ครัวกลาง อช.ปภ.อุบลราชธานี เสริมพลังรับน้ำท่วม

ครัวกลาง อช.ปภ.อุบลราชธานี เสริมพลังรับน้ำท่วม

“อยากได้ที่อยู่ทำมาหากิน อยากให้ลูกหลาน พอเป็นอนาคตของตัวเอง น้ำท่วมทุกปีไม่มีโฉนด คนแก่ ๆ ก็ตายไปหลายรุ่นแล้ว” ทับทวรรณ ดุจดา ชาวบ้านชุมชนหาดสวนสุข อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี  หนึ่งในผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ต้องอพยพครอบครัวมาที่ศูนย์พักพิง เล่าสะท้อนถึงความเดือดร้อน

จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่รอรับน้ำจากลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูลในภาคอีสาน ก่อนมวลน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง และเป็นปลายทางที่มักประสบปัญหาอุทกภัยสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่รอบด้าน วันที่ 22 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา จังหวัดอุบลราชธานี มีประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(อุทกภัย) จำนวน 5 อำเภอ คือ อำเภอม่วงสามสิบ อ.วารินชำราบ อ.เมืองอุบลราชธานี  อ.เหล่าเสือโก้ก และ อ.ตระการพืชผล ซึ่งกองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี ระบุข้อมูล เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบด้านการดำรงชีพ ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม เป็นต้นมา จำนวน 5 ตำบล 35 ชุมชน 1,407 ครัวเรือน 4,785 คน ส่วนด้านการเกษตรเดือดร้อนใน 57 ตำบล 11,860 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย จำนวน 82,964.25 ไร่   

นักข่าวพลเมืองสาขาสังคมศาสตร์และการพัฒนา  ม.อุบลราชธานี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ร่วมกับเครือข่าย อช.ปภ. เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา และพบว่ามีการเตรียมความพร้อมและรับมือได้ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการคัดกรองและให้ข้อมูลกลุ่มผู้เปราะบาง อย่างการใช้สติ๊กเกอร์แบบนี้ ซึ่งช่วยให้การดูแลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000036055

กลุ่มเครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติอุบลราชธานี (อช.ปภ.) ร่วมกันช่วยขนย้ายข้าวของขึ้นสู่ที่สูง  และอพยพครอบครัวออกมาอาศัยอยู่ในเต๊นท์ผ้าใบ อาศัยอยู่ในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย และอยู่หลังสำนักงานที่ดินอำเภอวารินชำราบ ซึ่งเทศบาลเมืองวารินชำราบ ใช้เป็นที่ตั้งศูนย์ให้ผู้ถูกน้ำท่วมพักพิงชั่วคราว รอจนกว่าระดับน้ำท่วมบ้านจะลดลง พร้อมทั้งจัดตั้งโรงครัวกลาง เป็นเงินจากเงินกองทุนกลุ่มเครือข่ายภัยพิบัติลุ่มแม่น้ำมูลและลุ่มน้ำเซบก 2 หมื่นบาท ซึ่งก็สามารถหมุนเวียนการประกอบอาหารได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ประกอบกับมีประชาชนมาบริจาคทำให้ยืดการใช้จ่ายเงินไปได้อีกระยะหนึ่ง  

“ที่เห็นน้ำยังอยู่ตอนนี้ มีอพยพไปแล้วบางส่วน ที่ว่าอยู่ท้าย ๆ แต่ว่าถ้าถนนเส้นตรงยังเหลืออยู่  คิดว่าปีนี้อาจจะไม่ท่วมเยอะ ทางชุมชนทางพี่น้องเรามีความเตรียมความพร้อม เก็บของขึ้นข้างบน พี่น้องเตรียมตัวกันดีมากปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ท้องถิ่น ทางเครือข่ายร่วมกับพี่น้องมีการททำครัวกลางแจกอาหารให้พี่น้อง” บุญทัน เพ็งธรรม  อาสาเครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติอุบลราชธานี (อช.ปภ.)และเป็นนักข่าวพลเมืองที่ส่งต่อเรื่องราวสถานการณ์น้ำท่วมพีน้องชุมชนลุ่มน้ำ ได้เล่าถึงการเตรียมการของกลุ่มเครือข่ายที่ไม่ได้รอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ชุมชนยังวางแผน เตรียมตัว และตั้งรับกับสถานการณ์ที่ชุมชนต้องเผชิญกับน้ำท่วมซ้ำซาก

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ