างวันที่ 2-3 เม.ย. 2558 ที่อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นการรวมตัวของ 9 เครือข่าย องค์กรด้านการศึกษา แถลงคำประกาศจากภาคสังคม ระบุ 9 ข้อในการขับเคลื่อนการศึกษาไทย หลังได้ร่วมกันสะท้อนถึงปัญหา และเสนอแนะแนวทางแก้ไข

20150404105934.jpg

การพูดคุยชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การศึกษาของไทยในปัจจุบันมีเพียงแบบแผนเดียวสำหรับคนทุกกลุ่ม แต่ด้วยความแตกต่างในชาติพันธุ์ ภาษา วิถีชีวิต และวัฒนธรรม จึงควรปฏิรูปการศึกษาของไทย เพื่อให้เหมาะกับคนแต่ละกลุ่ม รวมถึง กระจายอำนาจในการจัดการศึกษาไปสู่ทุกภาคส่วนของสังคม ตามมาตรา 12  พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

“นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนองค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิ์ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

20150404110010.jpg

“สังคมนี่แหละที่จะต้องรุกขึ้นมาปฏิรูปการศึกษา” ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ  เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือก (สกล.) กล่าว และแสดงความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการทำให้การศึกษาไทยล้มเหลว ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนในสังคม ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา โดยเริ่มจากส่วนเล็กๆ คือพ่อแม่ผู้ปกครอง

20150404110057.jpg

สำหรับคำประกาศจากภาคสังคมภาค ระบุว่า ประชาชน ภาคสังคม ผู้ปกครอง และเยาวชน พร้อมจะร่วมมือกันทำ ใน 9 ข้อ ดังนี้

1.ให้สมาชิกเครือข่ายทั่วประเทศที่สนใจจัดการศึกษายื่นจดทะเบียนเป็น “ศูนย์การเรียน” และ “บ้านเรียน” และ “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในเชิงพหุสังคม” พร้อมกันในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ 2.จัดการองค์ความรู้โดยชุมชนเป็นฐานเพื่อสื่อสารในการขับเคลื่อนและผลักดันเชิงนโยบายในทุกระดับ 

3.จัดตั้งศูนย์กลางประสานงานที่ทำหน้าที่เชื่อมร้อยเครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยใช้เครือมือการวิจัยการจัดการองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบาย 4.จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เริ่มขับเคลื่อนช่วงระหว่าง เม.ย.-ส.ค.นี้

5.เสนอกฎหมายว่าด้วยการจัดการการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มขับเคลื่อนช่วงระหว่าง เม.ย.-ส.ค.นี้ 6.โรงเรียนเอกชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตและพัฒนาบุคคลากรทางการศึกษา เริ่มที่ภาคอีสานก่อน ภานในปีการศึกษา 2558

7.จัดเวทีสาธารณะที่ว่าด้วยกระบวนการจัดการศึกษา ในระดับตำบลและระดับจังหวัดทันที 8.สร้างเวทีเชื่อมโยงเพื่อผลักดันการเรียนรู้และการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ภายใน 3 เดือน และ 9.ตั้งเครือข่ายนักเคลื่อนไหวเยาวชน เริ่มต้นกระบวนการภายใน เม.ย.-พ.ค.นี้

ทั้งนี้ สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา ประกอบด้วย 1.กลุ่มโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น 2.กลุ่มโรงเรียน/วิทยาลัย ที่จัดโดยภาคธุรกิจเอกชน 3.กลุ่มสมาคม/ชมรมผู้ปกครอง 4.กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ. 5.กลุ่มเครือข่ายการศึกษาทางเลือก 6.กลุ่มเด็กและเยาวชน 7.กลุ่มนักบริหารและนักวิชาการด้านการศึกษา 8.กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเอกชน 9.กลุ่มสื่อมวลชนที่สนใจด้านการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ