การศึกษาไทย เปลี่ยนได้จริงหรือ? : รวมนโยบายพรรคการเมือง vs ประชาชน

การศึกษาไทย เปลี่ยนได้จริงหรือ? : รวมนโยบายพรรคการเมือง vs ประชาชน

“การศึกษาไทยเป็นโจทย์ร่วมของคนทุกคน” จะทำอย่างไรกับแนวทางการเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของไทยสู่องค์ความรู้เชิงระบบยกระดับคุณภาพระบบการศึกษาไทยไปต่อ เพื่อการเรียนรู้และเติบโตของคนทุกคน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กหลุดออกจากระบบและลดผลกระทบจากโควิด Learning loss

ชวนอ่านนโยบายจากพรรคการเมืองและภาคประชาชน ทั้งโจทย์ร่วมและความต้องการเชิงพื้นที่ โดยรวบรวมมาจากเว็บไซต์ Yourpriorities.yrpri.org

นโยบายการศึกษา ด้านความเสมอภาคทางการศึกษา

พรรคการเมือง

พรรคก้าวไกล

  • ป้องกันการตกหล่นทางการศึกษาในอนาคต ผ่านการเพิ่มงบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำนวน 4,000 ล้านบาท และเพิ่มกลไกอื่น ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงเร่งดำเนินการให้เยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา สามารถกลับเข้าสู่ระบบหรือเข้าถึงช่องทางการศึกษาที่เหมาะสมกับตนเองได้ 
  • เพิ่มงบประมาณรายหัวนักเรียนในส่วนของค่าอาหาร ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมปลาย (รวมถึง ปวช.) เฉลี่ยประมาณ 500 บาท/เดือน 
    เพิ่มงบประมาณรายหัวนักเรียนในส่วนของค่าเดินทาง ระดับประถม 200 บาท/เดือน ระดับมัธยม 300 บาท/เดือน รวมถึงเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยของรถโรงเรียน
  • กระจายอำนาจให้โรงเรียนด้านงบประมาณ (เช่น การจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนแบบไม่กำหนดวัตถุประสงค์) 

    กระจายอำนาจเรื่องบุคลากร (เช่น กลไกในการให้โรงเรียนมีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์และคัดเลือกครู) 

    กระจายอำนาจเรื่องวิชาการ (เช่น การออกแบบหลักสูตรของโรงเรียนที่สอดคล้องต่อความต้องการของผู้เรียน การลดการควบคุมจากส่วนกลาง) 

    เพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นในการบริหารจัดการ ตลอดจนดูแลโรงเรียนในพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมโดยรอบให้เอื้อต่อการศึกษาของประชาชนในพื้นที่ 
  • กำหนดให้คณะกรรมการสถานศึกษาต้องมีตัวแทนนักเรียน . เพิ่มกลไกให้มีการจัดเลือกตั้งกรรมการสถานศึกษาในบางตำแหน่ง (เช่น ตัวแทนนักเรียน ตัวแทนผู้ปกครอง) . เพิ่มความเป็นมืออาชีพ โดยการจัดอบรมให้กรรมการที่ไม่ใช่บุคลากรทางการศึกษา . เปลี่ยนจากระบบอาสาสมัคร เป็นการมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม 
  • เพิ่มงบประมาณให้โรงเรียนในส่วนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แต่ให้เฉพาะโรงเรียนที่มีสภานักเรียนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณ โดยสภานักเรียนจะนำงบส่วนนี้ไปทำกิจกรรมภายในโรงเรียนตามที่ได้หาเสียงไว้
  • จัดให้มีการเลือกตั้งสภาเยาวชน โดยให้สภานี้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจและส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนี้ 

    เสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาได้ (เทียบเท่ากับการที่ประชาชนลงชื่อเสนอร่างกฎหมาย 10,000 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญ) 

    เสนอตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง 

    ตั้งกระทู้กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้มาตอบในสภาได้ปีละอย่างน้อย 2 ครั้ง 
     
    เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะโดยตรงไปที่คณะรัฐมนตรี 
  • แก้ปัญหาสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เกิดความปลอดภัย และวางมาตรฐานในทุกโรงเรียนให้ถูกหลักสุขอนามัย (เช่น ห้องน้ำต้องสะอาดและปลอดภัยในทุกโรงเรียน) . ปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนเพื่อลดอุบัติเหตุในโรงเรียน และป้องกันจุดเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อตัวนักเรียน (เช่น ตกน้ำ ไฟดูด) เป็นต้น
  • พัฒนาทักษะและสนับสนุนเครื่องมือให้ครู มีความรู้พื้นฐานในการสังเกตอาการของนักเรียนด้านสุขภาพจิต . เพิ่มช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต (เช่น เจ้าหน้าที่สาธาณสุข นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาประจำกลุ่มโรงเรียน) . จัดให้มีสายด่วนสุขภาพจิตโดยเฉพาะนักเรียน และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ในการเข้าถึงจิตแพทย์ 
  • ออกข้อกำหนด “กฎโรงเรียนต้องห้าม” เพื่อไม่ให้โรงเรียนออกกฎระเบียบของโรงเรียนที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน (เช่น การบังคับเรื่องทรงผม การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงทุกประเภท การบังคับให้เด็กบริจาคเงินหรือสิ่งของ การบังคับซื้อของ และการบังคับให้ทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน)  อบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก
  • พักใบประกอบวิชาชีพครูทันทีเมื่อมีการละเมิดสิทธิเด็ก (เช่น การทำร้ายร่างกายเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการงดโทษหรือลงโทษเพียงแค่ย้ายโรงเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยของผู้เรียนในสถานศึกษาอื่น 

    แก้ปัญหาการปกปิดความผิดโดยโรงเรียนเมื่อเกิดเหตุการละเมิดสิทธิกับนักเรียน ผ่านการจัดให้มีผู้ตรวจการนักเรียน (Student Ombudsman) ที่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เป็นช่องทางร้องเรียนที่เป็นอิสระจริงจากโรงเรียน-เขตพื้นที่
  • เปลี่ยนกิจกรรมตั้งแถวในโรงเรียน เป็นกิจกรรมที่อาจตอบโจทย์วัตถุประสงค์ด้านการเรียนรู้มากกว่า เช่น การให้ครูประจำชั้นและนักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกันในห้องเรียนก่อนมีการเรียนการสอน การอัพเดตเหตุการณ์บ้านเมืองเพื่อให้นักเรียนเท่าทันข่าวสาร เพื่อให้เวลาของผู้เรียนถูกใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวผู้เรียน
  • ยกเลิกการบังคับใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียน เปลี่ยนงบประมาณรายหัวในหมวดเครื่องแบบนักเรียน ให้กลายเป็นงบอุดหนุนเทคโนโลยีการศึกษา หรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนแทน 
  • ยกเลิกการให้ครูนอนเวรเฝ้าโรงเรียน เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
  • ยกเลิกการอบรมหรือโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหรือการพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ . ลดเวลาในการทำงานเอกสาร/งานธุรการในโรงเรียน ด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น เช่น การเซ็นเอกสารออนไลน์ จ้างเจ้าหน้าที่ธุรการให้เพียงพอและมีความมั่นคง
  • ยกเลิกพิธีรีตองที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหรือการพัฒนาผู้เรียน (เช่น การจัดแต่งอาคารสถานที่ต้อนรับผู้ประเมิน) เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
  • จัดให้มีการประเมินทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียนแบบรอบทิศ หรือ 360 องศา เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการประเมินครู ซึ่งจะทำให้ครูมีความยึดโยงกับผลสัมฤทธิ์และความพึงพอใจของนักเรียนในฐานะผู้รับบริการการศึกษา ครูมีส่วนร่วมในการประเมินผู้บริหารโรงเรียน ( เช่น ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ) เพื่อให้ผู้บริหารถูกประเมินจากข้อมูลที่รอบด้าน และป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบกับครู 
  • เปลี่ยนงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการอบรมครูทั้งหมดที่ส่วนกลางเป็นคนตัดสินใจ เป็นการให้เงินตรงไปที่ครูแต่ละคน เพื่อใช้ซื้อคอร์สอบรมพัฒนาทักษะที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ (เช่น เริ่มต้นที่ คนละ 3,000-5,000 บาทต่อปี) โรงเรียน สำหรับใช้ในการจัดอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการสอนของครูในระดับโรงเรียน
  • ปรับขึ้นเงินเดือนเริ่มต้นของข้าราชการครูในช่วง 10 ปีแรกให้สูงขึ้น โดยเริ่มต้นที่ 20,000 บาทต่อเดือน เพิ่มค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้าทางอาชีพของบุคลากรทางการศึกษาอื่น (เช่น ผู้ดูแลเด็ก ลูกจ้างธุรการ นักการภารโรง) ไม่มีครูอัตราจ้างเงินเดือนน้อย ทุกโรงเรียนต้องจ้างครูได้เพียงพอจากการประกันรายได้โรงเรียนตามสูตรคำนวณรายหัวใหม่ 
  • เพิ่มเกณฑ์ในการคัดเลือกครูให้เข้มข้นขึ้นทั้งวิชาการและทักษะการสอน เพิ่มการสอบสอนในการสอบบรรจุครู และการสอบวิชาการจะประเมินครูด้วยข้อสอบชุดเดียวกับนักเรียน พัฒนาสถาบันการผลิตครูให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาไม่จำเป็นต้องเปิดสอนทุกสาขาวิชาและจะมีการเจาะจงสนับสนุนงบประมาณลงไปเพื่อพัฒนาการสอนในสาขานั้น ๆ ให้มีคุณภาพมากที่สุด
  • ปรับโครงสร้างหนี้ครูใหม่ด้วยการรวมหนี้ที่อยู่ในสถาบันการเงินและหนี้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูให้เป็นหนี้ก้อนเดียว ต้องเปิดเผยข้อมูลหนี้ครูรายบุคคลให้ธนาคารพาณิชย์รับทราบเพื่อประเมินความเสี่ยงในการปล่อยกู้โดยเกินกำลังการชำระคืนหนี้ของครู กำหนดเพดานการหักเงินเดือนไม่ให้เกิน 70 % ของเงินเดือนแต่ละเดือน และลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ถูกลงหากครูมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี 
  • ปรับวิธีการจัดสรรงบประมาณของโรงเรียน ทุกโรงเรียนต้องได้งบประมาณเพียงพอที่จะจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ หรือคำนวณตามมาตรฐาน FSQL (Fundamental School Quality Level) ที่พิจารณาหลายปัจจัยตามความจำเป็นของโรงเรียน นอกเหนือจากจำนวนนักเรียน เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีทรัพยากรเพียงพอในการจัดการศึกษา และทำให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถมีโครงสร้างพื้นฐานภายในโรงเรียนที่ดี และมีครูที่เพียงพอต่อนักเรียน 

    เพิ่มอำนาจการตัดสินใจของโรงเรียนในเรื่องการใช้งบประมาณ โดยปรับเป็นการจัดงบประมาณจากส่วนกลางให้โรงเรียนแบบไม่กำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อให้งบประมาณถูกนำไปใช้อย่างตรงจุดมากขึ้นสำหรับแต่ละโรงเรียน
  • เปิดข้อมูลรายรับ-รายจ่าย-จัดซื้อจัดจ้าง ของโรงเรียนทั้งหมดต่อสาธารณะ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสของการบริหารจัดการโรงเรียนที่ตอบสนองประโยชน์สูงสุดของนักเรียนและการศึกษา 

    จัดให้มีโครงการ “คนโกงวงแตก” ป้องกันการทุจริตในโรงเรียน (เช่น ค่าแป๊ะเจี๊ยะ หรือการทุจริตหนังสือเรียน) ผ่านการวางกลไกที่จูงใจให้กลุ่มคนที่ร่วมกันโกง ฟ้องกันเอง จนเกิดความระแวงสำหรับใครที่คิดจะร่วมกันโกง (leniency programme) 

    จัดให้มีมาตรการ “แฉโกง ปลอดภัย” คุ้มครองคนแจ้งเบาะแส ตลอดจนเปิดโปงเปิดการทุจริตในโรงเรียน ผ่านกลไกที่รับประกันความปลอดภัยและความก้าวหน้าทางอาชีพของผู้กล้าที่ออกมาแฉการทุจริต (whistleblower protection) 

พรรคพลังประชารัฐ

  • การศึกษา 4.0 พรรคพลังประชารัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน เพื่อเตรียมความพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ต้องทำให้ทุกคนมีโอกาส มีอนาคต ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงคนทำงาน 

พรรคเสรีรวมไทย

  • อาชีพครูมีค่าตอบแทนที่สูง มีเส้นทางอาชีพที่ดี และมีการร่วมมือกับครูคนอื่น ๆ ในการวางแผนและปรับปรุงการเรียนการสอน และมีการปรับปรุงพัฒนาระบบการบริหารและการสอนในโรงเรียนต่าง ๆ ให้ใกล้เคียงกันหรือมีมาตรฐานเดียวกัน 
  • โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยรัฐจัดให้มีการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดจนถึงระดับปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย เส้นทางการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถถ่ายโอนนักเรียนระหว่างสายวิชาชีพกับสายสามัญเพื่อความถนัดของนักเรียน มีการแบ่งเกรด และกำหนดเส้นทางการศึกษา ตั้งแต่มัธยมศึกษา เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย โดยใช้คะแนนแบ่งเกรดในโรงเรียนมัธยมศึกษา เช่น คะแนนดีเยี่ยม, คะแนนดี และคะแนนปานกลาง หากสอบผ่าน เอเน็ต (A-NETX หรือ O-NET) สามารถเลือกเรียน ในสถาบันการศึกษาสายวิชาชีพ สายเทคนิค และวิชาการ และโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกันไม่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคม 

พรรคประชาธิปัตย์

  • “เรียนฟรี ถึงระดับปริญญาตรี สาขาที่ตลาดต้องการ” เช่น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ นวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ ซึ่งสามารถตอบสนองต่อกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น ภายใต้แนวคิด “การตลาดนําการผลิต” เพื่อ ผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน

พรรคไทยสร้างไทย

  • เด็กไทยเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี ลดเวลาเรียน 3 ปี ไม่เป็นหนี้ กยศ.

ภาคประชาชน

  • ทำให้ค่านิยมทางการศึกษาเท่าเทียมกัน เช่น เรียนสายสามัญ หรือสายอาชีพ ก็เท่าเทียมกัน โดนพยายามไม่ด้อยค่าของสายทางการศึกษาอื่น อาจทำได้โดยให้ออกค่ายการศึกษาด้วยกัน หรือประกาศเกียรติคุณให้กับคนที่ทำให้มีชื่อเสียง
  • ในสังคมปัจจุบันมีความเหลี่ยมล้ำทางระบบการศึกษา นโยบายนี้จะเปิดโอกาสการศึกษาในกับประชาชนในทุกระดับ ไม่จำกัดสิทธิ ทุกคนจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะผู้เรียนที่บกพร่องทางด้ายร่างกาย จะมีการพัฒนาหลักสูตรในกับเด็กกลุ่มนี้สามารถเข้าเรียนกับเด็กทั่วไปได้ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม
  • เป็นนโยบายที่แก้ไขระบบการศึกษาให้เด็ก เยาวชน ประชาชนได้เข้าถึงระบบการศึกษาอย่างไม่มีข้อจำกัด และพัฒนาให้ระบบการศึกษามีมาตรฐานเดียวกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
  • การแก้ไขปัญหาในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือการต้องเริ่มแก้ไขจากโครงสร้างทางการศึกษา คือมีการปรับแก้ไขหลักสูตรให้หลักสูตรนั้นมีความเหมือนกันทุกพื้นที่ ถ้ามีหลักสูตรเหมือนกันเด็กในประเทศก็จะสามารถมีความรู้และศักยภาพที่จะได้รับความรู้อย่างทั่วถึง และการเข้าถึงการศึกษาในทุกพื้นที่ ทางกระทรวงการศึกษาต้องคำนึงถึงเด็กทุกคนในทุกพื้นที่ให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาแม้อยู่ในพื้นที่ชนบท
  • เน้นการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในพื้นที่ต่างๆ จัดตั้งโรงเรียนให้กลับพื้นที่ห่างไกล ให้ทุนการศึกษาในทุกๆระดับ และประชาชนควรได้รับการศึกษาในทุกระดับและไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายรัฐควรระดมทุนให้กับการศึกษาเพื่อมีรูปแบบการศึกษาที่เปิดกว้างให้กับในทุกๆระดับ ประชาชนควรได้รับการศึกษาเรียนฟรีทุกระดับ ทุกคนสามารถเจ้าถึงในเรื่องของการศึกษาให้มาก
  • รัฐบาลต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียนของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาเพราะปัญหาการเงิน เพื่อให้เด็กนั้นสามารถได้รับการศึกษาได้อย่างเต็มที่
  • จัดสรรงบประมาณให้แก่สถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล โดยมีการตรวจสอบความแน่ชัดถึงจำนวนงบประมาณที่ต้องการและความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ ว่ามีการนำไปใช้ต่อยอดในด้านการศึกษาได้จริง สนับสนุนด้านอุปกรณ์การเรียนและหนังสือการเรียนขั้นพื้นฐานแก่นักเรียน
  • โครงการที่สนับสนุนการศึกษาเพื่อให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยใช้ค่าใช้จ่ายจากสนับสนุนการศึกษาให้กับทุกๆอำเภอและทุกคนที่ควรมีโอกาสได้รับทางการศึกษา โดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลกลาง ส่งมายัง อำเภอนั้นๆ และต่อยอดเพื่อเป็นทุนการศึกษา (โดยพื้นฐานของมนุษย์การกลับมาพัฒนาถิ่นฐานเดิมเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ) เมื่อเราพัฒนาให้ประชากรในเมืองดี การศึกษาดี เมืองจะดีตาม
  • เนื่องจากในพื้นที่ชนบทบางพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาหรือไม่สามารถมีการศึกษาที่มีประสิทธิภาพได้จึงจำเป็นจะต้องมีการสนับสนุนในการให้พท้นที่ชนบทมีการศึกษาที่มีประสิทธิภาพแก่คนในชุมชน
  • เกิดการร้องเรียนจากกลุ่มเด็กๆหลายๆคน ที่ร้องเรียนในเรื่องทรงผม ทำให้เด็กเกิดความไม่มั่นใจในเรื่องทรงผมไปโรงเรียน บางคนเกิดความไม่อยากไปโรงเรียน บางคนหาหมวกมาใส่เพื่อปิดบัง เเต่หารู้ไหมเรื่องทรงผมไม่ได้เป็นปัญหาในเรื่องการเรียนเลย เพราะความตั้งใจเรียนมันขึ้นอยู่กับตัวเอง เเต่ถ้าจะเเก้ไขปัญหาให้เด็กที่ทำคุณประโยนช์ให้โรงเรียนหรือมีทักษะพิเศษให้มัดรวบให้เรียบร้อยเเละให้เด็กมัธยมต้นไว้ผมถึงคางอย่างให้เลยคาง เเละมัธยมปลายให้ไว้ยาวเเละมัดรวบผูกโบว์ให้เรียบร้อย ทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในด้านของทรงผมในการไปโรงเรียน เเละทำให้เด็กมีเเรงผลักดันในการไปโรงเรียนเเละตั้งใจเรียนมากยิ่งขึ้น
  • ตาดีกาเป็นสถาบันการศึกษาที่พบความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในสังคมไทย เพราะนโยบายที่รัฐสร้างขึ้นยังไม่ได้อำนวยให้ตาดีกาพัฒนาได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น 

1.การกระจายอำนาจให้ตาดีกาอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเรื่องหลักสูตร และงบประมาณ เพราะท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่เข้าใจบริบทตาดีกา และบริบทชุมชน มากที่สุด และเข้าถึงสภาพปัญหาได้ใกล้เคียงสุด 

2. ตาดีกาควรจัดให้เป็นสถานที่ปลอดภัยไม่ควรถูกจับตามองโดยฝ่ายความมั่นคง 

3. สวัสดิการตาดีกาให้เทียบเท่าโรงเรียนนอกระบบทั่วไป เช่น โครงการเรียนฟรี 15 ปี หากรัฐมองว่าตาดีกาเป็นสถาบันการศึกษา เด็กเล่านี้ควรได้รับสวัสดิการที่เท่าเทียมกันกับการศึกษาอื่นๆ 

  • ปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณ แก้กฎหมายการศึกษาทุกฉบับกระจายอำนาจการจัดการศึกษาสู่ภาคส่วนต่างๆ โดยนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับทุกวัย แบ่งได้ดังนี้ 1.เพิ่มเงินอุดหนุนเด็กเล็ก สนับสนุนสนามเด็กเล่น หนังสือนิทาน ระบบดูแลสุขภาพเด็กครบวงจร 2.การจัดการศึกษาต้องฟรี มีการสนับสนุนรถบริการสาธารณะ สร้างสภาพนิเวศทางการเรียนรู้ทั้งเมือง 3.แรงงานที่ต้องเปลี่ยนสายงานเรียนรู้ฟรีก่อนค่อยชำระเงินภายหลัง และจัดให้ผู้สูงวัยกลายเป็นส่วนหนึ่งในเศรษฐกิจสีขาว 4.กลุ่มเปราะบางจัดการศึกษาโดยอาศัยเงินอุดหนุนเพิ่มเติมรายกรณี
  • เรื่องเส้นผมเล็กๆ ที่ไม่เล็กตามขนาด ยกเลิกระเบียบทรงผม ซึ่งเป็นระเบียบที่ละเมิดสิทธิในร่างกายและขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา6 ที่บอกว่ากฎหรือข้อบังคับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะใช้บังคับมิได้ ทรงผมมีความสำคัญทำให้เกิดความมั่นใจ และความมั่นใจมีผลต่อการเรียนรู้ การที่ให้เยาวชนรู้จักเลือกสิ่งต่างๆให้ตัวเองเป็นสิ่งที่ดี เราต้องการคนที่เลือกเป็นไม่ใช่คนที่เลือกตามคนอื่น นี่คือสาเหตุที่ประเทศไทยควรเปิดเสรีทรงผม ทรงผมเราจะต้องไม่หนักหัวใคร
  • ลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องการเข้าถึงระบบการศึกษาให้เด็กที่เกิดในไทยทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ฟรี เหมือนคนไทยทุกคน เช่น เด็กหัว 0 หัว G ได้เข้าถึงระบบการศึกษา อย่างมีประสิทธิภาพ และฟรี ตั้งแต่ค่าเทอม ค่าที่อยู่อาศัย ค่าเดินทาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับเด็กที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา
  • ให้มีการจัดหลักสูตรการเรียน การสอน ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติ มากกว่าทฤษฎี และเน้นการให้ส่วนร่วมของนักเรียน นักศึกษา
  • กระทรวงศึกษาธิการจัดอัตราบุคคลากรครูและบุคลากรทางการศึกษาสู่ชนบทตามอัตราประชากรในแต่ละพื้นที่รวมถึงจัดสรรงบสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษาให้ทั่วถึงโดยเฉพาะกลุ่มชายขอบ
  • มีการสนับสนุนเงินค่าอุปกรณ์การเรียน การอบรมต่างๆ เช่น ให้ยืมไอแพด โน้ตบุ๊ก ส่วนลดค่าเครื่องเขียนจากพาร์ทเนอร์ เป็นต้น เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสในการเรียนรู้ได้มากขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการยกระดับระบบคัดกรองบุคคลากรทางการศึกษา ให้เข้มงวดขึ้นและคัดคนอย่างมีคุณภาพมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มฐานเงินเดือนหรืแปรับฐานเงินเดือนให้เหมาะสมกับหน้าที่ของบุคลากร
  • ปัจจุบันแล้วการศึกษาถือเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิตในทุกๆด้าน ในพื้นที่ห่างไกลเช่น เด็กๆ บนดอย ทั้งมีสัญชาติและไม่มีสัญชาติ หรือเด็ก ๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีรับการศึกษาที่ได้มาตฐานส่งผลให้คุณภาพของชีวิตเด็กไทยตกต่ำ
  • เราควรที่จะพัฒนาที่ตัวคุณครูก่อนโดยเริ่มจากการการคัดเลือก เราจะคัดเลือกจากการปฏิบัติ มากกว่าการนั่งสอบข้อเขียนเพื่อเป็นครูรวมถึง มีการทดสอบด้านจิตวิทยา การปฏิรูปทักษะ สมรรถภาพโดยที่จะมีองค์กรณ์ดูเเลคอยอบรม ทุกๆปี ศูนย์วิจัยมาทดสอบเพื่อพัฒนา
  • ทำหลักสูตรการสอนสำหรับคนพิการ ควรจัดหาผู้สอนเฉพาะทางให้มากขึ้น จัดตั้งโรงเรียนคนพิการตามชุมชนให้เยอะขึ้น

นโยบายการศึกษา ด้านการเรียนรู้ยุคใหม่

พรรคการเมือง

พรรคก้าวไกล

  • ร่างหลักสูตรใหม่ภายใน 1 ปี และค่อยๆ ปรับใช้จนสามารถใช้ในทุกระดับชั้นได้ภายใน 4 ปี 
     
    หลักสูตรจะเน้นการสอนทักษะ-สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ (เช่น คิดวิเคราะห์ สื่อสาร ทำงานเป็นทีม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น) และการใช้ชีวิต (เช่น ความรู้ทางการเงิน ความรู้ด้านสุขภาพ) 
     
    ปรับการสอนทุกวิชาให้มุ่งเน้นทักษะสมรรถนะเป็นหลัก (เช่น การสอนภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะการสื่อสาร หรือการสอนประวัติศาสตร์ที่เน้นการวิเคราะห์-ถกเถียง-แลกเปลี่ยน) 
     
    ปรับรูปแบบการเรียนการสอนแนะแนว ที่เน้นการเชื่อมกับโลกภายนอกและกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียนที่ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง 
     
    เพิ่มกิจกรรมทดลองเรียนรู้จากงานจริง หรือ job shadow การจัดคลินิกให้คำปรึกษา 1-ต่อ-1 การจัดสรรบัญชีวิทยากรจากภายนอกในอาชีพที่เด็กสนใจ 
  • ปรับอัตราค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของ TCAS จากเดิมที่ต้องจ่ายทั้งค่าสอบสำหรับทุกการสอบและค่าอันดับ เป็นการจ่ายแบบอัตราเดียว (flat rate) ไม่เกิน 500 บาท สำหรับทุกบริการที่เป็นค่าใช้จ่ายของ ทปอ. โดยรัฐเป็นผู้ประเมินต้นทุนที่แท้จริง และอุดหนุนตามสมควร อ่านเพิ่มเติม
  • กำหนดไม่ให้ออกข้อสอบที่วัดเนื้อหาเกินหลักสูตร เพื่อรับประกันความเสมอภาคทางโอกาสของนักเรียนที่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอในการเรียนพิเศษเพิ่มเติมนอกโรงเรียน เปิดเผยข้อสอบและเฉลยข้อสอบย้อนหลัง เพื่อยกระดับคุณภาพการสอบ เปิดให้เกิดการตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของคำถาม/คำตอบ และให้เป็นคลังความรู้ที่ผู้เข้าสอบรุ่นต่อ ๆ ไปจะสามารถเข้าไปใช้ฝึกฝนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  • ตั้งศูนย์ประสานงานกลางของ Home School เพื่อช่วยลดอุปสรรคในงานเอกสาร งานประเมินต่างๆจากส่วนกลาง ช่วยให้ Home School เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการที่ควรจะได้ . นอกจากนี้ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแหล่งที่ช่วยรวบรวมหลักสูตร สื่อการสอนของคนที่จัด Home School ที่ต่าง ๆ เพื่อแบ่งปันความรู้กันอีกด้วย
  • ส่งเสริมให้มีการศึกษานอกระบบ on-demand ไม่ว่าจะรูปแบบ online หรือ on-site ทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว โดยมุ่งเน้นที่จะดำเนินการกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี หรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี แต่หลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะการแพร่ระบาดของโควิด 
  • เพิ่มกลไกรับผิดชอบของเนื้อหาหนังสือเรียน เช่น หากพบข้อผิดพลาดที่รุนแรงสามารถสั่งแบนบริษัทที่จัดทำหนังสือดังกล่าวได้ 
  • พรรคก้าวไกลเสนอให้ปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์ให้เน้นการถกเถียงแลกเปลี่ยนหลายมุมมอง ไม่ใช่แค่การท่องจำ การเรียนประวัติศาสตร์จะต้องเชื่อมโยงระหว่าง รัฐไทย ท้องถิ่น และประวัติศาสตร์โลกเพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย เชื่อมโยงตัวเองในฐานะพลเมืองไทย และพลเมืองโลก ไปพร้อมกับความเข้าใจท้องถิ่นของตนเองได้ 
  • ปรับทิศทางหลักสูตร-การสอน-การประเมินวิชาภาษาอังกฤษ ที่เน้นการสื่อสารหรือการใช้ภาษาเป็นหลัก มากกว่าเน้นเพียงหลักภาษาและไวยากรณ์ 

    เสริมทักษะครูไทยด้านภาษาอังกฤษทั้งในระดับสถาบันผลิตครู (pre-service training) และการพัฒนาทักษะในงาน (in-service training) 

    ทำ MOU โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างครูต่างชาติและครูไทย เพื่อเพิ่มสภาพแวดล้อมที่นักเรียนไทยได้ใช้ภาษาอังกฤษ 

    ตั้งเป้าให้ทุกโรงเรียนสอนเป็น 2 ภาษา ภายใน 4 ปี โดยการทยอยเพิ่มสัดส่วนวิชาและกิจกรรมในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ (เช่น English Fridays ให้วันศุกร์หรือ 1 วันต่อสัปดาห์ในระดับโรงเรียน เป็นสำหรับการเรียนการสอนในภาษาอังกฤษ) 
  • ลดวิชาพื้นฐานที่บังคับเรียนในชั้นประถม-มัธยมต้น และเพิ่มวิชาเลือกที่หลากหลายขึ้นและลดสัดส่วนวิชาบังคับในชั้นมัธยมปลาย
  • ลดจำนวนชั่วโมงเรียนและคาบเรียนลง (เป้าหมายไม่เกิน 800-1,000 ชั่วโมงต่อปี) เพื่อให้เหลือเวลาเพียงพอสำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการพักผ่อน 

    ลดการบ้านเพื่อรับประกันเวลาเพียงพอในการพักผ่อน (เช่น บูรณาการการบ้านในหลายวิชา เปลี่ยนจากการบ้านเป็นการทำแบบฝึกหัดหรือกิจกรรมในเวลาเรียน) 
     
    ลดการสอบและหาวิธีประเมินรูปแบบอื่น (เช่น การทำโครงการกลุ่ม) 
     
    ปรับวิธีการประเมิน-การทดสอบระดับชาติ (O-NET) เป็นแบบสุ่มสอบนักเรียนกลุ่มหนึ่งในแต่ละโรงเรียน เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนแทนการสอบทั้งระดับชั้น 
  • แจกคูปองคนวัยทำงาน อายุ 30-60 ปี จำนวน 1 ล้านคน เพื่อเลือกพัฒนาทักษะเชิงลึกที่ตนต้องการหรือมีความจำเป็นในการทำงาน จากหลักสูตรการฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์หรือ ณ สถานที่ โดยรัฐร่วมจ่าย 80% จากราคาหลักสูตรฝึกอบรม แต่ไม่เกิน 5,000 บาท/คน
  • พัฒนาสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ให้ผู้ได้รับการรับรองวิชาชีพได้รับความเชื่อถือจากตลาดแรงงานและสังคม ด้วยการพัฒนาเงื่อนไขและคุณสมบัติของการรับรองคุณวุฒิให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตรงตามความต้องการของเอกชน และปรับหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาให้สอดคล้องกัน
  • สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงและเรียนได้โดยไม่จำกัด ผ่านการรวบรวมคอร์สพัฒนาทักษะจากผู้ผลิตเนื้อหา แบบฝึกหัดและระบบทดสอบความรู้ ระบบสำรวจความถนัดตนเอง และบริการจับคู่กับผู้ประกอบการและจัดหางาน
  • ปรับปรุงเกณฑ์การกู้ยืม ทุกคนสามารถกู้ได้ถ้วนหน้าโดยไม่ต้องพิสูจน์สิทธิ และไม่ต้องทำจิตอาสา หรือกิจกรรมบังคับอื่นที่แตกต่างจากนักศึกษาที่ไม่ได้กู้ยืมเรียน . ปรับปรุงเกณฑ์การใช้คืนหนี้ การจ่ายคืนหนี้เงินกู้จะมีช่วงปลอดหนี้ที่ยาวนานขึ้น ถ้ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะยังไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้น . ยกระดับบทบาท กยศ. ในการช่วยหางานให้กับผู้กู้ยืม
  • ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ผ่านการส่งเสริมสหกิจศึกษาที่เพิ่มเวลาที่ผู้เรียนฝึกงานในสถานประกอบการจริง และผลักดันการศึกษาแบบทวิภาคีที่ภาคเอกชนร่วมออกแบบหลักสูตรและรับประกันการจ้างงาน
  • ส่งเสริมการเรียนระบบทวิภาคี โดยปรับปรุงระบบประกันคุณภาพการศึกษา ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและผู้ประกอบการในตลาด โดยให้มีการออกแบบหลักสูตรร่วมกันที่จะสร้างแรงงานที่มีทักษะตามความต้องการของตลาด และจบมามีงานทำจริง
  • จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดซื้อเพื่อปรับปรุงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ทำการเรียนการสอนในสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐให้ทันสมัย (4,500 ล้านบาทต่อปี หรือ เฉลี่ยปีละ 10 ล้านบาทต่อแห่ง) . จัดฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเข้มข้นให้กับอาจารย์ผู้สอน เพื่อให้อาจารย์สามารถนำความรู้ที่เป็นปัจจุบัน ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มาสอนให้แก่นักเรียน 
  • สนับสนุนการเรียนฟรีในระดับอาชีวศึกษา ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนต่อในสายอาชีพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และนำไปสู่การประกอบอาชีพเฉพาะด้านซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
  • แจกคูปองพัฒนาการเรียนรู้ตามช่วงวัยให้กับเด็กอายุ 7-18 ปี เพื่อใช้สำหรับการเรียนรู้-ฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมภายนอกโรงเรียน ตลอดจนกิจกรรมสร้างสรรค์ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ แบ่งเป็น . ระดับประถมปีละ 1,000 บาทต่อปี . ระดับมัธยมปีละ 1,500 บาทต่อปี . ระดับอุดมศึกษาปีละ 2,000 บาทต่อปี

พรรคเสรีรวมไทย

  • บุคลากรครูอาจารย์คุณภาพสูง มีสถาบันการศึกษาแห่งชาติเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูเข้าสู่ระบบเพียงแห่งเดียว เพื่อทำให้สามารถควบคุมคุณภาพของครูที่ผลิตเข้าสู่ระบบอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนในการคิดวิเคราะห์ มากกว่าการท่องจำ 
  • ส่งเสริมสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา 

พรรคเพื่อไทย

  • “ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านขั้นตอน Learn to Earn” เพื่อ “เรียนรู้มีรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต” ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกช่วงทุกวัย สามารถโอนหน่วยกิตที่สะสมไว้ หางานได้ในทุกช่วงของชีวิต 

    จบปริญญาตรีอายุ 18 ปรับระบบการศึกษาจาก 6-6-4 ไปสู่ระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อสนับสนุนคนเข้าตลาดแรงงานเร็วขึ้น 

    “Free tablet for all” โครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต และ โครงการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาผ่านออนไลน์ 

    โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (ODOS) เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้กับประชาชน 

    เรียนฟรีต้องฟรีจริง เพิ่มงบอาหารกลางวันและบริการรถรับส่งนักเรียนฟรี 

    เรียนอาชีวะฟรีมีอยู่จริง ปั้นสถานอาชีวะเป็นศูนย์สร้างสรรค์สร้างตัวได้ 

    โรงเรียน 2 ภาษาในทุกท้องถิ่น สอนภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ตั้งแต่ ป.1 ใช้ครูต่างประเทศสอนเสริมร่วมกับครูไทย ทั้งในห้องเรียนและออนไลน์ 

    มีศูนย์การเรียนรู้แบบ TCDC และ TK Park ให้ครบทุกจังหวัด 

ภาคประชาชน

  • แก้ปัญหาการเรียนแบบใหม่โดยทำเป็นสไลด์ประกอบการเรียนการสอน มีการทดสอบทำเเบบฝึกหัด การสอนก็บรรยายสไลค์เเล้วมีเเบบฝึกหัดประกอบจะช่วยให้นักเรียนเรียนหนังสือเข้าใจมากขึ้นเพราะเหมือนการทบทวนเนื้อหาเเละเก็บประเด็นในใจความสำคัญ
  • เสริมสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสม นโยบายนี้สามารถเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์หรือสำรวจการวิจัยอย่างละเอียดว่า แต่ละช่วงวัยศึกษานั้นต้องการสร้างความรู้เรื่องใดบ้างให้เหมาะสมกับช่วงวัยการเรียนรู้ในแต่ละช่วง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ รับทราบถึงพัฒนาการให้ถูกต้องเป็นขั้นตอนอย่างมีระบบ ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้ยุคใหม่นั้นเกิดประโยชน์ต่อการรับรู้ได้
  • ผู้สอนต้องไม่ชักจูงหรือปลูกฝังค่านิยมสิ่งใดให้เด็กนั้นมีค่านิยมที่เหมือน ๆ กัน หรือปลูกฝังค่านิยมที่เหมือนตนเอง ให้เด็กมีการเรียนรู้และการพัฒนาค้นคว้าด้วยตนเอง ให้เด็กแต่ละคนมีความสนใจและมีค่านิยมที่เป็นของตนเอง
  • 1 อำเภอ 1 พื้นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เนื่องปัจจุบันสังคมไทยตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงในเรื่องต่างๆอย่างกว้างขวาง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องมีนโยบายสร้างพื้นที่เรียนร ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน โดยพี่ที่เรียนรู้ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนใหญ่ช่วยขจัดและควบคุมสภาพเเวดล้อมที่เป็นพิษต่อเด็ก ร่วมมือร่วมใจกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดพื้นที่ดีและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน อย่างจริงจัง กว้างขวางภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเด็กและเยาวชนเป็นผู้นำ ผู้ใหญ่เป็นฝ่ายสนับสนุน จะผลิบานสร้างสรรค์ สร้างสุข ทุกวัน ทุกพื้นที่ และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้น่าอยู่ สู่การมีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนของเด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชนต่อไป
  • ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถพัฒนาศักยภาพ ความสามารถผ่านความชอบขอบตัวเอง หรือ งานอดิเรกให้กลายเป็นแหล่งความรู้ที่ตนสนใจ
  • ใช้เทคสมัยใหม่ มาใช้ในการศึกษา เรียนรู้และปรับใช้ ไม่ใช่กีดกัน เช่นการเอา ChatGpt มาใช้ในการเรียนการสอน
  • เป็นระบบการศึกษาที่ให้โอกาสนักเรียนได้ออกแบบการเรียนของตัวเอง โดยอิงจากระบบการเรียนของระดับอุดมศึกษา โดยอาจจะเริ่มในพื้นที่ กทม. หรือพื้นที่ตัวอย่าง
  • การเรียนรู้แบบ Life-Long Learning คือ เราต้องสนับสนุนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้มีแค่การเรียนรู้ภายในห้องเรียน แต่ควรสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ให้กับประชาชน สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทักษะการเรียนรู้ได้หลากหลาย และเพิ่มแรงงานที่มีคุณภาพ
  • หลักสูตรในปัจจุบันของประเทศไทยยังมีการตัดสินความประสบความสำเร็จหรือความรู้ได้ที่ตัวเกรด แค่ตัวเลข ทศนิยม แต่ความจริงแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้นั้นคือการสามารถใช้ได้ในชีวิตจริง หรือ learning by doing เช่นการเพิ่มหลักสูตรการเอาตัวรอดให้จริงจังขึ้นใน วิชาลูกเสือตั้งแต่เด็กประถมปีที่ 1 – มัธยมปีที่ 3 หรือหลักสูตรที่เน้นให้นักเรียนสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันพอๆกับวิชาการ เพราะการศึกษาในสังคมไทยมักแค่จะตัดสินคนจากแค่ เกรดเฉลี่ยที่เห็น และควรปรับหลักสูตรให้กับเด็กแต่ละวัยเพื่อพัฒนาต่อไปในอนาคต
  • เนื่องจากระบบการศึกษาปัจจุบัน นักเรียนชั้นประถมถึงมัธยมเรียน 8 ชั่วโมง/วัน ซึ่งเป็นเวลาที่ใช้เรียนมาก และไม่สอดคล้องกับพัฒนาการเรียนรู้ของช่วงวัยของเขา สามารถแก้ไขได้โดยการสอนแต่วิชาหลัก และเปลี่ยนวิชาเสริมให้เป็นวิชาเลือกหรือชมรม ให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นที่ในการค้นหาตัวเองและพัฒนาทักษะในด้านที่เขาสนใจ และไม่ควรนำมาตัดเกรดแต่ใช้มาเป็นการสะท้อนการเรียนรู้ และทักษะให้กับเด็ก เพื่อให้เด็ก ๆ มีข้อมูลตัดสินใจในการวางแผนชีวิตได้จากสิ่งนี้แทน
  • ทีมคนไทย 3 ภาษา เสนอนโยบา “พลิกไทย คนไทย 2+ หลายภาษา” 60%ของเด็กไทยอายุ15 ปีมีปัญหาด้านการอ่านและความเข้าใจในภาษาไทย ขณะที่ไทยมีจำนวนภาษาชาติพันธ์ที่ใช้อยู่ในประเทศขณะนี้มากถึง 70 ภาษา ส่วน 17% ของเด็กไทย ไม่ได้ใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษาแม่และไทยอยู่ลำดับที่ 97 มีความสามารถทักษะภาษาอังกฤษเทียบกับ111 ประเทศทั่วโลกที่ใช้เป็นภาษาหลัก จึงเสนอนโยบาย “พลิกไทย คนไทย 2+ หลายภาษา” โดยเปลี่ยนการนิยาม 3 ภาษา จากภาษาอังกฤษ ภาษาจีนเป็น ภาษาแรกคือภาษาแม่ ภาษาที่สองทุกคนควรมีสิทธินิยามเองว่าเขาต้องการให้ภาษาอะไรเป็นภาษาสากลางสำหรับเขา และภาษาที่สามคือภาษาที่เขาสามารถนำไปทำหากินได้ โดยการส่งเสริมสนับสนุนนโยบายให้เกิดขึ้นได้ ผ่านกลไก ต่างๆ เช่น ให้มีศูนย์การเรียนรู้ – Support Learning City , Lifelong learner ความร่วมมือกับภาคเอกชน – Volunteer for Language & Culture ,หลักสูตรตรงกับอาชีพ ปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่น – ยืดหยุ่น+ออกแบบร่วมกับท้องถิ่น ,พหุภาษา (Non native) ครู – เพิ่มจำนวน เพิ่มองค์ความรู้ครู upskill ครู,เพิ่มผลตอบแทนครู ค่าตอบแทน วิทยฐานะพิเศษ คูปองภาษา – เพิ่มโอกาสเข้าถึงภาษาทุกวัย ,เชื่อมต่อสถาบันการศึกษา เมือง ท้องถิ่น เทียบโอนหน่วยกิต – ครูดูแลเด็กทั่วถึง, เด็กมีเวลาค้นหาตนเองมากขึ้น ,วัยทำงาน Upskill ระบบประเมินตรงกับบริบท – ต้นทุนต่ำ มีความแม่นยำ ,ดึงเทคนิคเข้ามาช่วย ศูนย์เด็กเล็ก/อนุบาล 2 ภาษา – ยืดหยุ่น ออกแบบร่วมกับท้องถิ่น ,พหุภาษา (Non native) 
  • “ตั้งสภาติดปีกครูไทย ปรับระบบ เปลี่ยนโรงเรียน เด็กที่อยู่ในระบบ” การศึกษามากกว่า 6.6 ล้านคน ไม่ได้รับโอกาสที่จะมีห้องเรียน ในปัจจุบันครูไทยถึง94.6 % ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากการที่ซ้ำซ้อนการจัดการที่ไม่เป็นระบบ 59.7 % สอนมากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต่างพื้นที่ต่างพนักงานแต่เงินเดือนเท่ากัน และ 58 % ทำงานอื่นนอกเหนือจากการสอนมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งสิ่งนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าระบบและกลไกไม่เอื้อต่อการทำงานของครู นอกเหนือจากนี้ครูต้องทำงานอื่นที่ซ้ำซ้อน เป็นงานที่อาจจะถูกส่งต่อมาจากกระทรวงแต่เป็นนโยบายที่ไม่เกิดผลประโยชน์ต่อผู้เรียน จึงนำไปสู่ข้อเสนอที่ให้เกิดขึ้น คือการปรับสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเพื่อให้เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงานของครูอย่างแท้จริง คาดว่าจะต้องอาศัยสามอย่างคือการ “ตั้ง ปรับ และเปลี่ยน” 

    ตั้งสภาติดปีกครูไทย หรือการตั้งองค์กรขึ้นมา ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับทางด้านนี้หรือแม้กระทั่งหน่วยงานที่ทำเรื่องการศึกษาอยู่แล้ว และดึงภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องและให้องค์กรนี้ เป็นส่วนช่วยในการผลักดันนโยบายและผลักดันให้เกิดการกระจายไปสู่การจัดการระบบได้จริง ปรับระบบกระจายอำนาจสู่โรงเรียนจะต้องปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการออกแบบให้ตอบโจทย์ต่อสิ่งที่พื้นที่ต้องการอย่างแท้จริงเพื่อให้ครูเป็นครูอย่างแท้จริง 

    •Reduced Workload ลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนมากเกินควร ปรับให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 

    •Proper Pay การจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการทำงานของครู 

    •Counselling Service การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของครู  

    •Data Centric การมีแหล่งรวมข้อมูลที่จะสามารถนำมาต่อยอดวิเคราะห์ 

    และสุดท้าย เปลี่ยนโรงเรียน (School Tranformation )ให้โรงเรียนมีอิสระสามารถคิดและสร้างกระบวนการและหลักสูตรของตัวเองได้ Collective Vision นำวิสัยทัศน์ของครู นักเรียน และผู้บริหาร มารวมกันเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นกลางและเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่จะสามารถนำกระบวนการไปใช้ได้ นำวิสัยทัศน์ของครูนักเรียนและผู้บริหาร 

    EdTech นวัตกรรมทางการศึกษาสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้ก้าวหน้า และกระบวนการสอนของครู ที่จะสร้างผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงกระบวนการจากนักวิจัย นักพัฒนาที่สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นกระบวนการให้ครูและโรงเรียนได้นำเอาสิ่งที่ได้จากแหล่งข้อมูลไปใช้ได้จริง 

แนวทางการศึกษาไทยจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน แล้วจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แล้วนโยบายที่ออกมาจากพรรคการเมืองและภาคประชาชนตอบโจทย์มากพอกับความต้องการและปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ สามารถเติมนโยบายและข้อเสนออื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ Yourpriorities.yrpri.org

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ